เชื่อมั่นว่า ฉันทำได้!!! อันดับแรกต้องลงมือทำ
“หากเชื่อมั่นว่า เราทำได้ เราก็จะทำได้ ” การจะสร้างความเชื่อเช่นนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่เพียงแค่คำพูดปลุกใจ แต่ต้องผสมผสานไปกับการได้ลงมือทำจริงๆ ซ้อมเยอะๆ “เพราะการลงมือทำไม่เคยโกหก จึงนำมาสู่ความเชื่อมั่น และการปลุกใจด้วยคำพูด ก็จะช่วยทำให้เราคิดไตร่ตรองและยอมรับว่า “ถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องเชื่อมั่นว่า ฉันทำได้”
“หากเชื่อมั่นว่า ตนเองทำได้ เราก็จะทำได้ จริงๆ” วลีเด็ดในสมัยพี่นีทยังวัยรุ่น ที่มักใช้พูดกับตนเอง ในเวลาที่ต้องพาตนเองไปท้าทายกับอะไรบางอย่าง เช่น สอบคณิตศาสตร์ สอบฟิสิกส์ ประกวดพูดสุนทรพจน์ หรือแสดงงานเปียโน แต่น้องๆ เชื่อไหมคะว่า บางครั้งคำพูดนี้มันก็ช่วยพี่ได้จริงๆ แต่บางครั้งก็ช่วยไม่ได้
พี่จำได้ว่า ตอนที่พี่ไปแสดงงานเปียโน พี่ซ้อมหนักมาก ซ้อมเช้า ซ้อมเย็น เพื่องานนี้โดยเฉพาะ และพอจะขึ้นแสดงก็พูดเจ้าวลีเด็ดนี้แหละ ซึ่งตอนนั้นที่พูด ก็รู้สึกเชื่อมั่นใจมากว่า ฉันทำได้ และมันก็ทำได้จริงๆ แต่ถัดไปอีกไม่กี่วัน พี่มีสอบฟิสิกส์ ซึ่งพี่อ่านหนังสือน้อยมาก เพราะเอาเวลาไปซ้อมเปียโน ช่วงก่อนสอบก็พยายามพูดเจ้าวลีเด็ดนี้ แต่เอาจริง มันก็ไม่มีแรงฮึด หรือเชื่อไม่ได้อย่างสนิทใจว่า จะทำได้ สุดท้ายก็สอบฟิสิกส์ได้ไม่ดี พี่เคยสงสัยกับเรื่องเหล่านี้ จนกระทั่งได้มาเรียนจิตวิทยา และรู้จักคำว่า Self -efficacy
Self -efficacy ในภาษาไทยแปลว่า การรับรู้ความสามารถของตนเอง ว่าเราทำมันได้ หรือ เราทำมันไม่ได้ (ผู้คิดคำๆนี้ คือ Bandura) โดย เมื่อไรก็ตามที่เราเชื่อจากใจว่า “ฉันทำได้” มันก็จะช่วยให้เรามั่นใจ เวลาที่ลงมือทำสิ่งนั้นจริงๆ ก็มักจะทำสำเร็จ ในทางกลับกัน หากเรายังไม่เชื่อมั่นว่า ฉันทำได้ เราก็จะไม่ค่อยมั่นใจ และอาจจะทำไม่สำเร็จ
โดยส่วนใหญ่ วิธีง่ายๆ ที่เราจะเห็นหรือใช้ ในการปลุกใจ เรียกเชื่อมั่นในตนเอง ก็คือ การพูดให้กำลังใจ ด้วยตัวเราเองหรือคนรอบข้าง ซึ่งวิธีนี้ก็อาจจะไม่ได้ผล 100% เพราะบางทีเราก็อาจจะไม่ได้เชื่อ หรือเกิดความมั่นใจกับตนเองจริงๆ
น้องๆรู้ไหมคะว่า มีอยู่อีกสิ่งหนึ่ง ที่เราต้องสร้างมันก่อนการปลุกใจด้วยคำพูด หรืออาจทำไปพร้อมๆกัน นั่นคือ การลงมือทำเพื่อให้ได้กลิ่นอาย ได้เห็นเค้าโครงของความสำเร็จ ในการ์ตูนกีฬา ก่อนการแข่งขันจริง มักจะมีการซ้อมแข่ง น้องๆ รู้ไหมคะว่า ทำไม? ตอนแรกที่พี่อ่าน ก็คิดว่า อ้อๆ คงเป็นการเพิ่มเรื่องให้มันยาวขึ้นมั้ง แต่จริงๆ ไม่ใช่ค่ะ พอพี่ลองนำเรื่อง Self -efficacy มาจับก็พบว่า การซ้อมแข่งขัน มันคือการลองสนาม ลงมือทำว่าถ้าแข่งแล้วฉันจะชนะไหมนะ
