เพิ่มทักษะภาษาที่สองอย่างเป็นธรรมชาติ ผ่านชีวิตประจำวัน
ความสามารถทางภาษา ถือเป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญในโลกยุคใหม่ นอกจากการฝึกใช้ภาษาแม่ให้แตกฉานทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน เพื่อให้การสื่อสารประสบผลสำเร็จแล้ว การเรียนรู้ภาษาที่สอง ก็สำคัญค่ะ เพราะโลกที่เชื่อมถึงกันได้เพียงปลายนิ้ว ผู้ที่มีทักษะทางภาษาหลากหลาย ย่อมเข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ว่าแล้วลองมาดูวิธีเพิ่มทักษะภาษาที่สองให้ลูกวัยเรียน ด้วยวิธีง่าย ๆ ผ่านการใช้ชีวิตประจำวันกันค่ะ
ทักษะภาษาที่สอง จำเป็นต้องมี?
ลองนึกย้อนไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเราคงคิดไม่ถึงว่า ผ่านโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียวจะทำได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ธุรกรรมการเงิน ดูรายการโปรดย้อนหลัง หรือกระทั่งสั่งอาหาร เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ทำให้โลกที่เราคุ้นเคยเปลี่ยนแปลงไปเร็วเกินกว่าเราจะจินตนาการได้ อีก 10 ปีข้างหน้าก็เช่นกัน อาจมีเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ เป็น Disruption ที่เราอาจไม่คาดฝันมาก่อน ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง ๆ ข้อจำกัดทางภาษาอาจเป็นอุปสรรคทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างที่ควรจะเป็น
การปลูกฝังให้เด็ก ๆ มีทักษะภาษาที่สอง โดยเฉพาะภาษาที่เป็นสากลอย่างภาษาอังกฤษ จึงเป็นการปูพื้นฐานเพื่อการเรียนรู้ในอนาคตให้กับลูกได้เป็นอย่างดีค่ะ นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็ก ๆ ที่เรียนรู้ภาษาที่สอง จะได้รับการกระตุ้นทักษะการแก้ปัญหา ความคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล และทักษะการฟังไปพร้อม ๆ กันด้วย และยังพบว่าการเรียนรู้ภาษาที่สองช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ และความยืดหยุ่นทางความคิด (Mental flexibility) ด้วย
ภาษาที่สองสอนได้ผ่านชีวิตประจำวัน
เมื่อพูดถึงการเรียนรู้ภาษาที่สอง คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจคิดไปถึงการเรียนรู้อย่างเป็นทางการในห้องเรียนกับคุณครูเจ้าของภาษา แต่จะว่าไปแล้ว การปูพื้นฐานภาษาที่สองให้ลูกตั้งแต่ที่บ้าน ผ่านการใช้ชีวิตประจำวัน จะทำให้เด็ก ๆ ซึมซับได้ดียิ่งขึ้นค่ะ ดังนั้น การเรียนภาษาที่สองของลูกจะประสบความสำเร็จได้ คุณพ่อคุณแม่ควรวางแผนให้ดี โดยอาจให้ลูกเริ่มฝึกจากที่บ้านควบคู่ไปกับเข้าคลาสเรียน เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ประโยชน์มากที่สุดค่ะ แต่สำหรับบ้านไหนที่ยังไม่แน่ใจว่าจะสอนภาษาที่สองให้ลูกผ่านชีวิตประจำวันได้อย่างไร เรามีกิจกรรมเรียนรู้ภาษาที่สองที่ทำได้ง่าย ๆ มาฝากค่ะ
- เริ่มอย่างเป็นธรรมชาติ อาจเริ่มจากการเล่นเกม ร้องเพลง เล่านิทาน อ่านหนังสือ จากที่เคยเล่านิทานภาษาไทยก็เปลี่ยนเป็นภาษาที่ต้องการสอน หรือขณะที่ลูกวิ่งเล่น คุณพ่อคุณแม่อาจออกคำสั่งเป็นภาษาอังกฤษ เช่น Let’s jump 3 times. Dance and hop on one leg! ค่อย ๆ ทำให้การเรียนรู้ภาษาเป็นเรื่องสนุก เด็ก ๆ จะไม่ต่อต้าน และเกิดความรู้สึกอยากเรียนรู้ค่ะ
- เรียนรู้จากสิ่งที่ลูกชอบ เชื่อว่าเด็ก ๆ ทุกคนต้องมีการ์ตูนเรื่องโปรด เมื่อต้องการสอนภาษาที่สอง โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ คุณพ่อคุณแม่อาจเลือกเปลี่ยนเสียงการ์ตูนที่ลูกดูให้เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ฝึกทักษะการฟัง หรืออาจเริ่มจากชวนลูกแปลเพลงประกอบการ์ตูนที่ชอบ เช่น เด็ก ๆ ที่ชื่นชอบ 3 bare bears คุณพ่อคุณแม่อาจชวนลูกหาความหมายคำว่า We’ll be there ในเพลง แล้วนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เมื่อลูกถามว่าพ่อแม่จะมารับที่โรงเรียนกี่โมง ก็ตอบลูกว่า We’ll be there เลือกคำหรือวลีที่ใช้ได้ในชีวิตจริง หาโอกาสที่จะใช้บ่อย ๆ เด็ก ๆ จะจดจำได้ง่ายค่ะ
