Time Management ทักษะจำเป็นของเด็กยุคใหม่
ถึงแม้ว่าทุกคนจะมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่ก็ใช่ว่าแต่ละคนจะใช้ประโยชน์จากเวลาที่มีได้เหมือนกัน โดยเฉพาะในสังคมยุคใหม่ ที่มีสิ่งล่อตาล่อใจให้เราหลุดโฟกัสจากสิ่งที่ต้องทำได้ง่าย ๆ การจัดสรรเวลาหรือ Time management จึงเป็นอีกหนึ่งทักษะที่เด็ก ๆ ยุคนี้จำเป็นต้องเรียนรู้ เพื่อให้พวกเขาสามารถรับมือกับโลกที่หมุนไวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพราะการใช้ชีวิตในแต่ละวัน อาจเกิดความเครียด ไม่เว้นแม้แต่เด็กน้อยวัยเรียน ในแต่ละวันเด็ก ๆ อาจมีสิ่งที่ต้องทำมากเกินไป ทั้งไปโรงเรียน เรียนพิเศษ ทำการบ้าน ทำรายงาน เตรียมพรีเซนต์หน้าห้อง อ่านหนังสือ แล้วไหนจะเวลาส่วนตัวที่พวกเขาอยากทำสิ่งต่าง ๆ อีก เมื่อเป็นเช่นนี้ เด็กแต่ละคนอาจรับมือกับความเครียดนี้ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ก่อนสอนลูกบริหารเวลา ลองมาทำความเข้าใจ การแสดงออกของเด็ก ๆ แต่ละแบบเมื่อเผชิญความเครียดเรื่องเวลากันก่อนค่ะ
ลูกคุณเป็นอย่างไร เมื่อต้องบริหารเวลา
1. พูดเดี๋ยวก่อน...เก่ง! ไม่ว่าจะการบ้าน รายงาน งานบ้าน หรือใด ๆ ที่ต้องทำให้ลุล่วง เด็ก ๆ กลุ่มนี้มักมาพร้อมกับคำว่า “เดี๋ยวก่อน” นิสัยชอบผลัดวันประกันพรุ่งของเด็กกลุ่มนี้ อาจไม่ได้เกิดจากความขี้เกียจ แต่ลึก ๆ แล้วพวกเขาอาจรู้สึกว่า “ไม่พร้อม” และ “ไม่กล้า” ที่จะเริ่มลงมือทำ เพราะกลัวความผิดหวังหากผลลัพธ์ไม่เป็นตามที่เขาคิด หรือตามที่พ่อแม่คาดหวัง บางครั้งเด็กกลุ่มนี้อาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าการผลัดวันประกันพรุ่งของพวกเขา เป็นกลไกป้องกันตนเอง
2. งานร้อนเพราะไฟลน เด็กกลุ่มนี้พฤติกรรมอาจคล้ายกับกลุ่มแรก แต่สาเหตุของการกระทำอาจต่างกัน กล่าวคือ ขณะที่กลุ่มแรกผลัดผ่อนเพราะไม่พร้อม ไม่มั่นใจ ในทางตรงข้ามเด็กกลุ่มนี้มีความมั่นใจว่าตนเองจะทำสำเร็จได้ภายในวินาทีสุดท้าย อะดรีนาลีนที่สูบฉีดด้วยความตื่นเต้นเมื่อใกล้ถึงกำหนดส่งงาน คือตัวกระตุ้นชั้นดี ผู้ใหญ่อาจมองว่าเด็กมักรอให้ไฟลนก้นจึงเริ่มทำงาน จริง ๆ แล้วเด็กกลุ่มนี้อาจต้องการตัวกระตุ้นให้พวกเขาลงมือทำ เช่น การเชียร์อัพจากพ่อแม่ รางวัล หรือกระทั่งเดดไลน์
3. Early Bird ผู้มาก่อนกาล เด็กกลุ่มนี้มักรีบลงมือทำงานทันทีหลังจากได้รับมอบหมาย และทำสำเร็จก่อนกำหนด ไปถึงที่หมายก่อนเวลานัด พวกเขาเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เพราะแค่ความคิดที่ว่าต้องทำงานในวินาทีสุดท้าย หรือรีบวิ่งไปขึ้นรถโรงเรียน เพราะตื่นสาย ก็ทำให้พวกเขาเครียดได้ ดังนั้น ผู้มาก่อนกาล จึงรีบทำทุกอย่างให้สำเร็จก่อนเวลา เพื่อหลีกเลี่ยงความเครียด จากการเร่งรีบในวินาทีสุดท้าย
4. อ้าว! ไม่เหมือนที่คิดไว้นี่นา เด็ก ๆ กลุ่มนี้มักมีปัญหาในเรื่องการประเมินเวลา และสถานการณ์ เมื่อเริ่มลงมือทำงาน เขามักคิดว่างานนี้ไม่ยากเท่าไร แต่เมื่อทำ ๆ ไปพวกเขามักรู้สึกว่าต้องใช้ความพยายาม และเวลามากกว่าที่คิด และมักลงเอยด้วยการทำงานไม่สำเร็จตามเวลา หรือหากทำทันก็ไม่ดีอย่างที่คิด ทำให้เกิดความเครียด รู้สึกสูญเสียอำนาจในการจัดการเวลา นำไปสู่การเสียความมั่นใจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ได้
5. Perfectionist เด็กกลุ่มนี้ใช้เวลาจนวินาทีสุดท้ายเพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่ทำสมบูรณ์แบบที่สุด เพราะความสำเร็จของพวกเขาขึ้นอยู่กับการยอมรับจากผู้อื่น การทำงานสำเร็จจึงไม่เพียงพอ แต่ต้องทำจนแน่ใจว่าผลงานของพวกเขาดี และเป็นที่ยอมรับด้วย การกระทำนี้มีความกลัวเป็นแรงขับ พวกเขาไม่ชอบฟังคำวิจารณ์ ดังนั้นจึงเตรียมพร้อมอย่างดีเพื่อทำงานให้ดีที่สุด ชาว Perfectionist จึงไม่ชอบทำงานภายใต้ความกดดัน
