การสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ เพื่อการจัดการศึกษาสำหรับโลกยุคใหม่
ยุคนี้เป็นยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมกับชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก จนถือกำเนิดคำว่า ‘ประเทศไทย ยุค 4.0’ ขึ้นมา หลายคนอาจคุ้นหูคำนี้กันมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่เข้าใจว่าความหมายที่แท้จริงของมันคืออะไร หากจะให้สรุปนิยามของคำว่า ประเทศไทย ยุค 4.0 แบบเข้าใจง่ายที่สุดคงเป็นประโยคที่ว่า ‘นโยบายที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้เข้าไปสู่การพัฒนาด้วยเทคโนโลยี’
ซึ่งนอกจากที่รัฐบาลจะก่อตั้งนโยบายนี้ขึ้นมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยแล้ว การศึกษาก็เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ภาครัฐในหลายฝ่ายเริ่มหันมาให้ความสนใจและเริ่มลงมือพัฒนาการศึกษาด้วยเทคโนโลยีอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นบทความในวันนี้จะพาทุกท่านเข้าสู่การเรียนรู้ในหัวข้อการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้เพื่อการจัดการศึกษาโลกยุคใหม่ โดยจะทำให้ทุกท่านเข้าใจและเห็นความสำคัญของหัวข้อนี้ไปพร้อมกัน
การเรียนรู้สำหรับโลกยุคใหม่
หากเราตั้งใจจะพัฒนาผู้เรียนเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเรียนแต่ละครั้ง สิ่งแรกที่เราควรให้ความสำคัญคือ ‘ตัวผู้เรียน’ เพราะต่อให้เราจะเตรียมสื่อการสอนที่เราคิดว่าดีมากแค่ไหน แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป สิ่งที่เราเคยส่งต่อกันมา อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดในเวลานั้น เราควรปรับตัวให้เข้ากับผู้เรียน โดยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น
1. การทำสื่อการสอนให้น่าสนใจ
ในยุคนี้มีเครื่องมือจะช่วยให้เราสามารถทำเทคโนโลยีที่ดูยากให้เป็นเรื่องง่ายได้เยอะมากไม่ว่าจะเป็นการทำภาพประกอบการสอน, การทำเกมให้นักเรียนได้ร่วมสนุก หรือแม้กระทั่งการเปิดวิดีโอเกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียนทำให้ผู้เรียนมองเห็นภาพสิ่งที่กำลังเรียนรู้อยู่ได้ดียิ่งขึ้น
2. การทำห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual Classroom)
ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุคปัจจุบัน การทำห้องเรียนเสมือนจริงบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอาจทำให้ทั้งตัวผู้เรียนและผู้สอนรู้สึกว่าการเรียนรู้ไม่มีขีดจำกัด ขอเพียงแค่มีคอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อป ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน เราก็สามารถเรียนรู้ได้ อีกทั้งการทำห้องเรียนเสมือนจริงยังช่วยให้เราสามารถศึกษาความรู้ที่ไม่ได้อยู่ในประเทศเราได้อีกด้วย
3. การให้นักเรียนได้สัมผัสประสบการณ์จริง
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้อะไรหลายอย่างง่ายขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นการพานักเรียนออกไปเรียนรู้นอกสถานที่ หรือการสั่งซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนมาให้นักเรียนได้ทดลองทำและเห็นภาพจริง
ตัวอย่างทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้นล้วนเป็นสิ่งที่การเข้ามาของเทคโนโลยีได้ช่วยให้เราสามารถพัฒนาการเรียนการสอนไปได้อย่างมีคุณภาพทั้งสิ้น เชื่อว่าหลังจากอ่านมาถึงจุดนี้จะทำให้ทุกท่านเห็นความสำคัญของการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้เพื่อการจัดการศึกษาสำหรับโลกยุคใหม่กันขึ้นมาไม่มากก็น้อย
ซึ่งในปัจจุบันได้มีโรงเรียนหลายแห่งเริ่มปรับตัวให้เข้ากับประเทศไทยยุค 4.0 แล้ว โดยโรงเรียนส่วนใหญ่ที่นำนโยบายนี้ไปใช้นั้น มักจะเน้นการทำให้ตรงตามมาตรฐานทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านคุณภาพของเด็ก, ด้านกระบวนการบริหารและจัดการ และด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
เห็นได้ชัดว่าหากต้องการทำให้การสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้เพื่อการจัดการศึกษาโลกยุคใหม่นั้นประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง ต้องใช้การร่วมมือกันของสมาชิกสำคัญอย่าง ผู้เรียน ผู้ปกครอง ผู้สอน สถานศึกษา และชุมชน จะขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปไม่ได้เด็ดขาด โดยเฉพาะผู้เรียน ผู้สอน และสถานศึกษา 3 สิ่งนี้ถือเป็นปัจจัยหลักของการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้เลยทีเดียว
