บูรณาการการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
คุณครูเคยเจอปัญหาการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนแล้วเด็ก ๆ ไม่มีส่วนร่วมในห้องเรียนไหม ? หรือกิจกรรมอย่างอื่นเยอะจนสอนตามแผนไม่ทันอยู่หรือเปล่า.....?
การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ คือ กระบวนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามความสนใจ ความสามารถ โดยเชื่อมโยงเนื้อหาสาระของวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม สามารถนำความรู้ ทักษะ และเจตคติไปสร้างงาน แก้ปัญหา และใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง
ทำไมเราต้องสอนแบบบูรณาการด้วยล่ะ สอนแบบที่เคยสอนไม่ได้หรือ ? มาดูเหตุผลกันว่าทำไมต้องบูรณาการ
ข้อแรกเลย สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันนั้นจะเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันกับศาสตร์ในสาขาต่าง ๆ ผสมผสานกันทำให้ผู้เรียนที่เรียนรู้ศาสตร์เดี่ยว ๆ มาไม่สามารถนำความรู้มาใช้ในการแก้ปัญหาได้ ดังนั้นการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการจะช่วยให้สามารถนำความรู้ ทักษะจากหลาย ๆ ศาสตร์มาแก้ปัญหาได้กับชีวิตจริง
ข้อต่อมา การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ เป็นการสอนที่สัมพันธ์เชื่อมโยงความคิดรวบยอดของหลาย ๆ วิชาเข้าด้วยกัน จะช่วยให้ผู้เรียนเชื่อมโยงความรู้ที่ได้เรียนเข้ากับชีวิตจริง ผู้เรียนสามารถมองเห็นประโยชน์ของสิ่งที่เรียนและนำไปใช้จริงประจำวันได้การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการจะช่วยลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหารายวิชาต่าง ๆ ในหลักสูตรจึงทำให้ลดเวลาในการเรียนรู้เนื้อหาบางอย่างลงได้ แล้วไปเพิ่มเวลาให้เนื้อหาใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการจะตอบสนองต่อความสามารถในหลาย ๆ ด้านของผู้เรียนช่วยสร้างความรู้ ทักษะ และเจตคติ “แบบพหุปัญญา” และที่สำคัญเรายังได้พัฒนาสมรรถนะหลักของผู้เรียนรองรับหลักสูตรฐานสมรรถนะอีกด้วย สำหรับการบูรณาการการเรียนรู้ให้มีความน่าสนใจเป็นสิ่งหนึ่งที่ครูควรเลือกสรรและออกแบบให้เหมาะสมกับผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตรงตามศักยภาพความถนัด และความสนใจ ให้เกิดการเรียนรู้อย่างยั่งยืนและเข้าถึงในองค์ความรู้นั้นโดยแท้จริง
การบูรณาการกิจกรรมสะเต็มศึกษา ในชั้นเรียนจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะเสริมสร้างผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้จากการแก้ปัญหา การออกแบบ และวางแผนวิธีการแก้ปัญหา รวมไปถึงการตัดสินใจเลือกและทดสอบวิธีการแก้ปัญหานั้น ๆ
สะเต็มศึกษา (Science Technology Engineering and Mathematics Education : STEM Education) คือ แนวทางการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ไปใช้ในการเชื่อมโยง และแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของผู้เรียน รวมไปถึงการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 แนวทางการเรียนรู้แบบบูรณาการความรู้อีกหนึ่งรูปแบบที่จะกล่าวถึงในวันนี้คือ STEAM ถูกพัฒนาขึ้นจากแนวคิดในการจัดการศึกษาแบบสะเต็มและกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ซึ่งเป็นกระบวนการคิดที่ใช้การทำความเข้าใจในปัญหาต่าง ๆ โดยยึดเอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง นำเอาความคิดสร้างสรรค์และมุมมองต่าง ๆ มาสร้างไอเดีย หรือแนวทางในการแก้ไขปัญหา นำมาทดสอบและพัฒนาเพื่อให้ได้แนวทางหรือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์กับสถานการณ์นั้น ๆ โดยกระบวนการที่จะให้ผู้เรียนได้นำไปใช้ในการเรียนรู้ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ คือ กระบวนการ STEAM Design Process
กระบวนการ STEAM Design Process มีทั้งหมด 5 ขั้นตอน ดังนี้
Ask การตั้งคำถาม การทำความเข้าใจบริบทของปัญหาหรือความท้าทาย โดยอาศัยประสบการณ์เดิมที่มีอยู่ การรวบรวมข้อมูลจากการสังเกต การค้นคว้าเพื่อศึกษาข้อเท็จจริง และการสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อรวบรวมข้อมูลซึ่งจะถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์ถึงสาเหตุ และผลกระทบของปัญหา
Imagine จินตนาการ การระดมแนวคิด และไอเดียเพื่อการออกแบบหรือกำหนดรูปแบบ และวิธีที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งวิเคราะห์เพื่อประเมินความเป็นไปได้ และผลที่จะเกิดขึ้นจากนำไอเดียดังกล่าวมาใช้ในการแก้ไขปัญหา
Plan วางแผนการทำงาน การกำหนดเป้าหมาย องค์ประกอบ และลำดับขั้นตอนของการสร้างชิ้นงานหรือรายละเอียดของวิธีการอย่างชัดเจนโดยคำนึงถึงทรัพยากร เครื่องมือ ระยะเวลาที่ต้องใช้ในการดำเนินการ ข้อจำกัด และเงื่อนไขอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
Create ลงมือปฏิบัติ การลงมือทำเพื่อสร้างสรรค์งานในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในการแก้ไขหรือเพื่อการนำเสนอความคิดในการแก้ไขปัญหา ตัวอย่างเช่น การสร้างแบบจำลอง สารคดี หนังสือ แผนพับ โปสเตอร์ชิ้นงาน ต้นแบบ หรือสื่อดิจิทัล ตามแผนที่ได้วางไว้
Reflect & Redesign การสะท้อนความคิด การนำผลจากการใช้งานมาคิดทบทวน และไตร่ตรองเพื่อสะท้อนถึงสิ่งที่ได้ทำมา ปัญหา อุปสรรคและข้อจำกัดที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงาน การรับฟังข้อติชมหรือข้อเสนอแนะจากผู้อื่น เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาชิ้นงานหรือวิธีการให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
Related Courses
บูรณาการ : การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ เน้นให้ผู้เรียนเชื่อมโยงความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน แก้ปัญห ...
การออกแบบกล่องเพื่อการเรียนรู้ (Learning Box)
เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ และเด็กจำเป็นต้องเรียนที่บ้าน Learning box ...
การออกแบบห้องเรียนฐานสมรรถนะ
นำประสบการณ์การจัดกิจกรรมตามหลักสูตรฐานสมรรถนะอย่างง่ายมาใช้ในกิจกรรมชุมนุม และการประเมินผลการเรียนรู้ที่ออกแบบตาม ...
5 กระดานบอร์ดออนไลน์ช่วยสร้างห้องเรียนแบบมีส่วนร่วม
เรียนรู้เทคนิคการนำ 5 กระดานบอร์ดออนไลน์ Idroo, Miro, Classroomscreen, Whiteboard.fi และ HeyHi Whiteboa ...