Starfish Talk : จะ On อะไรก็ไม่สำคัญเพราะครูเราเอาอยู่
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา Starfish Talk Live ได้มีโอกาสพูดคุยกับครูพิม วรรณพิศา พฤกษมาศ (ครูมีไฟหัวใจฮีโร่ ในโครงการ Starfish Teacher Hero) ซึ่งประเด็นในการพูดคุยเป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวทางการจัดการเรียนการสอนในยุคโควิด-19 หัวข้อ “จะ On อะไรก็ไม่สำคัญ เพราะครูเราเอาอยู่” ตอน จาก On-hand เป็น On-site เราลองมาดูกันค่ะว่า ครูพิมของเราจะมีแนวทางในการจัดการเรียนการสอนอย่างไรให้เหมาะสมกับสถานการณ์เช่นนี้ค่ะ
ก่อนอื่น..ทำไมครูพิมถึงลุกขึ้นมาเป็น Teacher Hero ?
เพราะมองเห็นถึงปัญหาของเด็กๆในช่วงปิดเทอม ส่วนใหญ่จะว่างและเล่นแต่โทรศัพท์มือถือ ซึ่งทำให้เด็กขาดการพัฒนาทักษะในด้านต่างๆอย่างต่อเนื่อง จึงได้มาเข้าร่วมโครงการ Teacher Hero เพื่อที่จะได้กลับไปจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะให้กับเด็กๆ ในช่วงปิดเทอม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เด็กได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์มากที่สุดอีกด้วย
ขั้นตอนการทำกิจกรรมช่วงนั้นเป็นอย่างไร ?
1.วางคอนเซปต์กิจกรรมที่จะทำ โดยใช้ชื่อว่า “Stay Home Stay Fun อยู่บ้านให้สนุก”
2.ประสานงานกับเด็ก ผู้ปกครอง ว่ามีใครสนใจเข้าร่วมกิจกรรมบ้าง
3.ออกแบบกิจกรรมแบบบูรณาการ โดยใช้กระบวนการ STEAM Design Process ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เด็กสามารถทำที่บ้านได้อย่างสนุก ซึ่งประกอบด้วย 5 กิจกรรมย่อย คือ
- กิจกรรมที่ 1: เปิดเทอมใหม่ เด็กๆ อยากทำอะไรสำหรับใส่อุปกรณ์การเรียน
- กิจกรรมที่ 2: ในสถานการณ์เช่นนี้ เด็กๆ อยากประดิษฐ์อุปกรณ์อะไรเพื่อป้องกันตัวเองจากเชื้อโรค
- กิจกรรมที่ 3: ปิดเทอมนี้ เด็กๆ จะทำอาหารอะไรรับประทาน เพื่อให้ตัวเองแข็งแรง
- กิจกรรมที่ 4: เมื่อมองดูของเล่นที่มี เด็กๆ อยากสร้างสรรค์ของเล่นชิ้นใหม่เป็นอะไรดี
- กิจกรรมที่ 5: สิ่งที่เรามีสามารถแปลงร่างเป็น...ได้นะ
4.จัดทำกล่อง Stay Home Stay Fun ซึ่งเปรียบเสมือน Makerspace เคลื่อนที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเด็กๆ ในการทำกิจกรรมที่บ้าน
5.ลงพื้นที่เพื่อนำใบกิจกรรมและกล่อง Stay Home Stay Fun ไปให้กับกลุ่มเป้าหมาย พร้อมกับแนะนำกระบวนการ STEAM Design Process
6.ให้เด็กและผู้ปกครองส่งผลงานมาทางช่องทางออนไลน์ในรูปแบบของคลิปวิดีโอ
ขั้นตอนไหนที่ท้าทายที่สุด ?
ขั้นตอนที่ท้าทายที่สุด คือ เมื่อนำใบงานไปให้กับเด็กๆ และผู้ปกครองแล้ว พอถึงช่วงการส่งผลงาน บางบ้านเงียบหายไป ดังนั้น จึงต้องมีวิธีการกระตุ้นและโน้มน้าวใจให้ส่งผลงาน โดยการนำคลิปวิดีโอของบ้านที่ส่งมาแล้ว ส่งไปในกรุ๊ปไลน์ เพื่อเสริมแรงและเสริมพลังให้กับเด็กๆ และผู้ปกครองบ้านอื่นๆ ได้รับชมและอยากที่จะทำผลงานให้สำเร็จให้ได้
กำหนดเวลาในการทำกิจกรรมอย่างไร ?
ใน 5 กิจกรรมย่อยจะไม่มีการกำหนดเวลาในการทำกิจกรรม และไม่กำหนดว่าจะต้องทำกิจกรรมใดก่อน เด็กๆ สามารถเลือกทำกิจกรรมที่ตนเองอยากทำได้เลยโดยไม่ต้องเรียงลำดับ แต่จะใช้วิธีการกำหนดช่วงวันสำหรับการส่งผลงานทั้งหมดว่าเด็กๆ จะต้องส่งภายในเมื่อไหร่ เพราะแต่ละกิจกรรมเด็กแต่ละคนก็จะใช้เวลามากน้อยไม่เท่ากัน
ผลที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมเป็นอย่างไร ?
