Peer Pressure แรงกดดันจากเพื่อนสู่พัฒนาการสร้างตัวตนของวัยรุ่น
พ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยรุ่นย่อมรู้ดีว่าอิทธิพลของเพื่อนที่มีต่อลูกนั้นมากมายเพียงใดจากที่พ่อแม่เคยเป็นคนสำคัญในชีวิตเมื่อลูกเริ่มเข้าสู่วัยทีนเพื่อนมีส่วนอย่างมากในการกำหนดความคิดความเชื่อและพฤติกรรมของลูกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นขั้นตอนปกติตามพัฒนาการสังคมที่เรียกว่า Peer Pressure บทความนี้ Starfish LabZ ชวนพ่อแม่ผู้ปกครองมาทำความรู้จักกับ Peer Pressure แรงกดดันจากเพื่อนที่ก่อร่างสร้างตัวตนของลูกวัยรุ่นบนเส้นทางการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่
ทำความเข้าใจ Peer Pressure
เราทุกคนคงมีช่วงเวลาที่เลือกทำบางสิ่งไม่ใช่เพราะอยากทำแต่ทำลงไปเพราะต้องการเป็นที่ยอมรับ ซึ่ง Peer Pressure ก็เป็นเช่นนั้นเอง หากจะอธิบายให้ชัดขึ้น แรงกดดันจากเพื่อน คงจะคล้ายกับการที่เราดู Influencer รีวิวสินค้า ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยวแล้วอยากทำตาม เพราะพวกเขามีอิทธิพลต่อความคิดและการใช้ชีวิตของเรานั่นเอง
สำหรับวัยรุ่น การทำตามเพื่อนคือสิ่งที่ทำให้พวกเขาได้รับการยอมรับและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม พ่อแม่ผู้ปกครองอาจสังเกตว่ากลุ่มเพื่อนเดียวกันจะมีความชอบความสนใจใกล้เคียงกันนั่นก็เป็นเพราะวัยรุ่นแต่ละคนมีอิทธิพลต่อกันนั่นเองแม้ Peer Pressure จะเป็นเรื่องปกติตามพัฒนาการแต่พ่อแม่ก็มักกังวลใจเพราะอิทธิพลจากเพื่อนมีทั้งแง่บวกและแง่ลบ ซึ่ง Peer Pressure เกิดขึ้นได้ 3 ลักษณะด้วยกัน คือ
- หนึ่ง เกิดขึ้นโดยตรง เมื่อคนหนึ่งบอกอีกคนว่าต้องทำอะไร อย่างไร
- สอง เกิดขึ้นทางอ้อม เมื่อกลุ่มเพื่อนทำบางสิ่งด้วยกัน แต่สิ่งนั้นปกติแล้วเราไม่ทำหากไม่ได้อยู่ในกลุ่มนั้นๆ เช่น ปกติลูกเป็นคนขี้อาย แต่กลุ่มเพื่อนชอบเต้น cover dance ลูกเราก็ร่วมฝึกเต้นด้วย
- สาม เกิดขึ้นจากตัวเอง เมื่อวัยรุ่นสร้างความกดดันให้ตนเองว่าต้องทำเหมือนเพื่อนๆ จึงจะได้รับการยอมรับ
อิทธิพลจากเพื่อน มักถูกมองในแง่ลบมากกว่าแง่ดี แต่ความจริงแล้วอิทธิพลจากเพื่อนก็มีแง่ดี ที่ช่วยสร้างอัตลักษณ์และตัวตนของลูกวัยรุ่นได้
ข้อดีของ Peer Pressure
- ช่วยให้ลูกเรียนรู้ลักษณะนิสัยที่ดี: การเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อนช่วยให้เด็กๆ ได้เห็นบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยที่หลากหลายหากวัยรุ่นได้รับการปลูกฝังจากครอบครัวมาอย่างเหมาะสมเด็กๆ จะสามารถเปรียบเทียบบุคลิกภาพที่ดีกับบุคลิกภาพที่ไม่ดีและเลือกเรียนรู้จากพฤติกรรมที่ดีได้
