จาก ม.ต้นสู่ ม.ปลาย ช่วยลูกปรับตัวได้อย่างไร
เข้าสู่ม.ปลาย เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากเหลือเกิน เพราะนอกจากที่ลูกจะโตขึ้นเข้าสู่วัยรุ่นอย่างเต็มตัวแล้ว ยังเป็นช่วงชีวิตที่เรียกได้ว่า “ยาก” ทั้งการปรับตัวของร่างกาย สังคมอารมณ์ การเรียน เรื่องเพื่อน เรื่องความรัก ฯลฯ เรียกได้ว่าการขึ้น ม.ปลาย ไม่ได้มีแค่ปัจจัยเรื่องการศึกษา แต่ยังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมากทีเดียว
วันนี้เราจึงของมาชวนให้คุณพ่อคุณแม่ มาช่วยเป็นทั้งแรงกายแรงใจในการช่วยให้ลูกปรับตัว เพื่อเข้าสู่ ม.ปลาย กันค่ะ
1. เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ มองให้เป็นความท้าทาย
ขึ้นม.ปลายอะไรๆ รอบตัวย่อมเปลี่ยนไปอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเรียน เรื่องเพื่อน ครู หรือถ้าลูกใครที่ย้ายโรงเรียนใหม่ เรื่องสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปก็เป็นสิ่งที่ลูกต้องปรับตัวอีก อย่างไรก็ตามแทนที่จะรู้สึกตื่นกลัว กังวล ให้ลองมองความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเรื่องท้าทายดูค่ะ เปรียบเหมือนด่านต่างๆ ในเกม ที่เราจะต้องผ่านไปให้ได้ มองเรื่องเหล่านี้ให้เป็นความสนุกจะดีกว่า
2. ฝึกจัดตารางเรียนใหม่ ลองทำตามตารางที่วางไว้
ถ้ารู้สึกว่ามีหลากหลายสิ่งประเดประดังเข้ามามากเหลือเกิน ลองให้ลูกตั้งสติ แล้วจัดการไปทีละเรื่องค่ะ ลองออกแบบตารางให้ลูก อาจจะเริ่มจากรายวัน รายสัปดาห์ก่อนก็ได้ค่ะ เมื่อเริ่มปรับตัวได้ ลองให้ลูกวางแผนในระยะยาวขึ้น เป็นเดือน หรือเป็นเทอมก็ได้ค่ะ
3. อย่าผัดวันประกันพรุ่ง และมีวินัยในตัวเอง
ยิ่งยุคนี้เป็นยุคดิจิตอล ใครไวกว่าคนนั้นได้เปรียบอยู่แล้วค่ะ เพราะฉะนั้นความขี้เกียจอย่างการผัดวันประกันพรุ่ง ย่อมทำให้ชีวิตยากแน่นอนค่ะ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้ นั่นก็คือการคอยให้สติลูกเสมอ รวมถึงถามไถ่ถึงงานที่ลูกรับผิดชอบไว้ เพื่อกระตุ้นให้ลูกนั้นทำสิ่งที่ตัวเองได้รับมอบหมายให้เสร็จทันเวลา อีกเรื่องที่สำคัญคือความมี “วินัย” ในตัวเอง ที่เรียกได้ว่าเป็นพื้นฐานของความสำเร็จในทุกเรื่องก็ว่าได้ การมีวินัยนั้นไม่ได้ช่วยแค่เรื่องเรียนเท่านั้น แต่ยังช่วยในเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน ทำภารกิจต่างๆ ในแต่ละวันได้อย่างครบถ้วนและถูกต้อง ล้วนมาจากการมีวินัยในตัวเองทั้งสิ้น
4. ฝึกตัวเองให้คิดบวกอยู่เสมอ หาข้อดีในตัวเอง
นอกจากเรื่องเรียนแล้วเรื่องการคบเพื่อน และสัมคมในโรงเรียนก็เป็นเรื่องใหญ่ของเด็ก ม. ปลายค่ะ หากลูกผิดหวัง เหนื่อย ท้อแท้ใจกับความสัมพันธ์กับเพื่อน เราอยากให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยส่งเสริมให้ลูกคิดบวก ให้ลูกลองมองหาข้อดีของสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงลองมองหาข้อดีของตนเองด้วย เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เด็กๆ มักโทษตัวเอง และมองเห็นแต่ข้อเสียของตัวเอง
5. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน
