การพัฒนาครู 101 ชวนดูเคล็ดลับการพัฒนาตนเองของคุณครูจากทั่วทุกมุมโลก
สำหรับการพัฒนาตนเองอย่างการพัฒนาครู นอกเหนือจากการเรียนรู้หรือการศึกษาจากสถาบันหรือเพื่อนๆ คนอื่นๆ ที่เป็นผู้สอนในประเทศเหมือนกันโดยตรงแล้ว อีกหนึ่งเคล็ดลับที่แสนดีก็คือการเรียนรู้จากคุณครูในประเทศอื่นๆ ซึ่งมีข้อดีก็คือทั้งช่วยขยาย ต่อยอด เปิดใจ เปิดโลกการเรียนรู้ของเราให้กว้าง และยังสามารถจุดประกาย เป็นแรงบันดาลใจและแรงจูงใจที่ดีให้กับเราในการเปลี่ยนแปลงการสอน รวมถึงตัวเองในด้านต่างๆ อีกด้วย
ในบทความนี้ Starfish Labz เลยจะขอพาทุกคนมาส่องดูตัวอย่างการพัฒนาตนเองของคุณครูจาก 5 ประเทศทั่วโลกกันค่ะ จะมีคุณครูที่ไหน ประเทศไหนเขาทำอะไรกันบ้าง มาเรียนรู้และจุดประกายไปพร้อมๆ กันในบทความนี้เลย
การพัฒนาครู 101 ชวนดูเคล็ดลับการพัฒนาตนเองของคุณครูจากทั่วทุกมุมโลก
1. สิงค์โปรและแผนการพัฒนาครูที่ออกค่าใช้จ่ายให้โดยรัฐบาล
สิงค์โปรถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาครูและการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง มีรูปแบบการดูแลและพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้เราได้ชื่นชมอยู่เสมอ และหนึ่งในแผนการหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือการกำหนดให้คุณครูทุกคนต้องมีการฝึกฝนพัฒนาตนเองเป็นเวลา 100 ชั่วโมงต่อปี หรือราวๆ 12 วันในหัวข้อการเรียนรู้แบบผสมผสานระหว่างที่คุณครูแต่ละคนสนใจและตามที่มีการกำหนดหรือเสนอโดยโรงเรียนหรือทิศทางการพัฒนา การจัดลำดับความสำคัญของการเรียนการสอนภายในประเทศ ในทุกๆ ช่วงต้นปี คุณครูแต่ละคนจะมีโอกาสได้วางแผน แผนการเรียนรู้และพัฒนาตนเองเพิ่มเติม และที่มากไปกว่านั้นก็คือภายในแต่ละโรงเรียน ยังมีการจัดให้เกิด Community หรือพื้นที่ชุมชนการเรียนรู้ระหว่างคุณครูแต่ละคนโดยมีเป้าหมายคือการสนับสนุนให้คุณครูแลกเปลี่ยนแผนการเรียนรู้ แนวคิด และแนวทางต่างๆ ซึ่งกันและกัน รวมถึงการให้คำปรึกษา แนะนำแนวทางจากคุณครูที่มีความเชี่ยวชาญสู่คุณครูรุ่นใหม่ๆ โดยนอกเหนือจากพื้นที่ชุมชนการพัฒนาครูภายในโรงเรียนแล้ว ทางรัฐบาลของสิงค์โปรยังจัดให้มีสถาบันหรือองค์กรการพัฒนาครูเชิงชุมชนต่างๆ ที่คุณครูสามารถเข้าฝึกฝนอย่าง The Academy of Singapore Teachers รวมถึงสถาบันการศึกษา วิจัย และพัฒนาการเรียนการสอนอย่าง
National Institute of Education
2. จีนและรูปแบบการพัฒนาครูเชิงสมาชิกกลุ่ม
จีนขึ้นชื่อเรื่องวิชาชีพครูที่เป็นระบบ หลายๆ คนที่นึกถึงวิชาชีพครูของประเทศจีน อาจนึกถึงเพียงแค่ลำดับชั้นหรือขั้นต่างๆ ของการเป็นครู หรืออาจจินตนาการถึงการใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ เท่านั้น แต่อีกหนึ่งเคล็ดลับการพัฒนาตนเองของคุณครูที่นี่ก็คือเจ้าโมเดลการเรียนรู้ที่เรียกว่าการพัฒนาแบบสมาชิกกลุ่ม หรือการที่คุณครูในวิชาเดียวกันจะเป็นสมาชิกของกลุ่มการสอนและการวิจัยเดียวกัน พบปะกันทุกๆ สัปดาห์เพื่อวางแผนการสอน ตรวจดูความก้าวหน้าหรือพัฒนาต่างๆ ของเด็กๆ ร่วมกัน วิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ที่เด็กๆ แต่ละคนหรือแต่ละกลุ่มเผชิญ และช่วยกันหาทางออกเพื่อรับมือหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมถึงยังมีการทำวิจัย ศึกษาปัญหาต่างๆ ร่วมกันอย่างเป็นระบบ
