เด็กเรียนรู้อะไร เมื่อได้ช่วยงานบ้าน
ทักษะ EF หรือ Executive Function เป็นสิ่งที่พ่อแม่เริ่มให้ความสนใจมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพ่อแม่ผู้ปกครองเริ่มตระหนักว่าการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่ มีทักษะอื่นๆ อีกมากที่จำเป็นนอกเหนือไปจากความรู้ในตำรา ซึ่งการจะปลูกฝังให้เด็กๆ มีความสามารถที่จะควบคุมความคิด อารมณ์ การกระทำ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ตามหลัก EF ได้นั้น ต้องเริ่มจากความรับผิดชอบจากสิ่งใกล้ๆ ตัวก่อน ก็คือ งานบ้านนั่นเองค่ะ
เริ่มอย่างไรให้ลูกช่วยงานบ้าน
จริงๆ แล้วพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้การเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งดำเนินไปอย่างราบรื่นคือ การมีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเด็กและผู้เลี้ยงดูค่ะ เพราะเมื่อมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เด็กๆ ก็ยินดีที่จะรับฟังและทำตามเราได้ง่ายขึ้น โดยทั่วไปเด็กๆ สามารถเริ่มช่วยงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ได้ตั้งแต่ 2-3 ขวบ ก็ฝึกให้ลูกเก็บของเล่นเองได้แล้ว เมื่อเข้าสู่วัยอนุบาล อาจให้เด็กๆ มีหน้าที่เก็บของเล่น เช็ดโต๊ะ นำเสื้อผ้าของตัวเองใส่ตะกร้า พอโตหน่อยก็ค่อยๆ ปรับหน้าที่ความรับผิดชอบให้เพิ่มขึ้นเหมาะสมกับวัย โดยเริ่มต้นอาจทำได้ดังนี้
● พิจารณาอายุและความสามารถของเด็ก หากเด็กๆ ไม่เคยรับผิดชอบงานบ้านมาก่อน จนเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น อาจพูดคุยว่า ลูกโตพอที่จะช่วยรับผิดชอบงานต่างๆ ในบ้านได้แล้ว อาจให้ลูกเป็นผู้เลือกหน้าที่ที่อยากทำ และเวลาที่จะทำหน้าที่นั้นได้ เช่น เก็บผ้าทุกวันหลังกลับจากโรงเรียน หรือ ช่วยตากผ้าตอนเช้าก่อนไปโรงเรียน การเลือกงานที่เหมาะสมกับวัยและความสามารถของเด็กแต่ละคน จะช่วยให้เด็กๆ รับผิดชอบหน้าให้สำเร็จได้ง่ายขึ้น
● ชมมากกว่าติ แรงเสริมทางบวกยังเป็นสิ่งสำคัญในการเลี้ยงดูเด็กทุกวัยค่ะ ไม่ว่าจะอายุเท่าไร คนเราก็ต้องการคำชมและกำลังใจเสมอ ดังนั้นเมื่อเด็กๆ เริ่มรับผิดชอบหน้าที่และทำได้ดี อย่าลืมชมและกล่าวคำขอบอกขอบใจ หากเด็กๆ ยังทำได้ไม่ดีนัก แทนที่จะติลองให้คำแนะนำ สั้นๆ ตรงประเด็น เช่น ถ้าลูกไม่นำผ้าออกจากไม้แขวนตอนเก็บ มันก็จะเต็มตะกร้าและหนัก แต่หากลูกยังยืนกรานจะทำแบบเดิม ก็ลองปล่อยเขาได้หาหนทางเองดูบ้าง ก็ไม่เสียหาย อาจล่าช้ากว่าที่เราทำเอง แต่อย่าลืมว่า วัตถุประสงค์ของเราคือ ให้เด็กๆ ได้ฝึกความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ส่วนเรื่องทำได้ตามเกณฑ์ของเราหรือไม่ ค่อยๆ ฝึกฝนได้ค่ะ
