สังเกตสภาวะอารมณ์วัยรุ่น แบบไหนโอเคแบบไหนต้องดูแล
วัยรุ่นกับสภาพอารมณ์ที่แปรปรวนอาจเป็นสองสิ่งที่มาคู่กัน ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเกิดความสับสนและไม่อาจแยกแยะได้ว่าสภาพอารมณ์แบบใดเป็นเรื่องปกติตามวัย และสภาพอารมณ์แบบใดคือสัญญาณว่าลูกต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษการที่คนส่วนใหญ่มองว่าอารมณ์หงุดหงิดง่าย ขี้รำคาญ ชอบปลีกตัว เป็นเรื่องปกติของวัยรุ่นทำให้การสังเกตสภาวะอารมณ์ที่ผิดปกติในวัยรุ่นทำได้ยากหากพ่อแม่ไม่ได้สนิทสนมใกล้ชิดลูกอย่างสม่ำเสมอ ก็อาจไม่ทันสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงข้อมูลจาก pinerest.org ระบุว่า 11% ของวัยรุ่นมีภาวะซึมเศร้าแต่ในจำนวนนี้มีเพียง 5% ที่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมเมื่อเป็นเช่นนี้มีสัญญาณอะไรบ้างที่พ่อแม่ควรรู้เพื่อช่วยประคับประคองสภาพจิตใจของลูกได้อย่างเหมาะสมบทความนี้ StarfishLabz มีคำแนะนำเรื่องสภาพอารมณ์ของวัยรุ่นมาให้เป็นแนวทางให้พ่อแม่ผู้ปกครองทำความเข้าใจเพื่อสังเกตความปกติทางอารมณ์ของลูก
วัยรุ่นขี้รำคาญเป็นกระบวนการหนึ่งของการแยกตัว
เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ลูกจะค่อยๆ แยกตัวออกห่างจากพ่อแม่ผู้ปกครองซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในกระบวนการนี้พ่อแม่พบว่าลูกมักจะหงุดหงิด ขี้รำคาญ โดยเฉพาะหากพ่อแม่เข้าไปยุ่งกับชีวิตส่วนตัวของลูกมากเกินไป ซึ่งพ่อแม่อาจไม่สบายใจที่ลูกตีตัวออกห่างและอาจกังวลว่านี่เป็นสัญญาณของสภาวะทางอารมณ์ที่ต้องได้รับการแก้ไขในความเป็นจริงแล้ว อาการขี้รำคาญ หงุดหงิด โมโหง่ายเมื่อพ่อแม่เข้าเซ้าซี้ หรือให้ความสนใจเรื่องส่วนตัวลูกมากเกินไป เป็นพฤติกรรมปกติ ตราบเท่าที่ลูกยังคงใช้เวลาว่างกับครอบครัวพูดคุยหยอกล้อทำกิจกรรมร่วมกันและลูกยังคงสังสรรค์กับเพื่อนๆ มีสังคมไม่เก็บตัวอยู่ลำพังนานเกินไปอาการที่เป็นสัญญาณเตือนว่าความหงุดหงิดนี้ควรได้รับการดูแลคือเมื่อระดับอารมณ์เปลี่ยนจากความรำคาญเป็นความโกรธ กราดเกรี้ยว หรือกระทั่งโศกเศร้าอย่างต่อเนื่อง ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้รวมทั้งปลีกตัวจากครอบครัวและเพื่อนฝูง
วัยรุ่นชอบดราม่า
ดีใจสุดขั้นเสียใจสุดขีด คือ สภาพอารมณ์ที่พบได้ทั่วไปในวัยรุ่น เพราะเป็นวัยที่ฮอร์โมนกำลังเปลี่ยนแปลงผนวกกับเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้การควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกใดๆ ที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นจึงเหมือนว่าจะรุนแรงกว่าวัยอื่นๆ เสมอเรียกว่าเข้าขั้นดราม่าก็คงไม่ผิดนักหากอาการดีใจ เสียใจของวัยรุ่น เกี่ยวข้องกับสถานการณ์หนึ่งๆ เช่น เสียใจที่ทำคะแนนได้ไม่ดี จนซึมไป 2-3 วัน หรือ ได้รับของขวัญจากคนที่แอบชอบทำให้ดีใจเห่อของใหม่เป็นสัปดาห์อาการเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติ อาการที่เป็นสัญญาณว่าลูกอาจมีปัญหาสภาวะอารมณ์ คือ ความเสียใจ กังวล ไม่ลดน้อยลงแต่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เศร้า เหม่อลอยจนเรียนไม่รู้เรื่องใครพูดอะไรก็ไม่สนใจซึ่งพ่อแม่อาจใช้หลักเกณฑ์ประเมินอารมณ์ 3 ระดับดังนี้
Mild สภาพอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงแบบ “มาแล้วก็ไป” โดยไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
Moderate สภาพอารมณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันบางส่วน เช่น ทำให้ขาดสมาธิเรียนหนังสือ, เก็บตัวไม่พูดคุยกับใครหรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในเชิงลบ อาจเป็นสัญญาณที่ต้องเฝ้าระวัง
