สร้างสังคมหลากหลาย ให้เด็ก Homeschool
เมื่อพูดถึงการทำ Homeschool สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองมักเป็นกังวล คือ เรื่อง การเข้าสังคม เพราะผู้ที่ไม่ได้คลุกคลีกับการทำ Homeschool มักเข้าใจว่า การเป็นเด็กบ้านเรียน คือ เรียนรู้ด้วยตัวเองอยู่ที่บ้านลำพัง ไม่มีเพื่อน ไม่มีสังคม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ครอบครัวก็เป็นหน่วยหนึ่งของสังคม หากสัมพันธภาพในครอบครัวแข็งแรง ก็จะเป็นพื้นฐานการเข้าสังคมอย่างมีคุณภาพให้กับเด็กๆ ต่อไปได้ นอกจากนี้ เด็กบ้านเรียน ยังอาจมีกิจกรรมหลากหลายที่ช่วยพัฒนาทักษะทางสังคม ไม่ได้เรียนรู้อย่างโดดเดี่ยวอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ
ทักษะทางสัมคมเริ่มต้นที่บ้าน
ตั้งแต่แรกเกิดทารกเรียนรู้การเข้าสังคม ผ่านการเฝ้ามอง สังเกตและเลียนแบบสมาชิกในครอบครัว เมื่อเติบโตขึ้น พวกเขาเรียนรู้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์ผ่านการสื่อสารรูปแบบต่างๆ ชีวิตในแต่ละวันทำให้เด็กๆ เข้าใจเรื่องการให้คุณค่า และสิ่งต่างๆ ที่เป็นขนบธรรมเนียมของสังคม สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติภายในครอบครัว
เมื่อเข้าสู่วัยเรียน รูปแบบการเข้าสังคมในโรงเรียนจะต่างไป เด็กๆ ถูกคาดหวังให้ทำตามคำสั่ง ขออนุญาตก่อนพูดหรือลุกออกจากที่นั่ง เข้าแถวและเดินเรียงกันไปตามลำดับ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ในการควบคุมดูแลเด็กที่อยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก แต่คำถามคือ สิ่งเหล่านี้คือทักษะทางสังคมที่ใช้ในชีวิตส่วนใหญ่จริงหรือ?
กลับมาที่เด็กบ้านเรียน พวกเขามีโอกาสได้รับการตอบสนองในฐานะปัจเจกบุคคลมากกว่าเด็กที่อยู่ในระบบโรงเรียนทั่วไป พ่อแม่หรือผู้ทำการสอนเด็กบ้านเรียน สามารถพิจารณาตอบคำถาม ให้คำแนะนำ พูดคุย กับเด็กๆ ได้ตามความสนใจและความสามารถของเด็กแต่ละคน ซึ่งการสื่อสารแบบตัวต่อตัวที่มีคุณภาพ จะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาทักษะการเข้าสังคมในขั้นต่อไปได้
ทักษะสังคมของเด็กบ้านเรียน จึงค่อยๆ พัฒนาขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ผ่านสถานการณ์ในชีวิตจริง เช่น ฝึกถามตอบคำถามกับพ่อแม่ ฝึกเข้าคิวเมื่อจ่ายเงินซื้อของกับคุณแม่ ฝึกการพูดคุยสื่อสารกับคนหลากหลายวัย เช่น คุยกับเพื่อนที่พบเจอผ่านการทำกิจกรรมกลุ่ม พูดคุยกับผู้ใหญ่ ที่ให้ความรู้หรือทักษะด้านต่างๆ เป็นต้น
หาเพื่อนวัยเดียวกันให้เด็กบ้านเรียน
เด็กบ้านเรียนก็มีเพื่อนได้ไม่ต่างจากเด็กในโรงเรียนทั่วไปค่ะ เพื่อนๆ ของเด็กบ้านเรียนอาจมาจากพี่น้องที่เรียน Homeschool ด้วยกัน หรืออาจมาจากศูนย์การเรียน กลุ่มบ้านเรียนที่เราไปร่วมกิจกรรมด้วย การหาเพื่อนวัยเดียวกันให้เด็กๆ ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่อาจต้องพูดคุยสอบถามความสนใจของลูกและหากลุ่มเพื่อนที่มีความสนใจคล้ายๆ กัน ด้วยการพาลูกไปทำกิจกรรมที่เขาสนใจ ลองนึกถึงตัวเราเอง เมื่อหาเพื่อน เราก็อยากพูดคุยกับคนที่มีความสนใจคล้ายกัน เด็กๆ ก็เป็นเช่นนั้นค่ะ
เรียนรู้กาลเทศะเมื่อพบปะผู้ใหญ่
เด็กบ้านเรียน อาจมีโอกาสได้เข้าสังคมกับผู้คนหลากหลายวัยในหลายสถานการณ์ เช่น เรียนรู้การซ่อมเครื่องยนต์กับเพื่อนของคุณพ่อ ฝึกวาดภาพกับเพื่อนรุ่นพี่ ร่วมงานปาร์ตี้กับเพื่อนๆ ของคุณแม่ เด็กบ้านเรียนจึงมีโอกาสเข้าสังคมและพบเจอผู้คนที่อาวุโสกว่า ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องมารยาทสังคม กาลเทศะและการสื่อสารกับผู้ใหญ่ ไม่ต่างจากเด็กในโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่อาจหาโอกาสให้ลูกฝึกเข้าสังคมกับคนที่อายุมากกว่า ทั้งเรื่องการวางตัว น้ำเสียง กริยาท่าทาง การแต่งตัว ด้วยการพาลูกไปพบเพื่อนๆ ของพ่อแม่ ไปงานเลี้ยง หรือกระทั่งทำกิจกรรมกับศูนย์การเรียน ก็จะได้พบกับครูผู้สอนที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้สังเกตพฤติกรรมของคนรอบตัวเมื่อเข้าสังคม ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็เป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กๆ ได้เรียนรู้พฤติกรรมที่เหมาะสม
สร้างประสบการณ์สังคมแห่งการแบ่งปัน
