เส้นทางสู่ วPA กับบทบาทของผู้บริหารโรงเรียนนำร่อง
“เปลี่ยนวิธีคิด พลิกความเชื่อ ด้วยระบบวิทยฐานะแบบใหม่”
จากการที่ ก.ค.ศ. ได้มีการนำระบบการประเมินวิทยฐานะ วPA มาทดสอบใช้กับโรงเรียนนำร่องในหลายๆพื้นที่ เพื่อนำมาซึ่งเกณฑ์ประเมินที่มีมาตรฐาน และตรงตามเป้าหมายในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา วันนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี จ.เชียงราย ในการแชร์ประสบการณ์การเป็นโรงเรียนนำร่อง วPA กับการปรับวิธีการในบทบาทของผู้บริหาร และขั้นตอนของครูในการประเมินวิทยฐานะรูปแบบใหม่ เพื่อเป็นข้อมูลแก่ผู้บริหารและคุณครูในการประเมินวิทยฐานะครั้งนี้ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ที่มาของการเป็นโรงเรียนนำร่อง
โรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัย จนถึงระดับชั้น ม.6 เป็นโรงเรียนสังกัด สพฐ. ช่วงที่ผ่านมา ได้มีโอกาสสำคัญในการเข้าร่วมทดลองใช้เกณฑ์ วPA ของ ก.ค.ศ. เพื่อเป็นโรงเรียนนำร่องก่อนที่จะมีการนำไปใช้กับโรงเรียนในทั่วประเทศ ซึ่งได้มีการทดลองนำร่องทั้งหมด 15 โรงเรียน ทั้งนี้ การได้เข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่อง อาจเนื่องด้วย ก.ค.ศ. มองว่า โรงเรียนมีทุกระดับการศึกษา ทำให้เห็นรูปแบบการเขียน วPA ทุกระดับชั้น โดยเฉพาะมัธยมปลายของโรงเรียน ที่มีแผนการเรียนการสอนสายอาชีพร่วมด้วย จึงอาจจะเป็นแนวทางสำหรับโรงเรียนอื่นๆ ในการนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้
ช่วงที่ได้ทดลอง วPA ได้แนวคิดหรือหลักคิดในการประเมินอย่างไร
หลักคิดแรกเป็น “ว.แห่งความเสมอภาค” เนื่องจากทุกตำแหน่ง ไม่ว่าจะมีวิทยฐานะใดก็ตาม ต้องเข้าสู่ระบบการประเมิน จึงมองว่า ว. นี้สำคัญเป็นหลักแห่งความเท่าเทียมกัน และเป็นหลักแห่งการรับผิดชอบร่วมกัน ประเด็นที่สอง จากการเสวนาร่วมกับ 15 โรงเรียนนำร่องท่านเลขาฯ ก.ค.ศ. เน้นย้ำ “ครูคือกุญแจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้ ในการยกระดับความสำเร็จ” ถ้าอยากรู้ว่าครูเก่ง ไม่เก่ง ให้ดูจาก Performance การแสดงออก ดูพฤติกรรมในการเรียนการสอน ว่ามีกระบวนการพัฒนาตนเองอย่างไร มีวิธีการสอนอย่างไร ซึ่งเมื่อรวมทั้ง 2 หลักคิดจึงเรียกว่า PA ระบบการประเมินที่สะท้อนไปที่ผลการปฏิบัติงานที่แท้จริง ซึ่งหลัก Key of Success จะโฟกัสที่ห้องเรียน (Focus on Classroom) เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ว. อื่นๆ จะพุ่งเป้าไปที่วิธีการเขียนงานวิจัย วิธีการพัฒนาตนเอง หรือการเก็บงานส่วนอื่นๆ ที่ห่างไกลห้องเรียน ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินคงต้องมีการฝึกฝนตัวเอง หรือการปรับ Mindset ว่าห้องเรียนแบบไหนที่มีประสิทธิภาพ ผู้อำนวยการทุกท่านคงต้องได้หันกลับไปที่ห้องเรียน ดูครูสอนแล้วทำการเปรียบเทียบแต่ละห้อง จำแนกให้ได้ว่าห้องเรียนไหนมีประสิทธภาพ (Powerful) ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลลัพธ์ไปที่การเรียนรู้ของผู้เรียนที่ชัดเจน (Student Outcome) หลักนี้ถือได้ว่า
