นิทานไม่ใช่แค่เรื่องเล่าสอนใจแต่ยังส่งผลต่อพัฒนาการที่ดีของลูก
เมื่อต้องเล่านิทานให้ลูกฟัง สิ่งสำคัญไม่แพ้การเลือกหนังสือ คือการทำความเข้าใจเนื้อหาของนิทานนั้น ๆ ก่อนจะถ่ายทอดให้ลูกฟัง เพราะนอกจากนิทานจะทำหน้าที่ให้คติสอนใจเด็ก ๆ แล้ว ยังมีส่วนช่วยเรื่องพัฒนาการที่ดีของพวกเขาอีกด้วย วันนี้เราเลยอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มารู้จักนิทานให้มากขึ้นผ่านบทความนี้กัน
นิทานกับวรรณกรรมแตกต่างกันอย่างไร ?
ก่อนอื่น เราอยากให้คุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจก่อนว่านิทานกับวรรณกรรมสำหรับเด็กนั้นไม่ได้เหมือนกันซะทีเดียว เพราะนิทาน คือ เรื่องที่จบในตอน มีภาพประกอบ และแต่ละเรื่องไม่ควรยาวเกินไป นิทานที่ดีควรจะสั้นเพราะทำมาให้เด็กอ่าน ซึ่งเด็กบางคนมีศักยภาพจดจ่อเพียงแค่ 5 – 10 นาทีเท่านั้น ส่วนวรรณกรรมจะเป็นเรื่องเล่าที่ยาว เล่าอะไรที่ซับซ้อนมากขึ้นนั่นเอง ดังนั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่จะเลือกหนังสือมาให้ลูกอ่านหรืออ่านให้ลูกฟัง อาจจะต้องดูพัฒนาการของเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการอ่าน การคิด หรือทำความเข้าใจเรื่องที่ซับซ้อนของพวกเขา
ขอบคุณภาพจาก Hans Braxmeier
สำหรับหนังสือนิทาน เด็กแต่ละช่วงวัยก็จะเหมาะกับนิทานที่แตกต่างกันออกไป อย่างเด็กที่ยังไม่เข้าโรงเรียนก็จะเป็นหนังสือเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันทั่วไป เช่น การแปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว อยู่กับเพื่อน กินข้าว หรืออาหารเพราะอยากให้เด็กกินผักตั้งแต่เล็ก ๆ พอพวกเขาเริ่มเข้าโรงเรียนแล้วก็จะเริ่มเป็นเรื่องของเพื่อน เพราะเด็กต้องไปเจอเพื่อนที่โรงเรียน เนื้อหาจะเปลี่ยนไปและความยาวก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย พอเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยประถมปลายก็จะเป็นเรื่องการผจญภัย สัตว์ ความมหัศจรรย์ต่าง ๆ เพราะเด็กเริ่มมีความสนใจอื่นนอกจากเรื่องเพื่อนแล้ว ดังนั้นถ้าพ่อแม่อยากจะอ่านนิทานเพื่อช่วยในเรื่องพัฒนาการของลูก จึงควรเริ่มตั้งแต่การเลือกนิทานให้เหมาะกับช่วงวัยของลูกด้วย
ขอบคุณภาพจาก christ Poe
นิทานส่งผลต่อพัฒนาการเด็กอย่างไร ?
