Starfish Talk “ห้องเรียนแห่งความสุข”
ห้องเรียนที่ดีไม่ได้แค่มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนเก่งเท่านั้น แต่ที่สำคัญผู้เรียนจะต้องมีความสุขในการอยู่ร่วมกันในห้องเรียน และเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ เราจะสามารถจัดการห้องเรียนแห่งความสุขได้อย่างไร จะทำอย่างไรให้ผู้เรียน และครูผู้สอนมีความสุขจากการจัดการเรียนรู้ และสร้างห้องเรียนให้เป็นห้องเรียนแห่งความสุขอย่างแท้จริง
แนวคิดห้องเรียนแห่งความสุข
ดร.วรวุฒิ แสงเฟือง ที่ปรึกษามูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ในโครงการ TSQP - ถ้าพูดถึงสิ่งที่สร้างห้องเรียนแห่งความสุข ครูถือได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญในการสร้างบรรยากาศและความเสมอภาคแห่งการเรียนรู้ โดยการหาวิธีการ กระบวนการหรือการเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนมากขึ้น ซึ่งมีวิธีการที่เคยทดลองทำ คือ
1) การให้ครูช่วยสังเกตการสอน ว่าเด็กมีความสนใจ ความสุขมากน้อยเพียงใด ตื่นเต้นที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากครูหรือไม่
2) เด็กสามารถสะท้อนคิดออกมาแล้วรู้สึกปลอดภัยถึงการแสดงความคิดเห็น การมีปฏิสัมพันธ์กับครูและเพื่อน เขามีเป้าหมายในการเรียนรู้อย่างไร
3) การใช้กระบวนการ I Care ซึ่ง I คือ การให้เด็กค้นหาตัวตนของตนเองให้เจอ C-cooperation คือ ครูจัดการเรียนรู้ร่วมกับเด็ก ให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ A - Action คือ การเรียนรู้จากการปฏิบัติ R- Reflection ให้เด็กได้สะท้อนความคิดจากการเรียนรู้ E-Evaluation คือ การประเมินตนเองได้ ถ้าเข้าใจกระบวนการก็จะทำให้นักเรียนมีความสุข การที่จะทำให้มีความสุขสิ่งสำคัญ คือ การที่ทำให้เด็กรู้คุณค่าของตัวเอง และรู้จักคุณค่าของผู้อื่น ถ้าดูจากกระบวนการตั้งแต่ต้น บรรยากาศในการจัดการเรียนรู้มีความสำคัญ การสร้างความเสมอภาค การสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ สะท้อนถึงความเอาใจใส่ของครู ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างห้องเรียนแห่งความสุข
หลักของสิทธิเด็ก รวมไปถึงการประยุกต์ใช้ในห้องเรียน ที่จะช่วยให้ครูสามารถสร้างห้องเรียนแห่งความสุขได้
คุณโยโกะ เตรูย่า รองประธานมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม - เรื่องสิทธิเด็กเป็นเรื่องของอนุสัญญาในเชิงหลักการ เป็นอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็ก และเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่จัดทำขึ้นร่วมกันโดยองค์การสหประชาชาติ เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรู้ในเรื่องสิทธิที่เด็กควรจะมี แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
1) สิทธิในการมีชีวิตรอด ตั้งแต่เกิดมาไม่ว่าจะมีร่างกายสมบูรณ์หรือพิการ เด็กมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตรอด ซึ่งสิทธินี้ครอบคลุมไปจนถึงสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน
2) สิทธิในด้านของการพัฒนา เด็กที่เกิดมามีสิทธิ์ได้รับการพัฒนาทั้ง 4 ด้าน หรือการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ความเป็นอยู่และโภชนาการที่ดี
