รวมเรื่องควรรู้ก่อนจดทะเบียนบ้านเรียน
สำหรับครอบครัวที่กำลังสนใจการทำบ้านเรียนด้วยการจดทะเบียนกับเขตพื้นที่การศึกษา อาจยังสับสนว่าควรเริ่มต้นอย่างไร มีขั้นตอนอะไรบ้าง บทความนี้มีข้อมูลมาฝากค่ะ
จดทะเบียนบ้านเรียน คืออะไร?
เมื่อตัดสินใจทำ Homeschool แล้ว สิ่งหนึ่งที่มักถูกพูดถึงบ่อยๆ คือ การจดทะเบียนบ้านเรียน ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดการศึกษาโดยครอบครัว ซึ่งการจดทะเบียนกับเขตพื้นที่การศึกษาที่เราอาศัยอยู่ แบ่งได้ เป็นดังนี้
- ระดับปฐมวัย หรืออนุบาล จดทะเบียนกับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐานหรือ สพฐ.
- ระดับประถม จดทะเบียนกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา หรือ สพป.
- ระดับมัธยม จดทะเบียนกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา หรือ สพม.
สำหรับระดับปฐมวัยหรืออนุบาลนั้น ยังไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ จะจดทะเบียนหรือไม่ก็ได้ แต่การจดทะเบียนกับเขตพื้นที่การศึกษาก็ทำให้มั่นใจได้ว่า หากต้องการพาลูกเข้าระบบโรงเรียนปกติ ก็สามารถทำได้ เพราะเมื่อจดทะเบียนกับเขตพื้นที่การศึกษาก็จะได้รับรองวุฒิอย่างถูกต้อง
เขตพื้นที่การศึกษา กับ สนง.เขต
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา กับ สำนักงานเขต ที่เราไปติดต่อทำบัตรประชาชน เป็นคนละสถานที่กันนะคะ โดยเขตพื้นที่การศึกษา เป็นระบบการจัดแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาการปกครอง ที่จัดแบ่งโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อจัดระบบ และกระจายอำนาจการจัดการศึกษาในประเทศไทยให้ครอบคลุมมากขึ้น แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา โดยการจดทะเบียน Homeschool กับเขตพื้นที่การศึกษา ต้องจดกับเขตพื้นที่ที่เราพำนักอาศัยอยู่เท่านั้น สำหรับกรุงเทพมหานคร สนง.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา อยู่ที่ ถ.ศรีอยุธยา เขตราชเทวี โทร. 0-2354-5258
เริ่มต้นจดทะเบียนบ้านเรียนกับเขตการศึกษา
สำหรับผู้ที่ต้องการจดทะเบียนบ้านเรียนกับเขตพื้นที่การศึกษา อาจเริ่มต้นจากโทรสอบถามข้อมูลที่สนง.เขตพื้นที่การศึกษาที่อาศัยอยู่ โดยทั่วไปบ้านเรียนสามารถยื่นขอจดทะเบียนกับเขตพื้นที่การศึกษาได้ ปีละ 2 ครั้ง คือ ประมาณเดือนมีนาคม และ เดือน ตุลาคม ซึ่งกรอบเวลาของแต่ละเขตพื้นที่อาจแตกต่างกัน จึงควรสอบถามเพื่อความแน่ใจ โดยทั่วไปเขตการศึกษาจะให้คำแนะนำ รวมทั้งให้แบบฟอร์มเอกสารต่างๆ ที่ต้องใช้ยื่นเพื่อจดทะเบียนบ้านเรียนมาด้วย
จดทะเบียนกับเขตพื้นที่ฯต้องมีเอกสารอะไรบ้าง
การยื่นขอจัดการศึกษาโดยครอบครัวนั้น มีเอกสารที่ต้องยื่นได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้านของพ่อแม่ บัตรประจำตัวประชาชน ของผู้จัดการศึกษา วุฒิการศึกษาของผู้จัดการศึกษา และเอกสารอื่นๆ ดังนี้
- แบบแสดงความประสงค์ขออนุญาตจัดการศึกษาโดยครอบครัว
- แบบยื่นความประสงค์ขอจัดทำแผนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว ร่วมกับสพป. หรือสพม.
- คำขอมีบัตรประจำตัวผู้เรียน (แนบรูปถ่าย 2 รูป)
- แผนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว
ซึ่งเอกสาร 3 อันดับแรก เขตพื้นที่ฯ จะมีแบบฟอร์มมาให้ ส่วนแผนการจัดการศึกษา เป็นสิ่งที่แต่ละครอบครัวต้องเขียนเอง แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถค่ะ
เขียนแผนการศึกษาทำอย่างไร
คุณพ่อคุณแม่บ้านเรียนยุคนี้ ถือว่าโชคดีเพราะมีบ้านเรียนรุ่นพี่แบ่งปันตัวอย่างการเขียนแผนไว้ให้อย่างมากมายค่ะ แต่ก่อนลงมือเขียนแผน อาจต้องเริ่มศึกษาหลักสูตรในระดับชั้นการเรียนของลูกที่กระทรวงกำหนดเพื่อให้เข้าใจเงื่อนไขและข้อกำหนดต่างๆ ก่อน เช่น หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี 2551
หลังจากนั้นจึงเริ่มลงมือเขียนแผน โดยอาจดูตัวอย่างแผนการเรียนที่ครอบครัวบ้านเรียนหลายๆ ครอบครัวได้แบ่งปันไว้ ทั่วไป ข้อมูลในแผนการเรียนประกอบไปด้วย
- ข้อมูลพื้นฐานของครอบครัว เช่น ประวัติการศึกษาและการทำงานของพ่อแม่ อายุ ที่อยู่
- ข้อมูลพื้นฐานของผู้เรียน เช่น อายุและพัฒนาการด้านต่างๆ
- ระดับการจัดการศึกษา และเหตุผลของการจัดการศึกษาโดยครอบครัว ข้อมูลในส่วนนี้ให้ครอบครัวระบุเหตุผลของการเลือกการจัดการศึกษาแบบบ้านเรียน
- จุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาโดยครอบครัว ระบุเป้าหมายที่คาดหวังจากการจัดการศึกษาโดยครอบครัว เช่น เด็กๆ ได้พัฒนาความสามารถที่ตนเองถนัดได้อย่างเต็มที่ สื่อสารได้สองภาษา และมีทักษะทางอารมณ์ที่ดี เป็นต้น
- รูปแบบการจัดการศึกษา ระบุว่าเราจะจัดการศึกษาแบบใด เช่น รวมกลุ่มกับครอบครัวที่มีความสนใจคล้ายกัน จัดการศึกษาแบบครอบครัวเดี่ยว
- การจัดการเรียนรู้ ในส่วนนี้จะแตกต่างกันไปตามระดับการศึกษาของเด็กแต่ละคน
- การวัดผลและประเมิน ในส่วนนี้ระบุวิธีการประเมิน ซึ่งโดยทั่วไปเขตการศึกษาจะมีเกณฑ์การประเมินมาให้
แผนการศึกษาเขียนผิดแก้ได้?
หลังจากเขียนแผนการศึกษายื่นให้กับสนง.เขตพื้นที่การศึกษาแล้ว หากมีข้อผิดพลาด หรือข้อมูลที่ไม่ตรงตามหลักสูตรที่กระทรวงกำหนด ทางสนง.เขต อาจส่งให้มีปรับแก้ ซึ่งโดยทั่วไปอาจต้องแก้ 1-2 ครั้ง
แผนการศึกษาต้องเขียนทุกปีไหม?
การเขียนแผนการจัดการศึกษาโดยครอบครัวนั้น ในหนึ่งระดับการศึกษาจะเขียนเพียงครั้งเดียว เช่น ระดับอนุบาล 1-3 ก็จะเขียนแผนรวมทั้ง 3 ปี ระดับประถม ก็เขียนแผนครั้งเดียวใช้ตั้งแต่ประถมปีที่ 1-6 เป็นต้น ในช่วงแรกจึงอาจดูเหมือนวุ่นวาย มีสิ่งที่ต้องศึกษาเยอะ แต่หากเขียนแผนสำเร็จแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็จัดการเรียนการสอนให้ลูกได้ยาวๆ ทั้งนี้ ในแต่ละปีการศึกษา ทางเขตจะส่งจดหมาย เพื่อให้ครอบครัวทำรายงานประเมินผลการศึกษาในแต่ละปี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาบางแห่ง อาจนัดครอบครัวบ้านเรียน เข้าไปพบที่เขตเพื่อทำการประเมิน บางแห่งอาจใช้วิธีไปเยี่ยมที่บ้านของแต่ละครอบครัว ขึ้นอยู่กับจำนวนบ้านเรียนในแต่ละเขตพื้นที่
Related Courses
สุขภาพเด็กวัยเรียนสำคัญอย่างไร
การเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพของเด็กในวัยเรียนที่ครูและผู้ปกครองสามารถเรียนรู้ พร้อมนำไปปรับใช้ให้มีความเหมาะสมกับเด็ก ในด้านก ...
พัฒนาการด้านร่างกายสำคัญอย่างไร
เรียนรู้ความสำคัญ ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย แนวทางการจัดประสบการณ์และการประเมินพัฒนาการด้านร่า ...
สิ่งเล็กๆที่สร้างลูกคุณ
การจะเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องยากเสมอไป ลูกๆ ต้องการแค่แบบอย่างที่ดี เพราะพ่อแม่คือต้นแบบในการดำเนินชี ...
DIY กระถางต้นไม้ทำมือ
การปลูกต้นไม้ช่วยเพิ่มความร่มรื่น อีกทั้งยังใช้เป็นของตกแต่งบ้านได้อีกด้วย กระถางต้นไม้ก็เป็นส่วนสำคัญในการปลูกต้นไม้ มาฝึกทำกระ ...