รับมืออย่างไร เมื่อลูกติดคำหยาบในโลกออนไลน์ มาใช้ในชีวิตจริง
อีกปัญหาหนักใจ ที่หลายบ้านต้องพบเจอ หนีไม่พ้นเรื่องการพูด “คำหยาบ” ของลูกในวัยเรียนค่ะ สมัยก่อนรุ่นคุณพ่อ คุณแม่ก็มีปัญหานี้ แต่มักติดมากจากทีวี หรือภาพยนต์ แต่สมัยนี้มีสื่อที่ลูกเข้าถึงได้ง่ายนั่นคือ “ออนไลน์ และแอปพลิเคชันต่างๆ ที่ทำให้ลูกได้พบเจอกับคำหยาบได้มากขึ้น และไม่พ้นที่จะเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นปัญหาน่าปวดหัวอีกปัญหาหนึ่งค่ะ วันนี้เราจะชวนมารับรู้ และทำความเข้าใจกันว่า เราจะรับมืออย่างไร เมื่อลูกติดคำหยาบในโลกออนไลน์ มาใช้ในชีวิตจริงกันค่ะ
ให้ลูกได้รู้ความหมายที่แท้จริง
การที่ลูกพูดคำหยาบ บางครั้งอาจจะเป็นเพราะการได้เห็นในคลิป ในโซเชียลมีเดียต่างๆ มันดูเท่ห์ มันดูเจ๋งเสียเหลือเกิน สำหรับเด็กเล็กที่เพิ่งเข้าวัยเรียน เขาอาจจะไม่ทราบความหมายที่แท้จริงก็ได้ หรือบางครั้งก็แค่พูดไปตามๆ เพื่อน แต่พอได้รู้ความหมายที่แท้จริงแล้ว ก็ควรอธิบายต่อด้วยว่าทำไมไม่ควรที่จะพูดคำนี้
อธิบายให้เขาฟังว่าคำหยาบ ทำให้คนฟังรู้สึกอย่างไร ถามลูกว่าถ้ามีคนมาพูดหยาบคายกับเขา เขารู้สึกอย่างไร ไม่ชอบเหมือนกันใช่ไหม เป็นการสอนให้เขาเรียนรู้การเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย ที่สำคัญ ไม่มีใครอยากฟังคนที่พูดคำหยาบตลอดเวลา ถ้าพ่อแม่เอง หรือคนในบ้านระมัดระวังคำพูด และเป็นแบบอย่างที่ดีมาโดยตลอด ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่งแล้วล่ะค่ะ
ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี
นอกจากออนไลน์แล้ว คุณพ่อคุณแม่นี่ล่ะค่ะ จะเป็นผู้มีอิทธิพล ที่ใกล้ชิดเขามากที่สุด เพราะพฤติกรรมลูก สะท้อนพฤติกรรมของคุณ ถ้าวันนี้คุณยังพูดคำหยาบออกมาอยู่ล่ะก็ การจะให้ลูกหยุดพูดคำหยาบนั้นจะยากมากเลยล่ะค่ะ เพราะเขาก็จะมองย้อนมาที่คุณว่ายังพูดได้เลย ทำไมเขาจึงจะพูดไม่ได้ ที่สำคัญในยุคออนไลน์นี้ ไม่เพียงคำพูด แต่ยังรวมถึงการพลั้งเผลอใช้คำหยาบ กับสารพัดคอมเมนต์ ในโซเชียลมีเดียอีกด้วย
บ้านคือเขตปลอดคำหยาบ
กลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงว่า เราไม่สามารถตามติดลูกไปได้ทุกที่ ลูกอาจจะพูดคำหยาบกับเพื่อนบ้าง โดยเฉพาะลูกวัยรุ่น แต่เพื่อที่จะให้ลูกได้เรียนรู้ เรื่องของกาลเทศะ สิ่งใดควร หรือไม่ควร บ้านคือที่ๆเราอยู่ร่วมกัน อย่างน้อยควรเป็นเขตปลอดคำหยาบค่ะ จริงอยู่ที่การพูดคำหยาบบ้างเป็นบางครั้ง ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต ถึงขนาดยอมความกันไม่ได้ แต่อย่างน้อยลูกก็ควรที่จะได้รู้ว่า ที่ใดควรหรือไม่ควรพูดค่ะ
อย่าตอบสนองด้วยความโกรธ
บางครั้งการพูดคำหยาบมักออกมาในช่วงที่เราโกรธ ดังนั้น การแสดงความโกรธเมื่อลูกพูดคำหยาบนั้น ยิ่งทำให้ลูกเพิ่มระดับของคำหยาบมากขึ้นไปอีก เพื่อต้องการเอาชนะ โดยเฉพาะลูกวัยรุ่น ที่เป็นวัยแห่งการต่อต้าน อาจจะต้องสูดหายใจเข้าลึก ๆ ตั้งสติก่อน แล้วลองนึกถึงตัวเราเองเมื่อครั้งวัยรุ่นก็ได้ ว่าเราก็เคยใช้คำบางคำ ที่หยาบกับเพื่อนบางคนที่สนิทก็ได้ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเรื่องใหญ่โตอะไร บางครั้งอาจจะต้องปล่อยผ่านบ้างเพื่อเลี่ยงความขัดแย้ง
ชื่นชมลูกบ้าง
เมื่อลูกพูดคำหยาบน้อยลง หรือเลิกพูดไปก็ควรชื่นชมลูกบ้าง เมื่อเขาพูดด้วยถ้อยคำที่สุภาพ ไพเราะ เพื่อสร้างความสมดุล และเป็นการเสริมแรงทางบวก ไม่อย่างนั้นเด็กจะมองว่าเขาทำดีก็เท่านั้น ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น
อย่าเผลอส่งเสริมลูก
สำหรับบ้านไหนที่มีลูกเล็ก ๆ แล้วลูกเผลอพูดคำหยาบออกมา ผู้ใหญ่กลับหัวเราะเฮฮา อันนี้พลาดมากค่ะ เพราะเด็กจะเข้าใจว่านี่เป็นพฤติกรรมที่ดี ต้องทำบ่อย ๆ เพื่อให้คนรอบข้างมีความสุข ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่พฤติกรรมที่ดีเลย
นี่ล่ะค่ะ วิธีการรับมือการติดพูดคำหยาบของลูก ไม่ว่าวัยไหน ปัญหานี้ก็เกิดขึ้นได้ ในลูกแต่ละวัย ก็จะมีการรับมือที่ต่างกัน อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่า ลูกจะสงบลงได้เร็วก็เมื่อคุณพ่อ คุณแม่ สงบปากสงบคำ อย่าผันความโกรธมาใส่เป็นคำพูดเพิ่ม จนลากเวลาโกรธให้ยาวนานขึ้นไปอีกจะกลายเป็นว่า นอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ยังสร้างประเด็นใหม่ขึ้นมาอีกค่ะ
Related Courses
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...