ห้ามลูกแบบไหนถึงเรียกว่าพอดี
เด็กๆ มักงอแงไร้เหตุผลอยู่เสมอ ก็เนื่องด้วยความเป็นเด็กของเขา ส่วนพ่อแม่อย่างเราๆ ก็มีหน้าที่ห้ามเด็กดื้อ และอบรมสั่งสอน แต่บางครั้งพ่อแม่บางคนก็มักคอยควบคุม คอยห้ามเขา ในเวลาที่เขาดื้อ มากจนเกินไป เรียกได้ว่าห้ามไปซะทุกอย่าง จนทำให้เกิดผลเสียตามมา
เหตุผลที่พ่อแม่มักห้ามลูกจนมากเกินไปได้แก่
1. กลัวลูกไม่มีความสมบูรณ์แบบ
พ่อแม่มักห้ามโน้นห้ามนี่ลูก หรือเรียกได้ว่าควบคุมเพื่อความสมบูรณ์แบบ เพราะกลัวลูกทำผิดพลาด และไม่เป็นไปตามใจหวังของพ่อแม่ที่คิดไว้ จึงทำการห้ามทุกอย่าง จนเด็กๆ ขาดพัฒนาการในการตัดสินใจ และความกล้าหาญ กล้าแสดงออกได้ ซึ่งจริงๆ แล้วคุณพ่อคุณแม่เองควรที่จะให้เขาได้ลองผิดลองถูกได้ด้วยตนเองเสียก่อน ผิดพลาดบ้างก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร เพราะวัยเด็กแบบนี้เขาต้องเรียนรู้นั้นเองค่ะ
2. กลัวลูกคบเพื่อนหรือคนใกล้ชิดที่ไม่ดี
พ่อแม่ทุกคนก็มักจะเป็นห่วงลูกเป็นธรรมดาแหละค่ะ ยิ่งพ่อแม่ประเภทนี้ชอบควบคุมการเลือกคบของคนใกล้ชิดของลูก ก็มักจะจัดสรรว่าลูกควรจะคบกับเพื่อนคนไหน และตัดสินเลยว่าใครดีหรือไม่ดีแทนลูก และมักจะตรวจสอบด้วยว่าลูกคุยหรือคบกับใครบ้าง ซึ่งพ่อแม่จริงๆ ก็ทำได้นะคะ แต่ก็ต้องมีพื้นที่ส่วนตัวให้เขาบ้าง หากทำเช่นนี้เข้าบ่อยๆ จะทำให้เด็กๆ รู้สึกอึดอัด ไม่มีอิสระ จนบางครั้งก็ต้องหาทางระบายความอึดอัดนี้ เช่น การเสพยาเสพติด หรือหนีออกจากบ้านโดยที่พ่อแม่ไม่ทันได้ตั้งตัวเลยก็ได้นะคะ เพราะฉะนั้นไม่ว่าลูกจะเลือกคบใครพ่อแม่รู้ได้ แต่พยายามชวนเขาคุยเล่นมากกว่า แอบถามเป็นระยะๆ ถ้าเขาสบายใจเขาก็จะมาคุยกับเราแบบที่เราไม่ต้องบังคับเลยล่ะค่ะ
3. อยากได้ความรักจากลูกมากๆ
คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็รักลูกอย่างสุดหัวใจกันทุกคนนะคะ แต่เมื่อเขาโตขึ้น เขาก็จะมีสังคม มีเพื่อน และมีคนรู้จักมากขึ้น ซึ่งพ่อแม่บางคนก็มีความกังวลใจว่าจะมีสังคมหรือคนอื่นๆ แยกลูกสุดที่รักไปจากเรา จึงทำให้พ่อแม่ประเภทนี้ห้ามลูกไปบ้านเพื่อน ห้ามไปเที่ยว ตัวติดกันกับพ่อแม่ตลอดเวลา ส่งผลทำให้ลูกขาดความมั่นใจ และกลัวการเข้าสังคมไปในที่สุดค่ะ แถมการควบคุมแบบนี้ยังทำให้เด็กๆ เก็บกดและมีความทุกข์อยู่ในใจได้มากอีกด้วยนะคะ
4. หวงลูกมากเกินไป