โรงเรียนที่มีการสร้างระบบนิเวศที่เป็นประโยชน์สำหรับเยาวชนยุคใหม่
เนื่องด้วยวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ทำให้หลายโรงเรียนต้องเร่งปรับตัวตามสถานการณ์ เทคโนโลยีจึงเข้ามามีบทบาทกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก การเรียนการสอนส่วนใหญ่จึงต้องเร่งผสานรวมการเรียนผ่านออนไลน์และชั้นเรียน แม้เหตุการณ์ในช่วงนั้นจะเกิดขึ้นอย่างกะทันหันจนหลายฝ่ายตั้งตัวไม่ทัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็ทำให้หลายโรงเรียนได้เรียนรู้และพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ของตน จนทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนได้
และเพื่อให้บทความนี้สมบูรณ์ที่สุดในส่วนท้ายนี้จึงขอทำการแนะนำโรงเรียนที่เริ่มสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้เพื่อการจัดการศึกษาสำหรับโลกยุคใหม่มาให้ผู้อ่านบทความได้นำจุดเด่นของแต่ละโรงเรียนไปปรับใช้ให้เข้ากับการสอนของตนเอง ดังนี้
1. โรงเรียนบ้านหนองปลาไหลราษฏร์บำรุง ใช้การบริหารแบบมีส่วนร่วมเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนร่วมเกี่ยวกับการศึกษาทุกฝ่ายเสนอความคิดเห็นและร่วมพัฒนาวิธีการสอน มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เด็กนักเรียนสามารถเห็นภาพสิ่งที่ตนเองกำลังศึกษาอยู่ได้มากที่สุด
2. โรงเรียนวัดบางปิดล่าง (ราษฎร์สงเคราะห์) โรงเรียนแห่งนี้มีการกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนมาตั้งแต่แรกเริ่มทำให้เห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว มีการพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ และมีการจัดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีความพร้อมแก่การเรียนยุคใหม่มากที่สุด
3. โรงเรียนบ้านหนองสถิต กำหนดเป้าหมายของโรงเรียนอย่างชัดเจน แต่มีการคิดแผนสำรอง รวมถึงพยายามทำให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
4. โรงเรียนบ้านวัดหัวสำโรง (ราษฎร์บำรุง) ใช้การประชุมแบบมีส่วนร่วมเพื่อให้ทุกฝ่ายได้เสนอความคิดเห็น รวมถึงมีการระดมทุนเพื่อนำมาพัฒนาสถานศึกษา ส่งผลให้มีสื่อการสอนที่มีคุณภาพ
5. โรงเรียนวัดแหลมฉบัง มีการพัฒนาตัวผู้สอนให้เท่าทันเทคโนโลยีอยู่เสมอ รวมถึงมีการวางแผนที่ชัดเจนและพยายามทำให้ตรงตามแผนนั้น จัดระเบียบการเรียนรู้ของผู้เรียน และทำให้บรรยากาศการเรียนรู้ดูน่าสนุกอีกด้วย
6. โรงเรียนบ้านไสไทย มีการพัฒนาหลักสูตรอยู่ตลอดเวลา มีการติดตามและคอยปรับปรุงหลักสูตร โรงเรียนนี้มีการเน้นการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อให้นักเรียนสามารถสื่อสารเบื้องต้นได้ จนสามารถนำไปใช้ต่อยอดได้ในอนาคต
7. โรงเรียนเกาะสมุย มีกิจกรรมที่ทำให้ผู้เรียนได้เห็นภาพอย่างชัดเจน เช่น พานักเรียนไปลองปลูกต้นไม้ หรือทำกิจกรรมนอกสถานที่ ส่งผลให้ผู้เรียนอยากที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ และยังมีการพัฒนา อบรมผู้สอนให้เท่าทันเทคโนโลยีอยู่ตลอด
8. ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูบ้านใต้ มีการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มาร่วมดำเนินการ มีวิทยากรเป็นจิตอาสาเข้ามาร่วมสอนทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ นอกตำราเรียนด้วย
ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม >>
Related Courses
Micro Learning การดูแลสุขภาพใจ ป.1-3
การที่เด็กอารมณ์ดี มีความร่าเริงแจ่มใสจะมีผลต่อพัฒนาการในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น สมอง จิตใจ และร่างกาย แต่หากอารมณ์ไม่ ...
Micro Learning การดูแลสุขภาพใจ ป.4-6
เด็กระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 จะอยู่ในช่วงวัยที่เริ่มเรียนรู้จักพัฒนาตนเอง สนใจความรู้สึกตนเองและผู้อื่น เริ่มให้ความสนใจเพศตร ...
การสร้างความสุขในโรงเรียน
โรงเรียนแห่งความสุขนั้นไม่ได้อยู่ที่อาคารสถานที่ของโรงเรียนที่ใหญ่โต แต่การให้ความรักและเมตตาต่อทุกคนโดยทั่วถึงกัน ถือเป็นกา ...
STAMPER Learning การเรียนรู้แบบบูรณาการ
STAMPER Learning เป็นการบูรณาการแบบใหม่ ครบจบทั้งขั้นตอนการเรียนรู้ และการประเมินผลสำหรับครู ซึ่งทำได้ง่ายๆ ในกิจกร ...