ฟังดูแล้วก็อาจคล้ายกับการมีแผนกหรือสาขาวิชาหนึ่งๆ ภายในโรงเรียนเหมือนกับในประเทศเรา แต่การรวมตัวหรือการมีอยู่ของกลุ่มเช่นนี้ภายในการศึกษาของประเทศจีนไม่ใช่การรวมตัวกันแบบแผนก หรือการทำงานเอกสารหรืองานอื่นๆร่วมกันแต่อย่างใด แต่เป็นการรวมตัวในลักษณะคลับ (Club) เพื่อมาแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และทำงานสอนต่างๆ ด้วยกัน คล้ายคลึงกับการรวมตัวกันของประเทศสิงค์โปร แต่มีจุดแตกต่างคือในขณะที่ของประเทศสิงค์โปรจะโฟกัสที่การพัฒนาตัวครู เปิดให้เป็นหัวข้ออื่นๆ ที่ครูสนใจได้ แต่ของประเทศจีน จะโฟกัสที่การสอนและเน้นที่ตัวเด็กๆ เป็นพิเศษ รวมถึงการวิเคราะห์ วิจัย ศึกษาปัญหาต่างๆ ร่วมกันนั่นเองค่ะ
3. ฟินแลนด์และการโฟกัสตั้งแต่แรกเริ่มและการบริหารการศึกษาแบบกระจายศูนย์กลาง
ฟินแลนด์ดินแดนแห่งการศึกษาที่น่าใฝ่ฝัน เราทุกคนต่างรู้ชื่อเสียงอันเลื่องลือของระบบการศึกษาที่นี่และเมื่อ Starfish Labz ลองสำรวจดูแล้ว ก็ต้องพบเลยค่ะว่ามีแต่รูปแบบการพัฒนาที่น่าสนใจทั้งนั้น โดยในบรรดาหลากหลายรูปแบบการพัฒนาครูของที่นี่ 2 รูปแบบที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือการเริ่มตั้งแต่ก่อนการบรรจุเข้าเป็นครู การเป็นครูในประเทศฟินแลนด์ถือเป็นเส้นทางที่ต้องมีการเตรียมตัวอย่างยิ่ง ระบบการศึกษาของฟินแลนด์มีมาตรฐานการบรรจุที่สูง อาชีพการสอนเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมและชื่นชม การจะผ่านแต่ละด่าน คุณครูต้องได้รับการฝึกฝนในแต่ละด้านตั้งแต่เนิ่นๆ และอีกส่วนที่ดีอย่างยิ่งก็คือรูปแบบการบริหารโรงเรียนเชิง Decentralized หรือการกระจายอำนาจและศูนย์ ทำให้คุณครูที่นี่มีความเป็นอิสระมากขึ้นในการพัฒนาและออกแบบรูปแบบการเรียนการสอนและการประเมินต่างๆ ตามแต่ละเขตภายในประเทศ ช่วยส่งเสริมทั้งความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นอิสระในคุณครูและการเรียนรูัที่มีความเป็นส่วนตัว เหมาะกับพื้นที่ สิ่งแวดล้อม หรือเขตนั้นๆ ยิ่งขึ้นสำหรับเด็กๆ
4. ลอนดอน, อังกฤษ และการพัฒนา ปฏิวัติการศึกษาที่นำโดยคุณครู
ในช่วงต้นของทศวรรษ 2000 ลอนดอนถือเป็นหนึ่งในเมืองที่ประสบกับปัญหาความไม่เท่าเทียมและปัญหาต่างๆ ในการศึกษาอย่างยิ่ง แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขอย่างไร ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ที่ห่างจากศูนย์กลางก็ยังคงมีอยู่เสมอ ลอนดอนเริ่มต้นแก้ไขสิ่งนี้ในช่วงปี 2003 - 2011 ด้วยการพลิกรูปแบบการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่นำเอาผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาวิเคราะห์ มาออกแบบ และวางแผน การพัฒนาการศึกษาของที่นี่ถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นการนำโดยผู้สอนหรือกลุ่มคุณครู (Teacher-Led) ในเขตพื้นที่ต่างๆ ปัญหาจริงๆ ที่เด็กๆมีคืออะไร ควรแก้ไขอย่างไร การพัฒนาการศึกษาในลักษณะนี้เชื่อว่าคุณครูรวมถึงเด็กๆ แต่ละโรงเรียนรู้ดีที่สุด แม้จะมีการขอคำแนะนำหรือการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอยู่บ้าง แต่หัวใจสำคัญคือการรับฟังความต้องการจริงๆ ของผู้เรียน-ผู้สอน ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ช่วยเปลี่ยนให้การเรียนการสอนในลอนดอนกลายเป็นหนึ่งในการเรียนการสอนที่มีการพัฒนาอย่างดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ กลายเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนครูที่น่าสนใจอย่างยิ่งเลยนั่นเอง