- ตอนแรกวางกลุ่มเป้าหมายไว้ 20 คน แต่พอลงมือทำกิจกรรมจริงๆ สรุปมีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 40 คน เนื่องจากเวลาที่ไปลงพื้นที่ เราได้กลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้น เพราะเด็กๆ ในชุมชน เมื่อเห็นเพื่อนทำกิจกรรมเขาก็อยากทำด้วย
- ผู้ปกครองและเด็กๆ รู้สึกตื่นเต้นและดีใจที่ได้ทำกิจกรรม
- ได้ขยายแพลตฟอร์มของ Starfish Labz ไปให้เด็กๆ ได้เข้าไปเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการ STEAM Design Process และค้นหาตัวอย่างในการทำกิจกรรมต่างๆ
- ได้นำเครื่องมือ Starfish Class ไปให้เด็กๆ ได้ประเมินตนเองตามทักษะในศตวรรษที่ 21
- เด็กๆ ได้ฝึกที่จะแยกแยะทักษะที่ตัวเองได้เรียนรู้ในแต่ละด้าน ซึ่งจะทำให้เขาได้เห็นพัฒนาการของตัวเอง
ในปัจจุบัน มีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนเป็นแบบไหน ?
ทางโรงเรียนจะใช้วิธีการสอนในรูปแบบ On-site เต็มรูปแบบ ซึ่งในหนึ่งสัปดาห์จะจัดการเรียนการสอนทั้งหมด 6 วัน (วันจันทร์-วันเสาร์) โดยจะใช้วิธีการออกแบบกิจกรรมแบบบูรณาการและนำกระบวนการหรือนวัตกรรมต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมอย่างเหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อให้เด็กเกิดทักษะต่างๆ ได้ครบตามเป้าหมายและจุดประสงค์ที่เราตั้งไว้
ประสบการณ์การจัดกิจกรรมโดยกระบวนการ STEAM Design Process ?
จากประสบการณที่ผ่านมา โดยมากเด็กๆ จะชอบหน่วยการเรียนรู้ของเล่นของใช้ เพราะเขาได้ประดิษฐ์สิ่งที่เขาอยากทำและเขาได้ไปลองเล่นด้วย ซึ่งกระบวนการจะเริ่มตั้งแต่
- ASK : เป็นคำถามเปิดกว้างให้กับเด็กๆ เช่น ในวันคริสต์มาสนี้ เด็กๆ อยากทำของเล่นอะไร เป็นต้น
- IMAGINE : ให้เด็กๆ ได้จินตนาการโดยการวาดภาพของเล่นที่เขาจะประดิษฐ์ขึ้นมาว่าหน้าตาประมาณไหน
- PLAN : ให้เด็กๆ วางแผนว่าจะใช้อุปกรณ์อะไรบ้างที่จะประดิษฐ์ของเล่นขึ้นมา
- ACTION : ให้เด็กๆ ได้ลงมือประดิษฐ์ของเล่นของตัวเองตามแผนที่วางไว้
- REFLECTION : ให้เด็กๆ ได้สะท้อนว่าหลังจากสร้างสรรค์ผลงานเสร็จ เราพบปัญหาอะไรบ้าง จะปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาอย่างไรให้ดียิ่งขึ้น
เทคนิคการสอนของครูพิม แบบไหนที่เอาอยู่ ?
- เปิดใจ ลองเปลี่ยนบทบาทจากครูหรือพ่อแม่ ไปเป็นเพื่อนหรือเป็นโค้ช ในการอำนวยความสะดวกและเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กๆ
- หาจุดยืนของตัวเอง ว่าเราอยากใช้กระบวนการ หรือนวัตกรรมแบบไหนในการจัดการเรียนการสอน
- นำกระบวนการ หรือนวัตกรรมมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของเด็ก
- มองหาแพล็ตฟอร์ม แอปพลิเคชั่น หรือโปรแกรมต่างๆ มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน
- บูรณาการกิจกรรมให้เป็น เพราะจะทำให้เด็กได้เรียนรู้ทุกๆ ทักษะไปในเวลาเดียวกัน
สรุปได้ว่า ในการจัดการเรียนการสอนในยุคนี้ จริงๆ แล้วความสำคัญไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปแบบในการจัดการเรียนการสอน เพราะไม่ว่าจะสอนแบบ on อะไรก็ตาม เชื่อว่าคุณครูทุกท่านสามารถรับมือได้อย่างแน่นอน หากคุณครูมีการปรับตัว และมีแนวทางในการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของเด็ก สามารถออกแบบกิจกรรมแบบบูรณาการ และนำกระบวนการเรียนรู้หรือนวัตกรรมต่างๆ มาปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอน ได้อย่างหลากหลาย ซึ่งจะส่งผลให้เด็กสามารถเกิดการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริงและเกิดการทักษะต่างๆ ตามที่คุณครูตั้งใจไว้ได้ค่ะ
หากคุณครูท่านใดที่พลาดการรับชม Starfish Talk Live สามารถเข้าไปรับชมย้อนหลังได้ที่ www.facebook.com/starfishlabz/videos/290783892793344
Related Courses
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...
การออกแบบกล่องเพื่อการเรียนรู้ (Learning Box)
เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ และเด็กจำเป็นต้องเรียนที่บ้าน Learning box ...
การวางแผนโรงเรียนทั้งระบบ
ในการระบาดของโรคโควิด- 19 ทำให้ไม่สามารถเปิดเรียนแบบปกติได้จึงต้องมีการวางแผนโรงเรียนทั้งระบบ เพื่อช่วยฟื้นฟูการเรียน ...
Micro Learning เทคนิคการจัดการเรียนการสอน 1
คุณภาพของผู้เรียนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในตัวผู้เรียนเอง แล้วกระบวนการเรียนการสอนที่ครู จัดให้เป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัม ...