หยุดการบูลลี่ เริ่มที่ครอบครัว ผู้ใหญ่ต้องอ่าน ถ้าไม่อยากให้ลูกหลานระรานคนอื่น
ทำไมเด็กบางคนจึงสนุกกับการได้กลั่นแกล้งคนอื่น? เพื่อหาคำตอบของคำถามนี้ เราอาจต้องสืบไปถึงต้นตอของพฤติกรรมดังกล่าว ที่มีหลากหลายปัจจัย ทั้งจากตัวเด็กเอง ไปจนถึงพื้นฐานครอบครัว
ในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครอง เราย่อมต้องการให้ลูกหลานอยู่ในกฏระเบียบ เป็นที่รักของเพื่อนฝูงครูอาจารย์ ซึ่งการจะเป็นเช่นนั้นได้ย่อมไม่ได้มาจากพฤติกรรมก้าวร้าวระราน แม้คนส่วนใหญ่จะรู้กันดีว่าพฤติกรรมความรุนแรงไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม แต่เพราะเหตุใด เรายังคงพบว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อยใช้ความรุนแรงในโรงเรียน กลั่นแกล้ง ทำร้ายร่างกายคนอื่น
มีการศึกษาที่พบว่าพฤติกรรมบูลลี่ อาจเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง มีปัญหาควบคุมอารมณ์ รับมือความโกรธ หรือพยายามที่จะมีตัวตนในกลุ่มเพื่อน นอกจากนี้ความรุนแรงในครอบครัวก็อาจส่งผลต่อเนื่องให้เด็กๆ กลายเป็นผู้สร้างความรุนแรงในโรงเรียนได้ ต่อไปนี้เป็นเหตุผลเบื้องหลังพฤติกรรมบูลลี่ ที่ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหลานของเราไปทำร้ายคนอื่น
ต้องการมีอำนาจ วัยรุ่นบางคนที่ชอบควบคุมคนอื่น มักพยายามแสดงออกว่าตนเองมีอำนาจเหนือกว่าด้วยการใช้พละกำลัง หรือคำพูดทำร้ายร่างกายจิตใจของเหยื่อ เด็กที่แสวงหาอำนาจ มักเป็นเด็กที่เติบโตมาพร้อมกับความรู้สึกว่าตนเองอ่อนแอไร้สิทธิไร้เสียง จึงพยายามทำตัวมีอำนาจเพื่อสร้างพื้นที่ให้ตัวเองในสังคม
แก้แค้น เด็กที่เคยเป็นเหยื่อการบูลลี่มาก่อน อาจใช้วิธีการเดียวกันในการแก้แค้น หรือส่งต่อความรุนแรง เด็กกลุ่มนี้จะคิดว่าตัวเองมีความชอบธรรมที่จะบูลลี่คนอื่นเพราะตนเองก็เคยถูกบูลลี่มาก่อน
ความรุนแรงในครอบครัว เด็กที่เผชิญความรุนแรงในครอบครัว มีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงเป็นทางออกของปัญหา เพราะเด็กๆ เรียนรู้ผ่านการเลียนแบบ เมื่อผู้ใหญ่ในครอบครัวใช้ความรุนแรงต่อกัน ก็เป็นไปได้มากว่าเด็กๆ จะทำอย่างนั้นเช่นกัน เด็กๆ ที่เติบโตในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง มักขาดความเชื่อมั่นและไม่เห็นคุณค่าในตนเอง จึงมักใช้การบูลลี่เป็นวิธีกลบเกลื่อนความเปราะบางของตนเอง
เรียกร้องความสนใจ เด็กๆ ที่พ่อแม่ละเลย อาจใช้การบูลลี่คนอื่นเพื่อเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ บางครั้งการบูลลี่ก็เป็นการเล่นสนุกแก้เบื่อ ซึ่งมักเกิดขึ้นในเด็กกลุ่มที่ขาดความเห็นอกเห็นใจคนอื่น เด็กบางคนอาจรู้สึกว่าการเห็นคนอื่นเจ็บตัวเป็นเรื่องตลก ซึ่งหากพ่อแม่ผู้ปกครองละเลยไม่รีบหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ ความรุนแรงจากเด็กกลุ่มนี้อาจลุกลามถึงขั้นทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตได้
บทบาทพ่อแม่ ยับยั้งการบูลลี่
ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากได้ยินว่าลูกของเราบูลลี่คนอื่น การได้รับโทรศัพท์จากโรงเรียนเพื่อรับรู้ว่าลูกของเราสร้างความเจ็บช้ำทางกาย และใจให้กับเพื่อนๆ ย่อมเป็นเหมือนฝันร้ายที่คงไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากฟัง
แต่หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นจริง สิ่งแรกที่ควรทำคือเปิดใจรับฟังความจริงจากหลายๆฝ่ายให้ได้มากที่สุด อย่าด่วนตัดสินชี้นิ้วว่าลูกเป็นคนผิด แม้การบูลลี่จะเป็นพฤติกรรมที่ไม่อาจยอมรับได้ แต่พ่อแม่ก็ควรเปิดใจฟังเหตุผลของลูก และใช้วิจารณญาณประเมินอย่างเป็นกลางสำหรับทุกฝ่าย ว่าอะไรคือต้นเหตุของสถานการณ์นี้
การพูดคุยกับลูกอย่างเปิดใจก็เป็นสิ่งสำคัญ พ่อแม่อาจพบว่าที่ผ่านมาไม่เคยนั่งคุยกับลูกอย่างจริงจัง สายสัมพันธ์อาจห่างเหิน แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้น การพูดคุยอย่างจริงใจเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยลูกก้าวข้ามพฤติกรรมความรุนแรงได้
พ่อแม่ควรสงบสติอารมณ์และสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา อาจบอกลูกว่า “พ่อได้รับโทรศัพท์จากโรงเรียนแจ้งว่าเพื่อนๆ ในห้องถูกลูกแกล้ง พ่ออยากรู้ว่าเรื่องราวเป็นมายังไง เล่าให้พ่อฟังสิ”
การพูดคุย รับฟังอย่างจริงใจ ช่วยให้พ่อแม่เข้าใจสถานการณ์และสาเหตุรวมทั้งรู้ว่าควรทำอย่างไรเพื่อหยุดพฤติกรรมเหล่านี้
บ่อยครั้งเมื่อคุยกับลูกอย่างจริงจัง พ่อแม่อาจพบว่าต้นตอของพฤติกรรมบูลลี่อาจเกิดจากการเลี้ยงดู หรือปัญหาในครอบครัวเราเอง ซึ่งการยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง หรือยอมรับว่าพ่อแม่ก็มีส่วนผิดในเหตุการณ์นี้ ย่อมยากที่จะทำใจ และต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างมาก แต่หากทำได้ การพาลูกก้าวข้ามพฤติกรรมความรุนแรงก็จะประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่าให้ลูกพยายามเพียงลำพัง
หยุดการบูลลี่ เริ่มที่ครอบครัว
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า เมื่อพูดคุยกับเด็กๆ ที่มีพฤติกรรมบูลลี่มากพอ พ่อแม่อาจพบว่าครอบครัว และการเลี้ยงดูอาจมีส่วนหล่อหลอมพฤติกรรมความรุนแรงให้กับเด็กๆ โดยไม่รู้ตัว
เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่พ่อแม่กล้ายอมรับความผิดพลาด พร้อมเรียนรู้ปรับตัวไปพร้อมกับลูกจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะหยุดพฤติกรรมบูลลี่ ครอบครัวที่ตระหนักถึงความจริงนี้เท่านั้น จึงจะสามารถ
ยับยั้งความรุนแรงไม่ให้เกิดขึ้นในสังคม
ดังนั้น นอกจากพ่อแม่ ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจเด็กๆ แล้ว ก็ยังจำเป็นต้องเข้าใจตนเอง และหมั่นตรวจสอบพฤติกรรมการแสดงออกของตนเองอย่างสม่ำเสมอด้วย เพราะสุดท้ายแล้ว ต้องไม่ลืมว่าเด็กอาจไม่ทำตามสิ่งที่พ่อแม่สอน แต่พวกเขาจะทำตามสิ่งที่พ่อแม่แสดงให้เห็น
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
บทความใกล้เคียง
Related Courses
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
การสื่อสารภาษาอังกฤษ ใครว่ายาก? หากเราเข้าใจ และสื่อสารมันจากความรู้สึก และไม่ต้องกังวลจนเกินไป ในคอร์สเรียนนี้เราจ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
ต้องใช้ 100 เหรียญ