การลองสนามเนี่ยสำคัญมากเลย เพราะเมื่อเราซ้อมแข่งชนะ เราจะได้รับรู้ถึงความสำเร็จเบื้องต้น แล้วรู้ว่า อ๋อ ชนะมันเป็นแบบนี้เอง มันคือการมีประสบการณ์จริงๆ ที่ทำให้เราเชื่อว่า นี่ไง ฉันก็ทำได้ เพราะฉันซ้อมแข่งชนะ (ซึ่งต้องมีหลายการซ้อมแข่ง เพื่อให้เจอสนามที่ชนะ ส่วนสนามที่แพ้ก็เรียนรู้จากมันเพื่อก้าวไปต่อ ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย คือการแพ้ทุกสนาม เพราะจะใจเสีย) พอไปถึงการแข่งจริง เวลาที่เราต้องพูดปลุกใจตนเองให้เชื่อมั่นว่า ฉันทำได้ มันก็จะรู้สึกแบบนั้นจริงๆ เพราะเราเคยลิ้มรสชัยชนะมาแล้ว มันก็จะมั่นใจจริงๆ หรือบางที เวลาที่พี่จะแสดงเปียโน มันก็จะมีซ้อมใหญ่ ซ้อมย่อย ให้เหมือนงานจริงๆ ถามว่าทำไมต้องมีซ้อมเยอะแบบนี้ ก็ตอบได้เหมือนเดิมเลยค่ะว่า เพื่อให้เราได้ลงมือทำ และมีประสบการณ์ของความสำเร็จ ว่า ฉันก็เล่นเปียโนได้นะ มันก็เสริมความเชื่อมั่นให้เราอีกว่า ฉันทำได้ นี่ไงฉันทำได้จริงๆ นะ (เล่นได้ดีแบบไม่ได้ฝันไป)
แม้กระทั่งการเตรียมตัวสอบ ถามว่า ทำไมต้องนั่งทำแบบฝึกหัดเยอะๆ บางทีอาจจะจับเวลาการทำข้อสอบจริงๆ ด้วย พี่ว่า อันดับแรก ก็คงทำให้เราคุ้นชินกับโจทย์ต่างๆ มากขึ้น รู้ว่าโจทย์มีกี่รูปแบบ จะได้หาวิธีการรับมือกับโจทย์ต่างๆ นอกเหนือจากนี้ การทำโจทย์บ่อยๆ ก็เป็นการเสริมความมั่นใจเราเหมือนกันนะคะว่า ฉันทำได้ เพราะฉันทำโจทย์มาแล้วร้อยกว่าข้อ
จากหลายตัวอย่างที่พี่นีทยกมานั้น พี่นีทอยากจะบอกกับน้องๆว่า ความเชื่อมั่นหรือรับรู้ว่าตนเองทำได้นั้น เกิดขึ้นได้จริงๆ โดยมันจะเกิดได้ เมื่อเราได้ลงมือทำ ลงมือฝึกฝน สิ่งต่างๆ ยิ่งซ้อมมาก ฝึกฝนมาก หรือได้มีโอกาสทำสิ่งนั้นในสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกับของจริงมากเท่าไร ความเชื่อมั่นว่า เราทำได้ก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น และสุดท้ายก่อนถึงวันจริง ก็มาทบทวนและปลุกกำลังใจให้ตนเองว่า เราทำได้ เราก็จะทำได้จริงๆ
เพราะการได้ลงมือทำไม่เคยโกหก จึงนำมาสู่ความเชื่อมั่น และการปลุกใจด้วยคำพูด ก็จะช่วยทำให้เราคิดไตร่ตรองและยอมรับว่า “ถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องเชื่อมั่นว่า ฉันทำได้”
อ้างอิง Bandura, A. (1977). Self-efficacy: Toward a unifying theory of behavioral change. Psychological Review, 84(2), 191-215.
Related Courses
ศิลปะแห่งการตั้งคำถามในห้องเรียน
“การตั้งคำถาม” ถือเป็นเครื่องมือการสอนที่สำคัญอย่างหนึ่งที่คุณครูสามารถนำมาใช้เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ...
ฝึกกระบวนการคิด ในห้องเรียนยุคใหม่
การสร้างการเรียนรู้สำหรับครูและผู้ปกครองในการพัฒนากระบวนการคิดให้เกิดขึ้นกับตัวเด็กในระหว่างอยู่ที่โรงเรียนและบ้านเพื่อเพิ่มป ...
เทคนิคและวิธีการสอนสมัยใหม่
การใช้คำถาม เครื่องมือ การนำเสนอ ที่แปลกใหม่ น่าสนใจ มีส่วนสำคัญในการสร้างห้องเรียนที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม เรียนรู้วิธีการถาม กา ...
ทำเค้กง่ายๆ ใครๆ ก็ทำได้
การทำเค้กคือการนำแป้ง น้ำตาล ไข่ ไขมัน มาผสมกัน ผ่านการอบ ซึ่งปัจจุบันมีสูตรทำเค้กมากมายที่ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการอบเพียงอย่างเดียว