เพราะ วPA ไม่ใช่ตัวร้าย ถ้าครูทำแบบเข้าใจ
ใครๆ ก็บอกว่า วPA เป็นตัวร้ายสำหรับครู แต่ลืมไปหรือไม่ว่า วPA สร้างมาเพื่อครู เราจะทำอย่างไรให้ วPA อยู่กับเราอย่างมีความสุข และเราก็มีความสุขกับ วPA ครั้งนี้จะมาพูดคุย 3 ประเด็นหลักกับ ครูร่มเกล้า ช้างน้อย โรงเรียนมัธยมดุสิตาราม กรุงเทพฯ เพื่อสร้างแรงกระตุ้น แรงเสริมให้ครูมีกำลังใจในการทำ วPA
มีกระแสที่ว่า การทำ วPA คือ ภาระงานหนักและเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขการเลื่อนขั้นเงินเดือน ซึ่งอาจจะสร้างความกังวลให้กับครู มีความคิดเห็นกับประเด็นนี้อย่างไร
สำหรับคำถามสามารถแบ่งได้ 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือกระแสตอบรับ ซึ่งในช่วงแรกมีกระแสตอบรับที่ดี ในเรื่องของการลดด้านเอกสาร พอเรื่องเข้าถึงในส่วนของโรงเรียน เริ่มมีการสะท้อนความคิดเห็นถึงความเยอะของการใช้เอกสาร จึงทำให้เกิดคำถามที่ว่าอะไรคือปัญหาระหว่างทางกับ Concept ตอนแรก หลังจากที่ได้มีการพูดคุยกับครูหลายท่าน ทำให้รู้ว่า Concept ที่ลงไปถึงโรงเรียนถูกบิดไปหมด ซึ่งตรงนี้ถือว่าต้องมีการทำงานมากขึ้นระหว่างต้นทาง และระหว่างทาง เพื่อให้ถึงปลายทางได้อย่างไม่บิดเบือน
ประเด็นที่สองคือเรื่องที่ผูกติดเงินเดือน เนื่องจากที่ผ่านมาการประเมินเงินเดือนจะต้องทำ SAR และมีช่องประเมินว่าทำงานอย่างไรบ้าง ซึ่งถ้าทำสิ่งนั้นแล้วประเมินวิทยฐานะ จะต้องทำเอกสาร 2 ชุด แต่ในการทำ PA เป็นการย่อ SAR เพื่อเป็นการลดภาระงาน และ SAR ยังถูกนำไปให้สามารถขยับเลื่อนวิทยฐานะด้วยก็ได้ จากที่ต้องทำ 2-3 อย่าง อาจทำให้เหลือแค่อย่างเดียวและเขียนให้ไปอยู่ใน PA การทำ PA ไม่จำเป็นว่าทุกอย่างจะต้องออกมาเป็นเอกสาร เราสามารถเขียนได้ว่า เราอยากประเมินห้องเรียนก็ให้ผู้บริหารประเมินในห้องเรียน ผู้บริหารก็จะเป็นคนยืนยันว่าครูสอนจริง ซึ่งก็จะตอบตัวชี้วัดที่ครูเขียนไว้ตั้งแต่แรก
จากกระแสตอบรับทั้งในแง่บวกและแง่ลบ คิดว่าครูกลัวอะไรในการทำ วPA และมีแนวทางในการช่วยครูอย่างไร
โดยปกติครูจะได้รับความกดดันจากโครงสร้างการทำงานที่เป็นลักษณะ Top-down อยู่แล้ว ซึ่งเป็นการส่งต่อวัฒนธรรมของการจับผิดความกลัว นี่คือสิ่งที่เคยมีมาและยังถูกกระทำอยู่ ทำให้ครูรู้สึกกลัวว่าฉันจะทำแบบนี้ได้ไหม แต่ถ้าถามว่าจะทำอย่างไรให้ครูรู้สึกผ่อนคลาย ต้องกลับไปที่ Concept ก่อนว่า จริงๆ แล้ว PA มันเป็นความส่วนตัวของครูมาก แล้ว ก.ค.ศ. ค่อนข้างที่จะให้อิสระ เพราะฉะนั้นการให้ Concept มาสามารถตีความได้ตาม Concept นั้นคงอยู่ เช่น สามารถให้ครูเขียน PA ได้ตามความสนใจและความถนัดของตนเอง ฉะนั้น อยากให้ทุกคนย้อนกลับไปที่ Concept ว่า เขาให้ความเป็นอิสระผ่านมาตรฐานบางอย่าง ถ้าครูอยากมีวิทยฐานะต้องไปดูว่าคนที่จะได้รับค่าตอบแทนแบบนี้เพิ่มขึ้นต้องทำอย่างไรบ้าง
ทำ วPA แบบไหนให้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง
1) การทำงานร่วมกันกับครูและผอ. – ครูต้องคุยกับผอ.ถึงปัญหาที่เกิด และเรื่องที่อยากทำ โดยผอ.มีหน้าที่คิด บูรณาการ และสนับสนุนครูให้ PA สำเร็จ
2) ใช้วง PLC ระหว่างเพื่อนครูที่สอนต่างชั้นให้เป็นประโยชน์
3) การทำ วPA ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบของผลลัพธ์ สามารถเป็นได้ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ
4) การประเมินเน้นที่การพัฒนา ไม่ใช่การจับผิด
5) ใช้ feedback จากนักเรียนมากขึ้น
6) ใช้ PLC ให้เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการทำงานร่วมกันระหว่างครูกับผอ. ที่สำคัญคือ Concept PA หลัก Back to school และ Focus on classroom
ทำ PA อย่างไรให้สนุก
ในการทำงานจะมีลักษณะการทำงานของคนอยู่ 3 แบบ ขอเรียกว่า บุคคล 3C คือ
1) Copy ถ้า copy มาต้องทำให้ได้ และต้องให้เครดิตหรืออ้างอิงด้วยว่าเอามาจากใคร กรณีที่มีบริบทที่คล้ายหรือเหมือนกัน
2) Cover คือ การดูของคนอื่นแล้วบิดหรือปรับให้เป็นของเรา ซึ่งวิธีการนี้อยากจะแนะนำให้ครูดูตัวอย่าง PA อย่างน้อยประมาณ 10 คน จะทำให้ครูเห็นว่าแต่ละ PA มีความแตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้ครูหลุดออกมาจากการ copy ของคนอื่น
3) Creative คือ การสร้างแนวทางเป็นของตนเอง ทั้งนี้ เราต้องรู้ก่อนว่าเราเป็นแบบไหน แนวใด และถ้าการทำ PA เป็นเรื่องเดียวกันก็สามารถใช้ผลลัพธ์และตัวชี้วัดเดียวกันได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่สะท้อนผลร่วมกัน
ประเด็นที่ 2 รูปแบบของการเขียน วPA ให้ตอบโจทย์ห้องเรียนอย่างแท้จริงที่เป็นรูปแบบของตัวเองทำอย่างไร
การทำ PA เราทำพร้อมกันทั้งประเทศ ไม่นับโรงเรียนนำร่อง เพราะฉะนั้นแทบจะไม่มีตัวอย่างที่ว่าของใครเคยผ่าน ดังนั้น ครูสามารถที่จะทำใหม่ได้ตั้งแต่แรก แต่เนื่องจากที่ผ่านมา เริ่มมี PA มากขึ้น ครูสามารถใช้วิธีนี้ได้ คือ ครูดูให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ครูเกิดการเปรียบเทียบว่าแบบไหนน่าสนใจ จะทำหรือไม่ทำ ดูวิธีคิดและลงมือทำ ทั้งนี้ ถ้าหากครูไปอ่าน PA ของคนอื่นไม่รู้เรื่อง ถือว่าเป็นเรื่องปกติเพราะว่ามีความเฉพาะในเชิงภาษาของแต่ละคน
ดังนั้น เราไม่ควรจะไปโฟกัสตรงนั้นมากเกินไป แต่ถ้าถามว่าเริ่มอย่างไร ก็มองย้อนไปที่งานของเราว่ามีปัญหาที่อะไร แบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ อะไรคืองานที่เป็นปัญหาหรือท้าทาย และอะไรคืองานปกติ เขียน 2 สิ่งนี้ใน PA เลือกวิธีการแก้ปัญหาโดยการทำ PLC ร่วมกับเพื่อนครู ออกแบบการจัดการเรียนการสอน การวัดประเมินผล ทั้งนี้ ถ้าเราเลือกวิธีที่ดีและสอดคล้องกับ PA ย่อมส่งผลให้ PA ของครูมีความเป็นธรรมชาติและเป็นรูปแบบของตัวเอง ซึ่งไอเดียง่ายๆ ในการทำ PA คือ การมองในห้องเรียนของเรา เราก็จะได้ PA ที่ตรงประเด็น
ประเด็นที่ 3 ประเด็นท้าทายทำอย่างไรให้ตรงจุด
เน้นย้ำสิ่งที่สำคัญ คือ ผอ.กับครูต้องพูดคุยร่วมกัน หรือ PLC ร่วมกัน เพื่อให้ได้แก่นที่แท้จริงของประเด็นท้าทายว่าเป็นในรูปแบบใด เพราะว่าแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ ผู้บริหารอาจจะมีหน้าที่ในการบริหารจัดการ ให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ตามเป้าหมายหรือประเด็นท้าทายที่กำหนดไว้ ตลอดจนพิจารณาความเป็นไปได้ตามมาตรฐานวิทยฐานะ สำหรับครูที่กำลังจะลงมือทำ ขอแนะนำเครื่องมือ why why diagram เป็นการตั้งคำถามว่า สิ่งหนึ่ง......ทำไม ทำการตอบคำถามไปเรื่อย ซึ่งคำตอบนั้นจะแตกแขนงเหมือนแผนผังต้นไม้ หลังจากนั้น เราก็จะดูที่กิ่งท้ายๆ ซึ่งมันจะเป็นต้นตอของปัญหาจริงๆ พอเราได้คำตอบ เราก็จะสามารถเลือกประเด็นท้าทายไหนที่เหมาะสมกับเรา หรืออาจจะศึกษาจาก InsDemo สอนทำ PA ใน inschool โดยการพาครูทดลองทำ why why diagram ซึ่งจะทำให้ครูเห็นภาพมากขึ้น