3) สิทธิด้านปกครองคุ้มครอง เป็นการได้รับการปกป้อง คุ้มครองการถูกละเมิดทุกรูปแบบ ทั้งในด้านของการทารุณกรรม การแสวงหาประโยชน์ หรือการใช้แรงงานเด็ก
4) ด้านสิทธิในการมีส่วนร่วม เด็กมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น มีส่วนร่วมในการตัดสินใจสิ่งที่จะมีผลกระทบในชีวิตของเด็ก
ทั้งนี้ ในการนำไปประยุกต์ใช้ในสถานศึกษา ถือได้ว่าทางสตาร์ฟิชยึดหลักการทำงานที่ใช้หลักสิทธิเด็กเป็นเกณฑ์หลักในการให้ครู บุคลากร ทำงานร่วมกับเด็ก ในที่นี้ขอยกตัวอย่างโรงเรียนบ้านปลาดาวที่มีการจัดการเรียนการสอนแบบโรงเรียนสงเคราะห์ทั่วไป คือ ครูมีหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนให้กับเด็ก แต่ครูและเด็กอยู่ร่วมกันภายใต้นโยบายสิทธิเด็ก หรือการคุ้มครองเด็ก จะทำอย่างไรให้สามารถนำหลักการมาสู่วิธีการ หรือข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งทางสตาร์ฟิชได้ร่วมกันระดมความคิด ในการนำหลักการสิทธิเด็กมาออกแบบเป็นเกณฑ์ในโรงเรียนหรือห้องเรียนแบบไหน ที่จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ซึ่งเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขที่ดี สิ่งสำคัญคือ การให้เกียรติกัน การให้ความเคารพซึ่งกันและกัน การปกป้องคุ้มครอง และการไม่ละเมิดกัน ซึ่งโรงเรียนบ้านปลาดาวสามารถนำมาจัดการได้จริงภายใต้นโยบายสิทธิเด็ก
การปกป้องคุ้มครอง เป็นเรื่องเชิงความสัมพันธ์ ไม่ได้เป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ทั้งสองฝ่ายต้องมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน สำหรับบทบาทของครูในการปกป้องคุ้มครองเด็กในห้องเรียนภายในโรงเรียน ครูอาจจะต้องมี 2 ทักษะที่สำคัญ คือ
1) การสังเกตุ โดยการสังเกตุนักเรียนเป็นประจำจากนิสัย หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป
2) การสอบถามและการฟังอย่างตั้งใจ สอบถามอย่างไรให้เด็กไม่รู้สึกกลัว กล้าเล่าให้ครูฟัง รวมถึงบุคลิกของผู้ปกป้องคุ้มครอง ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กรู้สึกถึงความปลอดภัยและความเอาใจใส่
ส่วนเรื่องของการละเมิด มีคำถามว่า การละเมิดส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับคนแปลกหน้า คนที่เด็กไม่เคยเจอ หรือบุคคลใกล้ชิดรอบตัว จากการสอบถามพบว่า ร้อยละ 80 เด็กส่วนใหญ่จะถูกละเมิดจากคนแปลกหน้า ทั้งที่ความเป็นจริงเด็กส่วนใหญ่ถูกละเมิดจากคนใกล้ตัว ซึ่งการละเมิด ไม่ได้หมายถึงเฉพาะการละเมิดทางเพศ แต่รวมไปถึงด้านวาจา สภาพจิตใจ การทารุณกรรม การทำร้าย การทำโทษ เป็นต้น จริงๆ แล้วการละเมิดเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเรื่องสิทธิ 1 คน 1 เสียง ต้องมาทบทวนว่ามีสิทธิ์ละเมิดเด็กด้วยการทำร้ายโดยความรักหรือหวังดีแบบนั้นหรือไม่ ซึ่งเราอาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด ใช้การพูดคุยที่ดี ความสัมพันธ์ที่ดี เพื่อเป็นเกราะป้องกันให้เด็กต่อไป
แนวปฏิบัติตามหลักจิตวิทยา ทำให้ห้องเรียนเป็นห้องเรียนแห่งความสุขได้
คุณเบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยามูลนิธิฯ – ตามหลักการทางจิตวิทยาในการทำห้องเรียนเป็นห้องเรียนแห่งความสุขได้ มีอยู่ 3 หลักการ คือ 2 ความเชื่อ 4 หลักการ 5 ตัวอย่าง ทั้งนี้ 2 ความเชื่อ เป็นหลักการความเชื่อที่จะทำให้คนเราสามารถมีพฤติกรรมกับเด็กที่ดีมากขึ้น ความเชื่อแรก คือ เราต้องเชื่อก่อนว่าห้องเรียนแห่งความสุข สามารถสร้างไปพร้อมกับการประสบความสำเร็จในการเรียนได้ ข้อที่สอง ความเชื่อผิดๆ ที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” การใช้การตีเพื่อเป็นการหยุดพฤติกรรมของเด็ก แต่ผลจากการวิจัย พบว่า การที่ตีเด็กอาจจะหยุดพฤติกรรมได้ทันที แต่สิ่งที่สำคัญคือไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมในระยะยาวได้ ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนความคิดก่อนว่าการตีไม่ใช่คำตอบที่ทำให้เด็กเปลี่ยนพฤติกรรม มีหลายวิธีที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กโดยไม่ต้องตีได้ ดังนั้น ตามหลักจิตวิทยา การที่เรามีความเชื่อจะนำไปสู่การปรับพฤติกรรมของครูและของเด็กได้
ส่วน 4 หลักการ ในการสร้างห้องเรียนแห่งความสุข คือ 1) สภาพแวดล้อม การสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย มีสุขภาวะที่ดีช่วยเอื้อให้เด็กเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น 2) การเรียนการสอน การจัดกิจกรรมให้มีความหลากหลาย 3) การสอนให้เด็กเข้าใจทักษะชีวิตผ่านการเรียนวิชาโฮมรูม และ 4) การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับนักเรียน เป็นหลักการที่สำคัญที่สุดที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก และ 5 ตัวอย่าง ประกอบไปด้วย
1) กิจกรรมเนรมิตห้อง การจัดห้องเรียนสามารถจัดได้ทุกเดือนตามความสนใจของนักเรียน เพื่อเป็นการฝึกความคิดสร้างสรรค์
2) กิจกรรม Fun & Activity เป็นการสร้างกิจกรรมหลังจากเนรมิตรห้องเสร็จ เป็นการฝึกการตัดสินใจให้กับเด็ก โดยการสร้างผ่านภาพยนตร์ การ์ตูน จะช่วยพัฒนาทักษะการคิดและการแก้ปัญหาพร้อมกับทักษะการคิดวิเคราะห์ให้กับเด็ก
3) การ Make a rule การตั้งกฎร่วมกันในห้อง โดยมีวิธีการตั้งกฎ 3 ข้อ คือ สร้างกฎขึ้นมาที่เป็นไปได้ มีระบบการเตือนภัย และชื่นชมเมื่อทำถูก เป็นการช่วยควบคุมตัวเองของเด็กให้อยู่ในกฎได้ดีมากขึ้น
4) การทำกิจกรรมความสุข ตามความคิดของเด็ก อาจจะเป็นการใช้สีเพื่อบ่งบอกความสุข
5) สื่อการเรียนการสอน โดยการออกแบบการเรียนการสอน ที่มีกิจกรรมนอกห้องเรียน ห้อง Lab และอื่นๆ ที่ทำให้เด็กรู้สึกสนุกกับการเรียนมากขึ้น
Related Courses
การออกแบบห้องเรียนฐานสมรรถนะ
นำประสบการณ์การจัดกิจกรรมตามหลักสูตรฐานสมรรถนะอย่างง่ายมาใช้ในกิจกรรมชุมนุม และการประเมินผลการเรียนรู้ที่ออกแบบตาม ...
ห้องเรียนบูรณาการ Integrated Instruction
คอร์สนี้เป็นการแนะนำผู้สอนหรือครูให้เห็นความสำคัญของการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ เพื่อสามารถทำไปแนวทางปฎิบัติในการบูรณากา ...
การฟื้นฟูภาวะความรู้ถดถอย (Learning loss)
เรียนรู้ผลกระทบของ Learning Loss ที่ส่งกระทบถึงผู้เรียน ในภาพรวมของประเทศเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียน โดยใช้ 5ม ...
ออกแบบห้องเรียนที่มีหัวใจ...ด้วยหัวใจอาชีพ
เราเลือกอาชีพ? หรืออาชีพเลือกเรา? เราวัดคุณค่าของอาชีพจากอะไร การรู้จักอาชีพที่หลากหลาย อาชีพที่มีค่าตอบเเทนสูง อาชีพที่ ...