หลังจากเลือกหนังสือให้เหมาะกับลูกแล้ว เราแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ใช้เวลาก่อนนอนสักครึ่งชั่วโมงอ่านหนังสือนิทานสักเล่มให้ลูกฟัง ซึ่งการอ่านนิทานให้ลูกฟังบ่อย ๆ จะส่งผลต่อพัฒนาการของลูกในหลาย ๆ ด้าน เช่น
1.มีวินัย
ถ้าคุณพ่อ คุณแม่เล่านิทานเวลาเดิมเสมอ จะเหมือนเป็นการช่วยปลูกฝังให้เด็กตรงต่อเวลา ถ้าลูกจำช่วงอ่านนิทานเวลาได้แม่นยำแล้ว อาจจะส่งผลให้พฤติกรรมอื่นก็มีแนวโน้มจะตรงต่อเวลาเช่นกัน
2.สร้างเสริมจินตนาการ
การอ่านนิทานจำพวกผจญภัย แฟนซี หรือเรื่องเกี่ยวกับชีวิตประจำวันก็จะยิ่งช่วยให้เด็กได้ฝึกคิด ฝึกตั้งคำถาม ฝึกสังเกต ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างจินตนาการและเพิ่มพูนทักษะการใช้ชีวิตได้มากขึ้นด้วย
3.ช่วยให้เด็กกล้าแสดงออก
เด็กไม่สามารถเข้าใจเรื่องราวในนิทานได้ 100 เปอร์เซ็นต์ บางครั้งเด็กอาจจะเกิดคำถามขึ้น สิ่งนี้จะช่วยกระตุ้นให้เด็กกล้าคิด กล้าตั้งคำถาม ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้เด็กโตไปเป็นคนมั่นใจในตัวเอง
4.ปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน
คุณพ่อ คุณแม่ควรใช้โทนเสียงที่บ่งบอกอารมณ์ได้ชัดเจนหรือโทนเสียงหลากหลายต่างกัน ทำท่าทางประกอบ ทำเสียงเลียนแบบ จะช่วยสร้างบรรยากาศที่สนุกสนาน เมื่อเด็ก ๆ สนุก มีความสุขกับการอ่านหนังสือภายหลังก็จะติดนิสัยรักการอ่านมาในที่สุด
5.สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว
ใช้เวลาหลังอ่านนิทานจบ ชวนลูกคุยเล็กน้อย เช่น วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง ที่โรงเรียนสนุกไหม จะเป็นช่วงเวลาที่ได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวระหว่างกัน ลูกจะรู้สึกอบอุ่น ผูกพัน และเป็นกันเองกับพ่อแม่มากขึ้น
6.เสริมทักษะด้านภาษา
การอ่านนิทานเด็กจะได้ยินคำศัพท์ใหม่ ๆ ที่พวกเขายังไม่รู้จักอยู่เรื่อย ๆ เด็กก็จะได้เรียนรู้ความหมายของคำศัพท์ใหม่ ๆ มากขึ้น สิ่งนี้เองจะช่วยปูพื้นฐานทักษะฟัง พูด อ่าน เขียนเบื้องต้นให้กับเด็กได้ นอกจากนั้นยังช่วยให้เด็กสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมอีกด้วย
7.ปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีให้กับเด็ก
นิทานส่วนใหญ่จะมาพร้อมคติสอนใจเสมอ เด็กจะได้เรียนรู้พฤติกรรมต่าง ๆ จากตัวละครว่าสิ่งใดดี หรือไม่ดี ควรหรือไม่ควร เป็นการช่วยบ่มเพาะพฤติกรรมที่เหมาะสม คุณธรรม จริยธรรมที่ดีให้กับเด็ก จะทำให้เด็กโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไปในอนาคต
แม้ว่ายุคนี้เด็ก ๆ จะสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ทั้งการดูยูทูบ อ่านจากในไอแพด หรือใช้ช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ แต่จะดีกว่าไหมถ้าพ่อแม่ลูกได้ลองละสายตาจากหน้าจอ แล้วลุกขึ้นมาหยิบหนังสือนิทานดี ๆ สักเล่มเพื่อเล่าสู่กันฟัง รับรองว่าหนังสือนิทานเล่มบาง ๆ นี้อาจจะมีประโยชน์มากกว่าที่เราคิดก็ได้นะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.gotoknow.org/posts/408318
https://insthinklearning.com/2016/09/24/มาอ่านหนังสือให้ลูกฟัง/
Related Courses
เสริมสร้างความสุข สำหรับเด็กวัยเรียน (ประถมศึกษา)
เรามักคิดว่าเด็กจะมีความสุข และไม่เครียดอะไร ใครจะรู้ เด็กก็มีช่วงที่ไม่มีความสุขและมีปัญหาเหมือนกัน คอร์สนี้จะทำให้ผู้ใหญ่ ได้หั ...
ดูแลสุขภาพร่างกาย สำหรับเด็กวัยเรียน (ประถมศึกษา)
คอร์สนี้จะทำให้ได้เรียนรู้ถึงและเข้าใจการสร้างสุขภาพกายที่ดีสำหรับเด็กประถมศึกษา เพราะสุขภาพกายมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ
เรียนรู้และเข้าใจเด็กแอลดี
เด็ก LD คือ เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ การรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม อาจช่วยให้ผู้ป่วยพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ได้อย่างเต็ม ...
พัฒนาการด้านร่างกายสำคัญอย่างไร
เรียนรู้ความสำคัญ ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย แนวทางการจัดประสบการณ์และการประเมินพัฒนาการด้านร่า ...