5 ขั้นตอนง่ายๆสำหรับครูมือโปร
STEAM Design Process เป็นแนวทางการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถบูรณาการความรู้ 5 ศาสตร์สาระวิชาหลักๆเข้าด้วยกันคือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม ศิลปะ และคณิตศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดทักษะการเรียนรู้ที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 กระบวนการ STEAM Design Process 5 ขั้นตอน มีดังนี้
ขั้นที่ 1 Ask ตั้งคำถาม
เป็นการใช้คำถามแบบปลายเปิด ให้เด็กสามารถมีความหลากหลายในการตอบ ด้วยการถามจากประสบการณ์ หรือใกล้กับบริบทของท้องถิ่นนั้น ๆ เน้นคำถามที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง เป็นเรื่องใกล้ตัวใกล้เคียงกับประสบการณ์ หรือภูมิความรู้เดิมของเด็ก เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน หรือประสบการณ์จากที่บ้าน และโรงเรียน ใช้คำถามเพื่อกระตุ้นให้สร้าง หรือคิดค้นสิ่งใหม่ๆ โดยให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิด วิเคราะห์ ค้นคว้าหาคำตอบ นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานหรือการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็น เช่น การใช้คำถามที่ขึ้นต้น หรือลงท้ายด้วยประโยค ถ้า สมมติว่า เพราะอะไร หรืออย่างไร
การใช้คำถามในเด็กปฐมวัย ควรใช้คำถามที่ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย เป็นประโยคคำถามสั้นๆ และเป็นคำถามที่เด็กปฐมวัยมีประสบการณ์ หรือภูมิความรู้เดิมมาก่อน จากนั้นค่อยต่อยอดคำถามที่กระตุ้นให้เด็กได้ใช้ความคิดมากยิ่งขึ้น ถ้าเป็นระดับประถมหรือมัธยม ควรใช้คำถามที่มีความหลากหลาย เพิ่มความซับซ้อนของคำถาม เพื่อให้เด็กได้ใช้ทักษะการคิดให้มากกว่าเด็กปฐมวัย
ขั้นที่ 2 Imagine จินตนาการ
เปิดโอกาสให้เด็กจินตนาการโดยไม่มีการปิดกั้น หลีกเลี่ยงคำพูดเชิงลบ ส่งเสริมจินตนาการเด็กโดยการชวนพูดคุย ให้เด็กคิดว่าความคิดเขาเป็นสิ่งที่ไม่ผิด ในกรณีที่เป็นเด็กเล็ก ไม่สามารถบอกถึงการแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง ครูอาจจะมีตัวเลือก หรือพูดคุยชักชวนให้เด็กเกิดจินตนาการได้ สภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก หรือวัสดุอุปกรณ์ภายในห้องก็มีส่วนช่วยเสริมสร้างจินตนาการให้กับเด็กเป็นอย่างมาก ทำให้สามารถนึกคิด และจินตนาการได้ง่าย
สำหรับในเด็กปฐมวัย เนื่องจากผู้เรียนยังมีทักษะด้านการเขียน การอ่านไม่มาก ครูอาจใช้วิธีการสื่อสาร ให้ผู้เรียนเล่าเรื่องหรืออธิบายด้วยการบอกเล่าเป็นคำพูด การวาดรูป การปั้น ที่สำคัญครูควรใช้วิธีการที่หลากหลายเพื่อให้เข้าใจความคิดเห็นของผู้เรียนมากยิ่งขึ้น
ขั้นที่ 3 Plan วางแผน
ครูทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ให้อิสระในการออกแบบ และวางแผน พยายามกระตุ้นให้เด็กวางแผนการทำงานอย่างรอบคอบ และครอบคลุม มีการลำดับขั้นตอน และประเมินระยะเวลาให้ชัดเจน การวางแผนสามารถทำเป็นแบบเขียน หรือวาดภาพ (สำหรับข้อจำกัดของเด็กเล็ก หรือเขียนไม่ได้) ถามถึงหลักการ และเหตุผล ความเป็นไปได้ของการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ ถ้าไม่มีอุปกรณ์ที่เด็กต้องการในห้องเรียน บริบทหรือสิ่งแวดล้อมนอกห้องเรียนก็เป็นตัวช่วยส่งเสริมการวางแผน ในการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ หรือสามารถหาวัสดุอุปกรณ์อื่นมาทดแทนกันได้