PLC รูปแบบไหน ถึงจะเป็นการ PLC ที่ตรงประเด็น
การ PLC คือ การทำอย่างไรก็ได้ให้ครูมีปฏิสัมพันธ์กัน และถ้าผู้บริหารเข้าร่วมด้วย ก็จะก่อให้เกิดความไว้วางใจ เมื่อเกิดความไว้วางใจครูก็จะเริ่มเปิดเผยความรู้สึก และอยากให้ช่วยเหลือมากขึ้น พอมีความไว้ใจความกลัวก็จะลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้วิธีการทำงานเปลี่ยนแล้ว PLC จะเกิดขึ้นได้เองในทุกที่ ดังนั้น การทำ PLC ไม่มีรูปแบบตายตัว และโดยส่วนตัวคิดว่า การ PLC ที่ดี คือ การ PLC ที่มีประเด็นชัดเจน และได้อะไรจากประเด็นนั้น นั่นคือสิ่งที่สำคัญของ PLC
หลักการในการทำ PA ของครู
อย่างแรกครูต้องถามตัวเองก่อนว่า ทำ PA เพื่ออะไร เน้นย้ำว่า การทำ PA ไม่ใช่การทำวิจัย เพราะฉะนั้น กระบวนการในการแก้ปัญหาใน PA ทำอย่างไรก็ได้ที่มีกระบวนการเป็นของตนเอง ข้อที่สอง คือ การใช้ why why diagram เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยค้นหาต้นตอของปัญหา ข้อที่สาม คือ การเขียนลงในส่วนที่เป็นประเด็นท้าทายก่อน แล้วค่อยเขียนส่วนที่ 1 เพื่อให้มีความสอดคล้องกัน แต่ถามว่าจำเป็นต้องสอดคล้องกันมั้ย คำตอบคือไม่จำเป็น ครูอาจจะเขียนส่วนที่ 1 ก่อนก็ได้ ข้อที่สี่ คือ เลือกเส้นทางสร้างสรรค์ของตัวเอง ตามบริบทของตัวเอง ข้อที่ห้า คือ ทำตามแผนที่วางไว้ และประเด็นท้าทายไม่จำเป็นต้องทำ 2 เทอม
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เราจะเริ่มต้นที่ วPA ให้ได้ตรงประเด็นนั้น สิ่งสำคัญคือการ PLC ระหว่าง ผอ.กับครู ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินงานต่อไปเป็นไปได้อย่างราบรื่น ทั้งนี้ วPA เป็นการให้อิสระทางความคิดแก่ครู มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาและเป้าหมายอย่างไรในการใช้กระบวนการต่างๆ ให้อิสระทั้งรูปแบบ การนำเสนอ ทั้งนี้ สามารถรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=618895459298836
บทความใกล้เคียง
Related Courses
เจาะลึกการทำข้อตกลงพัฒนางาน (วPA) ฉบับคุณครู
ทำความรู้จักข้อตกลงการพัฒนางาน (วPA) แบบเจาะลึก เพื่อสร้างความเข้าใจการทำข้อตกลงในการพัฒนางานตามมาตราฐานตำแหน่ง ...
เจาะลึกการทำข้อตกลงพัฒนางาน (วPA) ฉบับคุณครู
การประเมินเพื่อขอ เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู”
เรียนรู้ ทำความเข้าใจภาพรวมของการประเมินเพื่อขอมี / เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู” (วPA)
การประเมินเพื่อขอ เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู”
การสอนคณิตศาสตร์แบบ Active Learning เพื่อวิทยฐานะ (PA)
การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อพัฒนาเทคนิคการสอนคณิตศาสตร์ และเพื่อเป็นแนวทางในการประเมินวิทยฐานะ (PA)
การสอนคณิตศาสตร์แบบ Active Learning เพื่อวิทยฐานะ (PA)
เตรียมพร้อมกับวิทยฐานะใหม่
หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งวิทยฐานะครู (วPA) เพื่อการพัฒนาการศึกษาและความก้าวหน้าในวิชาชีพครู