สำคัญมาก ถ้าผู้อำนวยการหรือครูยังไม่มีความเข้าใจใน mindset ตรงนี้ วPA ที่ออกมาก็จะไม่มีประสิทธิภาพตามเจตนารมณ์ที่ออกมาอย่างชัดเจน
ความเป็นผู้นำทางวิชาการของผู้บริหาร วPA ฉบับใหม่ต้องทำอย่างไร
มีหลายองค์ประกอบที่ ว. นี้ต้องการในการเป็นผู้นำทางวิชาการ คือ การโฟกัสไปที่ห้องเรียน ดูวิธีการสอนของครู ถ้าผู้อำนวยการไม่รู้เรื่องในห้องเรียนเลย จะทำให้เป็นผู้ประเมินหรือตอบโจทย์ครูไม่ได้ ซึ่งมีอยู่ 2-3 ส่วน ที่จุดเน้น วPA ปรากฏชัดเจนว่ามีจุดเน้นในห้องเรียนอย่างไร มีข้อมูลอยู่ 2 ชุดที่เน้นชัดเจนว่า ผู้บริหารจำเป็นต้องเน้นงานวิชาการเพราะอะไร ข้อมูลชุดหนึ่งมาจาก Asia Foundation ได้ทำการวิจัย พฤติกรรมของผู้บริหารว่า ผู้บริหารทำงานวิชาการมากน้อยเพียงไร อีกชุดหนึ่งก็เป็นเรื่องของหลักเกณฑ์ซึ่งเป็นตัวบังคับให้ผู้อำนวยการโรงเรียนต้องสนใจงานวิชาการมากขึ้น ซึ่งการประเมินวิทยฐานะรูปแบบใหม่นี้โฟกัสที่ความเป็นผู้นำทางวิชาการ เกณฑ์บังคับให้ผอ. ต้องกลับไป Action เรื่องนี้ให้สูงขึ้น ถือว่าเป็นจุดสำคัญที่ผู้บริหารจะต้องหันกลับมาสนใจพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูที่ปรากฏขึ้นในห้องเรียน อีกประเด็นหนึ่งที่ค้นพบใน Asia Foundation ในการเป็นผู้นำทางวิชาการ คือ
1) การกำหนดกรอบเป้าหมายทิศทางของโรงเรียนให้ชัดเจน สื่อสารเป้าหมายปลายทางของโรงเรียนไปยังครูให้ชัดเจน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการเขียน PA ของครู
2) การจัดการหลักสูตรและการสอนของครู ว่าหลักสูตรที่ใช้เป็นหลักสูตรไหน ใช้เอกสาร หนังสือเล่มใด มีการเก็บตามตัวชี้วัดครบหรือไม่ การติดตามความก้าวหน้าของนักเรียน
3) การพัฒนาสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ของโรงเรียน การสร้างแรงจูงใจให้ครูในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้ผู้เรียน รวมทั้งการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้พร้อมในการทำงานด้านวิชาการให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้น ความเป็นผู้นำทางวิชาการของผู้บริหาร จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการเป็นผู้นำครูให้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน
เมื่อมีการปรับเป็น วPA แล้ว บทบาทหน้าที่ของผู้บริหารมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร
สำหรับผู้ที่เคยทำงานวิชาการในระดับหนึ่ง ก็ให้คงความเป็นผู้นำทางด้านวิชาการต่อไป ทั้งนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจเจตนารมณ์ หลักเกณฑ์และวิธีการของ วPA ซึ่งถือได้ว่า เป็น “10 ข้อดีของ วPA” ซึ่งเกณฑ์ วPA ประกอบด้วย
1) “ลด”ความซ้ำซ้อนของการประเมิน
2) “ละ”ความสนใจจากมหกรรมประกวดแข่งขัน และหันมาใส่ใจเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม
3) “เลิก”สะสมแฟ้ม โล่ รางวัล ฯลฯ
4) “หลีก”การล่าใบประกาศฯ การนับ ชม.อบรม หรือ ชม.PLC ที่จริงๆ ทำไม่ได้
5) “เลี่ยง”การวัดคุณภาพจากคะแนน O-Net เพราะบริบทของแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน
6) “รวดเร็ว” ใช้ระบบออนไลน์ ไม่ต้องรอผลเป็นปี ส่งใหม่ได้ทุกภาคเรียน
7) “โปร่งใส” ผู้ประเมินทุกคนต้องผ่านการพัฒนา ใช้ระบบการสุ่ม
8) “ไม่ต้องเสียเงิน” ในการทำวิจัย เพราะประเมินจากคุณภาพการสอนไม่ใช่ประเมินคุณภาพคลิปที่ส่งมา
9) “ยุติธรรม” แยกตัวชี้วัดการประเมินตามลักษณะห้องเรียน (สามัญ ปฐมวัย กศ.พิเศษ กศน. อาชีวะ) มีการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะตามระเบียบฯ
10) “ผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียน”อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ การประเมิน วPA ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารโดยตรง คือ ครูจัดทำ PA เสนอต่อผอ. แล้ว ผอ. จะต้องทำการแต่งตั้งคณะกรรมการช่วยประเมิน ซึ่งถือว่าเป็นบทบาทของผอ.โรงเรียนในการคัดสรรผู้มาประเมินครู เพื่อให้ได้ผู้ประเมินที่มี Mindset เดียวกันกับหลักแนวคิด วPA ขั้นตอนต่อไปสิ่งที่ครูและผอ.จะต้องทำ คือการแลกเปลี่ยน พูดคุย ศึกษาร่วมกัน เกี่ยวกับบริบท วิสัยทัศน์ และแผนพัฒนาคุณภาพฯ จุดเน้นของโรงเรียน ปัญหาด้านต่างๆ ฯลฯ เพื่อให้เห็นเป้าหมายปลายทางร่วมกันอย่างชัดเจน อะไรที่เกี่ยวข้องที่จะนำไปสู่การเขียน PA ผอ.จะต้องจัด workshop ขึ้นมาในโรงเรียน ก่อนที่ครูจะลงมือการเขียน PA หลังจากที่ครูเขียนตามเกณฑ์ที่ศึกษาในคู่มือแล้ว สิ่งที่ผอ.จะต้องทำคือ ศึกษา ปรับแก้ข้อตกลงร่วมกับคณะครูให้ชัดเจน เป็นรูปธรรม ผลลัพธ์ที่ได้มุ่งเป้าไปสู่ผู้เรียน/เด็กได้อะไร และตรวจดูความเชื่อมโยงในการเขียน PA ของครู
ผู้บริหารมีกระบวนการส่งเสริมสมรรถนะในการเรียนรู้ของครูอย่างไร
อย่างแรกคือ การปรับ Mindset ของผู้บริหารก่อนการพัฒนาการเรียนรู้ของครู จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่า การเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนเกิดจากห้องเรียน Mindset แรก ผอ.