Self Learning Skill ทักษะจำเป็นของเด็กบ้านเรียน
เราต่างคุ้นเคยกับการเรียนการสอนในห้องเรียน ที่คุณครูยืนอยู่หน้าชั้น อธิบายบทเรียนที่ถูกออกแบบมาเพื่อนักเรียนทั้งห้อง (แม้ว่าเด็กแต่ละคนจะมีสไตล์และความสามารถในการเรียนรู้ต่างกัน) นักเรียนนั่งฟัง และจดบันทึกสิ่งที่ครูสอน เพื่อนำความรู้ไปทำรายงาน และการสอบ การเรียนแบบนี้เป็น Passive Learning ที่บทบาทของผู้เรียนมีเพียงฟังและทำตาม แต่สำหรับครอบครัวที่ทำบ้านเรียน จำเป็นต้องฝึกเด็กๆ ให้เป็น Active Learning สามารถค้นหาความรู้ได้ด้วยตนเอง ลองมาดูค่ะว่า จะสร้างทักษะเรียนรู้ด้วยตนเองให้เด็กๆ ได้อย่างไร
เรียนรู้ด้วยตนเอง...ดีอย่างไร
การเรียนรู้ด้วยตนเองหรือ Self Learning คือ ความสามารถของปัจเจกบุคคลในการค้นคว้า ศึกษาหาความรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจ โดยไม่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลอื่น สามารถประเมินความต้องการในการเรียนรู้ของตนเอง ตั้งเป้าหมายการเรียน และประเมินสิ่งที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งถือเป็นทักษะจำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับครอบครัวบ้านเรียน ที่การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนและตำราเพียงไม่กี่เล่ม
Homeschool เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้สิ่งที่ตนเองสนใจได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น หากผู้เรียนมีความเป็น Self Learner ก็น่าจะช่วยเด็กๆ มีอิสระและมีความสุขกับการเรียนรู้มากขึ้น
5 วิธีสร้างทักษะให้ลูกรักเรียนรู้ด้วยตนเอง
1. เปิดโอกาสให้ลูกสงสัยและตั้งคำถาม
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ระบุว่า ความช่างสงสัยช่วยให้สมองของเราเปิดกว้างต่อการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเรียนรู้นั้น สามารถคลายข้อสงสัยต่างๆ ได้ ทำให้เกิดประสบการณ์เรียนรู้ที่น่ารื่นรมณ์ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว หากลูกเป็นเด็กช่างสงสัย ตั้งคำถามบ่อยๆ ก็อย่าเบื่อที่จะช่วยลูกหาคำตอบนะคะ
สำหรับเด็ก Homeschool ที่มีคำถามเกี่ยวกับบทเรียนหรือสิ่งต่างๆ รอบตัว คุณพ่อคุณแม่อาจนำคำถามของลูกเป็นจุดตั้งต้นเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น หากเด็กๆ สงสัยเรื่องหินต่างๆ อาจเริ่มสอนเรื่องเปลือกโลก วิวัฒนาการธรณีวิทยา ไปสู่เรื่องของอัญมณีต่างๆ ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่พบใต้พื้นโลก นำไปสู่การวาดภาพอัญมณีต่างๆ ด้วยสีน้ำ จะเห็นว่าจากคำถาม 1 ข้อ ต่อยอดเป็นการเรียนรู้ได้ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ไปจนถึงศิลปะ
พ่อแม่ช่วยส่งเสริมให้เด็กๆ มีความสงสัยใคร่รู้ได้ จากการพูดคุย ถามนำในเรื่องต่างๆ เช่น หากอ่านหนังสือด้วยกัน อาจถามลูกว่า คิดว่าเพราะอะไรถึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ หากเป็นลูกจะแก้ปัญหาอย่างไร ฯ หรือหากเด็กๆ มีคำถามในสิ่งที่เรียน แทนที่จะบอกคำตอบทันที อาจตั้งคำถามชวนให้คิด เช่น หากเด็กๆ ถามว่าทำไมรุ้งจึงมีหลายสี แทนที่จะตอบ ทันที อาจถามกลับว่า ลูกคิดว่าเป็นเพราะอะไร ลองเดาดูสิ การให้เด็กๆ ได้ฝึกคิดจะบ่มเพาะความเป็นคนช่างสงสัยใฝ่รู้ได้
2. ใช้วิธี 20/20/20
สำหรับพ่อแม่ที่ต้องการกระตุ้นให้เด็กๆ เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร อาจลองใช้วิธี 20/20/20 คือ ในหนึ่งหัวข้อการเรียนรู้ ให้แบ่งเป็น
- เรียนกับผู้สอน 20 นาที
- เรียนกับเพื่อนหรือผู้เรียนคนอื่น 20 นาที
- เรียนด้วยตนเอง 20 นาที
วิธีนี้เหมาะสำหรับครอบครัวที่เพิ่งเริ่มทำบ้านเรียน เด็กๆ กำลังปรับตัวกับการเรียนรูปแบบใหม่ ช่วยให้เด็กๆ ปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเป็นการปลูกฝังทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองในเบื้องต้นได้
