ชวนวัยรุ่น มาลองฝึก “ขอบคุณ”
เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อยเนอะ? ยิ่งในช่วงโควิดเรายิ่งรู้สึกว่า ชีวิตมันเหนื่อย ชีวิตมันยาก ทุกอย่างวิ่งตรงเข้ามาหาเราดั่งพายุคลั่ง ซึ่งปัญหาพวกนี้ก็ไม่ได้ดูเลยว่า “ฉันพร้อมเผชิญ” กับมันหรือไม่? จนบางครั้งฉันก็รู้สึกได้ว่า ความสุขฉันหายไป
ทุกคนคงเป็นเหมือนเราใช่ไหมคะ? ที่พอรู้ว่าเมื่อความสุขหายไป ก็พยายามไปหาวิธีการเพิ่มความสุข ซึ่งวิธีที่นักจิตวิทยาบอกว่า สามารถช่วยเพิ่มความสุขได้ คือ การฝึกขอบคุณกับสิ่งต่างๆ ในชีวิต ตัวเราอยากทำมากเลยนะ แต่ว่าพอเราเปิดสมุดแล้วลองนั่งคิดดูว่า “ฉันจะขอบคุณอะไรในชีวิตดี” แล้วเมื่อจะเขียนก็ปรากฎว่า เราเขียนไม่ออก เราคิดไม่ได้ “กระดาษสีขาวที่เปิดไว้เพื่อเขียนก็ยังคงเป็นกระดาษสีขาวอยู่เช่นนั้น” จนเราก็แอบมาคิดอยู่ในใจ หรือว่า การฝึกขอบคุณนี้ มันเป็นทักษะที่ต้องฝึกกันนะ
ผลสรุปจากการทดลองกับตนเอง “การฝึกขอบคุณ” เป็นเหมือนทักษะที่ต้องฝึกค่ะ โดยเราเริ่มต้นจากการที่เราไปซื้อไดอารี่ ที่ชื่อว่า I am Happy A 90-Day Happiness journal For Kids โดย Leadership 4Kids แม้มันอาจจะเป็นหนังสือเด็ก แต่ว่าในหนังสือเล่มนี้มีช่องให้เราฝึก “การขอบคุณ” ทุกวันเลยนะคะ จากการฝึกขอบคุณมาทั้งหมด 90 วันตามในหนังสือ เราพบว่าการขอบคุณสามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ
1. การขอบคุณจากสิ่งของใกล้ตัว หรือ สิ่งที่จับต้องได้
การฝึกขอบคุณแบบนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เพราะเราสามารถ ขอบคุณสิ่งๆนั้นผ่านคุณประโยชน์ของการใช้งาน เช่น มีวันหนึ่งที่หนังสือให้โจทย์เรามาว่า “จงขอบคุณเก้าอี้” เราก็ขอบคุณไปว่า “ขอบคุณเจ้าเก้าอี้ ที่ทำให้เรานั่งสบาย ไม่ปวดหลัง ขอบคุณเก้าอี้ ที่มีที่พิงหลังนุ่ม ขอบคุณเก้าอี้ที่ทนทาน ทำให้เราไม่ต้องเสียเงินบ่อย”
หลายๆคนอาจจะสงสัยว่า การฝึกขอบคุณสิ่งของมันตลกไปไหม ตอนแรกเราก็คิดว่าตลก แต่มีอยู่วันหนึ่ง ที่ไม่โครเวฟของที่บ้านเสีย แล้วเราเดือดร้อนมาก เพราะอุ่นอาหารไม่ได้ เราจะรู้เลยว่า ทุกสิ่งของที่อยู่ในบ้าน มีความสำคัญมาก มีประโยชน์ ช่วยเราได้เยอะมาก ดังนั้น การขอบคุณสิ่งของ ก็เป็นเรื่องที่ดี และฝึกให้เรามองโลกในมุมที่สวยงามมากขึ้น เราจึงอยากชวนให้เวลาที่ทุกคนว่างๆ ลองฝึกขอบคุณ สิ่งของที่อยู่ใกล้ตัวกันนะคะ
2. การขอบคุณการกระทำต่างๆ หรือปรากฎการณ์ต่างๆ
การฝึกขอบคุณแบบนี้ จะซับซ้อนกว่าแบบแรก และคิดเยอะกว่าแบบแรกหน่อย แต่เราก็คิดว่า พอได้ลองทำแล้ว มันก็สนุกดีค่ะ มีครั้งหนึ่งที่หนังสือให้โจทย์เรามาว่า “จงขอบคุณการหายใจของตนเอง” เราก็ตอบไปว่า ขอบคุณที่เรายังหายใจ เพื่อทำให้มีออกซิเจนมาเลี้ยงสมองเรา เปลี่ยนเลือดดำเป็นเลือดแดง และทำให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายยังทำงานต่อไปได้ และขอบคุณที่ฉันยังมีชีวิต หรือ “จงขอบคุณการที่เราค่อยๆ พูด” โดยส่วนตัวเราเป็นคนพูดเร็วมาก แต่เพื่อจะขอบคุณสิ่งนี้ได้ เราเลยลองพูดช้าลง เราพบว่า การพูดช้า บางทีมันทำให้เราค่อยๆได้คิด ค่อยๆ ได้ไตร่ตรองและเลือกใช้คำที่จะพูด ซึ่งเรารู้สึกว่า มันดีมากเลย เพราะการพูดช้าๆ ในบางครั้ง ทำให้เราเลือกใช้คำได้เหมาะสม และคำที่เลือกใช้ที่ไม่ได้ไปทำร้ายใคร โดยไม่ได้ตั้งใจ
ดังนั้น เราอยากชวนทุกคนมาขอบคุณ การกระทำต่างๆของเรา หรือขอบคุณในทุกสภาพอากาศนะคะ เพราะต่อให้เราบ่น แดดร้อนจัง แต่แดดก็ช่วยทำให้ผ้าแห้ง (ถูกไหมคะ)
