ฝึกสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่พลาดทุกองค์ความรู้
เคยร่วมงานกับคนที่เก่งมาก ๆ แต่เราฟังเขาไม่เข้าใจไหมคะ? หรือเคยเจอคนที่ไม่ว่าเราจะสื่อสารอย่างไร อีกฝ่ายก็ไม่เข้าใจสักที เหล่านี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างบุคคล ที่เป็นมากกว่าแค่การฟัง และการพูด แต่การสื่อสารที่ดียังต้องทำให้เกิดผลสำเร็จตามสิ่งที่ผู้ส่งสารได้สื่อสารออกไปด้วย เช่นเดียวกันกับการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ เด็ก ๆ จำเป็น ต้องฝึกทักษะการฟัง เพื่อจับประเด็นสำคัญท่ามกลางองค์ความรู้ที่มีอยู่มากมายไม่จำกัด อีกทั้งยังต้องสื่อสารความรู้เหล่านั้นออกมาให้ผู้ฟังเข้าใจ ไม่ว่าจะด้วยการพูด หรือเขียน สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝน ซึ่งหากทำได้ ก็จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ให้กับลูกได้ค่ะ
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพคืออะไร?
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ คือการที่ผู้ส่งสาร สามารถสื่อความต้องการของตัวเองออกไปผ่านคำพูดหรือตัวหนังสือได้อย่างกระชับ ชัดเจน ตรงประเด็น เรียกความสนใจจากผู้รับสารให้หันมารับรู้สิ่งที่ตนกำลังสื่อสารและเข้าใจสิ่งที่สื่อออกมาได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน
การปลูกฝังให้เด็ก ๆ มีทักษะการสื่อสารที่ดี ช่วยเปิดโอกาสการเรียนรู้ได้ไม่มีขีดจำกัด เด็ก ๆ ที่สื่อสารเป็น จะกล้าถามคำถาม และสามารถอธิบายความรู้ ความคิด ความรู้สึกของตนเองได้ ลดปัญหาความขัดแย้งอันเกิดจากความไม่เข้าใจ ทำให้ใช้ชีวิตได้ราบรื่นมากขึ้น
ฝึกทักษะการสื่อสารด้วยการฟัง
คน ๆ หนึ่งจะเป็นผู้พูดที่ดีได้ ต้องเริ่มจากการเป็นผู้ฟังที่ดีก่อนค่ะ บ่อยครั้งที่เราใช้ชีวิตอยู่ด้วยการ “ได้ยิน” แต่ไม่ได้ “ฟัง” พ่อแม่ผู้ปกครองลองใช้วิธีเหล่านี้ฝึกทักษะการฟังของลูกค่ะ
- อ่านหนังสือให้ลูกฟัง และถามคำถามจากหนังสือนั้นให้ลูกตอบ เป็นการฝึกจับประเด็นซึ่งเป็นทักษะสำคัญของการเป็นผู้ฟังที่ดี
- ให้ลูกทวนสิ่งที่คุณเพิ่งบอกไป เพื่อประเมินว่าลูกฟังแล้วเข้าใจหรือไม่
- ดูคลิปการบรรยายสั้น ๆ กับลูก เช่น Ted Talks เลือกเรื่องที่ลูกสนใจ แล้วลองถามเพื่อฟังความเข้าใจของลูก
- ฟังเพื่อเข้าใจไม่ใช่ตอบโต้ บ่อยครั้งขณะที่เราฟังอีกฝ่ายสมองของเราอาจคิดประโยคที่จะโต้ตอบ และจดจ่ออยู่กับประโยคนั้น จนไม่ได้ “ฟัง” สิ่งที่อีกฝ่ายพูดออกมาให้ดีก่อน เช่น เมื่อลูกบอกว่า “วันนี้หนูไม่ได้ขึ้นรถโรงเรียน...........” ได้ยินเพียงแค่ประโยคเริ่มต้น ในสมองของคุณก็คิดคำตอบโต้ไว้แล้วว่า “แม่บอกแล้วว่าตื่นช้าก็ไปสายแน่ ๆ” ทั้งที่ประโยคต่อมาลูกอาจพูดว่า “.....เพราะว่ารถโรงเรียนเสียมารับไม่ได้” การฟังเพื่อโต้ตอบอาจนำมาซึ่งความเข้าใจผิดได้ พ่อแม่ควรสอนเด็ก ๆ รวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีในการฟังให้จบประโยค ก่อนเอ่ยคำตอบออกไป สร้างนิสัยฟังเพื่อฟัง ไม่ใช่ฟังเพื่อโต้ตอบ ก็จะช่วยลดความเข้าใจผิด ในการสื่อสารได้
- หมั่นสังเกตว่าลูกมีกริยาอย่างไรขณะที่คุณพูด ตั้งใจ สบตา หรือว่าเอาแต่ก้มหน้า หากลูกมีท่าทีไม่สนใจ ควรบอกลูกด้วยน้ำเสียงที่มั่นคงแต่อ่อนโยน ( Kind but Firm) ว่าแม่อยากให้ลูกตั้งใจฟัง และสบตาขณะที่แม่พูด รวมทั้งขณะที่ลูกกำลังสื่อสารกับคนอื่น ๆ ด้วย
- เป็นผู้ฟังที่ดี สบตาขณะที่ลูกพูดคุยกับคุณ และโต้ตอบลูกด้วยความสนใจ ใส่ใจ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก ๆ
