5 ไอเดียสร้างห้องเรียนแห่งความตระหนักรู้ทางสังคม
เมื่อโลกเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว สังคมเริ่มเปิดกว้าง และความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องอาศัยทักษะการอยู่ร่วมกับผู้คนที่มีทั้งเหมือน และแตกต่างจากตัวเอง ดังนั้น ทักษะการตระหนักรู้ทางสังคม และวัฒนธรรม (Social and Cultural Awareness) เลยกลายเป็นทักษะหนึ่งที่สำคัญในยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งทักษะที่ว่านี้ไม่ได้เป็นเพียง “การรับรู้” ว่าโลกใบนี้เต็มไปด้วยความหลากหลาย แต่เป็น “การยอมรับ เข้าใจ และเคารพ” ความแตกต่างของผู้คนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ความเชื่อ เพศ สีผิว ไปจนถึงอาหารการกิน ซึ่งคุณครูสามารถเสริมสร้างทักษะนี้ให้กับเด็ก ๆ ได้ตั้งแต่อยู่ในห้องเรียน วันนี้เราเลยรวบรวมไอเดียการสร้างห้องเรียนแห่งความตระหนักรู้ทางสังคมมาฝากคุณครูทุกท่านกัน
ขอบคุณภาพจาก Robert Jones
1. เปลี่ยนจากบทบาท “ผู้สอน” มาเป็น “คนกลาง”
แมทธิว ลินช์ (Matthew Lynch) ที่ปรึกษาด้านการศึกษา และบรรณาธิการของ The Advocate กล่าวว่า ห้องเรียนที่อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ครูทั้งหมด (Authoritarian classroom) อาจสร้างความรู้สึกทางลบให้กับเด็ก ๆ เพราะพวกเขาจะรับรู้ได้ถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างคุณครูกับนักเรียน ดังนั้นเราควรเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และแสดงความคิดเห็นในห้องเรียนมากขึ้น เพื่อให้พวกเขาเปิดรับ และมีแรงจูงใจในการเรียนรู้ ซึ่งเริ่มต้นได้ง่าย ๆ ด้วยการเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้สอน” มาเป็น “คนกลาง” ที่ชวนเด็ก ๆ ถกประเด็น แชร์มุมมองว่าคิดยังไงกับเรื่องที่เรียนวันนี้ หรืออยากมีรูปแบบการเรียนการสอนแบบไหน เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก ๆ กล้าแสดงความคิดเห็น และสร้างบรรยากาศแห่งความเท่าเทียม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย
2. ให้ความสำคัญกับการเรียกชื่อ
แม้ชื่อจะดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่อาจสร้างความรู้สึกฝังใจให้กับเด็กหลายคนได้เช่นกัน โดยเฉพาะการเรียกชื่อนักเรียนด้วยฉายา หรือชื่ออื่นที่มาจากรูปร่างหน้าตาของพวกเขา เช่น อ้วน ผอม ขาว ดำ สูง เตี้ย ฯลฯ แม้จะเรียกด้วยความเอ็นดู แต่อาจจะสร้างความรู้สึกแปลกแยก หรือแปะป้ายให้กับเด็กคนนั้นได้ ขณะเดียวกัน การเรียกชื่อแบบนี้ยังเสี่ยงต่อการทำให้เด็กคนอื่น ๆ เลียนแบบพฤติกรรมของคุณครู เพราะพวกเขาเข้าใจผิดไปว่า สามารถนำเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกมาล้อเลียนหรือเรียกแทนชื่อกันได้ตามปกติ ดังนั้นจะดีกว่าไหมถ้าคุณครูเรียกชื่อจริง ๆ ของนักเรียน และให้ความสำคัญกับเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
ขอบคุณภาพจาก Clay Banks
3. เรียนรู้ผ่านเรื่องราว
หลังจากสร้างบรรยากาศแห่งความเท่าเทียมแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการเรียนรู้เรื่องความหลากหลาย โดยให้เด็ก ๆ เล่าเรื่องราวของตัวเอง หรือค้นคว้าเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่แตกต่างจากตัวเอง เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนมุมมองซึ่งกันและกัน เช่น
เด็กชาย A มาจากภาคเหนือ ให้ค้นคว้าเรื่องอาหารท้องถิ่นภาคอีสานมาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟัง เมื่อเล่าจบ คุณครูก็เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ จากภาคอีสานได้แสดงความคิดเห็นบ้าง เพราะบางครั้ง “ข้อมูลที่ค้นคว้ามา” กับ “ชีวิตจริง” อาจไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด เมื่อเกิดบทสนทนา และการแลกเปลี่ยนกันแบบนี้จะทำให้เด็ก ๆ ได้มากกว่าความรู้ แต่ยังได้ความเข้าใจจากการฟัง ถาม และแบ่งปันมุมมองกับเพื่อน ๆ อีกด้วย
4. ชวนคิดผ่านคำถาม “ถ้าเป็นเราจะ...”