ต้องตระหนักว่า จะเกิดอะไรขึ้นอยู่ที่ห้องเรียน ถ้าเห็นห้องเรียนเป็นสาเหตุชัดเจน ต้องพุ่งเป้าไปที่ห้องเรียนนั้นและใช้วิธีการต่างๆ ในการแก้ปัญหาก่อน อยากให้โฟกัสไปที่ห้องเรียนก่อน เพื่อให้เด็กและครูเกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพได้ อย่างที่สอง คือ Mindset เรื่องการประเมิน การจัดนิทรรศการต้องหายไป สำหรับเทคนิคส่วนตัวในการช่วยเหลือครูให้สามารถที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการให้ครูคุ้นชินกับการถูกใครมานั่งดูตัวเองสอน อาจะใช้วิธีโดยการติดตั้งกล้องหรือใช้โปรแกรม Zoom เพื่อสะท้อนผลการเรียนการสอน แล้วนำมาแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นกัลยาณมิตร
มีทักษะหรือกระบวนการอะไรในการพัฒนาการเป็นผู้นำทางด้านวิชาการที่ดี
ทักษะที่ผู้อำนวยการจะต้องฝึก คือ การ Observe class จะต้องสามารถสังเกตห้องเรียนเป็น ซึ่งวิธีการสังเกตห้องเรียนในอดีตกับการสังเกตห้องเรียนตามระบบความคิดใหม่มีความแตกต่างกัน ส่วนใหญ่การบันทึกการสังเกตจะอยู่ในรูปแบบ Rating Scale ซึ่งเป็นการใช้แบบสังเกตที่ไม่ถูกต้อง ทักษะที่สอง วิธีการนั่งอยู่หัวโต๊ะ เพื่อชวนครู PLC หลังจากเจอข้อบกพร่องของครูผู้สอน สิ่งหนึ่งที่ผอ.จะต้องทำ คือ อย่าติติงแต่ให้นำกระบวนการ PLC ในการเป็น Coaching แบบไหนที่จะช่วยให้ครูเรียนรู้ด้วยตนเองได้ ซึ่งทักษะในการเป็น Coach ก็ต้องเรียนรู้เช่นกัน และผู้บริหารจะต้องรู้ว่า การสอนของครูเป็นแบบ Active หรือ Passive Learning เน้นที่ครูหรือนักเรียนเป็นสำคัญ โดยเปรียบเทียบจาก The Cone of Learning ซึ่งเป็นการจำแนกห้องเรียนได้ว่า ห้องไหนควรได้รับการปรับ หรือได้รับการช่วยเหลืออย่างไร
ใน วPA มีกระบวนการ PLC หรือไม่ และ PLC ไม่นับชั่วโมงหมายความว่าอย่างไร
สำหรับ PLC ถือได้ว่าสำคัญมาก เป็นเครื่องมือที่ทั่วโลกใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอน แต่สิ่งหนึ่งที่เรียนรู้ใน ว.21 ที่ผ่านมา คือ ครูสนใจ PLC ในการนับชั่วโมงมากกว่าความรู้ที่ได้รับ ดังนั้น ใน วPA ยังมีกระบวนการ PLC ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ด้านที่ 3 ด้านการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ ข้อที่ 3.2 มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาการจัดการเรียนรู้ เนื่องจากว่า PLC คือ สิ่งที่จะสามารถพัฒนาเด็กจริงๆ เรียนรู้กระบวนการร่วมกัน มีการสะท้อนผล มีการนำผลไปปรับปรุง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่า PLC มีประโยชน์มาก ครูบางท่านอาจไม่ได้ค้นพบตัวเองแต่จะค้นพบตัวเองตอน PLC กับเพื่อนครูว่าเราควรจะพัฒนาตนเองอย่างไร เพราะฉะนั้น เกณฑ์ PA ไม่ละทิ้ง เพียงแต่กำกับว่าไม่นับชั่วโมงเท่านั้น
ทิ้งท้ายถึงผู้บริหาร การเปลี่ยนแปลงแบบ ว PA จะส่งผลต่อนักเรียน ต่อโรงเรียนอย่างไร
