ช่วยลูกก้าวข้ามความรู้สึกแปลกแยก
สักครั้งหนึ่งในชีวิต เชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะเคยมีความรู้สึกแปลกแยกกับสังคมรอบตัว อาจจะในที่ทำงาน ที่บ้าน กลุ่มเพื่อน ฯลฯ ซึ่งหากจะว่าไปแล้วความรู้สึกแปลกแยกนั้น เป็นอารมณ์ความรู้สึกตามปกติที่มนุษย์ทุกคนอาจมีได้ เนื่องด้วยมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราจึงต้องการเป็นส่วนหนึ่งของอะไรบางอย่างอยู่เสมอ แต่เมื่อเราพยายามมากเกินไป ก็อาจทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า รู้สึกว่าตนเองไม่เข้าพวก จนกลายเป็นความรู้สึกแปลกแยกขึ้นมาได้
โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่อายุอยู่ในช่วง 9-12 ปี ไปจนถึงวัยรุ่น ความรู้สึกแปลกแยก อาจรุนแรงมากกว่าวัยอื่น ๆ หากไม่ได้รับคำแนะนำ และการดูแลที่เหมาะสมก็อาจกลายเป็นปมปัญหาที่ติดตัวไปจนโต และทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ค่ะ
ไม่ปลอดภัย เมื่อไม่เข้าพวก
“แม่ค่ะ เพื่อนผู้หญิงในห้องไม่ชวนหนูไปกินไอติมด้วย พวกเขาบอกว่าหนูแต่งตัวเชยเกินไป” ลูกสาวกลับมาบ้านด้วยอารมณ์ซึมเศร้า บอกกล่าวสิ่งที่เกิดขึ้นให้แม่ฟัง
“เพื่อน ๆ ยังบอกอีกว่าหนูเป็นเด็กเนิร์ด” พูดจบสาวน้อยก็นั่งก้มหน้าเศร้า
เมื่อลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น พ่อแม่ผู้ปกครองจะเริ่มสังเกตเห็นว่าเด็ก ๆ มีความพยายามบางอย่างที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองให้เหมือนเพื่อน ๆ เพื่อที่จะเข้ากลุ่มกับเพื่อนได้ สิ่งเหล่านี้เป็นพัฒนาการตามวัย โดยเฉพาะในช่วงอายุ 9-11 ปี
เด็ก ๆ จะเริ่มเปรียบเทียบบุคลิก ท่าทาง ความชอบ ลักษณะนิสัย ของเพื่อน ๆ วัยเดียวกัน จนทำให้เกิดการแบ่งกลุ่ม ที่พบได้บ่อยในโรงเรียน เช่น กลุ่มเน็ตไอดอล กลุ่มนักกีฬา กลุ่มเด็กเรียน กลุ่มเด็กเนิร์ด ฯลฯ แต่แม้ว่าเรื่องราวเหล่านี้จะเป็นเรื่องปกติตามวัย แต่ก็ใช่ว่าเด็กทุกคนจะผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ง่าย ๆ
ธรรมชาติของวัยรุ่น เพื่อนจะมีอิทธิพลต่อความคิด ความรู้สึก และการกระทำค่อนข้างมาก เมื่อได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่พวกเขายอมรับ จึงทำให้เด็ก ๆ มีความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย ดังนั้น หากลูกบอกเราว่าเขารู้สึกไม่เข้าพวก อีกนัยหนึ่งอาจตีความได้ว่าเขากำลังรู้สึก “ไม่ปลอดภัย”
ความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่ว่านี้ มีต้นตอมาจากความรู้สึกว่าพวกเขาแปลก และไม่เหมือนเพื่อน ทำให้พวกเขาเปราะบางและอ่อนไหว ดังนั้น ก่อนที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะพูดอะไรออกไป อาจต้องคิดและระมัดระวังคำพูดให้ดี ๆ เพื่อที่จะไม่ซ้ำเติมลูกค่ะ ว่าแล้วเราลองมาดูวิธีช่วยลูกก้าวข้ามความรู้สึกแปลกแยกกันค่ะ
ระงับอารมณ์ อย่าเล่นใหญ่
ความสงบของพ่อแม่จะช่วยคลายความกังวลของลูกได้ค่ะ เพราะฉะนั้นหากลูกมาปรึกษา หรือเมื่อคุณสังเกตเห็นว่าลูกอาจมีปัญหาเข้ากับเพื่อน ๆ ไม่ได้ แม้คุณจะโกรธ หรือกังวลที่ไม่อาจช่วยลูกได้ แต่ก็ควรควบคุมอารมณ์ อย่าแสดงอาการมากเกินไป เพราะอาจทำให้ลูกเครียดมากกว่าเดิมค่ะ บ่อยครั้งที่พ่อแม่ผู้ปกครองรู้สึกว่าตัวเองปกป้องลูกไม่ได้ แต่อยากขอให้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง ลองปรับมุมมองใหม่ค่ะ ว่าการปกป้องลูก อาจไม่ได้หมายความว่าคุณต้องไปคุยกับแก๊งเด็กนักเรียนเพื่อให้พวกเขายอมรับลูกของคุณ แต่อาจหมายถึงการปกป้องลูกจากอารมณ์เชิงลบ และคำพูดที่คุณพลั้งเผลออกมาด้วยความเป็นห่วง ว่าแล้วตั้งสติให้ดี ค่อย ๆ ฟัง และทำความเข้าใจลูก ก่อนให้คำแนะนำค่ะ