การหวงลูกเป็นเรื่องธรรมดาของพ่อแม่ทุกคน แต่พ่อแม่บางคนหวงจนลูกจนทำแทนทุกอย่างได้ ห้ามลูกซะจนเขาขาดความมั่นใจในตัวเอง เพียงเพราะพ่อแม่ตัดสินว่าลูกยังไม่พร้อมที่จะทำอะไรด้วยตนเอง และเมื่อเขาโตขึ้น เชื่อได้เลยว่าลูกจะกลายเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าที่จะทำเพราะกลัวว่าสิ่งที่ทำจะออกมาดีหรือไม่ดี ต้องรอให้มีคนมาสั่งมาบอกก่อนถึงจะทำ หรือต้องมีคนมาทำให้ถึงจะเริ่มทำได้ ซึ่งลักษณะนี้ถ้าในเรื่องดีเด็กก็จะเริ่มหาวิธีพิสูจน์ตัวเองว่าทำได้ แต่หากเป็นเรื่องพิสูจน์ที่ไม่ดีขึ้นมานี่เรื่องใหญ่เลยนะคะ เพราะเด็กบางคนถูกห้ามนู้นห้ามนี่จนบางครั้งเขาก็อยากที่จะเป็นที่ยอมรับของคนอื่นๆ บ้าง
แล้วพฤติกรรมของลูกแบบไหนบ้างล่ะที่บ่งบอกว่า “พ่อแม่กำลังควบคุมหรือห้ามลูกมากเกินไป”
- ลูกมักจะโกหก เหตุผลที่ลูกโกหกเพราะบางครั้งพ่อแม่มักจะควบคุมหรือห้ามลูกจนมากเกิน
- ลูกไม่มีเวลาได้เล่นแบบเด็กๆ เล่นกัน เพราะพ่อแม่จัดแจงตารางเวลาให้ลูกจนลูกไม่มีเวลาเล่นแบบเด็กๆ บ้าง
- ลูกไม่ค่อยยิ้มแย้ม เมื่อได้ยินคำสั่งของเรา เช่น ไปอาบน้ำซะ ทำการบ้านเดี๋ยวนี้ เสนอหรือบังคับลูกมากจนบางครั้งเขาก็ไม่ได้มีความคิดเป็นของตัวเองเลย
- ยิ่งห้าม ยิ่งทำ เพราะการห้ามของพ่อแม่มันไม่ได้ผล ยิ่งว่าลูกก็ยิ่งทำ กำกับตลอดเวลา ทำให้ลูกอาจจะเก็บกด และต่อต้านได้
แล้วจะห้ามลูกยังไงให้พอดีล่ะ จริงๆ แล้วการห้ามลูกก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดเลยนะคะ แต่การห้ามคุณพ่อคุณแม่ต้องดูความเหมาะสมของวัยจะดีกว่า คอยดูคอยช่วยเหลืออยู่ห่างๆ ให้เขาได้ลองพยายามด้วยตัวเองอย่างเต็มที่เสียก่อน หากเกินความสามารถค่อยเข้าไปช่วยเหลือ และสอนวิธีที่ถูกต้องให้เขาได้เรียนรู้นั่นเอง อีกอย่างคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเชื่อมั่นในตัวลูกด้วยนะคะ ว่าเขานั้นทำได้ หากเราเชื่อและลองให้เขาลองทำดูก็เป็นการฝึกทักษะอย่างหนึ่งไปในตัวเขาได้ ให้เขาได้ลองแก้ปัญหาต่างๆ หรือให้เขาทำงานที่มอบหมายให้สำเร็จ และสุดท้ายก็ชมเชยเขาด้วยความจริงใจ ให้เขาได้ภูมิใจในตัวเองว่าเขานั้นทำได้ ก็จะทำให้เด็กๆ กลายเป็นเด็กที่มั่นใจและพร้อมที่จะเผชิญปัญหาต่างๆ และลงมือทำได้โดยไม่ต้องรอพ่อแม่มาคอยบอกหรือชี้ทางนั้นเอง รักลูกในทางสายกลางดีที่สุดค่ะ
Related Courses
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...