● รอก่อนจะเร่ง เด็กๆ โดยเฉพาะวัยรุ่น มักไม่ชอบให้ผู้ใหญ่มาคอยสั่งหรือกำกับตลอดเวลา ดังนั้น หากคุณบอกให้ลูกทราบไปแล้วว่าต้องรับผิดชอบอะไรบ้างในแต่ละวัน เมื่อถึงเวลาแล้วเห็นว่าลูกยังไม่ขยับ อาจรออีกสักนิด เมื่อผ่านไปสักระยะ อาจเตือนลูกด้วยน้ำเสียงปกติธรรมดา ไม่ตำหนิว่า “อย่าลืมที่แม่บอกไว้นะ” หากหมดวันแล้วลูกยังไม่ทำตามหน้าที่ ควรเรียกลูกมานั่งคุยอย่างเป็นทางการดีๆ ว่าลูกติดปัญหาอะไรหรือเปล่า และจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เป็นต้น
เด็กแต่ละวัย ช่วยงานอะไรได้บ้าง
อายุ 4-7 ปี
● เก็บที่นอน
● รดน้ำต้นไม้
● แยกผ้าที่จะนำไปซัก
● กวาดพื้น
อายุ 8-10 ปี
● พับผ้าและเก็บผ้า
● ช่วยเก็บของใช้ที่ซื้อจากซุปเปอร์มาร์เกตเข้าที่
● เตรียมอาหารว่างกินเองได้
● ล้างจาน
● ถูพื้น
อายุ 11 ปีขึ้นไป
● เปลี่ยนปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน
● ซักผ้า
● รีดผ้า
● ช่วยทำอาหาร
● ทำความสะอาดห้องน้ำ
● ดูแลน้อง
เรียนรู้มากมาย เมื่อได้ช่วยงานบ้าน เอาล่ะค่ะ เมื่อเด็กๆ เริ่มรับผิดชอบงานบ้านแล้ว ลองมาดูกันว่าเด็กๆ ได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งนี้บ้าง
● ฝึกทักษะชีวิต เด็กๆ อาจไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมากในตอนนี้ เพราะมีพ่อแม่คอยดูแล แต่อย่าลืมว่า คุณดูแลลูกไปตลอดไม่ได้ ดังนั้น ทั้งการทำอาหาร ซักผ้า ทำความสะอาดบ้าน จัดสรรการใช้เงินให้พอในแต่ละวัน เป็นสิ่งที่เด็กๆ ต้องเรียนรู้ก่อนออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง อีกทั้ง สิ่งเหล่าที่โรงเรียนก็ไม่ได้สอนอย่างจริงจัง ทำให้การเรียนรู้ทักษะชีวิตเหล่านี้ที่บ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆ
● ความภาคภูมิใจในตนเอง ถึงแม้เด็กบางคนอาจมีท่าทีอิดออดบ้าง แต่เมื่อทำงานบ้านที่ได้รับมอบหมายจนสำเร็จ ได้รับคำชมและคำขอบคุณจากพ่อแม่ผู้ปกครอง พวกเขาจะเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self-esteem) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยทำให้คนๆ หนึ่งประสบความสำเร็จในชีวิตได้ เด็กๆ จะค่อยๆ เรียนรู้ว่า หากตั้งใจและจริงจังพวกเขาสามารถทำสิ่งต่างๆ ให้ลุล่วงได้ ไม่ใช่เพียงหน้าที่ทางการเรียนอย่างเดียว แต่รวมถึงทักษะชีวิตอื่นๆ ด้วย
● ฝึกการทำงานเป็นทีม การเป็นหนึ่งในทีมที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เป็นสิ่งที่เด็กๆ เริ่มเรียนรู้ได้ผ่านการทำงานบ้าน และเมื่อแต่ละคนในทีมทำบางสิ่งไม่ตรงกับความคาดหวังของทีม ก็จะได้รับผลจากการกระทำนั้น การที่เด็กๆ ได้เรียนรู้บทเรียนนี้ที่บ้านจากคนในครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะคนในครอบครัวเมื่อมีข้อผิดพลาด ก็มักอภัยให้กันได้ง่ายกว่าสังคมภายนอก เด็กๆ ที่ได้เรียนรู้บทเรียนนี้แต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยทำให้พวกเขาพร้อมต่อชีวิตการเรียนและทำงานต่อไปในอนาคต