เป็นผู้ฟังที่ดี และให้ความเข้าใจ
เอาล่ะค่ะ! หลังจากตั้งสติได้แล้ว หน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองตอนนี้คือเป็นผู้ฟังที่ดีค่ะ ในขั้นตอนนี้ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ควรตระหนักว่า การที่เด็ก ๆ เล่าปัญหาให้เราฟัง นั่นหมายความว่าพวกเขากำลังต้องการความช่วยเหลือ ควรระวังที่จะไม่แสดงสีหน้า ท่าทาง หรือเอ่ยคำพูดที่ส่อไปในทางว่าปัญหาของพวกเขาไม่สำคัญ เพราะสำหรับเด็กวัยนี้ นี่คือเรื่องใหญ่ของพวกเขา หลังจากลูกเล่าจบ คุณอาจบอกว่า “สิ่งที่ลูกเผชิญอยู่ตอนนี้บางครั้งก็เกิดขึ้นกับวัยรุ่นได้ แม่ก็เคยผ่านมาก่อน แม่เข้าใจว่าความรู้สึกนี้มันเจ็บปวดยังไง” หรือ “ลูกคงรู้สึกเศร้ามากเลยใช่ไหม แม่ดีใจนะที่ลูกแบ่งปันความรู้สึกนี้กับแม่” การพูดย้ำความรู้สึกของลูกและแสดงความเข้าอกเข้าใจ จะช่วยทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้เผชิญเรื่องนี้เพียงลำพัง และอย่างน้อยเขาก็ไม่ได้แปลกแยก เพราะพ่อแม่ก็เคยมีความรู้สึกเช่นนี้มาก่อน
สอนลูกประเมินสถานการณ์
การประเมินสถานการณ์เป็นทักษะทางสังคมข้อหนึ่งที่เด็ก ๆ ควรเรียนรู้ คุณควรสอนลูกให้ลองสังเกตว่าเพื่อนกลุ่มไหนที่มีท่าทีไม่เป็นมิตร หรือหาเรื่องแกล้งอยู่เสมอ หากมีสถานการณ์เช่นนี้ ลูกควรหลีกเลี่ยงกลุ่มคนเหล่านั้น สอนให้ลูกเชื่อสัญชาตญาณตัวเอง หากรู้สึกว่ากลุ่มเพื่อนที่อยากรู้จัก มีท่าทางไม่ต้อนรับ หรือทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง ลูกควรถอยออกมา แล้วค่อย ๆ ลองสังเกตว่าเพื่อนคนไหนที่น่าจะเข้ากันได้ดี พอจะทำความรู้จัก และสนิทสนมได้ อาจเริ่มจากเพื่อนที่นั่งข้าง ๆ หรือเพื่อนที่กลับบ้านทางเดียวกัน เป็นต้น
ใช้คำพูดเชิงบวก
เมื่อลูกวัยรุ่นไม่เป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อน เขาจะรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง เกิดความกังวล ตื่นตระหนก และอาจไม่สามารถควบคุมความคิดของตัวเองให้แก้ไขสถานการณ์ได้ พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยเด็ก ๆ ได้ด้วยการสอนให้ลูกรู้จักวิธีการใช้คำพูดเชิงบวกกับตัวเอง เช่น หากเพื่อนบอกว่าลูกแต่งตัวเชยเกินไป คุณอาจบอกกับลูกว่า
“ไม่ใช่ปัญหาของลูกเลยที่เพื่อนไม่ชอบชุดที่ลูกใส่ นี่เป็นปัญหาของพวกเขาต่างหาก สิ่งที่เพื่อนพูดคงทำให้ลูกรู้สึกแย่ใช่ไหม แต่จริง ๆ แล้วลูกดูดีอยู่แล้วนะ และแม่ก็รักลูกไม่ว่าลูกจะใส่ชุดอะไร”
การพูดเช่นนี้ช่วยให้ลูกมองเห็นปัญหาได้ชัดเจนขึ้น อีกทั้งยังทำให้เด็ก ๆ รับรู้ว่าเขาเป็นที่ยอมรับของพ่อแม่เสมอหลังจากนั้นอาจแนะนำลูกว่า ครั้งต่อไปหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก ลองบอกกับตัวเองในใจว่า นี่ไม่ได้เป็นปัญหาของเราสักหน่อย เป็นปัญหาของพวกเขาต่างหาก หรือ สอนให้ลูกบอกกับตัวเองว่า เมื่อทำดีที่สุดแล้ว หากพวกเขาจะไม่ชอบ ก็คงจะเปลี่ยนอะไรไม่ได้ และเราไม่ใช่เด็กคนเดียวในโรงเรียนที่เจอปัญหานี้
การขอความช่วยเหลือ ไม่เท่ากับ ฟ้อง