ม.ปลายแล้ว ถือเป็นช่วงที่ต้องชัดเจนกับเรื่องการเรียนเป็นอย่างมาก เป็นช่วงที่ลูกต้องเลือกสาย และจริงจังกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และการสอบต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้อง สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะช่วยเขาได้ในเรื่องการตั้งเป้าหมาย ไม่ใช่การบังคับให้ลูกเรียนอย่างที่เราอยากให้เขาเป็นนะคะ แต่ต้องมานั่งจับเข่าคุยกันถึงทางที่เขาชอบว่าจะไปทางไหน เรียนอะไรในระดับมหาวิทยาลัย รวมไปถึงอาชีพภายภาคหน้าด้วย แต่ถ้าลูกยังไม่แน่ใจในอนาคต ไม่แน่ใจในสายการเรียน คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเป็นไกด์ รวมถึงแนะนำจากสิงที่เขาเป็น เช่น ถ้าเขาชอบทางศิลปะ ดนตรี หรือกีฬา ก็ลองส่งเสริมให้ไปทางด้านนั้นๆ อย่างจริงจัง
6. รู้จักสร้างมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี และไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น
คนเราไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่คนเดียวในโลกนี้ได้ค่ะ ถึงแม้ลูกจะเป็นคนเงียบ ชอบเก็บตัวก็ตาม ก็ยังคงต้องมีเพื่อนที่ดีไว้เป็นที่ปรึกษา พูดคุยแลกเปลี่ยน ได้แชร์เรื่องที่ชอบ การมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ย่อมทำให้เรามีเพื่อน เป็นที่รักของเพื่อน และสามารถทำงานที่ต้องเป็นกลุ่มได้ดี ได้ฝึกการทำงานเป็นหมู่คณะ ที่จะมีมากขึ้นกว่าตอน ม.ต้น ที่สำคัญเลยคือ นอกจากจะสอนลูกไม่ให้เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร และหากอยากจะแข่งขันก็ควรแข่งขันกับตัวเองจะดีที่สุด ซึ่งในจุดนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องไม่ควรเปรียบเทียบลูกตัวเอง กับลูกคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าบางครั้งอาจจะเป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะพูดง่ายแต่ทำได้ยากจริงๆ ก็ต้องคิดไว้ว่าทุกคนมีความแตกต่างและมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง
นี่ล่ะค่ะ หลักการง่ายๆ ที่เรามาแนะนำคุณพ่อคุณแม่ในวันนี้ เพื่อที่จะช่วยลูกให้ปรับตัวได้ ในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด ในช่วงการเรียนม.ปลายนี้ค่ะ
Related Courses
พัฒนาการด้านร่างกายสำคัญอย่างไร
เรียนรู้ความสำคัญ ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย แนวทางการจัดประสบการณ์และการประเมินพัฒนาการด้านร่า ...
พัฒนาการด้านอารมณ์สำคัญอย่างไรกับเด็กปฐมวัย
บทเรียนนี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ความสำคัญของพัฒนาการ สมรรถนะตามวัย กิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านอารมณ์ เน้นการทำกิจกรร ...
เรียนรู้และเข้าใจเด็กแอลดี
เด็ก LD คือ เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ การรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม อาจช่วยให้ผู้ป่วยพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ได้อย่างเต็ม ...
สุขภาพเด็กวัยเรียนสำคัญอย่างไร
การเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพของเด็กในวัยเรียนที่ครูและผู้ปกครองสามารถเรียนรู้ พร้อมนำไปปรับใช้ให้มีความเหมาะสมกับเด็ก ในด้านก ...