ห้องเรียนครูคณิต ครูไม่นิ่ง นักเรียน Active
แค่พูดคำว่า “วิชาคณิตศาสตร์” อาจทำให้เด็กบางคนส่ายหน้าใส่ เพราะมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกเกลียดวิชานี้เข้าไส้ ด้วยความที่คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่เน้นหลักการและมีรูปแบบที่ค่อนข้างตายตัว เด็กที่รู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถหาคำตอบจากโจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้ มักจะเกลียดการเข้าเรียนวิชานี้ไปทั้งชีวิต ทั้งที่จริงแล้ววิชาคณิตศาสตร์นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะในชีวิตประจำวันเราแทบจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการคำนวณตัวเลขได้เลย แต่ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ หากเราที่เป็นผู้สอนทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่สนุก เพราะถึงแม้มันจะเป็นวิชาที่เน้นหลักการ แต่การสอนของเราไม่จำเป็นจะต้องจำเจและอยู่แต่ในตำราตลอดเวลา แม้จะฟังดูเป็นเรื่องที่ยาก แต่ขอรับรองว่าหลังจากอ่านบทความนี้จบ ทุกคนจะได้รู้จักเคล็ดลับในการทำให้ห้องเรียนของเราเป็นที่น่าอยู่ได้ ขอแค่เราต้องเข้าใจและเปิดใจให้กับ 3 หัวข้อใหญ่ที่กำลังจะกล่าวถึงในต่อไปนี้
1. เทคนิค
คุณครูทุกคนมีเทคนิคการสอนที่แตกต่างกันไป ครูบางคนอาจสามารถพูดให้นักเรียนเห็นภาพหรือเข้าใจสิ่งที่กำลังเรียนอยู่ได้ภายในเวลาไม่กี่นาที หรือครูบางคนอาจทำให้ห้องเรียนนั้นมีสีสันได้ตั้งแต่วินาทีแรกที่ก้าวขาเข้ามาในห้อง แต่ทักษะเหล่านี้เป็นอะไรที่เราสามารถฝึกฝนได้ โดยจะขอแบ่งหัวข้อเทคนิคที่ทำให้การสอนของเราน่าสนใจเอาไว้ดังนี้
1.1 เน้นสอนโดยเน้นการมีส่วนร่วมของนักเรียน
เพราะการเรียนเพียงแค่คณิตศาสตร์ตามตำราอาจจะทำให้เด็ก ๆ รู้สึกเบื่อหรือเครียดได้ ดังนั้นเราควรพยายามหากิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่เราสามารถทำร่วมไปพร้อมกับเด็ก ๆ ได้ โดยมุ่งเน้นไปที่กิจกรรมที่เด็กทุกคนจะสามารถมีส่วนร่วมไปกับมัน เพราะหากเป็นกิจกรรมที่ทำได้เฉพาะกลุ่ม อาจมีเด็กบางคนที่ไม่ได้เข้าร่วมแล้วเกิดความรู้สึกน้อยใจได้ เด็ก ๆ จะยิ่งรู้สึกสนุกมากขึ้นไปอีก ถ้าหากตัวคุณครูเองก็ทำกิจกรรมกับพวกเขาไปด้วย
1.2 เน้นการนำไปใช้ในชีวิตจริงและมองเห็นคุณค่าของการเรียน
คณิตศาสตร์อาจเป็นวิชาที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันควรสอนไปตามตำรา แต่ความจริงแล้วเทคนิคการสอนให้น่าสนใจมีอยู่เยอะมาก พยายามทำให้เด็ก ๆ มองเห็นว่าคณิตศาสตร์นั้นอยู่รอบตัวเรา เช่น หากเราสอนเรื่อง บวกลบคูณหาร เราอาจจะนำการขายของมาเป็นเกมให้เด็ก ๆ ได้เล่นสนุกกัน เชื่อว่าการที่ห้องเรียนของเราเป็นแบบนี้ นักเรียนจะไม่รู้สึกอึดอัดเวลาที่ต้องเรียนคณิตศาสตร์อย่างแน่นอน
1.3 ส่งเสริมและสนับสนุนนักเรียน
ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เริ่ม ถ้าหากยังไม่เคยลงมือทำ เพราะฉะนั้นเราที่เป็นครูผู้สอนควรสนับสนุนและคอยส่งเสริมพวกเขา พยายามเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้หาคำตอบด้วยตัวเอง พยายามทำกิจกรรมที่จะช่วยให้ความท้าทายเป็นเรื่องสนุกสำหรับพวกเขา หากครูมีเทคนิคการสอนที่เน้นการคำนึงถึงตัวผู้เรียนเป็นหลักแบบนี้ มันจะช่วยให้เด็ก ๆ สนุกสนานกับการเรียนคณิตศาสตร์มากขึ้นอีกด้วย
1.4 ผู้สอนต้องไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาตัวเอง
ผู้สอนต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเอง พยายามมีความคิดสร้างสรรค์ หาสิ่งใหม่ ๆ รอบตัวมาประยุกต์ให้เข้ากับการเรียนเสมอ สมัยนี้เทคโนโลยีพัฒนาไปไกลมาก บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องคิดเองทั้งหมด แต่เราเน้นการเสพสื่อเยอะ ๆ แล้วนำมาปรับใช้ พยายามทำให้นักเรียนรู้สึกสนุกไปกับเรา
2. กระบวนการสอน
แน่นอนว่าอ่านมาถึงตรงนี้จะเห็นได้ชัดว่าการสอนที่เรากำลังพูดถึงจะไม่ใช่แค่
การสอนตามตำราอย่างทั่วไปแน่นอน แต่เราจะใช้กระบวนการสอนแบบ Active Learning หรือเรียกง่าย ๆ ว่ากระบวนการสอนที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียนเป็นหลัก การสอนแบบนี้จะเน้นการลงมือปฏิบัติ ไม่ใช่แค่เพียงให้นักเรียนฟังและท่องจำอย่างเดียว ซึ่งการจะทำ Active Learning นั้น เราจะต้องรู้เทคนิคการทำให้สำเร็จดังนี้
2.1 ใช้กระบวนการพัฒนาบทเรียนร่วมกัน (LS-PLC)
คุณครูในโรงเรียนควรพัฒนาบทเรียนไปพร้อมกัน โดยมีการวางแผน มีการประชุมระดมความคิด หรือบางโรงเรียนอาจมีการจับคู่คุณครูเพื่อให้พูดคุยปรึกษาและคิดกิจกรรมร่วมกัน การที่คุณครูระดมความคิดกันในการพัฒนาบทเรียน อาจทำให้บทเรียนยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะครูบางท่านอาจเห็นจุดผิดพลาดที่ครูอีกท่านไม่เห็น เพราะฉะนั้นยิ่งมีครูให้ความร่วมมือมากเท่าไหร่ยิ่งส่งผลดีกับนักเรียนมากขึ้นเท่านั้น
3. แนวทางในการวัดผลและประเมินผล
เมื่อเราเข้ากระบวนการ Active Learning แล้ว แน่นอนว่าบางครั้งเราอาจไม่สามารถเห็นมุมของนักเรียนในแบบที่เขาเห็นตัวเองได้ เราอาจจะไม่เข้าใจความคิดของเขาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเราควรเปิดโอกาสให้เขาประเมินตัวเขาเองด้วย รวมไปถึงควรเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมมีโอกาสได้ประเมินทักษะของเพื่อนที่ร่วมกิจกรรมกันมา ดังนั้นการประเมินจะแบ่งออกเป็น 4 วิธี ดังนี้
3.1 นักเรียนประเมินตนเอง
การที่เราเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ประเมินตัวเองก็เหมือนกับเราให้เขาได้ทบทวนสิ่งที่เขาทำในระหว่างร่วมกิจกรรมไปกับเรา ดูว่าเขาให้คะแนนตัวเองเท่าไหร่ เขารู้จุดที่ควรปรับปรุงแก้ไขไหม การทำแบบนี้จะช่วยให้เขาปรับตัวให้เข้ากับการเรียนได้มากขึ้น
