เรื่องต้องรู้ ก่อน Cover เพลงลงยูทูป
คงไม่มีใครในยุคนี้ที่ไม่รู้จัก YouTube แพลตฟอร์มออนไลน์ สำหรับการรับชมเรื่องราวมากมายสารพัด ซึ่งหนึ่งในชาแนลหรือช่องบน YouTube ที่ได้รับความนิยมเสมอมาก็คือ ชาแนลที่นำเสนอมิวสิกวิดีโอ หรือเพลงต่างๆ รวมทั้งการนำเพลงฮิตมา Cover หรือร้องใหม่ในสไตล์ของตัวเอง นักร้องเพลง Cover หลายคน จากที่ไม่มีใครรู้จัก ก็อาจมียอดวิวถึงหลักล้านได้ หากมีความสามารถและตรงกับความสนใจของสังคมในขณะนั้น
เพื่อนๆ คนไหนที่ร้องเพลงเพราะ เล่นดนตรีเก่ง อยาก Cover เพลงลง YouTube โชว์ความสามารถและเผลอๆอาจสร้างรายได้ แต่กลัวว่าเพลงที่นำมาร้องจะติดลิขสิทธิ์ หรือไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นยังไง ใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง บทความนี้เรามีข้อมูลมาฝากจ้า
Cover เพลงยังไงไม่ติดลิขสิทธิ์
สำหรับคนเพื่อนๆ ที่ต้องการคัฟเวอร์เพลงที่ชื่นชอบ ต้องขอบอกก่อนเลยว่ามีความเป็นไปได้มากว่าเพลงที่เราจะนำมาคัฟเวอร์นั้นอาจมีลิขสิทธิ์อยู่ ซึ่งคำว่าลิขสิทธิ์นี้ก็คือ ทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง โดยผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เท่านั้นถึงจะมีสิทธิ ในการทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางาน ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์ผู้อื่น และอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ นั่นหมายความว่าเพลงทั่วไปที่เราได้ยินได้ฟังอยู่ มีเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งตามนโยบายทั่วไปของค่ายเพลงในเมืองไทย ศิลปินและนักแต่งเพลงมักทำสัญญาโอนลิขสิทธิ์ให้ค่ายเพลง ดังนั้น ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงส่วนใหญ่ จึงได้แก่ ค่ายเพลง
หากเพื่อนๆ ต้องการนำเพลงมาคัฟเวอร์อย่างสบายใจ ไม่ผิดกฏหมาย ไม่ต้องกังวลเรื่องติดลิขสิทธิ์ สิ่งที่ทำได้คือติดต่อค่ายเพลงนั้นๆ แล้วสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการขออนุญาตให้ใช้สิทธิและค่าสิทธิ ซึ่งแต่ละค่ายเพลงก็อาจมีเงื่อนไขต่างกันไป เมื่อตกลงแล้วก็ต้องทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ และชำระค่าสิทธิแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ จึงสามารถนำเพลงมาคัฟเวอร์ได้อย่างถูกกฏหมาย
อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ เรามักพบว่ายังมีการคัฟเวอร์เพลงมากมายบน YouTube แม้ไม่ได้ขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์ก็ตาม เหตุผลที่ค่ายเพลงบางแห่งยังอะลุ่มอล่วยให้ Youtuber นำเพลงมาคัฟเวอร์ได้ เนื่องจากยิ่งมีการคัฟเวอร์เพลงนั้นๆ มากเท่าไร ก็ยิ่งช่วยโปรโมทให้เพลงเป็นที่รู้จักมากขึ้น อีกทั้งใน YouTube เองยังมีเทคโนโลยีช่วยตรวจว่ามีการใช้เพลงที่ละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ หากละเมิดก็จะแจ้งเตือนก่อนเผยแพร่คลิป และยังมีบริการสำหรับเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้เลือกจัดการกับวิดีโอที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของตนเช่น Block ปิดเสียง (Mute) หรือกระทั่งสร้างรายได้จากวิดีโอคัฟเวอร์
Cover เพลง สร้างรายได้หรือเปล่า?
