Toxic Social Media ระวังสังคมออนไลน์เป็นภัยต่อใจลูก
การใช้เวลาว่างหมดไปกับโซเชียลมีเดียเลื่อนหน้าจอดูคลิปเป็นชั่วโมงๆ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ไปเสียแล้วสำหรับผู้ใหญ่นี่อาจเป็นการฆ่าเวลาและผ่อนคลายแต่สำหรับเด็กๆ และวัยรุ่นพ่อแม่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าการใช้โซเชียลมีเดียของลูกนั้นปลอดภัย
เนื้อหาหลายอย่างที่เผยแพร่บนโซเชียลมีเดียเป็นเนื้อหาที่ไม่อาจควบคุมได้ แม้ว่าระบบหลังบ้านของหลายๆ แพลตฟอร์มจะมีกฏข้อห้าม และให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยและการไม่ละเมิดสิทธิอย่างเต็มที่แต่อย่างที่ทุกคนเห็นๆ กันอยู่ว่า มีผู้ที่เจตนาร้ายแฝงอยู่ทุกที่ บางทีอาจไม่ได้มาในรูปแบบเนื้อหาแต่ปรากฏอยู่ในช่องแสดงความคิดเห็น
การดูแลบุตรหลานให้ปลอดภัยจากการใช้โซเชียลมีเดีย จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ยุคใหม่ต้องให้ความสำคัญเพราะหากปล่อยปละละเลยเนื้อหาที่เป็นพิษในโซเชียลมีเดียอาจส่งผลต่อจิตใจของลูกได้
Toxic Social Media คืออะไร
Social Media ในแง่หนึ่งก็ไม่ต่างจากหนังสือที่เราอ่านหรืออาหารที่เรากินเพราะข้อมูลที่รับรู้ผ่านสังคมออนไลน์ จะถูกประมวลสะสมไว้ในสมองของเราสิ่งที่เรากินสิ่งที่เรารับรู้ผ่านประสาทสัมผัส ตา หู จมูก ปาก ล้วนกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวเราไม่มากก็น้อย
ลองนึกถึงตอนที่ลูกได้กินอาหารจานโปรดรสชาติเอร็ดอร่อย เด็กๆ จึงกินอย่างรวดเร็วและมากมาย เมื่อกินมากเกินไป ย่อยไม่ทัน อาหารจึงกลายเป็นพิษในร่างกายทำให้ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย เจ็บป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล
การเสพสื่อโซเชียลมีเดีย ก็เช่นกัน หากมากเกินไป ไม่ผ่านการกลั่นกรองก็อาจกลายเป็นพิษต่อจิตใจ ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของข้อมูลในสังคมออนไลน์ที่อาจทำให้การใช้โซเชียลมีเดียกลายเป็นพิษได้
- รูปภาพหรือวิดีโอที่มีเนื้อหาความรุนแรง: ภาพอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต การต่อสู้ ใช้อาวุธ ไม่ว่าจะจากละคร ภาพยนตร์ หรือจากเหตุการณ์จริง
- พฤติกรรม Cyberbully: การส่งข้อความ แสดงความคิดเห็นเชิงลบ ดูถูก หรือข้อความข่มขู่ผู้อื่นผ่านโซเชียล มีเดีย เด็กที่เล่นเกมออนไลน์กับคนแปลกหน้า มักถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เล่นคนอื่น ซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นในตนเอง
- เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากไป: เด็กๆ อาจไม่ทันระวังเรื่องข้อมูลส่วนตัว และเปิดเผยข้อมูลที่อาจถูกนำไปใช้หาประโยชน์ได้ หรือแม้กระทั่งการส่งรูปภาพหรือข้อมูลต่างๆ ทางกล่องข้อความ ก็มีความเสี่ยงที่อาจถูกนำรูปภาพไปใช้ในทางที่ไม่ดี
ความ Toxic ของแต่ละแพลตฟอร์มที่พ่อแม่ต้องรู้ทัน
หากถามว่าโซเชียล มีเดีย มีเนื้อหาที่อาจเป็นพิษต่อจิตใจลูกไหม คำตอบขึ้นอยู่กับว่าเด็กแต่ละคนมีภูมิคุ้มกันทางใจเพียงใดและระยะเวลาการใช้โซเชียลมีเดียมากน้อยเพียงใด เพราะหากมีภูมิคุ้มกันทางใจน้อย ขาดความมั่นใจในตนเอง ผนวกกับใช้โซเชียลมีเดียแต่ละวันเป็นเวลานานๆ ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่เนื้อหาต่างๆ อาจทำร้ายลูกได้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
ก่อนที่จะอนุญาตให้ลูกมีบัญชีโซเชียลมีเดียของตัวเอง พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรทำความเข้าใจธรรมชาติของแต่ละแพลตฟอร์ม และความ Toxic ที่แต่ละแพลตฟอร์มอาจส่งผลต่อบุตรหลานได้
- Instagram (IG): เป็นแพลตฟอร์มแชร์รูปและคลิปวิดีโอสั้น ที่ได้รับความนิยมจากวัยรุ่นมากที่สุด ปัญหาคือภาพและวิดีโอที่แชร์นั้น มักผ่านการตกแต่งใส่ฟิลเตอร์จนดูสมบูรณ์แบบเกินจริง ภาพและวิดีโอบน IG มักเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข กับสถานที่สวยๆ ซึ่งหากเด็กๆ ไม่รู้เท่าทัน ก็อาจเปรียบเทียบกับชีวิตตนเอง และจนเสียความมั่นใจและอาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคซึมเศร้าได้
- Facebook (FB): คือโซเชียลมีเดีย ที่ถือกำเนิดขึ้นเป็นอันดับแรกๆ และได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงปี 2000 เรียกได้ว่าการเกิดขึ้นของ FB ได้ปฏิวัติการใช้สื่อดิจิทัลไปอย่างสิ้นเชิง และอาจพูดได้ว่าคนที่ใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนทุกคนต้องมีบัญชี FB อย่างน้อย 1 บัญชี ความ Toxic ที่อาจพบได้จากแพลตฟอร์มนี้ก็คือ ผู้ไม่ประสงค์ดีอาจสร้างบัญชีผู้ใช้ปลอม พูดคุยกับเด็กๆ สร้างความสนิทสนม และนำไปสู่การล่อลวง อีกด้านหนึ่ง FB เป็นแพลตฟอร์มที่มีการแชร์ข่าวและข้อมูลข่าวสารมากมาย แต่ข้อมูลไม่น้อยกลับเข้าข่าย Fake News หากเด็กๆ ขาดวิจารณญาณแยกแยะไม่ได้ ก็หลงเชื่อข้อมูลปลอมนำไปสู่การเข้าใจผิดสร้างความสับสนในสังคมหรือกระทั่งสร้างความเชื่อที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็กๆ ได้
- Tiktok: เป็นแพลตฟอร์มใหม่ล่าสุด ที่คาดว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นโซเชียล มีเดียที่ได้รับความนิยมนำหน้าแพลตฟอร์มก่อนหน้า โดยเนื้อหาในติ๊กต๊อกส่วนใหญ่คือคลิปวิดีโอสั้นๆ สิ่งที่อาจทำให้ติ๊กต๊อกเป็นแพลตฟอร์มที่ Toxic ต่อเยาวชนคือชาเลนจ์ต่างๆ ที่นิยมทำตามๆ กัน ซึ่งหากไม่ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมชาเลนจ์เหล่านั้นอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ที่ผ่านมา Blackout Challenge ที่ท้าให้รัดคอตนเองจนสำลักและหมดสติ ได้ทำให้วัยรุ่นอเมริกันเสียชีวิตมาแล้ว
- X หรือ Twitter: แม้จะเป็นแพลตฟอร์มที่เน้นแชร์เนื้อหาที่เป็นข้อความ แต่ก็อาจมีความ Toxic ไม่น้อยกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ มีรายงานว่า X เป็นแพลตฟอร์มที่มีสแปมมากที่สุด และยากที่จะหลีกเลี่ยง ผู้ใช้ X มักจะค้นเนื้อหาที่สนใจผ่านแฮชแท็ก ซึ่งหากสแปมหรือโฆษณาที่ไม่เหมาะสมติดแฮชแท็กดังกล่าว ก็จะทำให้ผู้ใช้ที่ค้นหาแฮชแท็กนั้นๆ พบเห็นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมได้
พ่อแม่ป้องกันลูกจาก Toxic Social Media ได้อย่างไร
โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางการสื่อสารของเด็กยุคใหม่ที่แทบจะขาดไม่ได้ข้อดีของแพลตฟอร์มต่างๆ คือ การฝึกให้ลูกสื่อสารกับคนอื่นๆ ผ่านหลายๆ ช่องทาง อีกทั้งยังเปิดโลกการเรียนรู้ได้อย่างไม่สิ้นสุดหากเลือกรับเนื้อหาอย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม เด็กๆ ที่ยังไม่มีวิจารณญาณหรือวัยรุ่นที่ต้องการการยอมรับหรือคล้อยตามเพื่อนได้ง่ายก็ยังจำเป็นที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูแลการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างใกล้ชิด
- ประเมินความพร้อมของลูก: แม้ว่าลูกจะมีอายุเกินเกณฑ์ที่โซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์มกำหนดแล้ว แต่ในฐานะพ่อแม่ที่รู้จักลูกดีที่สุด ก็น่าจะประเมินได้ว่าลูกเป็นผู้ใหญ่พอที่จะวิเคราะห์แยกแยะและใช้สื่อโซเชียลได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ หากยังไม่แน่ใจ อาจกำหนดระยะเวลาทดลองใช้
โซเชียลมีเดีย ระหว่าง 2 สัปดาห์ - 1 เดือน โดยพ่อแม่ควรสื่อสารสิ่งที่คาดหวังจากลูกในการใช้โซเชียลมีเดีย และบอกถึงผลลัพธ์หากลูกไม่สามารถทำตามกฏเกณฑ์ที่เหมาะสม