ขั้นที่ 4 Create ลงมือทำ
ในระหว่างที่เด็กทำกิจกรรม ครูควรชวนพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ หรือแก้ไขปัญหาที่พบเจอระหว่างการทำผลงาน ตั้งคำถามที่ท้าทาย ให้ผู้เรียนกล้าคิด กล้าทำ สอดแทรกเรื่องการใช้วัสดุอุปกรณ์อย่างถูกวิธี การใช้สิ่งของที่มีอย่างรู้คุณค่า พร้อมส่งเสริมทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะทางด้านอารมณ์และสังคม ให้ผู้เรียนได้ฝึกการคิด และลงมือทำอย่างเป็นขั้นตอน โดยสามารถถ่ายภาพหรือบันทึกวิดีโอเพื่อไว้เพื่อสะท้อนผลการทำงานได้ ถ้าเด็กเจอปัญหาให้เผชิญปัญหา และแก้ไขสถานการณ์เอง ครูควรคอยดู กระตุ้นให้เด็กรับฟังและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่กดดันขณะเด็กสร้างสรรค์ผลงาน เมื่อใกล้หมดเวลา แต่เด็กยังทำงานไม่เสร็จ ครูควรให้โอกาสเด็กได้ต่อเติม หรือหาเวลาอื่นให้สร้างสรรค์ชิ้นงานตามที่ได้วางแผนไว้ ผลงานของเด็กสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ เช่น แบบจำลอง โมเดล สารคดีหนังสือ แผนผัง ชิ้นงานหรือสื่อต่าง ๆ
ขั้นที่ 5 Reflect & Redesign คิดสะท้อนและออกแบบใหม่
เด็กสรุปงานตามที่ได้ลงมือทำจนสำเร็จ ครูให้กำลังใจ ชมเชย และเสริมแรงบวกให้ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีกำลังใจ กล้าแสดงออก ฝึกให้เด็กแสดงความคิดเห็นจนเกิดความคุ้นชิน ไม่ประหม่า อาจจะทำได้หลายทางไม่ว่าจะเป็นการบอกเล่า การประเมินความคิดเห็นจากครู ผู้ปกครอง หรือเพื่อน สอบถามความพึงพอใจ โดยให้เด็กประเมินชิ้นงานของตนเอง ถามถึงการพัฒนางาน ต่อยอดของชิ้นงานในครั้งต่อไป สอบถามปัญหาและอุปสรรคที่ผู้เรียนพบเจอระหว่างการดำเนินงาน ครูคอยใช้คำถามเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการ คิด วิเคราะห์ แก้ไข และพัฒนา ปรับปรุงผลงาน นำไปสู่การต่อยอดผลงานที่ดียิ่งขึ้นต่อไป
กระบวนการ STEAM Design Process เป็นกระบวนการที่ทุกท่านสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างหลากหลายวิชา เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะการตั้งคำถาม การจินตนาการ การวางแผน การลงมือปฏิบัติ และการสะท้อนคิดถึงผลที่ได้ รวมถึงหาวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหา สามารถปรับปรุงชิ้นงานได้อย่างสร้างสรรค์ และสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดทักษะการเรียนรู้ที่สำคัญในศตวรรษที่ 21
Related Courses
โค้ชชิ่งสู่เส้นทางที่ใช่ด้วย MBTI : Myers-Briggs Type Indicator
Coaching Through MBTI : Myers-Briggs Type Indicator เป็นคอร์สที่จะทำให้คุณครูได้เปลี่ยนจากครูที่ทำหน้าที่สอนให้เป็นโ ...
โค้ชชิ่งสู่เส้นทางที่ใช่ด้วย MBTI : Myers-Briggs Type Indicator
การสอนภาษาไทย (3R)
การสอนภาษาไทยของมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมได้ออกแบบมาเพื่อพัฒนาทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน อย่างเป็นระบบเข้าใจง่ ...
พื้นที่แบบไหนก็จัด Makerspace ได้
พื้นที่นักสร้างสรรค์ Makerspace เป็นการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับนักสร้างสรรค์ สามารถจัดได้หลายรูปแบบตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ เพื่อใ ...
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...