3.2 นักเรียนประเมินกันเอง
เชื่อว่าอีกหนึ่งคนที่จะสามารถบอกได้ว่านักเรียนที่เข้ารับการประเมินทำกิจกรรม ในครั้งนี้ออกมาได้ดีมากน้อยแค่ไหน หรือควรปรับปรุงแก้ไขอะไร นอกจากตัวนักเรียนเองแล้ว คนที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกับเขาก็ย่อมมองเห็นทั้งข้อดีและข้อเสียเช่นกัน ดังนั้นการรับฟังจากอีกมุมมองหนึ่งอาจเป็นเรื่องที่ส่งผลดีแก่ตัวเราและตัวนักเรียนอีกด้วย
3.3 ครูประเมินนักเรียน
วิธีที่เรียบง่ายที่สุดในการประเมินคือการให้ผู้สอนประเมินนักเรียน การทำ Active Learning ก็เช่นกัน คุณครูยังสามารถประเมินนักเรียนได้เหมือนปกติ อาจจะไม่ใช่แค่คะแนนจากกระดาษข้อสอบ แต่ยังรวมไปถึงคะแนนจากการที่เราเห็นว่าเขาสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง หรือนักเรียนสามารถเข้าใจสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารออกไปได้มากน้อยแค่ไหน
3.4 นักเรียนประเมินครู
การทำวิธีนี้จะทำให้เรารู้ว่านักเรียนคิดเห็นอย่างไรกับตัวเราและกิจกรรมที่เราจัดขึ้น เป็นเหมือนการที่เราเปิดใจรับฟังเสียงของพวกเขา และทำให้เรารู้ข้อผิดพลาดของตัวเองเพื่อที่จะนำมาพัฒนาการสอนต่อไปด้วย
เชื่อว่าการเรียนแบบ Active Learning จะทำให้เด็กนักเรียนหลายคนมีกำลังใจในการเรียนคณิตศาสตร์มากขึ้น เพราะหากเราสอนตามตำรา เน้นการฟังและท่องจำสูตรทั่วไป อาจส่งผลให้เด็กบางคนที่รู้สึกว่าตัวเองทำไม่ได้ ปิดใจให้กับคณิตศาสตร์ตลอดไป ดังนั้นการที่ทำ เราพัฒนาการสอนของตัวเอง ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนสนุกขึ้น นั่นหมายความว่าเรากำลังจะเปลี่ยนมุมมองในการเรียนคณิตศาสตร์ให้เด็กนักเรียนหลายคนตลอดไป และหนึ่งในนั้นอาจจะเติบโตมาเป็น “คุณครู” ที่จะส่งต่อความรู้สึกแบบนี้ให้เด็ก ๆ ในรุ่นถัดไปอีกก็ได้ แม้ในช่วงแรกการเปลี่ยนแปลงเทคนิคการสอนมันอาจจะดูยาก แต่ขอเพียงแค่คุณครูเปิดใจและพร้อมที่จะเดินเข้าไปสู่โลกของนักเรียน เชื่อว่าผลลัพธ์เชิงบวกที่รอเราอยู่ ห่างไม่เกินเพียงเอื้อมมืออย่างแน่นอน
บทความใกล้เคียง
Related Courses
STAMPER Learning การเรียนรู้แบบบูรณาการ
STAMPER Learning เป็นการบูรณาการแบบใหม่ ครบจบทั้งขั้นตอนการเรียนรู้ และการประเมินผลสำหรับครู ซึ่งทำได้ง่ายๆ ในกิจกร ...
นวัตกรรม Booklet ทำอย่างไรให้ ว้าว!
วันนี้ Starfish Labz มีเคล็ดลับดีๆ ที่จะช่วยให้ครูผู้สอนได้เทคนิคการออกแบบกิจกรรมใน Booklet ให้มีความน่าสนใจ สร้างสรร ...
นวัตกรรม Booklet ทำอย่างไรให้ ว้าว!
ต้องใช้ 100 เหรียญ
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...
Micro Learning เทคนิคการจัดการเรียนการสอน 1
คุณภาพของผู้เรียนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในตัวผู้เรียนเอง แล้วกระบวนการเรียนการสอนที่ครู จัดให้เป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัม ...