ทำความเข้าใจห้องเรียนกลับด้านแบบเจาะลึก คืออะไร? ใช้อย่างไร? มีประโยชน์จริงไหม? กับ Starfish Labz
หากพูดถึงเทคนิคการสอนยอดฮิตในปัจจุบัน หลายคนอาจนึกถึง Problem-Based Learning, Brain-Based Learning หรือการเรียนรู้ในวิธีอื่นๆ แต่อีกหนึ่งวิธี เทคนิคที่แสนน่าสนใจและน่าลองหยิบจับมาใช้งานไม่แพ้กันก็คือ Flipped Learning หรือที่ในภาษาไทยเรียกว่าห้องเรียนกลับด้าน ชื่ออาจฟังดูน่าฉงนสงสัยแต่บอกไว้ก่อนเลยว่าเจ้าเทคนิคนี้นั้นน่าลองหยิบจับมาใช้งานเพราะมีดีและมีประโยชน์สุดๆ แต่ว่าเอ้ อะไรคือห้องเรียนกลับด้าน? อะไรคือเจ้า Flipped Learning? ตาม Starfish Labz มาลองสำรวจดูกันในบทความนี้เลย
ห้องเรียนกลับด้าน (Flipped Learning) คืออะไร?
ห้องเรียนกลับด้าน หรือ Flipped Learning หมายถึงวิถีการเรียนรู้หรือการเรียนการสอนในแบบใหม่ที่พลิกจากเดิมหรือมีการกลับด้านการสอนแบบเดิมนั่นก็คือการสอนที่เน้นการบรรยายในห้องมาและอาจตามด้วยกิจกรรมหรือการทำแบบฝึกหัดต่างๆ มาเป็นการให้ตัวบรรยายหรือการเรียนรู้เรื่องเนื้อหาต่างๆ เกิดขึ้นที่บ้านและตัวกิจกรรมต่างๆ อยู่ที่โรงเรียน
จุดประสงค์และหัวใจสำคัญของห้องเรียนกลับด้านก็คือการมองว่าจริงๆ แล้วการให้การบรรยายภายในห้องนั้นอาจกินเวลายาวนานเกินไปและสามารถยกสิ่งนี้ไปไว้ในรูปแบบวิดีโอออนไลน์ที่เด็กๆ สามารถเปิดดูก่อนได้ที่บ้านและจากนั้นจึงค่อยมาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนเพิ่มเติมผ่านกิจกรรมหรือการนำการต่อยอดต่างๆ ของคุณครูที่โรงเรียน
ช่วงเวลาภายในห้องเรียนจึงเหมือนช่วงเวลาของการ Work Shop ที่เด็กๆ จะได้ลองใช้งานสิ่งที่ตนเองเรียนรู้มาโดยมีคุณครูคอยเป็นผู้นำและช่วยเหลืออยู่ข้างๆ
ลักษณะของห้องเรียนกลับด้าน
- เด็กๆ รับรู้ความรู้นอกห้องเรียน
- เด็กๆ นำประเด็นสำคัญในความรู้ต่างๆ นั้นมาลองใช้ในคลาส
- คุณครูคอยดูแลทั้งภายในคลาสและภายนอกคลาส
ประโยชน์ของห้องเรียนกลับด้าน
- Flipped Learning สามารถสร้างห้องเรียนที่เน้นเด็กๆ และกิจกรรมที่เขาทำเป็นศูนย์กลาง
- Flipped Learning สามารถช่วยให้เด็กๆ ควบคุมการเรียนรู้ได้มากขึ้นโดยอนุญาตให้พวกเขาหยุดชั่วคราวและกรอกลับวิดีโอตามต้องการและกดเข้าดูก่อนมาเรียนจากที่ใดก็ได้ สร้างความยืดหยุ่นให้กับการเรียนรู้ ลดความรู้สึกกดดัน
- Flipped Learning สามารถช่วยสอนให้เด็กๆ เกิดทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณระดับสูง
- Flipped Learning สามารถช่วยสอนเด็กๆ ให้เกิดการเรียนรู้เชิงสะท้อนกลับจากการมีเวลาในการเรียนรู้ด้วยตนเองรวมถึงการทำกิจกรรม
- Flipped Learning ที่ดีเน้นการย่อยบรรยายให้น่าสนใจ เปลี่ยนการบรรยายยาวๆ ให้เป็นวิดีโอเนื้อหาที่ไม่ยืดยาวแต่ยังคงครบ ช่วยให้เด็กๆ อยากเรียนรู้
- Flipped Learning ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันจากการทำกิจกรรมในคลาส
- Flipped Learning ช่วยฝึกทักษะการเป็นผู้นำตนเองในการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ รวมถึงการฝึกค้นคว้า
- Flipped Learning ถือเป็นเคล็ดลับชั้นเยี่ยมในการสร้างห้องเรียนแบบ Active Learning อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น
- Flipped Learning เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ฝึกฝนการเรียนรู้ร่วมกันและรับผลตอบรับ (Feedback) เชิงพัฒนาเกี่ยวกับการเรียนรู้ของพวกเขา
ใช้งานการสอนแบบห้องเรียนกลับด้านอย่างไรดี? เคล็ดลับฉบับเจาะลึกจากStarfish Labz
- Flipped Learning ถือเป็นวิธีการใหม่ในการสอนที่ยอดเยี่ยม สามารถช่วยลดเวลาของคุณครูในการเตรียมสอนภายในคลาสรวมถึงการบรรยายต่างๆ แต่ในการส่งต่อเนื้อหาหรือการบรรยายภายที่เคยอยู่ในห้องเรียนไปยังนอกห้องเรียนนั้นๆ ผู้สอนอาจต้องคำนึงในหลากหลายด้าน เช่น ความพร้อมของเด็กๆ, ความสนใจของเขาในการเปิดดูออนไลน์ การทดลองใช้งานวิธีนี้ดูก่อนแล้วค่อยๆ ปรับเปลี่ยนจึงเป็นวิธีการเริ่มต้นที่ดีที่สุด