Serious สภาพอารมณ์ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ถึงขั้นไม่ยอมลุกออกจากเตียงไม่ออกจากห้องร้องไห้โดยไม่มีเหตุผลอยากทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายผู้อื่นพ่อแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ ระยะเวลาที่ลูกมีพฤติกรรมเชิงลบหรือปลีกตัวหากต่อเนื่องเกินกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไปถือเป็นสัญญาณว่าลูกควรได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ
อาการอื่นๆ ที่อาจเป็นสัญญาณของสภาวะอารมณ์ผิดปกติ
ความกังวล โศกเศร้า ของวัยรุ่นบางครั้งก็ไม่ได้แสดงออกด้วยการร้องไห้เสียน้ำตาแต่อาจมีอาการ อื่นๆ ที่พ่อแม่สังเกตได้ ดังนี้
- อาการหงุดหงิดหรือโกรธที่แสดงออกในรูปแบบพฤติกรรมท้าทาย
- เมื่อมีอารมณ์เชิงลบไม่สามารถปรับอารมณ์ตัวเองให้กลับมาสู่สภาวะปกติได้
- ปลีกตัวจากเพื่อนและครอบครัว
- กินมากหรือน้อยกว่าปกติ
- มีปัญหาการนอน นอนไม่หลับ นอนไม่พอ
- บ่นหรือแสดงอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง นอนเท่าไรก็ไม่หายเพลีย
- ปวดหัว ปวดท้อง โดยไม่ทราบสาเหตุ
- ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชื่นชอบ
- ไม่มีสมาธิ หลงๆ ลืมๆ
- ไม่ดูแลตนเอง ไม่สนใจภาพลักษณ์
คุยกับวัยรุ่นเรื่องสภาพอารมณ์
สาเหตุของพฤติกรรมหรืออาการต่างๆ ข้างต้นอาจเกิดได้จากหลายปัจจัยและบางครั้งก็อาจไม่ได้บ่งบอกถึงปัญหาทางอารมณ์ของวัยรุ่นเสมอไปอย่างไรก็ตามหากพบว่าลูกมีอาการหลายข้อร่วมกันและกินระยะเวลาเกินกว่า 2 สัปดาห์ยังไม่ดีขึ้น พ่อแม่ควรชวนลูกพูดคุยซึ่งในการคุยเรื่องสภาพอารมณ์กับวัยรุ่น สิ่งที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญ คือ
- ควบคุมอารมณ์ตนเองสื่อสารอย่างสงบ และเตรียมพร้อมเปิดใจรับฟัง
- อย่ายึดมั่นว่าคำตอบของพ่อแม่คือคำตอบที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว
- หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “ไม่เคย” และ “เสมอ” เช่น “พ่อไม่เคยเข้าใจลูก” หรือ
- “ลูกเถียงแม่เสมอๆ”
- หลีกเลี่ยงการประชดประชัน, การขู่ และการตะโกน ตะคอกใส่กัน
- อย่าโจมตีที่ตัวบุคคล เช่น “เพราะลูกไม่เคยฟัง” หรือ “ลูกโกรธง่ายเสมอเลย”
- ใช้ I Message ขึ้นต้นประโยคด้วยคำแทนตัวเอง เช่น แทนการบอกว่าลูกไม่เคยฟัง เปลี่ยนเป็น “แม่คิดว่าลูกไม่ค่อยฟังแม่” หรือ แทนการบอกว่าลูกโกรธง่าย เปลี่ยนเป็น
- “พ่อรู้สึกว่าลูกโกรธง่าย พ่ออยากรู้ว่าเพราะอะไรและพ่อช่วยอะไรได้บ้าง”
- ร่วมมือกับลูก ช่วยกันหาทางออกที่หลากหลาย โดยไม่ต้องคาดหวังผลลัพธ์ที่เจาะจง
- ย้ำเตือนและแสดงให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่พร้อมสนับสนุนช่วยเหลือ และลูกไม่ได้อยู่เพียงลำพัง
สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะในฐานะพ่อแม่หรือลูกก็อาจรู้สึกว่าช่วง “วัยรุ่น” เป็นเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านที่ยากลำบากเพราะความเปลี่ยนแปลงหลายด้านก็เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทำให้ยากที่จะชี้ชัดได้ว่าพฤติกรรมแบบใดปกติและแบบใดที่ต้องดูแล สำหรับพ่อแม่แล้วการเชื่อสัญชาตญาณตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญเพราะคุณรู้จักลูกดีที่สุดหากรู้สึกไม่ชอบมาพากลการถามคำถามชวนลูกพูดคุยรับฟังก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการช่วยลูกรับมือความเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาต้องเผชิญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
Related Courses
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
วัยทีนยุคใหม่ จัดการเวลายังไงให้สมดุล
ในยุคดิจิทัลที่เต็มไปด้วยสิ่งล่อตาล่อใจ ทั้งโซเชียลมีเดีย การเรียน กิจกรรมต่าง ๆ และการใช้ชีวิตส่วนตัว การจัดการเวลาจึงเป็นทั ...
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...