การสร้างสถานการณ์จำลองเพื่อการจัดการเรียนรู้แบบ Problem based
เมื่อการศึกษาได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว การจัดการเรียนรู้ย่อมเปลี่ยนแปลงตาม ส่งผลให้ความรู้หรือทักษะเดิมที่มีอาจไม่เพียงพอ การสร้างการใฝ่รู้หรือแรงบันดาลใจให้กับเด็กผ่านเทคนิค กระบวนการ วิธีการ ทักษะใหม่ ๆ ที่เหมาะสมและตอบโจทย์จุดประสงค์จึงเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นเรื่องท้าทายต่อการเรียนรู้ ปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน โดยใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning : PBL) ถือได้ว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้หนึ่งที่จำเป็นในอนาคต
การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เริ่มต้นด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นจริงหรือสถานการณ์ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริงของผู้เรียน อาจเป็นเรื่องที่ผู้เรียนสนใจหรือมีความหมายกับผู้เรียนที่สามารถนำมาสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ ทั้งนี้ การเรียนรู้ด้วย PBL ได้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ ฝึกทักษะการคิด การเผชิญสถานการณ์ปัญหา การวางแผน และการสรุปผล ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิด การแก้ปัญหา โดยครูผู้สอนเป็นผู้ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ และสนับสนุนในการเรียนให้กับผู้เรียนอีกด้วย
สำหรับกระบวนการของ Problem Based Learning ประกอบด้วย 6 ขั้นตอนดังนี้
1.กำหนดปัญหา เป็นการระบุถึงปัญหาที่พบหรือการสร้างสถานการณ์ที่เป็นปัญหาซึ่งอาจเกิดจากการสะท้อนปัญหาจากเรื่องรอบตัวของนักเรียนเอง หรือเป็นปัญหาของคนอื่น/สังคมที่เกิดขึ้นพบเห็นในชีวิตจริงหรือมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้จริง จากการระดมสมองของนักเรียนหรือครูเป็นผู้กำหนดปัญหาจากสิ่งที่นักเรียนสนใจและตรวจสอบความเหมาะสมของปัญหาที่นักเรียนเป็นผู้กำหนดขึ้นมา
2.ศึกษาปัญหา เป็นการวิเคราะห์ปัญหาที่พบ/สิ่งที่ต้องการศึกษาการระบุประเด็น/ปัจจัยอะไรที่เกี่ยวข้องกับปัญหาศึกษาข้อมูลและผลที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับปัญหาที่ต้องการศึกษาโดยครูอาจเป็นผู้แนะนำแหล่งข้อมูล เช่น หนังสือ ตำรา บทความวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหา เป็นต้น แนะนำวิธีการในการค้นหาข้อมูล การสำรวจ
การทดลองเบื้องต้น การเก็บข้อมูลให้กับนักเรียนรวมไปถึงกระตุ้นและตั้งคำถามในสิ่งที่นักเรียนอาจจะนึกไปไม่ถึง
3.เลือกเครื่องมือ เป็นการเลือกใช้เครื่องมือให้มีความสอดคล้องกับปัญหาที่พบโดยนักเรียนจะต้องบอกรายละเอียดของเครื่องมือที่จะใช้มีอะไรบ้างและแต่ละเครื่องมือมีความสามารถและข้อจำกัดอย่างไร ทั้งนี้ ครูอาจจะดูความเป็นไปของเครื่องมือที่นักเรียนจะใช้ในการแก้ปัญหา ตรวจสอบความเหมาะสมของเครื่องมือและแนะนำเครื่องมือที่นักเรียนสามารถใช้ได้
4.วางแผน แผนที่ดีควรจะอิงอยู่กับสภาพจริงของปัญหา สามารถนำไปใช้ได้จริง มีความรัดกุมแต่ยืดหยุ่นและอยู่บนฐานของความรู้ที่อธิบายได้
5.ลองนำไปใช้ เป็นการสร้างแบบจำลองหรือต้นแบบขึ้นมาเพื่อทดลองนำไปใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์จริง ซึ่งในกระบวนการวางแผนและลองนำไปใช้ ครูจะต้องชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการวางแผน กระตุ้นนักเรียนให้เกิดการถกเถียงถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของแผน ตรวจสอบความเหมาะสมของแผนที่นักเรียนจะนำเสนอ และช่วยนักเรียนในการวางแผน รวมถึงกระตุ้นให้นักเรียนสังเกตผลจากการนำไปใช้ให้รอบด้าน
6. ประเมินผล ครูผู้สอนและนักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับจุดอ่อนและจุดแข็งของวิธีการแก้ปัญหาที่นำเสนอ สรุปผลความรู้ที่ได้จากการแก้ปัญหาและนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนา และข้อเสนอแนะอื่นเพิ่มเติม
เห็นได้ว่า การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการพัฒนากระบวนการคิดการทำงานกลุ่มการนำเสนอและเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนรู้ในชีวิตจริง ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดความสนใจอันนำไปสู่แรงจูงใจและการเห็นประโยชน์ของความรู้ในเนื้อวิชานั้น ๆ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผู้เรียนรู้สึกได้ถึงความมีคุณค่าในองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริงอีกด้วย
บทความใกล้เคียง
Related Courses
คู่มือการสอนนวัตกรรม 3R ฉบับบ้านปลาดาว
คงจะดีถ้าการอ่านออกเขียนได้ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป นวัตกรรม3R โรงเรียนบ้านปลาดาว ได้ออกแบบชุดการสอนที่ง่ายและเกิดผล ...
Micro Learning เทคนิคการจัดการเรียนการสอน 1
คุณภาพของผู้เรียนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในตัวผู้เรียนเอง แล้วกระบวนการเรียนการสอนที่ครู จัดให้เป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัม ...
การสอนภาษาไทย (3R)
การสอนภาษาไทยของมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมได้ออกแบบมาเพื่อพัฒนาทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน อย่างเป็นระบบเข้าใจง่ ...
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...