3. การขอบคุณนามธรรมหรือภาพรวม และตัวบุคคล
เรารู้สึกว่า โจทย์นี้ จะเป็นโจทย์การขอบคุณที่ยากที่สุด เพราะต้องใช้เวลาคิด และค่อยๆ ค้นหาคำตอบ เช่น หนังสือให้โจทย์เรามาว่า “จงขอบคุณคุณแม่” ซึ่งบางทีเราทะเลาะกับแม่มา หรือโดนแม่บ่นมา อารมณ์โกรธมันก็มากกว่าการอยากจะขอบคุณ แต่เพราะโจทย์นี้ จึงทำให้เราได้มองกลับไปถึงพฤติกรรมคุณแม่ มากกว่าแค่ “แม่บ่น” เราได้เห็นว่า แม่ตื่นเช้ามาทำกับข้าวให้เรากิน แม่ทำงานหนัก กว่าจะกลับบ้านมาก็ดึก เราก็รู้สึกขอบคุณแม่มากๆเลยที่ทำงานหนักเพื่อเรา เราเลยรู้สึกว่า เรื่องไหนยอมได้ก็ยอมแบบคนละครึ่งนะแม่ หรือมีโจทย์ให้เรา “ขอบคุณความเงียบ” ซึ่งมันขอบคุณได้หลายรูปแบบเพราะอยู่ที่เรามอง ไม่ว่าจะ ขอบคุณความเงียบ ที่ทำให้เรานอนหลับสบาย ขอบคุณความเงียบ ที่ทำให้เรามีสมาธิทำการบ้าน ขอบคุณความเงียบที่ทำให้เราได้คิดไตร่ตรองชีวิต เป็นต้น
โจทย์ที่จะพบบ่อยมากในหนังสือเล่มนี้ คือ “จงขอบคุณตนเอง” เราว่า มันคือโจทย์ที่ยากที่สุด เพราะบางทีเราคิดไม่ออกว่าจะขอบคุณอะไร จากที่เราลองทำ การขอบคุณตนเองในวันที่ 6 เราคิดไม่ค่อยออก เลยขอบคุณตนเองไปแบบง่ายๆ ว่า “ขอบคุณตนเองที่พยายาม” แต่พอมาเจอโจทย์นี้ในวันที่ 31 เรารู้สึกว่า เราขอบคุณตนเองได้ชัดเจนมากขึ้น ระบุเหตุการณ์ที่อยากจะขอบคุณตนเองได้ดีมากขึ้น เช่น “ฉันขอบคุณตนเอง ที่พยายามดูแลสุขภาพตนเอง ไม่ว่าจะนอนเร็วขึ้น กินอาหารที่มีประโยชน์ ขอบคุณตนเองที่อดทนและพยายามแก้ปัญหาต่างๆ ที่ตนเอง ขอบคุณตนเองที่รู้ว่าตนเองอ่อนแอ แต่ไม่เคยยอมแพ้ ขอบคุณตนเองที่พยายามใช้ชีวิต ตลอดมา”
พอตัวเราได้ฝึกขอบคุณทั้ง 3 รูปแบบ เรารู้สึกว่า ชีวิตมันง่ายขึ้น มีความสุขมากขึ้น มันอาจจะไม่ใช่เพราะโลกเปลี่ยนไป แต่เราแค่เปลี่ยนมุมมอง พยายามมองสิ่งที่ดี มากกว่าสิ่งที่ไม่ดี เราเลยมีความสุขมากขึ้น เราจึงอยากชวนทุกคน มาฝึกขอบคุณกันดูนะคะ แล้วเราจะพบว่า ความสุขมันสร้างได้ง่ายๆ แค่เรามอง และเราอนุญาตให้ตนเองมีความสุขจากความคิดค่ะ
อ้างอิง
หนังสือ I am Happy A 90-Day Happiness journal For Kids โดย Leadership4Kids
VanderWeele, T. J. (2020). Activities for flourishing: An evidence-based guide. Journal of Positive School Psychology, 4(1), 79-91.
Related Courses
วัยรุ่นยุคใหม่ ต้องรู้เท่าทันอารมณ์ (Emotional Intelligence)
การควบคุมอารมณ์เพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวของวัยรุ่น เป็นทักษะความฉลาดทางอารมณ์ที่ควรได้รับการส่งเสริม เพื่อสามารถใช้ ...
วัยรุ่นยุคใหม่ ต้องรู้เท่าทันอารมณ์ (Emotional Intelligence)
สร้าง Portfolio ให้โดนใจใช่เลย
เครื่องมือช่วยในการออกแบบทำ Portfolio จะต้องจัดวางอย่างไรให้สวย ต้องมีหัวข้ออะไรบ้าง จะแนบรูปภาพ ผลงาน กิจกรรมแล ...
เริ่มต้นทำ Visual Note อย่างง่ายใครๆ ก็ทำได้
หากคุณเป็นคนชอบวาดรูป ชอบการขีดเขียน หรือการจดบันทึก อยากลองทำ Visual Note แต่ไม่รู้จะสื่อสารออกมาอย่างไรดี คอร์สเ ...
เริ่มต้นทำ Visual Note อย่างง่ายใครๆ ก็ทำได้
ต้องใช้ 100 เหรียญ
Applications เพื่อสร้างงานกราฟิกอย่างง่าย
ตัวช่วยดี ๆ สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังสนใจในการทำอาชีพบนโลกออนไลน์ และต้องการสร้างความโดดเด่นให้กับผลงานของตัวเอง เพื่อเพิ่ม ...