เราจะต้องเข้าใจเจตนารมณ์ร่วมกันชัดเจน เราจะต้องปรับ Mindset กันพอสมควร ว่าด้วยเกณฑ์การประเมิน ว่าด้วยความสำเร็จของการจัดการศึกษา เรามองเห็นความสำเร็จของการศึกษาจากตรงไหน คุณภาพผู้เรียนมีอยู่หลายมิติ มีอีกหลายอย่างที่เป็นคุณลักษณะที่ดีและสำคัญในศตวรรษที่ 21 เพราะฉะนั้น ถ้าผู้บริหารเข้าใจปลายทางของการจัดการศึกษาที่แท้จริง วPA จะเป็นตัวช่วยที่ดีในการเปลี่ยนแปลงผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน ซึ่งท่านเลขาฯ ได้กล่าวไว้ว่า “เป็นมายาคติในวงการศึกษาที่ต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลง ต้องยืนหยัดและเข้มแข็งพอสมควร เพราะว่าเราจะถูกกระแสหลักของค่านิยมแบบเดิมที่ไม่ใช่แก่นแท้ของการศึกษา” เพราะถ้าท่านผู้บริหาร ครูหรือทุกคนที่อยู่ในระบบการศึกษาเข้าใจตรงนี้ ถือได้ว่า PA จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งผู้อำนวยการและครูอีกด้วย
สรุปได้ว่า การที่จะทำ วPA นั้น ถ้าเรามีผู้นำที่ดี มีผู้บริหารที่เป็นผู้นำทางด้านวิชาการแล้ว เราก็ต้องกลับไปดูที่ห้องเรียน นักเรียน การประเมินที่ครูหลายท่านใฝ่ฝันว่า เราจะประเมินอย่างไรที่เป็นการประเมินจริงๆ ประเมินสภาพจริง ประเมินจากสิ่งที่เราทำจริง ไม่ต้องแข่งขันกับใคร นั่นก็คือ วPA ที่เป็นตัวเลือกที่ดี ห้องเรียนคือสิ่งที่เราต้องร่วมกันพัฒนา ทั้งนี้ ครูก็ต้องศึกษาข้อมูลให้ถ่องแท้ ปรับ Mindset แล้วเราจะได้พบกับมิติใหม่ของการประเมินแบบ วPA เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่าน สำหรับท่านใดมีข้อสงสัย หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ โทร. 084-11518181 และสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/8p3qPtMSHU/
บทความใกล้เคียง
เพราะ วPA ไม่ใช่ตัวร้าย ถ้าครูทำแบบเข้าใจ
ครู SMART ทำได้ สร้างห้องเรียนสมรรถนะตามเกณฑ์ วPA
มัดรวมข้อมูลสำคัญ ว.PA สำหรับศึกษานิเทศก์
Related Courses
การประเมินเพื่อขอ เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู”
เรียนรู้ ทำความเข้าใจภาพรวมของการประเมินเพื่อขอมี / เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู” (วPA)
การประเมินเพื่อขอ เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู”
เจาะลึกการทำข้อตกลงพัฒนางาน (วPA) ฉบับคุณครู
ทำความรู้จักข้อตกลงการพัฒนางาน (วPA) แบบเจาะลึก เพื่อสร้างความเข้าใจการทำข้อตกลงในการพัฒนางานตามมาตราฐานตำแหน่ง ...
เจาะลึกการทำข้อตกลงพัฒนางาน (วPA) ฉบับคุณครู
เตรียมพร้อมก่อนทำคลิปประเมินวิทยฐานะ EP.1 วิธีการสอน
หลักสำคัญ ในการสอนที่มีประสิทธิภาพ 8 ข้อ ซึ่งจะใช้ในการประเมินคลิปการสอนของครู เป็นแนวทางใหม่ของการประเมินวิทยฐานะของครู
เตรียมพร้อมก่อนทำคลิปประเมินวิทยฐานะ EP.1 วิธีการสอน
เตรียมพร้อมก่อนทำคลิปประเมินวิทยฐานะ EP.2 Active Learning
เรียนรู้การออกแบบการจัดการเรียนรู้ตามหลักการสอนที่มีประสิทธิภาพ 8 ข้อซึ่งจะใช้ในการประเมินคลิปการสอนของครูในการประเมิ ...