Upskill สู่การเป็น Facilitator ด้วย “เทคนิคโค้ชยังไงให้ได้ใจผู้เรียน”
การ “โค้ช” คือทักษะสำคัญที่ครูยุคใหม่ควรมี เพราะจะช่วยส่งเสริมให้การสอนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ตัวผู้เรียนเปิดใจให้กับการสอนและรับความรู้จากคุณครูได้อย่างเต็มที่มากขึ้นด้วย ซึ่งการโค้ชไม่ได้ใช้แค่ในด้านการศึกษาเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ในการทำงานได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อเราจะถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกทีม ให้เพื่อนร่วมงาน หรือการจะสื่อสารระหว่างกัน หรือจะเป็นระหว่างครอบครัว พ่อแม่ลูก หากเรารู้จักการโค้ชที่ดี บุคคลที่เราสื่อสารด้วยก็จะเปิดใจรับฟังเรา และรับเอาความรู้จากเราไปปรับใช้ได้
ทุกคนอาจสงสัย การโค้ชต้องทำอย่างไร ? วันนี้ Starfish Labz ได้รับเกียรติจาก อาจารย์อัชฌา หลิ่วเจริญ (อาจารย์ปุ๊กกี้) ผู้เป็น Professional Certified Coach ของสหพันธ์การโค้ชนานาชาติ ซึ่งทำหน้าที่ด้านการโค้ชให้แก่องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน มามากกว่า 20 ปี จะมาช่วยชี้แนะในหัวข้อ “เทคนิคโค้ชยังไงให้ได้ใจผู้เรียน”
เทคนิคโค้ชยังไงให้ได้ใจผู้เรียน
1. ให้ความสำคัญกับ Context ก่อน Content เสมอ เพราะการเรียนรู้ต้องการพลังงานบวก คือความสนุก ไม่ใช่ความเครียด เหมือนประโยคที่ว่า “Content is King but Context is God” หมายถึง เนื้อหาสาระคือสิ่งสำคัญ แต่บรรยากาศหรือบริบทมันสำคัญยิ่งกว่า ดังนั้นสิ่งสำคัญในฐานะของการเป็นครูหรือการให้ความรู้กับเด็ก ไม่ได้สำคัญแค่เพียงเนื้อหาอย่างเดียว แต่มุ่งเน้นไปที่บรรยากาศการเรียนรู้ บรรยากาศการมีส่วนร่วม เป็นบรรยากาศที่รู้สึกอิสระ รู้สึกปลอดภัย ไม่ต้องกังวลกับการตอบคำถามแล้วผิด สรุปง่าย ๆ คือ บรรยากาศที่ดีในการเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าเนื้อหาในการเรียน
2. สังเกตความพร้อมของผู้เรียน สมองของคนเรามีด้วยกัน 3 ส่วน แยกเป็นด้านร่างกาย อารมณ์ และความคิด ซึ่งถ้าจะทำให้เรามีพลังในการเรียนรู้ได้ดี สมองทั้ง 3 ส่วนนี้จะต้องไปด้วยกัน คือ ร่างกายต้องพร้อม ได้กินอิ่ม นอนหลับมาแล้วเต็มที่ อารมณ์ต้องพร้อม มีความสบายใจ สงบ มีสติอยู่กับปัจจุบัน พร้อมเปิดใจที่จะเรียนรู้ คุณครูสามารถดึงอารมณ์ของเด็ก ๆ ได้ด้วยความสนุกและความท้าทาย สุดท้าย ความคิดต้องพร้อม อาจจะมาจากการอ่านหนังสือทบทวน การแชร์ประสบการณ์ตรงร่วมกัน หรือการให้เขาได้ดูคลิปสร้างแรงบันดาลใจ