ช่วยลูกรัก เพิ่มทักษะบริหารเวลา
เมื่อเข้าใจเรื่องการจัดการเวลาของเด็กแต่ละแบบแล้ว ลองมาดูวิธีช่วยลูกรักเพิ่มทักษะบริหารเวลากันค่ะ
- จัดลำดับความสำคัญ บางครั้งเด็ก ๆ อาจต้องรับมือกับตารางกิจกรรมที่ชนกัน เช่น มีเรียนพิเศษ เวลาเดียวกับงานวันเกิดเพื่อนสนิท คุยกับลูกเรื่องการจัดลำดับความสำคัญ และการรับมือสถานการณ์ อธิบายให้ลูกเข้าใจความต่างระหว่างสิ่งที่ “อยากทำ” กับสิ่งที่ “ต้องทำ” กรณีที่สองเหตุการณ์เป็นสิ่งที่ต้องทำทั้งคู่ อาจดูว่าสิ่งใดสามารถยืดหยุ่นได้ เช่น อาจขอเพื่อนไปงานวันเกิดสาย เพราะต้องเรียนก่อน เป็นต้น
- ใช้เครื่องมือบริหารเวลา สอนเด็ก ๆ ให้รู้จักเครื่องมือบริหารเวลาต่าง ๆ อย่าง Planner ที่มีทั้งแบบสมุดบันทึก หรือที่มาในรูปแบบ Application บนสมาร์ท โฟน แนะนำลูกว่าเครื่องมือเหล่านี้ช่วยจัดลำดับความสำคัญสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังช่วยเตือนความจำถึงสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันอีกด้วย
- ฝึกประเมินเวลา หากมีรายงานสองชิ้นที่ต้องส่งพร้อมกัน ให้ลูกลองประเมินว่า ชิ้นใดต้องใช้เวลามากกว่ากัน อาจเขียนแผนการดำเนินงานคร่าว ๆ เช่น ใช้เวลากี่วันในการทำแต่ละบท ช่วงเช้าอาจทำชิ้นที่ง่ายก่อน ช่วงเย็นทำชิ้นที่ยาก เมื่อทำไปได้ครึ่งทางอาจลองประเมินอีกครั้งว่าเป็นไปตามแผนที่คิดไว้หรือต้องปรับเปลี่ยนแผน บอกลูกว่าการประเมินสถานการณ์เป็นระยะ จะช่วยให้จัดการเวลาได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- ใช้ชีวิตเป็นกิจวัตร หากลูกมีปัญหาเรื่องการไม่ตรงต่อเวลา ไปเรียนสาย ผิดนัด อาจชวนลูกจัดตารางกิจวัตรประจำวันใหม่ ระบุเวลาที่แน่นอนในแต่ละกิจกรรม เช่น ตื่นนอนตี 5 ครึ่ง และต้องออกจากบ้านก่อน 6 โมงครึ่ง เพื่อให้ทันเข้าเรียน หลังอาหารเย็น คือเวลาทำการบ้าน เสร็จแล้วลูกจึงมีเวลาพัก เป็นต้น
- อย่า Over-scheduled บางครั้งพ่อแม่อาจเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มความเครียดเรื่องเวลาให้กับลูก ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ที่แน่นเกินไป ทั้งเรียนพิเศษ แข่งกีฬา ฯลฯ หากคุณเริ่มรู้สึกว่าลูกมีความเครียดเพราะจัดสรรเวลาไม่ลงตัว อาจลองทบทวนดูว่าคุณกดดันให้ลูกทำกิจกรรมต่าง ๆ มากไปหรือเปล่า คุยกับลูกอย่างเปิดใจ และช่วยให้ลูกได้มีเวลาพักผ่อนส่วนตัวบ้าง
- เป็นตัวอย่างที่ดี หากคุณยังคงผิดเวลานัด ทำงานไม่เคยทันเดดไลน์ ก็มีโอกาสมากที่ลูก ๆ จะเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านี้ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรบริหารเวลาในชีวิตให้ลงตัว เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็ก ๆ ค่ะ
Related Courses
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
แนวทางลดการบูลลี่ในสถานศึกษา
การถูกรังแก ล้อเลียน ดูหมิ่น เหยียดหยามผู้อื่นส่งผลให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวลทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน ปัญหาเหล่านี้จ ...
พัฒนาการด้านร่างกายสำคัญอย่างไร
เรียนรู้ความสำคัญ ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย แนวทางการจัดประสบการณ์และการประเมินพัฒนาการด้านร่า ...
สุขภาพเด็กวัยเรียนสำคัญอย่างไร
การเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพของเด็กในวัยเรียนที่ครูและผู้ปกครองสามารถเรียนรู้ พร้อมนำไปปรับใช้ให้มีความเหมาะสมกับเด็ก ในด้านก ...