นอกจากความเข้าใจในเชิง “ความรู้” แล้วคุณครูยังสามารถสร้างความเข้าใจในเชิง “ความรู้สึก” ได้ด้วยการยกตัวอย่างจากนิทาน เรื่องเล่า หนัง ข่าว เพลง หรือเหตุการณ์สมมติ แล้วตั้งคำถามว่า “ถ้าเป็นเราจะคิด/ รู้สึก /ปฏิบัติตัวอย่างไร ในสถานการณ์นั้น ๆ” เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาได้ฝึกมองจากมุมของคนอื่น และทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ผู้คนที่แตกต่างจากตัวเองมากยิ่งขึ้น
5. ฝีกทักษะผ่านการเล่นเกม
สำหรับไอเดียส่งท้ายวันนี้ คือการจัดกิจกรรมที่ชวนให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้แบบสนุกยิ่งขึ้น โดยอาจเป็นการแสดงบทบาทสมมุติ หรือเล่นเกมอย่าง “เกมจัดการกับภาพเหมารวม (Stereotype) ด้วยมันฝรั่ง” ที่เริ่มจากการให้เด็ก ๆ สุ่มหยิบมันฝรั่งไปพินิจพิจารณาอย่างถี่ถ้วน แล้วออกมาแนะนำให้เพื่อน ๆ ฟังว่าเจ้ามันฝรั่งในมือนี้ต่างจากมันฝรั่งทั่วไปยังไงบ้าง ก่อนจะปิดท้ายกิจกรรมว่า มันฝรั่งที่ดูเผิน ๆ แล้วหน้าตาคล้ายกันทั้งหมด ก็เหมือนกับคนที่อยู่กลุ่มเดียวกัน สังคมเดียวกัน เป็นเรื่องธรรมชาติที่เราจะมองแบบเหมารวม แต่ถ้าเราได้ใช้เวลาทำความรู้จักจริง ๆ แล้วจะรู้ว่ามันฝรั่งแต่ละหัว หรือคนแต่ละคน มีความพิเศษเป็นของตัวเอง และโลกใบนี้เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายท่ามกลางภาพเหมารวมที่เราคิดไว้ตอนแรก
ขอบคุณภาพจาก Franco Antonio Giovanella
ส่วนอีกเกมหนึ่งที่น่าสนใจ คือ “เกมจริงหรือไม่ (Is That a Fact?)” โดยใช้บัตรคำเขียนข้อความต่าง ๆ แล้วให้เด็ก ๆ ฝึกแยกประโยคเหล่านี้ว่าเป็น ข้อเท็จจริง หรือ ความคิดเห็น เพื่อให้พวกเขาได้ลองฝึกคิดวิเคราะห์ผ่านสถานการณ์จำลอง จนเกิดความเคยชินก่อนจะออกไปเผชิญโลกแห่งความจริง (ติดตามกิจกรรมอื่นๆ ได้ที่ Cultural awareness and expression exercises)
นอกจาก 5 ไอเดียนี้แล้ว ยังมีอีกหลายวิธีที่ช่วยสร้างความตระหนักรู้ทางสังคม และวัฒนธรรมให้กับเด็ก ๆ โดยคุณครูสามารถปรับเปลี่ยน และสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ได้ตามบริบทและสถานการณ์นั้น ๆ โดยที่ยังคงหัวใจสำคัญของทักษะนี้ นั่นคือ “การยอมรับ เข้าใจ และเคารพ” ความหลากหลายของคนในสังคม
ขอบคุณข้อมูลจาก
Related Courses
นวัตกรรม Booklet ทำอย่างไรให้ ว้าว!
วันนี้ Starfish Labz มีเคล็ดลับดีๆ ที่จะช่วยให้ครูผู้สอนได้เทคนิคการออกแบบกิจกรรมใน Booklet ให้มีความน่าสนใจ สร้างสรร ...
นวัตกรรม Booklet ทำอย่างไรให้ ว้าว!
ต้องใช้ 100 เหรียญ
Social and cultural awareness classroom
ห้องเรียนความตระหนักรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม เป็นการออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้างความตระหนักรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม ให้ผู้เ ...
การสร้างรายได้จากสติกเกอร์ Line
เมื่อยุคเปลี่ยนไปการสื่อสารกันในชีวิตประจำวันเปลี่ยนตาม จากการพูดคุยกลายเป็นการพิมพ์คุยกัน การสร้างสติกเกอร์ไลน์จึงเป็นอาชีพ ...
Environmental Education (EE)
The goal of the course is to explain to educators what environmental education is, what its goal ...