วัยรุ่นกับ ADHD พ่อแม่ควรรู้อะไรบ้าง
ADHD หรือ Attention Deficit / Hyperactivity Disoder หรือที่รู้จักกันในภาษาไทยว่าสมาธิสั้น เป็นภาวะความผิดปกติในระบบประสาทพัฒนาการที่หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่
โดยเฉพาะวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางพัฒนาการด้านต่างๆ ไม่ว่าจะอารมณ์ สังคม รวมถึงฮอร์โมน ภาวะ ADHD ในวัยรุ่นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจ ไม่น้อยไปกว่าการดูแลรักษาในวัยเด็ก บทความนี้ StarFish Labz มีคำแนะนำสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง ในการดูแลลูกวัยรุ่นที่มีภาวะ ADHD
ADHD คืออะไร
ADHD หรือที่เรียกกันว่าโรคสมาธิสั้นนั้น เป็นภาวะที่เกิดจากสมองส่วนหน้า ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมสมาธิและพฤติกรรมมีการทำงานลดลง เป็นผลให้มีพฤติกรรมซุกซน อยู่ไม่นิ่ง และขาดสมาธิ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งอาจเกิดจากพันธุกรรม โดยมีการศึกษาพบว่าโรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ถึง 75% นอกจากนี้ยังพบว่ามารดาที่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าขณะตั้งครรภ์ เพิ่มความเสี่ยงให้ลูกที่คลอดออกมามีภาวะสมาธิสั้นได้ หรือเด็กที่คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกคลอดน้อย ก็มีความเสี่ยงภาวะสมาธิสั้นเช่นกัน
โดยทั่วไปอาการสมาธิสั้นมักจะแสดงให้เห็นได้ก่อนอายุ 12 ปี ซึ่งหากได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นก็อาจไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่หากเพิ่งสงสัยว่าลูกวัยรุ่นอาจเผชิญกับภาวะ ADHD อาจลองสังเกตสัญญาณต่อไปนี้ ซึ่งภาวะ ADHD ในวัยรุ่น อาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มอาการ คือ
ขาดสมาธิจดจ่อ (Inattentive) อาการที่พบบ่อย ได้แก่
- ถูกรบกวนจากสิ่งเร้าได้ง่าย วอกแวก ขาดสมาธิจดจ่อ
- มีปัญหาการเริ่มลงมือทำงาน ผัดวันประกันพรุ่ง ดูเหมือนคนไม่มีความรับผิดชอบ
- หลงลืม จัดการตัวเองไม่ได้ เช่น ลืมการบ้าน ทำงานไม่เสร็จตามเวลา
- ปัญหาจัดลำดับความสำคัญ ไม่สามารถวางจัดลำดับสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ ทำให้ชีวิตประจำวันยุ่งเหยิง ผิดพลาด ผิดนัด ไม่ตรงต่อเวลา
- ขาดทักษะการฟังที่ดี
ใจร้อน ไม่ชอบอยู่นิ่ง (Hyperactivity-Impulsivity) อาการที่พบบ่อย ได้แก่
- ไม่รอบคอบ หุนหันพลันแล่น ทำอะไรโดยไม่คำนึงถึงผลที่ตามมา
- หงุดหงิดง่าย ชอบระเบิดอารมณ์ ความอดทนต่ำ ควบคุมอารมณ์ตนเองได้ไม่ดี
- ขี้เบื่อ ไม่ชอบการรอคอย เมื่อต้องนั่งในห้องเรียนมักหงุดหงิด กระสับกระส่าย จนเรียนไม่รู้เรื่อง
- มีปัญหาความสัมพันธ์ จากการที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้
เข้าใจ ADHD ในวัยรุ่น
การแสดงออกของอาการ ADHD ในวัยรุ่นอาจแตกต่างไปจากวัยเด็ก คือ ความซุกซนอยู่ไม่เฉยที่พบได้ในวัยเด็กอาจเปลี่ยนเป็นปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์ เมื่อวัยรุ่นต้องเข้าสังคมมากกว่าวัยเด็กพบเจอผู้คนมากขึ้น ผนวกกับฮอร์โมนตามวัย ความหุนหันพลันแล่น ใจร้อน ก็อาจแสดงออกมากกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน สำหรับกลุ่มที่มีอาการขาดสมาธิ หากไม่สังเกตให้ดี ก็อาจไม่พบความผิดปกติ พ่อแม่ผู้ปกครองมักคิดว่าลูกเป็นคนขี้ลืม ประมาท เลินเล่อ แต่จริงๆ แล้วอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะสมาธิสั้น ที่หากไม่ได้รับการดูแลรักษาภาวะ ADHD อย่างเหมาะสมอาจส่งผลกระทบต่อวัยรุ่นหลายด้านไม่ว่าจะเป็น
- ด้านการเรียน: วัยรุ่นที่มีภาวะ ADHD มักประสบปัญหาการบริหารเวลา จัดลำดับความสำคัญ และมีปัญหาการทำตามคำสั่งเพื่อให้สำเร็จ จนส่งผลกระทบต่อผลการเรียน