3. สร้างบรรยากาศการเรียนรู้
ลองจินตนาการบ้านที่เต็มไปด้วยหนังสือ มีสื่อการเรียนรู้จัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบ กับบ้านที่เปิดทีวีตลอดเวลา ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านระเกะระกะ บ้านไหนที่เด็กๆ จะเรียนรู้ได้ดีกว่ากัน
เมื่อครอบครัวเริ่มจัดการเรียนรู้ด้วยตนเอง การปรับเปลี่ยนบรรยากาศภายในบ้านก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย หากเป็นครอบครัวใหญ่ มีสมาชิกหลายเจนเนอเรชั่น อาจหาห้องสักห้อง ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ เป็นห้องที่ไม่มีเสียงและสิ่งรบกวน มีอุปกรณ์การเรียนรู้ให้เด็กๆ ค้นคว้าด้วยตนเองได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ อินเทอร์เน็ต และสื่อการสอนอื่นๆ ที่เห็นว่าเหมาะสม อีกทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง ยังต้องช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ผ่านชีวิตประจำวัน เช่น ในบทสนทนาทั่วไป อาจลองถามคำถามให้ลูกได้ฝึกคิดต่อยอด และหากเด็กๆ ชวนพูดคุยหรือมีคำถาม ก็ควรรับฟังและให้คำตอบ ไม่ควรแสดงทีท่ารำคาญหรือไม่สนใจ เพราะเป็นการขัดขวางความอยากเรียนรู้ของลูกได้ค่ะ
4. ต่อยอดความรู้
เมื่อได้เรียนรู้เรื่องใดๆ ก็ตาม ชวนเด็กๆ คิดต่อ เช่น หากเรียนรู้เรื่องการเกิดฝน อาจต่อยอดไปสู่การทำความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนสถานะของสสาร จากของแข็งเป็นของเหลว นำความรู้นี้ มาสู่การทำอาหาร เช่น ผลไม้เป็นของแข็ง เมื่อนำไปปั่นผสมน้ำจะกลายเป็นของเหลว แต่เมื่อนำเข้าช่องฟรีซ ก็กลายเป็นไอศครีมผลไม้ ซึ่งเป็นของแข็ง และในการทำอาหารนี้เด็กๆ ยังได้เรียนรู้เรื่องการคำนวณ ชั่ง ตวง วัด เป็นต้น
ในช่วงแรก พ่อแม่อาจเป็นผู้ชี้นำ ให้ลูกเห็นว่าจะต่อยอดแต่ละองค์ความรู้ได้อย่างไรบ้าง เมื่อทำเป็นประจำ เด็กๆ จะเริ่มพบวิธีว่าความรู้แต่ละแขนงสามารถเชื่อมโยงกันได้ ทำให้การเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นเรื่องสนุกยิ่งขึ้น
5. สร้างเครือยข่ายการเรียน
ถึงแม้จะเรียนรู้แบบ Homeschool แต่การมีเครือข่ายการเรียน ก็จะช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น พ่อแม่อาจร่วมกลุ่มเครือข่ายบ้านเรียนที่ให้พ่อแม่และเด็กๆ ทำกิจกรรม และแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน หรืออาจพาลูกไปเข้ากลุ่มหรือคลาสเสริมกิจกรรมสำหรับแต่ละรายวิชา เช่น เรียน coding กับสถาบันหนึ่ง เรียนวาดภาพ กับอีกสถาบันหนึ่ง สร้างเครือข่ายการเรียนในวิชาต่างๆ เพราะการมีเพื่อนร่วมเรียน บางครั้งก็เป็นแรงผลักดันให้เด็กๆ เรียนรู้ด้วยตนเองได้ดีขึ้น เพราะพวกเขารู้ว่ามีเครือข่ายที่สามารถขอคำปรึกษาได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ชื่นชอบการเข้าสังคม ชอบสังสรรค์กับเพื่อน ก็จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองให้ลูกได้
Related Courses
ปรับ Mindset เปลี่ยนวิธีคิด สร้างสุขให้ตัวเอง
คอร์สเรียนนี้จะเป็นการเรียนรู้เพื่อปรับ Mindset เปลี่ยนวิธีคิดของตนเอง เพื่อสร้างความสุข ฝึกให้เรามีความมั่นใจ รู้จักตัวตนแล ...
ปรับ Mindset เปลี่ยนวิธีคิด สร้างสุขให้ตัวเอง
ต้องใช้ 100 เหรียญ
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
การสื่อสารภาษาอังกฤษ ใครว่ายาก? หากเราเข้าใจ และสื่อสารมันจากความรู้สึก และไม่ต้องกังวลจนเกินไป ในคอร์สเรียนนี้เราจ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
ต้องใช้ 100 เหรียญ
เลี้ยงลูกอย่างไรให้ IQ ดี EQ เด่น
บทเรียนนี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ความสำคัญของ IQ และ EQ องค์ประกอบของ IQ และ EQ เทคนิคการสร้าง IQ และ EQ ให้กับลูก ร ...
Collaborative classroom design
เรียนรู้ทักษะความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership) หลักการออกแบบกิ ...