3. ออกแบบกระบวนการสอนในรูปแบบ Active Learning พีระมิดของการเรียนรู้เริ่มด้วย การอ่าน ซึ่งทำให้ผู้เรียนจดจำได้แค่ 10% ไต่ระดับขึ้นมาเป็น การได้ยิน และการดู ทำให้ผู้เรียนจดจำได้มากขึ้นอีก 50% แต่วิธีการเรียนรู้แบบนี้ล้วนเป็น Passive Learning ทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าคุณครูต้องการเป็น Facilitator อยากทำให้ผู้เรียนเข้าใจและจดจำความรู้ได้ดีขึ้น ต้องใช้การสอนแบบ Active Learning คือ เปิดให้แสดงความคิดเห็น ลองให้ลงมือทำ และจำลองสถานการณ์ การเรียนรู้แบบนี้จะช่วยให้การสอนมีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด เพราะทำให้ผู้เรียนจดจำได้ถึง 90% และถ้าจะให้ดีที่สุดถึง 95% ก็คือ ผู้เรียนได้นำความรู้นั้นไปถ่ายทอดให้กับผู้อื่นได้ เช่น การที่เด็ก ๆ ช่วยติวให้เพื่อนก็จะทำให้เขาจำได้ดีมากขึ้น
4. ใช้เทคนิค 4R ทำให้ผู้เรียนสนใจ 4R ได้แก่ 1) Ready 2) Relationship 3) Role Models และ 4) Reward โดย 4R จะทำให้นักเรียนมีความสนใจในการเรียนมากยิ่งขึ้น สามารถนำไปใช้ในกระบวนการของการเป็น Facilitator ได้
4.1 Ready สร้างความพร้อม ทำให้ร่างกายพร้อม สอบถามว่าเป็นอย่างไรบ้างนักเรียน เช็กอารมณ์วันนี้เป็นอย่างไร สบายดีไหม หรือเด็ก ๆ รู้สึกอะไรก่อนเริ่มเรียน
4.2 Relationship สร้างความสัมพันธ์ เช่น มีกิจกรรมให้ทำ ชวนคุยให้รู้จัก ทักทาย สร้างความสนิทสนมระหว่างผู้เรียน
4.3 Role Models สร้างเรื่องราว ยกตัวอย่างประกอบในแต่ละเรื่องให้เห็นภาพ เป็นลักษณะ Story Telling ทำให้ผู้เรียนสนุกมากยิ่งขึ้น
4.4 Reward สร้างแรงจูงใจ สร้างความท้าทาย หรือคุณครูอาจจะมีคะแนน มีรางวัลให้
5. ใช้กระบวนการคิด + กระบวนการกลุ่ม กระบวนการคิด เวลาสอนผู้สอนต้องให้นักเรียนได้มีการตกผลึก ให้เขาได้บอกว่าในกระบวนการคิด เขาคิดอย่างไร มีมุมมองอย่างไร เสร็จแล้วให้เข้าสู่ กระบวนการกลุ่ม คือการไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อน ๆ แบบกลุ่ม สุดท้ายส่งตัวแทนแต่ละกลุ่มมาเล่าให้เพื่อนในชั้นเรียนฟัง
6. ใช้เทคนิคการจดจำที่ได้ผลรวดเร็ว 10-24-7
10 นาที ต้องหยุดเพื่อถาม ต้องการให้อธิบายอะไรเพิ่มเติมไหม ?
24 ชั่วโมง ก่อนที่จะเรียนในบทต่อไปให้ทบทวนเรื่องเมื่อวาน และไปต่อในความรู้ใหม่ เป็นการเชื่อมกับความรู้เดิม ช่วยทำให้ต่อยอดความรู้ใหม่ได้ง่าย
7 วัน ต้องรีวิวอีกครั้ง ที่เราได้ลงมือทำเป็นอย่างไรกันบ้าง ? มีการทบทวนซ้ำ ๆ เพื่อไม่ให้ลืม
7. ปรับใช้ขั้นตอนการเรียนรู้แบบ 5E
7.1 Engage สร้างความสนใจ ทำให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์
7.2 Explore สำรวจ ค้นหา ตั้งคำถาม เป้าหมายในการเรียนรู้คืออะไร
7.3 Explain สำรวจคำถามและอธิบาย อะไรที่ทำให้มีพลังในการเรียนรู้
7.4 Extend ขยายความรู้ไปสู่การใช้จริง จะต่อยอดอย่างไร
7.5 Evaluate ประเมินสิ่งที่ได้เรียนรู้ สิ่งที่ได้เรียนจะนำไปต่อยอดอย่างไร
ข้อแนะนำเพิ่มเติมให้กับโค้ช หรือ Facilitator
การออกแบบการสอนให้น่าสนใจด้วยเทคนิคควรแบ่งเป็น 3 ช่วง
1) ก่อนการสอน สร้างความคุ้นเคย มีปฏิสัมพันธ์ เป็นพื้นที่ของความสบายใจ
2) ระหว่างการสอน สร้างความเข้าใจ อธิบาย ยกตัวอย่าง เล่าเรื่องและถาม
3) หลังการสอน นำไปใช้ได้จริง ให้เขาขยายความรู้ จากสิ่งที่ได้เรียนรู้