- ผู้สอนสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการมอบการบรรยายแบบวิดีโอ โดยสามารถส่งให้เด็กๆ ผ่านเว็บไซต์หรือจะสร้างให้อยู่ในรูปของ YouTube Channel ก็ได้เช่นกัน
- Flipped Learning ที่ดีคือการสร้างคอนเทนต์การเรียนรู้ที่บ้านที่น่าสนใจ เนื้อหาไม่ยาวเกินไป ครบแต่อาจจะกระชับเล็กน้อย ยิ่งสามารถทำได้น่าสนใจก็ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จในการสอน ซึ่งการทำวิดีโอให้ดีในครั้งเดียวยังมีประโยชน์กว่าการต้องบรรยายซ้ำๆ หลายครั้งๆ ทุกๆ สัปดาห์ หากเราพิจารณาว่าโดยปกติเราต้องพยายามบรรยายให้ดีอยู่แล้วทุกๆ วัน นำพลังงานตรงนี้มาสร้างคอนเทนต์การบรรยายให้ดีที่สุดไปเลยและใช้ได้กับเด็กๆ ทุกห้องในภาคการศึกษานี้ย่อมดีกว่า
- นอกเหนือจากคอนเทนต์เชิงวิดีโอแล้วผู้สอนยังอาจมี Quiz เล็กๆ ให้เด็กๆ ทำที่บ้าน สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเสมอคือการเปลี่ยนไปให้เด็กๆ เรียนรู้ก่อนที่บ้านไม่เพียงพอต่อการสร้าง Flipped Learning ที่ดี การสร้างห้องเรียนกลับด้านที่ดียังต้องมีการเรียนรู้ ทำกิจกรรมทางกายภาพภายในห้อง รวมถึงการบ้านนอกคลาสและการสร้างกระบวนการติดตาม (Follow-Up) สำหรับการเรียนรู้ที่บ้านของคุณครู
- หลังจบการสอน ผู้สอนควรทบทวนการเรียนการสอน แผนการสอนที่ออกแบบไว้ วิดีโอ และสื่อฯ ที่อยู่ในแผน ได้ผลหรือไม่และอย่างไร เป็นการประเมินทั้งการตอบรับของเด็กๆ และความสำเร็จของคุณครูในการออกแบบการเรียนรู้ดังกล่าว โดยในช่วงการประเมิน สามารถใช้เทคนิควิธีการง่ายๆ 3 ขั้นตอนอย่างทบทวน ปรับแก้ และทำซ้ำ และเมื่อใช้งานไปเรื่อยๆ ก็อาจจะต้องมีการปรับแก้และปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ โดยในการวัดผล สามาารถลองใช้เทคโนโลยีการศึกษาหรือเครื่องมือช่วยวัดผลเชิงดิจิทัลต่างๆ อาทิ Starfish Class เพื่อแบ่งเบาภาระในการทำงานและเสริมสร้างความประสิทธิภาพในการดูผล
จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว ห้องเรียนกลับด้าน หรือ Flipped Learning คืออีกหนึ่งวิธีการสอนที่มากคุณประโยชน์และน่าสนใจอย่างยิ่งเลยทีเดียว และยังถือเป็นเทคนิคการสอนที่เผยให้เห็นถึงบทบาทและคุณประโยชน์ของเทคโนโลยีการศึกษาอย่างเห็นได้ชัดและการเปลี่ยนแปลงไปของการเรียนรู้ที่มีความเป็น Hybrid หรือมีความเป็นลูกผสมระหว่าง Online และ Offline อย่างลงตัว
คุณครูท่านใดที่กำลังมองหาวิธีการสอนใหม่ๆ ดีๆ ต้องอย่าลืมลองเจ้าเทคนิค Flipped Learning นี้เลยนะคะ
อ้างอิง:
บทความใกล้เคียง
ยกระดับการเรียนรู้โรงเรียนทองผาภูมิวิทยา ด้วย 3 นวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการศึกษา จาก Starfish Education
Active Learning แนวการเรียนรู้เชิงรุกเพื่อความสุขของผู้เรียน แนวทางการเรียนรู้เชิงรุกเพื่อความสุขของผู้เรียน
Teachers Hero’s Journey เส้นทางครูฮีโร่ ในยุค new normal
Related Courses
การสอนภาษาไทย (3R)
การสอนภาษาไทยของมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมได้ออกแบบมาเพื่อพัฒนาทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน อย่างเป็นระบบเข้าใจง่ ...
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...
Micro Learning เทคนิคการจัดการเรียนการสอน 1
คุณภาพของผู้เรียนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในตัวผู้เรียนเอง แล้วกระบวนการเรียนการสอนที่ครู จัดให้เป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัม ...
Professional Development
การพัฒนาวิชาชีพ (Professional Development) เป็นกระบวนการพัฒนาทักษะ ความรู้ และความสามารถที่จำเป็นในการทำงานแล ...