การศึกษาภาคบังคับ..ใช้กับชีวิตจริงได้หรือไม่
หากการศึกษา คือ การเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างที่สำเร็จรูปพร้อมใช้งานไว้เพื่อเด็ก โดยที่เขาเองไม่เคยรับรู้เลยว่าสิ่งนั้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง มีปัญหาอะไร จะแก้ปัญหาอย่างไร มีกระบวนการอะไร ใครเกี่ยวข้องบ้าง แล้วทางออกจะเป็นอย่างไร ฯลฯ ซึ่งเขาไม่ต้องรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นโลกแห่งความจริงเลย เมื่อไปโรงเรียนก็ถูกจับเข้าไปอยู่ในห้องแล้วเรียนในสิ่งที่คนอื่นบอกว่า..“ต้องเรียน ต้องทำตาม และต้องฟัง” เน้นเรียน ท่อง จำ สอบ (ธรรมศึกษา คือ คำตอบชัดเจนที่สุด) คอยรับสารจากผู้สอนเพียงฝ่ายเดียว ไม่รู้ว่า.. “ทำไมจึงต้องเรียน” “สิ่งที่เรียนเกี่ยวข้องกับชีวิตจริงของเขาหรือไม่” “เรียนแล้วเอาไปใช้กับชีวิตจริงได้อย่างไร” สิ่งที่คนอื่นบอกให้เรียน คือสิ่งเดียวกันกับสิ่งที่เขาต้องการอยากรู้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ผมเรียกการศึกษาแบบนี้ว่า “เป็นการศึกษาภาคบังคับ” ที่ขัดกับธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก ไม่มีความสุขหรือฉันทะในการเรียนรู้ ไม่ชอบ เบื่อ เกิดการต่อต้าน ด้วยวิธีการต่าง ๆ เด็กกลายเป็นอวิชชา ในที่สุดนำไปสู่ปัญหาทั้งในตนเอง สังคมตามมาในที่สุด
เป็นอันว่า เด็กเรียนจริงแต่เน้นเรียนจำ ทำให้ไม่มีความสุขจากการเรียน เพราะไม่ได้อยากรู้อยากเห็น ซึ่งโดยธรรมชาติมนุษย์จะเรียนในสิ่งที่ตนคิดว่ามีความหมายต่อชีวิตของตนเอง และมีฉันทะชอบใจ พอใจ มีแรงจูงใจใฝ่รู้ให้เรียน งานวิจัยยังระบุว่า คนเราจะเรียนรู้ได้ไม่ดีในสถานการณ์การเรียนรู้ที่มีครูเป็นศูนย์กลาง นั่นคือเป็นการเรียนจากการฟังคำอธิบายของครู แต่จะเรียนรู้ได้ดีและมีความสุขเมื่อตนเองลงมือทำกิจกรรม เรียนรู้จากการปฏิบัติ เพื่อสร้างประสบการณ์ชีวิต และงานวิจัยยังบอกอีกว่า “สมองมนุษย์จะมีสมาธิอยู่ได้ไม่นานในสภาพถูกกระทำที่มีการรับรู้เพียงอย่างเดียว” หากการศึกษาเป็นเช่นที่กล่าวมาน่าจะเป็นการศึกษาที่นำเด็กนักเรียนถอยห่างออกจากความเป็นจริงของชีวิตเอาไปใช้ในชีวิตจริงไม่ได้ จึงไม่น่าใช่การศึกษาที่แท้จริงเพราะ “การศึกษา” หรือ “สิกขา” คือการพัฒนาชีวิตมนุษย์ทั้งชีวิตที่นำไปสู่ ปัญญา คุณธรรม และความสุข การจัดการศึกษาที่ให้เด็กนักเรียนเข้าสู่ความเป็นจริงของชีวิตจึงควรให้เด็กได้ลงมือกระทำจริงได้เรียนรู้จากสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวของเขาเอง เป็นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กนักเรียนให้เกิดปัญญา คุณธรรม และความสุขด้วยกระบวนการทางปัญญาทั้งสามส่วนไม่แยกขาดออกจากกัน คือ การรับรู้ข้อมูล (สุตมยปัญญา) พัฒนาการคิด (จินตามยปัญญา) ลงมือปฏิบัติเพื่อเข้าใจความจริงของชีวิต (ภาวนามยปัญญา) โดยมีครูอาจารย์มีหน้าที่เพียงชี้แนะให้ผู้เรียนสืบเสาะค้นคว้า และปฏิบัติด้วยตนเอง ดังหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ตรัสว่า..“ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา”
ท่านทั้งหลายต้องทำความเพียรพยายามเอง พระตถาคตเจ้าเป็นแต่เพียงผู้บอกทาง การศึกษาแนวพุทธจึงเป็นทางรอดของระบบการศึกษาไทย เพราะเป็นการเรียนที่เป็นวิถีชีวิตจริง เรียนโดยการดำรงชีวิต (Leaning by Living) พัฒนาชีวิตให้โลภะ โทสะ โมหะ ลดน้อยถอดลงไปให้หมดในที่สุด สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงให้แก่มวลมนุษย์ และสังคมเป็นอย่างมาก การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนามนุษย์ จึงเป็นการจัดการศึกษาแบบองค์รวม
จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ไม่ได้แยกส่วนสาระวิชา เน้นการพัฒนามนุษย์ให้ครบทั้งด้านพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา การเรียนต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริง เรียนแล้วใช้ประโยชน์ได้จริง เด็กเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ท้ายที่สุดผลการศึกษาที่ดีก็ตกที่เด็กนักเรียน คือมีปัญญา คือ รู้ความจริงเข้าถึงความจริง มีความดีงาม คือคุณธรรม และมีความสุข ไม่มีทุกข์ ปราศจากสิ่งบีบคั้นเป็นอิสระ การศึกษา หรือ "สิกขา" ย่อมไม่ทำร้ายมนุษย์ การศึกษาที่ดีย่อมทำหน้าที่พัฒนาคนให้มีความเจริญงอกงาม
บทความใกล้เคียง
Related Courses
การพัฒนาทักษะการอ่าน
หนังสือเปรียบเสมือนคลัง ที่รวบรวมเรื่องราวความรู้ต่างๆ มากมาย การพัฒนาทักษะและส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านจึงมีความสำคัญเป็น ...
การพัฒนาทักษะการเขียน
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการสอนเขียนสำหรับผู้เรียนประถมศึกษา ระดับชั้น ป.1- ป.6 โดยได้ยกตัวอย่างปัญหาการเขียนข ...
การเรียนรู้ในห้องเรียนสำหรับนักสร้างสรรค์และการประเมินผู้เรียนด้วยแฟ้มสะสมงาน
หลักสูตรสำหรับครูที่ต้องการพัฒนาความรู้และทักษะในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ผ่านกิจกรรมพื้นที่สำหรับนักสร้างสรรค์ ...
การเรียนรู้ในห้องเรียนสำหรับนักสร้างสรรค์และการประเมินผู้เรียนด้วยแฟ้มสะสมงาน
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ PBL
การจัดประสบการณ์แบบโครงงานจะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนค้นหาคำตอบจากคำถามที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่พบในชีวิตประจำวัน ผ่านการวางแ ...