- ด้านสังคม: ไม่ว่าจะกลุ่มอาการขาดสมาธิ หรือ กลุ่มอาการหุนหันพลันแล่น มีแนวโน้มจะถูกละเลยหรือถูกปฏิเสธไม่ยอมรับจากเพื่อนๆ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะถูกบูลลี่ หรือในทางกลับกันคือเป็นผู้บูลลี่คนอื่น ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไร สาเหตุมาจากปัญหาการสื่อสารของผู้ที่มีภาวะ ADHD ที่ขาดทักษะการฟัง จับใจความสำคัญไม่ได้ มีปัญหาเรื่องการอ่านอวัจนภาษาของคู่สนทนา และมีปัญหาการควบคุมอารมณ์นั่นเอง
- ด้านอารมณ์: วัยรุ่นมักต้องเผชิญกับปัญหาทางอารมณ์มากมาย แต่สำหรับวัยรุ่นที่มีภาวะ ADHD นั้นปัญหาทางอารมณ์อาจรุนแรงทวีคูณ พวกเขาอาจมีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ มากกว่าปกติ ยิ่งกลุ่มอาการหุนหันพลันแล่น อาจรับมือกับความคับข้องใจได้ยาก ส่งผลกระทบทั้งต่อตนเองและคนใกล้ตัว
พ่อแม่ช่วยได้ วัยรุ่นกับ ADHD
หน้าที่ของพ่อแม่ประการแรกคือต้องเข้าใจและยอมรับตัวตนของลูกเพื่อช่วยให้เขาก้าวข้ามอุปสรรคในช่วงวัยนี้ไปให้ได้ พ่อแม่ผู้ปกครองควรปรับวิธีการสื่อสารกับลูก ADHD เช่น ช่วยกระตุ้นเตือนในเรื่องที่สำคัญหรือหากอธิบายอะไรแล้ว ลองให้ลูกพูดทวนหรือให้ลูกจดใส่กระดาษป้องกันการลืมหรือเข้าใจผิดและอาจใช้วิธีต่างๆ ต่อไปนี้เพื่อช่วยลูก ADHD
- พาลูกพบจิตแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำซึ่งจิตแพทย์จะช่วยประเมินวิธีการบำบัดรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละรายได้
- แจ้งครูประจำชั้น หากมั่นใจแล้วว่าลูกมีภาวะ ADHD ควรแจ้งครูประจำชั้น เพื่อทำความเข้าใจและหาทางออกร่วมกันครูอาจช่วยดูแลเป็นพิเศษ มีคลาสทบทวนหลังเลิกเรียนเพื่อให้มั่นใจว่าลูกเข้าใจบทเรียนอย่างถูกต้อง
- ปรับพฤติกรรม หากในครอบครัวไม่ได้กำหนดกิจวัตรประจำวันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เมื่อพบว่าลูกมีภาวะ ADHD การจัดตารางกิจวัตรจะช่วยให้ลูกบริหารเวลาและจัดการตัวเองได้ง่ายขึ้น เช่น กำหนดเวลาตื่นนอน ออกจากบ้าน กลับมาบ้าน ต้องอาบน้ำก่อน กินอาหารเย็น ทำการบ้าน และพักผ่อน ทำตามลำดับขั้นเช่นนี้เป็นประจำ ก็จะช่วยให้ลูกคุ้นเคยและบริหารเวลาได้ดีขึ้น
- สอนลูกควบคุมอารมณ์ด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกกำหนดลมหายใจ นับเลขในใจเมื่อรู้สึกโกรธสอนเรื่องผลจากการกระทำหากคิดไม่ถี่ถ้วนสิ่งเหล่านี้อาจต้องค่อยเป็นค่อยไปและพ่อแม่คือตัวอย่างที่ดีที่สุด
- ลดการใช้หน้าจอต่างๆ แสงสีจากหน้าจออาจกระตุ้นให้อาการสมาธิสั้นรุนแรงกว่าเดิม ควรกำหนดเวลาใช้หน้าจอสำหรับวัยรุ่นอย่างน้อยควรงดหน้าจอก่อนนอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง และหาเวลาไปทำกิจกรรมภายนอก เช่น วิ่ง ขี่จักรยาน เดินเล่น ฯลฯ
แม้ว่าการดูแลลูกวัยรุ่นที่มีภาวะ ADHD จะเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับพ่อแม่ แต่ด้วยความรู้ ความเข้าใจและกลยุทธ์ต่างๆ ที่เหมาะสมพ่อแม่ก็จะสามารถช่วยสนับสนุนพัฒนาการโดยรวมให้ลูกเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพอย่าลืมว่า ความอดทนความเข้าใจไม่มองว่าลูกเป็นปัญหาและยอมรับในตัวตนของลูกจะเป็นภูมิคุ้มกันทางใจช่วยให้วัยรุ่นก้าวข้ามและรับมือภาวะ ADHD ของตนเองและใช้ชีวิตร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
บทความใกล้เคียง
Related Courses
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
สอนคุณธรรมให้ลูก พ่อแม่ก็ทำได้
คุณธรรมเป็นพื้นฐานทางจิตใจ นำไปสู่การกระทำที่ดีและถูกต้อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างให้เด็กพร้อมที่จะเผชิญโลก และสังคมปัจจุ ...