5. ภูฏานและการเรียนรู้อย่างผ่อนคลายและมีสติ
Mindful Learning หรือการเรียนรู้อย่างผ่อนคลายและมีสติเริ่มมีความนิยมยิ่งขึ้นในปัจจุบันแล้วแต่รู้ไหมคะว่าสำหรับในประเทศอย่างภูฏานนั้น มีการเสริมในจุดนี้เข้ามาตั้งแต่ช่วงปี 2010 ในฐานะการเป็นส่วนหนึ่งในปรัชญาและแนวทางการเพิ่มอัตราความสุขรวมภายในประเทศ (Gross National Happiness, GDH) ภายในโรงเรียนประกอบด้วยกิจกรรมเชิงสติและผ่อนคลาย กิจกรรมเสริมสร้างความรู้สึกและการคิดบวก รวมถึงการส่งเสริมให้ทั้งคุณครูและเด็กๆ ใช้เวลากับธรรมชาติ กลายเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับการช่วยพัฒนาครูทั้งในเรื่องของการเรียนการสอน และยังรวมถึงเรื่องสุขภาพของคุณครูในด้านต่างๆ (well-being) เป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับที่น่ายกย่อง และเหมาะแก่การนำมาลองประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการศึกษาไทยในปัจจุบันและการศึกษาไทยในอนาคตของเราอย่างยิ่ง
สรุปจาก Starfish Labz
จิตวิญญาณความเป็นครูและการบริหารสถานศึกษาล้วนพาให้เรามองหาวิธีการใหม่ๆ ในการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาด้านบนก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยจุดประกายที่วันนี้ Starfish Labz ได้รวบรวมและหยิบยกมาให้ผู้อ่านทุกกันค่ะ ในบทความหน้า จะมีการพัฒนาครูจากประเทศอะไร หรือเคล็ดลับการพัฒนาครูใหม่ๆ อย่าง อย่าลืมติดตามกันนะคะ
คำชี้แจงสำคัญ (Disclaimer)
บทความนี้อ้างอิงจากบทความการศึกษา และการเก็บรวบรวมตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงพัฒนาของประเทศต่างๆ ในช่วงราวๆ ต้นปี 2000 จนถึงราวๆ ปี 2016 ข้อมูลข้างต้นนี้เป็นการเปลี่ยนแปงในระยะยาวที่ยังคงมีผลมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน กิจกรรมหรือแนวทางต่างๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนไป โปรดศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้งสำหรับการอ่านสการอ้างอิงอย่างเป็นทางการ
อ้างอิง:
Related Courses
Micro Learning เทคนิคการจัดการเรียนการสอน 1
คุณภาพของผู้เรียนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในตัวผู้เรียนเอง แล้วกระบวนการเรียนการสอนที่ครู จัดให้เป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัม ...
Micro Learning การดูแลสุขภาพใจ ป.4-6
เด็กระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 จะอยู่ในช่วงวัยที่เริ่มเรียนรู้จักพัฒนาตนเอง สนใจความรู้สึกตนเองและผู้อื่น เริ่มให้ความสนใจเพศตร ...
Micro Learning การดูแลสุขภาพใจ ป.1-3
การที่เด็กอารมณ์ดี มีความร่าเริงแจ่มใสจะมีผลต่อพัฒนาการในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น สมอง จิตใจ และร่างกาย แต่หากอารมณ์ไม่ ...
เริ่มต้นทำ Visual Note อย่างง่ายใครๆ ก็ทำได้
หากคุณเป็นคนชอบวาดรูป ชอบการขีดเขียน หรือการจดบันทึก อยากลองทำ Visual Note แต่ไม่รู้จะสื่อสารออกมาอย่างไรดี คอร์สเ ...
เริ่มต้นทำ Visual Note อย่างง่ายใครๆ ก็ทำได้
ต้องใช้ 100 เหรียญ