บ่อยครั้งที่เด็ก ๆ ยอมถูกแกล้ง ถูกล้อเลียน เพียงเพราะไม่ต้องการถูกเพื่อนล้อว่าเป็นคนขี้ฟ้อง ซึ่งจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกแปลกแยกจากเพื่อน ๆ มากขึ้นอีก ในกรณีนี้พ่อแม่ควรแนะนำลูกหลานว่า การขอความช่วยเหลือกับการฟ้องนั้นไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีเพื่อนทำให้ลูกรู้สึกแย่กับตัวเอง มีอาการซึมเศร้า หรือโดนทำร้ายไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ การบอกให้ผู้ใหญ่รับรู้เป็นเรื่องจำเป็น ลองให้ลูกบอกคุณครูเพื่อหาทางแก้ไข แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้น คุณอาจบอกลูกว่า “สิ่งที่ลูกทำถูกต้องแล้ว แต่เดี๋ยวแม่จะลองปรึกษากับคุณครูอีกทีว่าเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง” สิ่งสำคัญก็คือ พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรถามลูกก่อนว่า “วิธีการไหนจะดีสำหรับลูกที่สุดในตอนนี้” หากลูกบอกว่าจะลองแก้ปัญหาเอง ควรเคารพการตัดสินใจของพวกเขา แต่หากคุณรู้สึกว่าปัญหาที่ลูกเผชิญส่งผลต่อร่างกายและจิตใจของลูกมากเกินไป คุณควรบอกลูกว่า แม่จำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาช่วย ทั้งนี้ ไม่ควรทำอะไรโดยพละการ โดยที่ไม่ได้บอกลูกก่อน
ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งสำคัญที่จะทำให้ลูกก้าวข้ามความรู้สึกแปลกแยกได้ก็คือ สายสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวค่ะ เด็ก ๆ ที่มีพ่อแม่ ผู้ปกครองดูแลเป็นหลักในชีวิต ทำให้พวกเขารู้สึกมั่นคงปลอดภัย มีแนวโน้มว่าจะก้าวข้ามความแปลกแยกได้ง่ายกว่า เพราะเด็ก ๆ กลุ่มนี้รู้ดีว่าพวกเขาเป็นที่รัก และได้รับการยอมรับจากครอบครัว ในทางกลับกัน เด็กกลุ่มที่ไม่ได้รับความรักมากพอ ถูกละเลย ทอดทิ้ง ทำให้ขาดความมั่นคงทางอารมณ์ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นก็จะพยายามหาที่ยึดเหนียว อาจเป็นกลุ่มเพื่อนที่เขามองว่าดี และอยากทำตาม จึงพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองทุกอย่างเพื่อให้เข้ากลุ่มได้ แต่ยิ่งพยายามในใจก็ยิ่งรู้สึกแปลกแยก จนทำให้เกิดปัญหาโรคซึมเศร้าตามมาในที่สุด ดังนั้น การให้เวลา ใส่ใจ และให้ความรักอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่แบเบาะ จะเป็นเกราะป้องกันความรู้สึกแปลกแยกในใจให้ลูกได้เมื่อเขาเติบโต
Related Courses
เรียนรู้และเข้าใจเด็กแอลดี
เด็ก LD คือ เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ การรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม อาจช่วยให้ผู้ป่วยพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ได้อย่างเต็ม ...
พัฒนาการด้านร่างกายสำคัญอย่างไร
เรียนรู้ความสำคัญ ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย แนวทางการจัดประสบการณ์และการประเมินพัฒนาการด้านร่า ...
พัฒนาการด้านอารมณ์สำคัญอย่างไรกับเด็กปฐมวัย
บทเรียนนี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ความสำคัญของพัฒนาการ สมรรถนะตามวัย กิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านอารมณ์ เน้นการทำกิจกรร ...
แนะนำหลักสูตร well being
คอร์สเรียนนี้จะชวนให้ทุกคน กลับมาดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเด็กๆ กันนะคะ เพราะทั้งสองเรื่องนี้ จะเป็นประโยชน์โดยตรง ...