- สร้างคลังคำศัพท์ เด็ก ๆ จะสนุกกับการใช้ภาษาที่สองหากพวกเขามีคลังคำศัพท์ในสมองมากพอที่จะนำออกมาใช้ค่ะ แทนที่จะโฟกัสอยู่กับการสอนไวยากรณ์ ลองเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับคำศัพท์ก่อนเป็นอันดับแรก ๆ เพราะถึงไวยากรณ์เป๊ะ แต่ไม่รู้ว่าคำศัพท์ในภาษานั้น ๆ เรียกว่าอะไร ก็คงสร้างประโยคไม่ได้ ในทางกลับกัน หากรู้ศัพท์ แต่ไม่รู้ไวยากรณ์ ยังมีแนวโน้มที่จะสื่อสารได้มากกว่า ว่าแล้วในแต่ละวันเมื่อหยิบจับสิ่งต่าง ๆ อาจเรียกชื่อสิ่งของนั้น ๆ ในภาษาที่ต้องการสอน หรือชวนลูกลิสต์คำศัพท์ภาษาที่สองตามหมวดหมู่ เช่น สี ยานพาหนะ อารมณ์ อาชีพ ฯลฯ
- สลับหน้าที่ เมื่อเริ่มฝึกทักษะภาษาที่สองมาได้สักพัก อาจลองให้ลูกเปลี่ยนมาเป็นผู้สอนคุณพ่อคุณแม่ดูบ้าง โดยให้ลูกเลือกหัวข้อที่อยากสอนซึ่งอาจมาจากเรื่องที่เรียนในห้องเรียน หรือหัวข้อที่ลูกคิดเอง แล้วมาอธิบายให้พ่อแม่เข้าใจ เพราะการเป็นผู้สอนทำให้เด็ก ๆ ต้องศึกษาเพิ่มขึ้น ว่าจะสอนอย่างไรให้อีกฝ่ายเข้าใจ ถือเป็นการทบทวนบทเรียนให้ลูกได้เป็นอย่างดี
- อ่าน อ่านและอ่าน ส่งเสริมให้ลูกอ่านสิ่งต่าง ๆ ในภาษาที่ต้องการให้เขาเรียนรู้ อาจเริ่มจาก Caption สั้น ๆ ในโซเชียล มีเดีย บทความสนุก ๆ เกี่ยวกับเรื่องที่ลูกสนใจ เช่น เรื่องของไอดอลคนโปรด การอ่านไม่เพียงทำให้เรารู้ในสิ่งที่สนใจ แต่ยังช่วยเพิ่มคลังคำศัพท์ใหม่ ๆ ด้วย
- ชื่นชม และให้กำลังใจ การเรียนรู้ประสบความสำเร็จได้ เมื่อผู้เรียนรู้สึกสนุก และไม่กดดันค่ะ พ่อแม่จึงควรเป็นกำลังใจที่ดีให้ลูก ชื่นชมความพยายามของลูก และต้องเข้าใจว่าความสามารถในการเรียนรู้ภาษาของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เด็ก ๆ บางคนอาจมีทักษะทางภาษามาก ขณะที่เด็กบางคนอาจเรียนรู้เรื่องการคิดคำนวณได้ดีกว่า ต้องเข้าใจธรรมชาติของลูก ไม่เปรียบเทียบ เพื่อให้เด็ก ๆ มีกำลังใจในการเรียนรู้ค่ะ
ภาษาที่พ่อแม่ไม่รู้ จะเป็นครูให้ลูกได้อย่างไร
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้พ่อแม่บางท่านอาจสงสัยว่า ถ้าเราไม่มีทักษะภาษาที่สองเลยจะช่วยลูกได้อย่างไร นอกจากการส่งลูกไปเข้าคอร์สเรียนภาษาแล้ว พ่อแม่อาจช่วยสนับสนุนด้วยการหาสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่เหมาะสม หรืออาจเรียนรู้ภาษาที่สองไปพร้อม ๆ กับลูก ในคอร์สหรือสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมาย หาโอกาสที่จะสื่อสารด้วยภาษาเหล่านั้นกับลูก นอกจากได้เรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ แล้ว ก็ยังได้มีกิจกรรมกับลูก ช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างกันได้เป็นอย่างดีค่ะ
Related Courses
นวัตกรรม Booklet ทำอย่างไรให้ ว้าว!
วันนี้ Starfish Labz มีเคล็ดลับดีๆ ที่จะช่วยให้ครูผู้สอนได้เทคนิคการออกแบบกิจกรรมใน Booklet ให้มีความน่าสนใจ สร้างสรร ...
นวัตกรรม Booklet ทำอย่างไรให้ ว้าว!
ต้องใช้ 100 เหรียญ
Social and cultural awareness classroom
ห้องเรียนความตระหนักรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม เป็นการออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้างความตระหนักรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม ให้ผู้เ ...
สร้าง Self-Esteem เสริมคุณค่าให้กับนักเรียนอย่างไร
Self-Esteem หรือ การเคารพและเห็นคุณค่าของตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญในการดำเนินชีวิต เพื่อให้สามารถรับมือกับอารมณ์และสถานการ ...
เจาะลึกสอบ TCAS
การสอบ TCAS ที่ควรรู้ในแต่ละปีเริ่มเตรียมตัวสอบกันด้วยประเด็นอะไร และสอบอะไร ลองมาดูกันว่ามีประเด็นไหนเกี่ยวกับการสอบ ...