● ฝึกความคิดเป็นระบบ เมื่อเด็กๆ มีงานบ้านต้องรับผิดชอบ พวกเขาต้องคิดวางแผนว่าจะจัดสรรเวลาอย่างไร ให้สามารถทำทุกอย่างได้ภายในเวลาที่กำหนด เป็นเหมือนแบบฝึกหัดการใช้ชีวิตเมื่อเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ที่ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบเพียงหน้าที่เดียว นอกจากทำงานแล้ว ก็ยังต้องดูแลบ้าน ดูแลคนในครอบครัว การเปิดโอกาสให้เด็กๆ รับผิดชอบงานบ้าน โดยให้พวกเขาวางแผนจัดการ ลำดับความสำคัญสิ่งที่จะทำอย่างอิสระ ถือเป็นโอกาสดีที่ทำให้เด็กๆ ได้ฝึกพัฒนาความคิดและการจัดการ
● ฝึกกำหนดเป้าหมาย สิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตมาพร้อมกับทักษะ EF ก็คือ พวกเขาต้องกำหนดเป้าหมาย และหาทางไปสู่เป้าหมายให้ได้ ซึ่งการทำงานบ้าน เป็นบทเรียนแรกๆ ที่สอนให้เด็กๆ รู้จัก
กำหนดเป้าหมายในชีวิตอื่นๆ นอกเหนือไปจากเป้าหมายในห้องเรียน เมื่อมีงานบ้านต้องรับผิดชอบ พวกเขาต้องกำหนดว่าต้องทำให้สำเร็จ ด้วยวิธีการใด และเมื่อไร ซึ่งการกำหนดเป้าหมายนี่เอง ที่จะช่วยทำให้คนๆ หนึ่งรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง และประสบความสำเร็จในชีวิตได้
เห็นไหมคะว่า แค่เรื่องงานบ้านง่ายๆ ใกล้ตัว ก็มอบบทเรียนให้เด็กๆ ได้ แต่ทั้งนี้ผู้ปกครองก็ต้องปรับ mindset ใหม่ด้วยค่ะว่า การมอบหน้าที่ให้เด็กๆ ส่วนหนึ่งอาจแบ่งเบาเราได้ก็จริง แต่วัตถุประสงค์หลัก ก็เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ทักษะชีวิตที่สำคัญ ดังนั้น หากเด็กๆ ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ก็เปิดโอกาสให้เขาค่อยๆ ฝึกฝน อย่าคิดว่า ชักช้าเสียเวลา หรือทำเองก็เสร็จไปนานแล้ว เพราะหากคิดแบบนี้ เด็กๆ ก็คงไม่มีโอกาสเรียนรู้อะไรเลย จริงไหมคะ?
บทความใกล้เคียง
พ่อแม่หัวจะปวด ลูกการบ้านไม่เสร็จ เข้าเรียนก็สายแก้ให้หายด้วย Organized Skill เพิ่มความรับผิดชอบสูง
เจาะลึกอาชีพในอนาคตสาย Gaming: รู้จัก Game Programmer เกมจะลื่นหรือจะล่มต้องพึ่งเขาเท่านั้น!
7 ข้อแนะนำสำหรับวัยทีนจะมีแฟนยังไง ไม่ให้เสียการเรียน
Related Courses
เลี้ยงลูกยุคใหม่ ด้วยวินัยเชิงบวก
การเลี้ยงลูกเชิงบวก เป็นแนวทางการเลี้ยงลูกที่เหล่าบรรดาแม่ๆ ยุคใหม่ให้ความสนใจและอยากนำมาปรับใช้กับการเลี้ยงลูกของตัวเอ ...
สอนศิลปะให้กับเด็กปฐมวัยอย่างไรดี
ศิลปะสำหรับเด็กปฐมวัย จะได้เรียนรู้ความสำคัญ พัฒนาการทางศิลปะ กิจกรรมศิลปะและหลักการจัดประสบการณ์ศิลปะให้แก่เด็กปฐมวัย
ชุมชนการเรียนรู้ ชุมชนแห่งการพัฒนา
ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เป็นแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้บุคลากรทางการศึกษาได้เรียนรู้แ ...
พื้นฐานการใช้เทคโนโลยี สำหรับครูยุคใหม่
หลักสูตรเพื่อก้าวสู่การครูยุคใหม่ซึ่งมีทักษะพื้นฐานทางดิจิทัลและความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในนำมาใช้ในการผลิตสื่อ ...