ในปัจจุบันนี้ มีบางค่ายเพลงที่เคลมลิขสิทธิ์เพลงของตนเองไว้กับ YouTube แล้ว ทำให้เมื่อมีผู้ใช้คัฟเวอร์เพลงเหล่านั้น ก็จะมีการแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้ว่าคลิปวิดีโอนี้ต้องแบ่งรายได้ให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์ เราก็ต้องทำการอัพเกรด Account ของเราให้สอดคล้องกับการแบ่งรายได้ หลังจากนั้นจึงเปิดโหมดสร้างรายได้ที่คลิปนั้นๆ ซึ่งโดยทั่วไป คลิปที่มีลิขสิทธิ์จะบังคับให้มีโฆษณาจึงจะเผยแพร่ออกไปได้ เพราะรายได้จากคลิปมาจากโฆษณานั่นเอง ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่จะตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์
หากเพื่อนๆ ต้องการคัฟเวอร์เพลงลง YouTube เพื่อหวังสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ก็อาจผิดหวังได้ค่ะ เพราะอย่างที่บอกว่าถึงแม้ค่ายเพลงจะอะลุ่มอล่วยให้เราคัฟเวอร์เพลงของเขาได้ นั่นก็เป็นเพราะเจ้าของลิขสิทธิ์ จะได้ส่วนแบ่งรายได้จากการคัฟเวอร์เพลงของเขานั่นเอง ดังนั้นการคัฟเวอร์เพลงอาจไม่ใช่วิธีสร้างรายได้ที่ดีนัก แต่หากต้องการให้ช่อง YouTube ของเราเป็นที่รู้จัก เพิ่มยอดวิวให้คนสนใจ การเลือกคัฟเวอร์เพลงดังๆ ก็อาจช่วยเพิ่มยอดวิว ยอดผู้ติดตาม ทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น หลังจากนั้นเราอาจลงผลงานเพลงของตัวเอง ก็จะสามารถสร้างรายได้ได้
อุปกรณ์เริ่มต้น ทำคลิปเพลงลง Youtube
เอาล่ะ! เมื่อทำความเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์เพลงแล้ว ขั้นต่อมาก็ขึ้นอยู่กับเพื่อนๆ แล้วว่าจะคัฟเวอร์เพลงที่ชื่นชอบ หรือจะทำคลิปนำเสนอผลงานเพลงของตัวเอง ซึ่งไม่ว่าอย่างไร สำหรับมือใหม่ก็ควรมีอุปกรณ์เบื้องต้นให้พร้อม เริ่มแรกอาจยังไม่ต้องลงทุนมาก เอาเท่าที่กำลังทรัพย์ของเราพอสู้ไหวลองมาดูกันว่าอุปกรณ์สำหรับทำคลิปเพลง YouTube ควรมีอะไรบ้าง
- คอมพิวเตอร์ สำหรับบันทึก แต่ง ตัดต่อ เสียง สามารถใช้คอมฯ ที่เราใช้ทำงานทั่วไปได้
- ไมโครโฟน สำหรับมือใหม่อาจใช้ไมค์ที่ติดอยู่กับ Headphone ก็ได้ แต่ต้องทำใจว่าคุณภาพเสียงอาจไม่ดีนักหากพอมีทุนสักเล็กน้อยแนะนำให้ใช้ Condenser Microphone ที่มีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลายพันบาท สำหรับผู้ที่ต้องการความสะดวกสบาย Condenser Mic USB สามารถต่อเข้าคอมพิวเตอร์ได้เลย ไม่ยุ่งยาก
- Pop Filter แผ่นกันลมที่ติดไว้ระหว่างปากของผู้ร้องกับไมโครโฟน เพราะไมค์ที่ใช้อัดเสียงโดยเฉพาะจะไวต่อเสียงรบกวน รวมทั้งเสียงลมหายใจ จึงจำเป็นต้องมีแผ่นกันลมช่วยรักษาคุณภาพของเสียงร้อง
- โปรแกรมบันทึกเสียง มีให้เลือกมากมายทั้งแบบฟรีและเสียเงิน ที่ใช้ง่ายสำหรับมือใหม่ แนะนำ Nero ซึ่งมักมีอยู่ในคอมพิวเตอร์ทั่วไปอยู่แล้ว หรือที่นิยม เช่น Cubase หรือ Adobe Audition หรือใครใช้ Iphone แอปพลิเคชัน Garageband ก็สามารถใช้บันทึกและตัดต่อเสียงได้เช่นกัน
- ซาวน์ดนตรี หรือ Backing Track สำหรับเพื่อนๆ ที่ต้องการเสียงดนตรีประกอบ สามารถค้นหาใน Google ด้วยการพิมพ์ ชื่อเพลง+Instrumental กรณีที่ต้องการเสียงดนตรี Backing track หรือหากต้องการเฉพาะเสียงเครื่องดนตรีบางชนิด ก็พิมพ์ ชื่อเพลง + ชื่อเครื่องดนตรี เช่น Piano guitar, Drum ได้เลย ซึ่งการนำมาใช้ควรต้องขออนุญาตเจ้าของซาวน์ก่อนทุกครั้งนะคะ
เพียงเท่านี้เพื่อนๆ ก็สามารถทำคลิปเพลงลง Youtube ได้แล้ว หากทำสำเร็จ อย่าลืมแชร์ลิ้งค์มาให้พวกเราฟังด้วยนะ
Related Courses
สร้าง Portfolio ให้โดนใจใช่เลย
เครื่องมือช่วยในการออกแบบทำ Portfolio จะต้องจัดวางอย่างไรให้สวย ต้องมีหัวข้ออะไรบ้าง จะแนบรูปภาพ ผลงาน กิจกรรมแล ...
Set สตูดิโอง่าย ๆ ด้วยงบ 1,000 บาท
การ Set Studio สามารถทำได้ในราคาที่ไม่แพง และนำไปใช้ได้จริง จำเป็นต้องศึกษารายละเอียด และปรับใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสม เ ...
เจาะลึกทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เด็กรุ่นใหม่ต้องมีการปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และต้องมีทักษะอะไรบ้างเพื่อรองรับกับอ ...
ก้าวแรกก่อนเป็นผู้ประกอบการ
ก้าวแรกก่อนเป็นผู้ประกอบการ สร้างอาชีพเสริมจากสิ่งจากที่ชอบ วิธีการสร้าง concept ของแบรนด์ให้น่าสนใจ รวมไปถึงช่องทาง ...