- ให้ความรู้: วัยรุ่นส่วนใหญ่รู้ว่า IG, Facebook หรือโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ คืออะไร แต่พวกเขาอาจไม่รู้ถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้น เพราะสิ่งเหล่านั้นมองไม่เห็นด้วยตา พ่อแม่จึงจำเป็นต้องให้ความรู้กับลูกล่วงหน้าก่อนที่จะอนุญาตให้ลูกมีบัญชีโซเชียลมีเดีย เช่น อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าโซเชียลมีเดีย ก็เหมือนกับสังคมจริงๆ เพราะฉะนั้นจึงมีทั้งคนที่เจตนาดีและเจตนาร้ายที่ลูกต้องประเมินและระมัดระวัง
- รู้ทัน FOMO: FOMO หรือ Fear of Missing Out คือภาวะกลัวตกข่าว กลัวตกเทรนด์ พบได้ในผู้ที่เสพติดโซเชียลมีเดีย ที่มักรีเฟรชหน้าจอบ่อยๆ เพื่อรออัพเดทข่าวสาร จนไม่อาจละสายตาจากจอสมาร์ทโฟน ส่งผลต่อการเรียน การทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อป้องกันภาวะ FOMO ผู้ใช้จำเป็นต้องมีทักษะการควบคุมตนเองพอสมควร หากพ่อแม่ยังไม่มั่นใจว่าเด็กๆ จะสามารถควบคุมตนเองได้หรือไม่ ควรให้ลูกปิดการแจ้งเตือนจากแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อไม่ให้การแจ้งเตือนเหล่านี้รบกวนสมาธิในการเรียน และดึงความสนใจของเด็กไปจากการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
- ใช้เครื่องมือ: แอปพลิเคชัน Kids360 เป็นแอปฯ ที่ช่วยให้ผู้ปกครองควบคุมการใช้หน้าจอของลูกได้ผ่านโทรศัพท์ของพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาเล่นเกม ไปจนถึงการใช้โซเชียลมีเดีย พ่อแม่ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า การใช้เครื่องมือควบคุมดูแลดังกล่าว ไม่ใช่เพราะพ่อแม่ไม่ไว้ใจลูก แต่บนโลกใบนี้มีคนที่ไม่หวังดีมากกว่าที่ลูกจะคาดคิดได้ การใช้เครื่องมือดังกล่าวเป็นไปเพื่อความปลอดภัยของลูกเอง หากลูกพิสูจน์ให้พ่อแม่เห็นว่าดูแลตนเองได้ และใช้โซเชียลมีเดียอย่างเหมาะสม พ่อแม่ก็พร้อมที่จะหยุดใช้แอปดังกล่าว เป็นต้น
การปกป้องลูกจากเนื้อหาที่เป็นพิษบนโซเชียลมีเดียเป็นงานที่ต้องใช้ความพยายามและทุ่มเทแต่หากวางแผนรับมืออย่างดีตั้งแต่เริ่มต้นทุกอย่างก็จะง่ายขึ้นพ่อแม่ควรตระหนักว่าการป้องกันย่อมดีกว่าแก้ไข เพราะฉะนั้นไม่มีคำว่าเสียเวลา หากการกระทำนั้นๆเป็นไปเพื่อความปลอดภัยของลูกยิ่งไปกว่านั้นการดูแลสภาพจิตใจ ความคิดและพฤติกรรมของลูก ไม่ให้โซเชียลมีเดีย มีอิทธิพลควบคุมลูก ไม่เพียงส่งผลดีต่อลูกของเราแต่ยังเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมในเมื่อลูกต้องเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองของโลกการดูแลและเตรียมพร้อมให้มั่นใจว่าลูกมีภูมิคุ้มกันทางใจที่จะไม่สร้างปัญหาให้สังคมก็ถือเป็นหนึ่งพันธกิจที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญ
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
Related Courses
เริ่มต้นทำ Visual Note อย่างง่ายใครๆ ก็ทำได้
หากคุณเป็นคนชอบวาดรูป ชอบการขีดเขียน หรือการจดบันทึก อยากลองทำ Visual Note แต่ไม่รู้จะสื่อสารออกมาอย่างไรดี คอร์สเ ...
เริ่มต้นทำ Visual Note อย่างง่ายใครๆ ก็ทำได้
ต้องใช้ 50 เหรียญ
Micro Learning เทคนิคการจัดการเรียนการสอน 1
คุณภาพของผู้เรียนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในตัวผู้เรียนเอง แล้วกระบวนการเรียนการสอนที่ครู จัดให้เป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัม ...
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอการเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ การปฐมพยา ...