บางครั้งเด็ก ๆ ไม่ได้ต้องการคำแนะนำ แต่ต้องการใครสักคนที่คอยรับฟัง เหมือนกับตัวเราเหมือนกันที่บางครั้งก็ไม่ต้องการคำแนะนำ ดังนั้นให้ฟังลูกศิษย์ ฟังลูกทีม และใช้คำถามที่ทำให้เขาตระหนักรู้ตนเอง
อย่าใช้คำถามว่า “ทำไม” ให้ใช้คำถามว่า “อะไร” เพราะเวลาเราถามว่าทำไม มันมักจะเป็นการจับผิดและถูกตัดสิน แต่การถามด้วยคำว่าอะไร จะช่วยให้เขาได้อธิบายตัวเอง ความรู้สึกจะต่างกัน
ในปัจจุบันที่ความรู้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น บทบาทของครูจึงต้องเปลี่ยนไป ไม่เพียงให้ความรู้อย่างเดียว แต่ยังต้องเป็นบทบาทของครูผู้เป็นวิทยากรกระบวนการ หรือผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้กับเด็กรวมถึงบทบาทของการเป็นโค้ช หรือ Facilitator ให้กับเด็ก ๆ อีกด้วย ซึ่งบทบาทนี้ยังปรับใช้ได้ทั้งการทำงาน และความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว โดยผู้เป็นโค้ชจะไม่เน้นการสอน แต่เน้นการฟัง และการตั้งคำถาม และมีความสำคัญคือ ทำให้เด็ก ๆ หรือผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลง
โค้ชจึงต้องมี “Mindset ของโค้ช” คือ ต้องเชื่อมั่นในตัวลูกศิษย์ เป็นผู้สร้างความเชื่อใจ ให้ความสบายใจ ทำหน้าที่เป็นคนจุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจ ทำให้เขาเกิด Inspiration พร้อมสนับสนุนให้เขากล้าเรียนรู้และพัฒนาด้วยตัวเอง และโค้ชที่ดีควรถือตนเป็นเพียงกระจกสะท้อนที่เที่ยงตรง โดยไม่ตัดสินและตีความการกระทำของลูกศิษย์
บทความใกล้เคียง
Active Learning แนวการเรียนรู้เชิงรุกเพื่อความสุขของผู้เรียน แนวทางการเรียนรู้เชิงรุกเพื่อความสุขของผู้เรียน
ทำความเข้าใจห้องเรียนกลับด้านแบบเจาะลึก คืออะไร? ใช้อย่างไร? มีประโยชน์จริงไหม? กับ Starfish Labz
ยกระดับการเรียนรู้โรงเรียนทองผาภูมิวิทยา ด้วย 3 นวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการศึกษา จาก Starfish Education
Related Courses
Scenario Based Learning วิธีการเรียนแบบไม่ให้ Loss
การจัดการเรียนรู้โดยใช้ฉากทัศน์เป็นฐาน ทำให้นักเรียน เรียนรู้ผ่านสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับความจริง และช่วยพัฒนาทักษะในการทำ ...
การพัฒนาทักษะการเขียน
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการสอนเขียนสำหรับผู้เรียนประถมศึกษา ระดับชั้น ป.1- ป.6 โดยได้ยกตัวอย่างปัญหาการเขียนข ...
การประเมินเพื่อขอ เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู”
เรียนรู้ ทำความเข้าใจภาพรวมของการประเมินเพื่อขอมี / เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู” (วPA)
การประเมินเพื่อขอ เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู”
Micro Learning เครื่องมือช่วยสอนการเรียนออนไลน์
เครื่องมือช่วยครูในการเรียนออนไลน์ในคอร์สนี้ แนะนำเครื่องมือที่น่าสนใจ 3 ตัวช่วย คือ Google Earth, Line Open Chat แ ...