ก้าวแรกสู่การเป็นครูครีเอเตอร์
ก้าวแรกสู่การเป็น “ครูครีเอเตอร์”
เราเคยได้ยินคำว่า “ครู” และคำว่า “ครีเอเตอร์” กันมาอย่างนับครั้งไม่ถ้วนแล้ว แต่คำว่า “ครูครีเอเตอร์” อาจจะยังฟังดูเป็นคำที่แปลกใหม่สำหรับใครหลายคนอยู่ ซึ่งวันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับคำคำนี้โดยละเอียดและจะพาทุกคนเข้าสู่ก้าวแรกของการเป็นครูครีเอเตอร์ไปพร้อมกันเลย
1. ครูครีเอเตอร์ ครูนักสร้าง ?
คำว่า “ครูครีเอเตอร์” ถูกสร้างมาเพื่อใช้เรียก “คุณครูที่เป็นนักสร้าง” หรือครูที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีความสามารถในการสร้างสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับการศึกษาหรือสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับคนทั่วไป ส่วนใหญ่ครูครีเอเตอร์มักมีเทคนิคเฉพาะตัวที่สามารถสร้างตัวตนจนเป็นที่นับหน้าถือตาและเป็นที่ยอมรับสำหรับนักเรียนของพวกเขาได้ และบางครั้งอาจนำความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองไปสร้างรายได้เพิ่มอีกทางด้วย
2. การสร้างตัวตนช่องทางใดเหมาะที่สุด
การเลือกช่องทางที่เราจะสร้างตัวตนขึ้นอยู่กับอุปนิสัยของเรา เช่น หากเราชอบที่จะทำคลิปสั้น คลิปที่ดูแล้วเข้าใจได้ในทันที ไม่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลานาน เราอาจจะเหมาะกับช่องทาง TikTok แต่หากเราชอบสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีรายละเอียดเยอะ มีขั้นตอน ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจนั่นอาจหมายถึงเราเหมาะกับช่องทาง Youtube หรือถ้าหากเราเป็นคนชอบให้ข้อมูลโดยการพิมพ์ ใช้รูปภาพประกอบและมีคำอธิบายสั้น ๆ เราอาจจะเหมาะกับช่องทาง Facebook ดังนั้นการเลือกช่องทางควรขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราต้องการจะสื่อออกไปให้ผู้ชมด้วย
2.1 ช่องทาง Youtube เป็นช่องทางที่ค่อนข้างเคร่งครัดกับกฎระเบียบในด้านลิขสิทธิ์ หากเราทำคลิปแล้วเผลอใช้เพลงที่มีลิขสิทธิ์ บางครั้ง Youtube อาจจะตัดสิทธิ์ในการสร้างรายได้จากคลิปของเรา หรือเราอาจต้องแบ่งรายได้กับเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่ถ้าหากเราเผลอไปละเมิดลิขสิทธิ์อย่างร้ายแรงเข้า คลิปของเราก็อาจมีสิทธิ์ที่จะถูกลบออกจากช่องทาง Youtube ได้
2.2 ช่องทาง TikTok เป็นช่องทางที่เน้นความสม่ำเสมอของการลงคลิปเป็นหลัก เช่น ถ้าเราลงคลิปทุกวัน ทาง TikTok จะมองว่าเราเป็นครีเอเตอร์ที่มีความสม่ำเสมอ และเริ่มเปิดการมองเห็นให้ช่องของเรามากยิ่งขึ้น ส่วนใหญ่คอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมใน TikTok มักเป็นการเล่นตามกระแส หรือใช้เพลงที่เป็นที่นิยมในช่วงนั้น คอนเทนต์ในช่องทางนี้มักเป็นคลิปที่มีระยะเวลาไม่ยืดยาวมากนัก เน้นความไวและกระชับเป็นหลัก
3. สร้างเนื้อหาให้น่าสนใจ
ปัจจุบันมีคอนเทนต์ให้ผู้ชมเลือกสรรมากมาย สิ่งที่สำคัญในการจะทำให้ผู้ชมสนใจตัวตนของเรามากยิ่งขึ้นคือเนื้อหาที่เราต้องการสื่อออกไป โดยสามารถแบ่งวิธีการทำให้เนื้อหาของเราสามารถดึงดูดผู้ชมในเบื้องต้นออกมาได้ดังนี้
3.1 ทำเนื้อหาที่มีตัวตนเราอยู่ข้างใน หากเราคิดจะสร้างตัวตนแล้ว เราก็ควรจะใส่ความเป็นเราไว้ในเนื้อหาของตนเองด้วย เพื่อที่จะให้ตัวเราเป็นที่จดจำสำหรับผู้ชมมากยิ่งขึ้น
3.2 เนื้อหาควรมีคุณภาพ สิ่งที่สื่อสารออกมาควรเป็นสิ่งสร้างสรรค์ สามารถเข้าถึงคนได้หลายกลุ่ม ไม่มีความรุนแรง ไม่มีการใช้คำที่หยาบคาย
3.3 ความสนุกสนาน ผู้ชมต้องการความจรรโลงใจ ดังนั้นหากเขาเข้ามาดูช่องของเราแล้วรู้สึกเหนื่อยล้าหรือเครียดมากกว่าเดิม เขาอาจเลิกให้ความสนใจคอนเทนต์ของเราไปเลยก็ได้
ดังนั้น เราควรทำคอนเทนต์ให้ออกมามีความสนุกสนาน และน่าสนใจเป็นหลัก
3.4 สร้างเนื้อหาที่เป็นตัวเอง สิ่งสำคัญคือการสร้างเนื้อหาที่มีความเป็นตัวเองและไม่ลอกเลียนแบบใคร เพราะถ้าเราฝืนทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ เราจะไม่รู้สึกสนุกไปกับมันและผู้ชมอาจสังเกตได้ถึงความไม่เป็นธรรมชาติจากตัวตนของเราด้วย หากมีไอเดียในการทำคอนเทนต์ระหว่างวันให้พยายามลงมือทำโดยเร็วที่สุด เพราะบางครั้งถ้าเราจดไอเดียของเราทิ้งไว้ เราอาจลืมและไม่มีเวลาย้อนกลับมาทำมันอีกเลย เพราะฉะนั้นหากมีความคิดที่อยากจะทำ ก็จงไปต่อให้ถึงที่สุด
4. การคิดคอนเทนต์และตั้งชื่อให้ปังตรงใจกลุ่มเป้าหมาย
นอกจากการทำคอนเทนต์ให้น่าสนใจแล้ว การตั้งชื่อให้เจาะใจกลุ่มเป้าหมายของเราก็สำคัญในการจะก้าวเป็นครูครีเอเตอร์นั้นเราควรมีเทคนิคในการทำทั้งสองอย่างนี้เพื่อที่จะดึงดูดผู้ชมให้มากที่สุด โดยจะขอแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อหลัก ดังนี้
4.1 อิงกระแส พยายามทำคอนเทนต์ที่ตามกระแสให้มาก อาจเป็นการใช้เพลงที่โด่งดังในช่วงนั้น ยกตัวอย่าง เช่น ในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา เพลงหมวยนี่คะ ของวงไชน่า ดอลส์ ก็ได้กลับมาเป็นกระแสใน TikTok อีกครั้ง ซึ่งการทำคอนเทนต์ต่อยอดจากเพลงนี้มีได้หลายแบบมาก ไม่จำเป็นจะต้องเต้นตามเพลงอย่างเดียว เราสามารถนำมาใช้พิมพ์ข้อความทำเป็นสถานการณ์สมมติก็ได้ หรืออาจใช้เพลงนี้ทำอะไรที่เหมาะกับตัวตนที่เราต้องการสร้าง
4.2 ตั้งชื่อให้น่าสนใจ การตั้งชื่อควรใช้คำที่ผู้ชมเห็นแล้วจะรู้สึกสะดุดตา เช่น ปัง, ที่แรก, เจ๋ง หรืออาจเลือกใช้คำที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าตัวเองจะมีส่วนร่วมไปกับเรา ทำให้เขารู้สึกว่าสามารถนำไปทำตามได้ เช่น ทำตามแล้วเก่งขึ้น 100%, 5 วิธีทำตามแล้วน้ำหนักหายทันที
4.3 ร่วมงานกับช่องอื่น เพื่อเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้ผู้ชมอยู่เสมอ เราควรพัฒนาคอนเทนต์ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น อาจมีการชวนครีเอเตอร์ท่านอื่นมาร่วมในคอนเทนต์ของเรา หรืออาจให้คนใกล้ตัวเข้ามาอยู่ในกล้องบ้างก็จะดี ยิ่งหากคนที่ทำคอนเทนต์ร่วมกับเราเป็นคนที่มีผู้ติดตามอยู่แล้ว เราสามารถใช้โอกาสนี้ในการแลกเปลี่ยนผู้ติดตามและทำให้เราเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้นด้วย
4.4 เปลี่ยนยากให้เป็นง่าย เนื้อหาที่เรานำเสนอต้องมีความเข้าใจง่าย ไม่ยืดเยื้อ บางคนอาจเลือกเป็นการแปลงเนื้อหาที่เข้าใจยากให้ฟังดูง่ายขึ้น เช่น ถ้าเราเป็นคุณครูวิชาคณิตศาสตร์เราอาจทำคอนเทนต์การสอนที่สามารถฟังแล้วเข้าใจ ง่ายกว่าในตำราเพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจจากผู้ชม
5. ข้อควรระวัง & กฎหมายที่ควรรู้ในการเป็นครูครีเอเตอร์
ในยุคสมัยนี้ผู้คนให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เราต้องเคารพสิทธิของกันและกัน ดังนั้นการที่เราจะสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้น เราควรคำนึงถึงกฎหมายและสิทธิของคนที่อาจจะเกี่ยวกับข้องกับการทำคอนเทนต์ของเราไว้ด้วย ซึ่งรายละเอียดของข้อควรระวังและกฎหมายที่เราควรรู้โดยคร่าว ๆ มีดังนี้
5.1 กฎหมาย PDPA (พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562) หากเรามีการโพสต์คลิปวิดีโอหรือรูปภาพของใครลงบนอินเทอร์เน็ต เราจำเป็นที่จะต้องสอบถามความยินยอมจากเขาก่อน ที่สำคัญคือเราไม่ควรลงรูปใบหน้าของใครโดยมีเจตนาทำให้เขาเสียหาย เช่น การโพสต์รูปภาพเพื่อประณาม ไม่ว่าโพสต์นั้นจะเป็นความจริงหรือไม่ ผู้ที่ถูกเรากล่าวถึงก็มีสิทธิ์ที่จะเอาผิดเราได้ และเราจะต้องรับโทษตามกฎหมายด้วย
ส่วนใหญ่การโพสต์เหล่านี้อาจจะต้องดูที่เจตนา เช่น หากเป็นการโพสต์คลิปวิดีโองานโรงเรียนหรือโพสต์วิดีโอนักเรียนของเราตอนแสดงความสามารถพิเศษต่าง ๆ ในด้านที่ดี คลิปเหล่านี้จะไม่เป็นปัญหา แต่หากเราโพสต์ลงไปด้วยเจตนาที่ไม่ดีหรือโพสต์ของเราบังเอิญไปทำให้ใครเสียชื่อเสียง การโพสต์ในลักษณะนี้อาจสร้างปัญหาตามมาในภายหลังได้
5.2 ข้อควรระวังในการถ่ายคลิปกับนักเรียน สิ่งแรกที่เราควรระวังคือการใช้มุมกล้อง หากเป็นเด็กโตเราสามารถถ่ายให้เห็นบริเวณใบหน้าของพวกเขาได้ แต่เราควรขออนุญาตและแจ้งให้เด็ก ๆ ทราบก่อนถ่าย และในกรณีที่เป็นเด็กเล็ก อย่างเช่น เด็กประถม หากต้องการป้องกันตัวเอง เราควรทำแบบยินยอมให้ผู้ปกครองของนักเรียนเซ็นเพื่อรับทราบก่อนจะที่ถ่ายคอนเทนต์ โดยเราควรแจ้งให้ผู้ปกครองทราบว่าเราต้องการถ่ายคอนเทนต์แนวไหน จุดประสงค์คืออะไร และจะไม่ทำให้บุตรหลานของพวกเขาเสียหาย ถือเป็นความสบายใจของทั้งสองฝ่ายด้วย
สุดท้ายนี้ต้องยอมรับว่าการสร้างคอนเทนต์บางครั้งอาจเป็นดาบสองคมให้เรา เพราะมันอาจทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้นไปเลย หรืออาจทำให้แย่ลงก็เป็นได้ พยายามรับความคิดเห็นของผู้ชมในทุกแบบ หากเป็นการติเพื่อก่อจงนำมาปรับใช้ แต่หากเป็นการจงใจเข้ามาสร้างความเกลียดชังโดยเฉพาะจงพยายามมองข้ามมันไป อย่าลืมเชื่อมั่นในตัวเองว่าเรามีความสามารถพอที่จะส่งต่อสิ่งที่มีประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้ ไม่มีความสำเร็จใดได้มาโดยง่าย แต่หากวันนี้เราตัดสินใจลงมือทำ สักวันหนึ่งทุกท่านจะประสบความสำเร็จในเส้นทางการเป็น “ครูครีเอเตอร์” ได้อย่างแน่นอน
บทความใกล้เคียง
การสื่อสารดิจิทัล (Digital Communication) คืออะไร? วิชาใหม่ของยุคศตวรรษที่ 21
กลยุทธ์การใช้ Padlet "ขั้นสูง" เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้แบบร่วมมือ Update AI and New Feature (2024)
5 คอร์สออนไลน์ยอดฮิต เรียนฟรี แสนคุ้มค่า จาก Starfish Labz
Related Courses
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
Google Sites กับการนำมาใช้เพื่อการศึกษาและการประเมินวิทยะฐานะ
Google Sites ช่วยทำเว็บไซต์ได้โดยไม่ต้องรู้วิธีเขียนโค้ด และเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างเว็บไซต์โดยไม่ต้องมีความรู้มากในด้าน ...
Google Sites กับการนำมาใช้เพื่อการศึกษาและการประเมินวิทยะฐานะ
ต้องใช้ 100 เหรียญ
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอการเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ การปฐมพยา ...
เริ่มต้นทำ Visual Note อย่างง่ายใครๆ ก็ทำได้
หากคุณเป็นคนชอบวาดรูป ชอบการขีดเขียน หรือการจดบันทึก อยากลองทำ Visual Note แต่ไม่รู้จะสื่อสารออกมาอย่างไรดี คอร์สเ ...
เริ่มต้นทำ Visual Note อย่างง่ายใครๆ ก็ทำได้
ต้องใช้ 50 เหรียญ