- เรียนรู้คุณค่าที่แตกต่าง: แต่ละครอบครัวปลูกฝังและให้คุณค่ากับสิ่งรอบตัวต่างกัน เมื่ออยู่ในกลุ่มเพื่อนเด็กๆ อาจเรียนรู้ว่าเพื่อนบางคนพ่อแม่ห้ามดื่มน้ำอัดลมเด็ดขาดขณะที่เพื่อนบางคนพ่อแม่ให้ความสำคัญกับการทำบุญทุกวันอาทิตย์ ฯลฯ ความแตกต่างเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่ช่วยให้วัยรุ่นเข้าใจโลกใบใหญ่ที่หลากหลายเมื่อวัยรุ่นเห็นพฤติกรรมและทางเลือกที่แตกต่างมากเท่าไรการตัดสินใจเลือกสิ่งที่เหมาะสมก็มีโอกาสเพิ่มขึ้น
- ลด ละ เลิกพฤติกรรมเชิงลบ: Peer Pressure อาจสร้างความกดดันให้วัยรุ่นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้นเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากกลุ่ม เช่น หากลูกเป็นคนไม่รักษาเวลาแต่เพื่อนๆ ในกลุ่มล้วนมาตรงเวลาลูกก็จะค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นคนรักษาเวลาเพื่อให้กลุ่มเพื่อนยอมรับ
- เรียนรู้ที่จะปรับตัว: เมื่ออยู่กับครอบครัว วัยรุ่นไม่จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้ได้รับการยอมรับ แต่กับกลุ่มเพื่อน พฤติกรรมหรือลักษณะนิสัยบางอย่างอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับคุณค่าของกลุ่มนั้นๆ เช่น วัยรุ่นที่ไม่ชอบกินผักเมื่อไปกินชาบูก็ไม่ยอมให้พ่อแม่ลวกผักในน้ำซุปแต่เมื่อไปกับเพื่อนเขาต้องปรับตัวและฟังเสียงคนส่วนมากวัยรุ่นจึงค้นพบว่าการกินน้ำซุปที่ใส่ผักลงไปไม่ใช่เรื่องใหญ่อย่างที่คิด เป็นต้น
- พัฒนาความเห็นอกเห็นใจ: เมื่อวัยรุ่นกังวลว่าคนอื่นจะคิดกับตัวเองอย่างไร พวกเขาจะค่อยๆ ดำดิ่งลงไปในความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งกระบวนการนี้มีประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะทางสังคมเพราะเมื่อต้องการรู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร วัยรุ่นจะพยายามมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมากขึ้นเพื่อเรียนรู้มุมมองของผู้คนเหล่านั้น ทำให้พวกเขาค่อยๆ พัฒนาความเห็นอกเห็นใจและเอาใจเขาใส่ใจเราในที่สุด
สร้างภูมิคุ้มกันทางใจป้องกัน Peer Pressure เชิงลบ
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า Peer Pressure มีทั้งเชิงบวกและเชิงลบซึ่งสิ่งที่จะกำหนดว่าอิทธิพลจากเพื่อนจะส่งผลดีหรือลบต่อตัววัยรุ่นนั้นพื้นฐานครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะกำหนดว่าลูกจะเลือกให้เพื่อนมีอิทธิพลเชิงบวกหรือลบต่อตนเองการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ เป็นปัจจัยหนึ่งที่กำหนดว่าวัยรุ่นจะเลือกทางใดหากครอบครัวใช้การสื่อสารเชิงบวกมีสายสัมพันธ์อันดีที่สร้างมาตั้งแต่วัยเยาว์เด็กๆ ที่เห็นคุณค่าในตัวเองมักรู้ว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องเลือกทำผิด หรือเลือกทางเลือกที่เสี่ยงเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากเพื่อนเพราะตนเองมีคุณค่ามากกว่านั้นในทางกลับกันเด็กๆ ที่พ่อแม่ละเลยด้อยค่าความรู้สึกลูกก็มีความเป็นไปได้ว่าวัยรุ่นอาจเลือกทำผิดเพื่อเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ผู้ปกครองนอกจากนี้การสอนลูกให้รับมือกับสถานการณ์ที่หลากหลาย อย่างการเรียนรู้ที่จะปฏิเสธในสิ่งที่ไม่อยากทำ เช่น เมื่อเพื่อนชวนให้ลองสูบบุหรี่แทนการปฏิเสธอย่างตรงไปตรงมา ว่า “ไม่ล่ะ การสูบบุหรี่เป็นสิ่งไม่ดี” ซึ่งอาจทำให้เพื่อนโกรธ อาจสอนลูกให้บอกว่า “เราสูบไม่ได้เพราะทำให้โรคหอบกำเริบ” เป็นต้น
ขณะเดียวกันควรพูดคุยกับลูกถึงสถานการณ์คับขันหากลูกต้องการความช่วยเหลือเมื่อรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่ออยู่กับกลุ่มเพื่อนแต่ก็ไม่อยากรู้สึกเป็นลูกแหง่ที่โทรให้พ่อแม่มาช่วยคุณอาจนัดแนะคีย์เวิร์ดกับลูก เช่น เมื่อเพื่อนชวนทำเรื่องสุ่มเสี่ยงที่ลูกไม่อยากทำให้โทรหาพ่อแม่และบอกคีย์เวิร์ด เช่น “ยายไม่สบาย” หรือ “แม่รถเสีย” ที่ทำให้ลูกมีข้ออ้างออกจากสถานการณ์เหล่านั้นสุดท้ายแล้ว Peer Pressure อาจมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อการสร้างอัตลักษณ์ของวัยรุ่นแต่ย่อมอิทธิพลของเพื่อนนั้นมาทีหลังอิทธิพลจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่เพราะฉะนั้นสายสัมพันธ์ที่ดีจะเป็นภูมิคุ้มกันอิทธิพลเชิงลบจากเพื่อนที่มีต่อลูกวัยรุ่นได้
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
บทความใกล้เคียง
ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่นก็มีประโยชน์กับเรานะแง่มุมสำคัญของ Collaboration และตัวเรา
เปลี่ยนตัวเองให้ Productive ด้วยเทคนิคบริหารเวลา งานก็รุ่ง เรียนก็รอด
มาชวนลูกเรียนรู้กัน สุดยอด 5 เว็บฯ เรียนออนไลน์สำหรับลูกวัยประถมเรียนรู้ทักษะสุดคูลใหม่ ๆ
Related Courses
เกมจิตวิทยาค้นหาตัวตน
อยากรู้ตัวเองมากขึ้นไหม? มาเล่นเกมค้นหาตัวตนกัน! คอร์สออนไลน์สนุกๆ ที่จะพาคุณไปเจอตัวเองที่แท้จริง" ค้นพบความถนัด ศักยภ ...
5 เทคนิคเลคเชอร์ ให้จำได้ ทบทวนบทเรียนแบบง่ายๆ
อยากเกรด A ต้องทำยังไง? คอร์สนี้มีคำตอบกับ 5 เคล็ดลับ! สุดเจ๋ง ที่จะช่วยให้จดจำเนื้อหาได้ยาวนาน ทบทวนสนุก สมองปลอดโปร่ง ...
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ฝึกกันได้ในวัยรุ่น
ทักษะความคิดสร้างสรรค์เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตน้องๆ วัยรุ่นในปัจจุบันนี้ หากน้องๆ ได้รับการฝึกการคิดสร้างสรรค์ ตั้งแต่เ ...