การเป็นอาสาสมัคร หรือจิตอาสา เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้สังคมที่หลากหลายได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นอาสาทำความสะอาดห้องสมุดโรงเรียน อาสาอ่านหนังสือเพื่อคนตาบอด อาสาสมัครทำอาหารเพื่อเด็กยากไร้ ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้ไม่เพียงแบ่งปันสิ่งที่เราพอทำได้ให้กับผู้ที่ขาดแคลน แต่ยังทำให้ลูกเห็นว่าในสังคมมีความหลากหลายมากไปกว่าสิ่งที่อยู่ในตำราเรียน เมื่อลงพื้นที่สัมผัสจริงๆ ลูกจะได้รับประสบการณ์ชีวิตที่สำคัญ มองเห็นโลกในมุมที่หลากหลาย ซึ่งอาจต่อยอดเป็นความเข้าใจสังคมในบริบทที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นได้
เรียนรู้โลกที่มีมากกว่าผู้หญิงผู้ชาย
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาประเด็นเกี่ยวกับ LGBTQ+ หรือกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศเริ่มถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง หลายประเทศทั่วโลก เริ่มแก้กฏหมายเพื่อรองรับสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ เด็กๆ ที่ใช้โซเชียล มีเดีย เป็นประจำ อาจเริ่มเห็นเทรนด์การแต่งตัวที่ไม่จำกัดว่าผู้ชายจะต้องสวมแต่กางเกงเท่านั้น โลกที่เคยถูกจำกัดด้วยการ stereotype เช่น ผู้ชายต้องสวมกางเกง รองเท้าส้นสูงเป็นของผู้หญิงเท่านั้น ศิลปินต้องผมยาว ฯลฯ กำลังจะหมดไป โลกยุคใหม่มีพื้นที่ให้กับความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น พ่อแม่จึงจำเป็นต้องก้าวให้ทันกระแสของโลก เพื่อเข้าใจกระบวนการคิดของลูก
โดยเฉพาะเด็ก Gen Z (เกิดปีพ.ศ. 2540 - 2555) และ Gen Alpha (เกิดปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป) ที่เปิดกว้างในเรื่องเพศสภาพมาก จนคน Gen ก่อนหน้า อย่างเราๆ อาจไม่เข้าใจ ดังนั้นในฐานะพ่อแม่ของเด็กยุคใหม่ ก็ควรเรียนรู้ไปพร้อมกับลูก ระมัดระวังที่จะไม่ใช้มาตรฐานทางศีลธรรมแบบเดิมๆ ตีตราความหลากหลายทางเพศว่าเป็นสิ่งผิด อย่าลืมว่า คุณกำลังเตรียมลูกให้พร้อมสำหรับโลกแห่งอนาคต สิ่งที่เป็นความเชื่อแบบเดิมๆ จึงอาจใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป ลองเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ความหลากหลายทางเพศ ผ่านสื่อที่เหมาะสม เช่น หนัง Love,Simon (Rated 13+) หรือ The perks of being a wallflowers (Rated 15+) ทั้งสองเรื่องมีตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือซีรีย์เกาหลีอย่าง Itaewon Class ก็มีตัวละครที่เป็น Transgender หากกลัวว่าอาจมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ก็อาจเปิดดูล่วงหน้า ก่อนเปิดดูกับลูก แล้วลองชวนลูกพูดคุยถึงประเด็นในหนัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งถือเป็นอีกทักษะหนึ่งที่สำคัญในการเข้าสังคม
เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้ ครอบครัวของเด็ก Homeschool น่าจะเริ่มคลายความกังวลใจ เพราะเด็กบ้านเรียน ก็มีสังคมหลากหลายได้ไม่ต่างจากเด็กในระบบโรงเรียนทั่วไป เพียงแค่พ่อแม่ผู้ปกครองเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ออกไปเผชิญโลกกว้าง ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเหมาะสม สอดแทรกทักษะการเข้าสังคมไว้ในชีวิตประจำวัน เพียงเท่านี้ เด็กบ้านเรียนก็หมดปัญหาเรื่องเข้าสังคมแบบที่ใครๆ กังวลกันแล้วค่ะ
Related Courses
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
การสื่อสารภาษาอังกฤษ ใครว่ายาก? หากเราเข้าใจ และสื่อสารมันจากความรู้สึก และไม่ต้องกังวลจนเกินไป ในคอร์สเรียนนี้เราจ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
ต้องใช้ 100 เหรียญ
การซ่อมแซมของใช้ในชีวิตประจำวัน
อุปกรณ์ของใช้ในบ้านเมื่อใช้ไประยะหนึ่งอาจชำรุดเสียหายได้ ถ้าเรารู้จักวิธีซ่อมแซมจะทำให้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกซึ่งเป็นการประหยั ...
Collaborative classroom design
เรียนรู้ทักษะความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership) หลักการออกแบบกิ ...
ฝึกกระบวนการคิด ในห้องเรียนยุคใหม่
การสร้างการเรียนรู้สำหรับครูและผู้ปกครองในการพัฒนากระบวนการคิดให้เกิดขึ้นกับตัวเด็กในระหว่างอยู่ที่โรงเรียนและบ้านเพื่อเพิ่มป ...