ฝึกทักษะการสื่อสารด้วยการพูด
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพได้ต้องอาศัยทั้งผู้ฟังที่ดี และผู้พูดที่ดีค่ะ ผู้พูดถือเป็นผู้ส่งสาร มีหน้าที่สร้างความเข้าใจ และความชัดเจนให้เกิดกับผู้ฟัง ซึ่งจะบรรลุวัตถุประสงค์ได้ ก็ต่อเมื่อผู้ฟังเข้าใจตามวัตถุประสงค์ของผู้ส่งสาร ได้โดยไม่มีความผิดพลาด ลองมาฝึกทักษะการพูดให้เด็ก ๆ กันดีกว่าค่ะ
- เข้าใจวัตถุประสงค์การสื่อสาร ก่อนจะส่งสารออกมา ผู้พูดจำเป็นต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ในการสื่อสารของตัวเองก่อน เมื่อเข้าใจวัตถุประสงค์ของตัวเองชัดเจนแล้ว จึงคิดหาวิธีสื่อสารออกไปให้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นั้น ซึ่งเด็ก ๆ อาจฝึกทักษะนี้ จากการแต่งเรื่องราวสั้น ๆ โดยอาจกำหนดโจทย์ต่าง ๆ เช่น ให้เล่าเรื่องที่ประทับใจเพื่อให้ผู้อ่านรู้สึกดี หรือให้เขียนจดหมายเพื่อขอพ่อแม่ไปเที่ยว หรือเล่าเรื่องตลกที่ทำให้ผู้ฟังหัวเราะ
- เล่าชีวิตประจำวัน พ่อแม่ควรถามไถ่ชีวิตประจำวันของลูกเป็นประจำ และตั้งใจฟังลูกเล่า อย่าพูดแทรก หรือขัดจังหวะขณะเด็ก ๆ กำลังพูด หากสงสัย ควรรอให้ลูกพูดจบแล้วค่อยถาม
- หมั่นสังเกตการสื่อสารของลูกว่าสามารถเล่า และจัดลำดับเหตุการณ์ได้ดีเพียงใด เช่น หากเล่ากลับไปกลับมา คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีพูดทวน และช่วยเรียงลำดับเหตุการณ์ให้ถูกต้องเพื่อเป็นตัวอย่างให้ลูก เช่น ลูก : วันนี้นึกว่าถูกทำโทษ เพราะว่าไปห้องปกครองมาค่ะ ตอนแรกเพื่อนบอก หนูเลยไปค่ะ แล้วหนูต้องตามเพื่อนอีกคนไปด้วย แต่ว่าไปช่วยงานครูค่ะ แม่ : ลูกหมายความว่า เพื่อนตามให้ลูกไปห้องปกครอง และต้องตามเพื่อนอีกคนไปด้วยกัน ตอนแรกนึกว่าถูกทำโทษแต่จริง ๆ คือไปช่วยงานครู แม่เข้าใจถูกไหมคะ
- เขียนก่อนพูด หากรู้สึกว่าลูกมีปัญหาในการสื่อสารให้ตรงประเด็น อาจลองให้ลูกฝึกเขียนสิ่งที่จะพูดไว้ก่อน ค่อยๆ เรียบเรียง อ่านทวนให้ได้ใจความที่กระชับ ชัดเจน เพราะการเขียนเปิดโอกาสให้ผู้ส่งสารได้ทบทวนความคิด และกลั่นกรองออกมาได้
อย่างไรก็ตาม เด็ก ๆ แต่ละคนก็มีบุคลิกภาพ และความถนัดที่ต่างกันค่ะ เด็ก ๆ ที่พูดไม่เก่ง ก็อาจไม่ได้หมายความว่าพวกเขาสื่อสารไม่มีประสิทธิภาพ แต่พวกเขาอาจสื่อสารได้ดีกว่าผ่านการเขียน หรือกระทั่งในภาพวาด และเด็กบางส่วนก็อาจรับฟังได้ดี เมื่อผู้พูดสนทนาแบบตัวต่อตัว แต่อาจไม่ค่อยมีสมาธิในการฟัง หากต้องนั่งฟังบรรยายพร้อมกับคนหลาย ๆ คน สิ่งเหล่านี้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องใช้เวลาในการสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลาน และเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมเพื่อที่จะดึกศักยภาพของพวกเขาออกมาให้ได้มากที่สุดค่ะ
Related Courses
Collaborative classroom design
เรียนรู้ทักษะความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership) หลักการออกแบบกิ ...
เจาะลึกสอบ TCAS
การสอบ TCAS ที่ควรรู้ในแต่ละปีเริ่มเตรียมตัวสอบกันด้วยประเด็นอะไร และสอบอะไร ลองมาดูกันว่ามีประเด็นไหนเกี่ยวกับการสอบ ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
การสื่อสารภาษาอังกฤษ ใครว่ายาก? หากเราเข้าใจ และสื่อสารมันจากความรู้สึก และไม่ต้องกังวลจนเกินไป ในคอร์สเรียนนี้เราจ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
ต้องใช้ 100 เหรียญ