'Mentality' สำคัญแค่ไหน? สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ใหม่ เพื่อการศึกษาไทยในอนาคต
สำหรับการศึกษาไทยในอนาคตและการเรียนการสอนที่ดีแล้ว นอกเหนือจากการพิจารณาถึงเนื้อหา หลักสูตร หรือองค์ประกอบทางด้านวิชาการที่สำคัญสำหรับเด็กๆ อีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญก็คือ สภาพแวดล้อมทางจิตภาพ (Psychological Environment) หรือที่เราอาจใช้คำเรียกอย่างง่ายๆ สั้นๆ ในภาษาอังกฤษว่า Mentality นั่นเองค่ะ
Mentality หรือ Psychological Environment ในการเรียนรู้ถือเป็นทุกสิ่งทุกอย่างเลยก็ว่าได้ในการสร้างห้องเรียนและรูปแบบการเรียนรู้ที่ดี รวมถึงการพัฒนาการศึกษาไทยในอนาคต แต่เจ้าองค์ประกอบแสนสำคัญนี้คืออะไรกันนะ สำคัญอย่างไร และคุณครูสามารถเริ่มสร้างห้องเรียนที่มีสภาพแวดล้อมทางจิตภาพที่ดีอย่างไรได้บ้าง ในบทความนี้ Starfish Labz ขอทำหน้าที่พาคุณครูมาเรียนรู้กันค่ะ
สภาพแวดล้อมทางจิตภาพ (Psychological Environment) คืออะไร
สิ่งแวดล้อมหรือสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ หมายถึงสภาวะต่างๆ ที่มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ หรือผู้เรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม และหนึ่งในสภาพแวดล้อมที่มีความสำคัญก็คือสภาพแวดล้อมทางจิตภาพ หรือ Psychological Environment นั่นเองค่ะ
ในโมเดลการเรียนรู้รูปแบบเดิมหรือที่เราเรียนรู้กัน คุณครูอาจมักคุ้นเคยกับการแบ่งสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ออกเป็น 3 แบบคือ
1.สภาพแวดล้อมทางกายภาพ หรือสภาพแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ อาคารสถานที่ โต๊ะ เก้าอี้ สื่อ อุปกรณ์การสอนต่างๆ รวมทั้งสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ตามธรรมชาติได้แก่ ต้นไม้ พืช ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ เป็นต้น สภาพแวดล้อมทางการเรียนด้านกายภาพ จะส่งผลต่อการเรียนการสอน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน สามารถแบ่งออกเป็น
1.1 สภาพแวดล้อมภายในห้องเรียน ประกอบด้วยห้องเรียนและอุปกรณ์การเรียนต่างๆ แสงสว่าง สี เสียง อุณหภูมิ เป็นต้น
1.2 สภาพแวดล้อมภายนอกห้องเรียน ได้แก่ แหล่งความรู้ต่างๆ เช่น แหล่งวิทยบริการ ห้องปฏิบัติการ ห้องทดลอง โรงฝึกงาน ห้องสมุด ศูนย์วัฒนธรรมต่างๆ
2.สภาพแวดล้อมทางจิตภาพ หรือสภาพแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อความรู้สึกจิตใจ เจตคติของนักเรียน ที่มีต่อการเรียนการสอน แบ่งออกเป็นองค์ประกอบสำคัญใหญ่ ๆ 2 องค์ประกอบคือ
2.1 องค์ประกอบทางด้านจิตภาพของนักเรียน ได้แก่ องค์ประกอบทางด้านจิตภาพของเด็กๆ อาทิ นิสัยหลัก (Core Personality), ความชอบส่วนตัว, ความสนใจส่วนตัว เป็นต้น
2.2 องค์ประกอบทางด้านจิตภาพของผู้สอน ได้แก่ องค์ประกอบทางด้านจิตภาพของคุณครู อาทิ นิสัยหลัก (Core Personality), บุคลิกภาพและพฤติกรรมของคุณครู, ความรู้และประสบการณ์ รวมไปจนถึงเทคนิคการสอน และ
3.สภาพแวดล้อมทางสังคม ได้แก่สภาพแวดล้อมที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล องค์ประกอบของสภาพแวดล้อมทางการเรียนด้านสังคม เช่น
3.1 การสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน
3.2 การสร้างแรงจูงใจ
3.3 ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน
3.4 ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน
แต่ในโมเดลการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ Starfish Labz อยากนำเสนอก็คือการมองให้เรื่องสภาพแวดล้อมทางจิตภาพมีลักษณะของความเป็นองค์รวม (holistic) ไม่จำเป็นต้องจัดให้อยู่ในกลุ่ม รูปแบบ หรือหมวดใดหมวดหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง แต่เป็นศาสตร์ความรู้ทางด้านจิตวิทยาในการสร้างห้องเรียนในทางบวกและมีคุณค่าอย่างเป็นองค์รวมนั่นเองค่ะ
เมื่อเรามองสภาพแวดล้อมทางจิตภาพอย่างเป็นองค์รวม สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมนี้จึงไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ตัวบุคคลหรือเพียงแค่คุณครู แต่ยังรวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ทางด้านกายภาพก็ยังสามารถรวมอยู่ในการสร้างสภาพแวดล้อมทางจิตภาพที่ดีได้ ห้องเรียนที่สะอาดสามารถช่วยทำให้เด็กๆ รู้สึกดี ความสวยงามและสีสันที่สว่างสดใสของห้องเรียนช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ รวมไปจนถึงเทคนิคการสอนบนพื้นฐานความรู้ทางจิตวิทยาต่างๆ เช่น การเรียนการสอนเชิงบวกก็ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คุณครูสามารถเสริมได้ในการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ทางจิตภาพที่ดีให้กับเด็กๆ
ในเชิงองค์รวม สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ทางจิตภาพจึงหมายถึงการออกแบบการเรียนการสอนในแง่มุมใดๆ ก็ตามที่มีการคำนึงถึงแง่มุมทางจิตวิทยา ตั้งแต่ทางกายภาพ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กๆ และจนถึงเทคนิคการสอนเชิงบวกสุดคูลใหม่ๆ ต่างๆ นั่นเองค่ะ
สภาพแวดล้อมทางจิตภาพและจิตวิทยาเชิงบวก หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่การศึกษาไทยในอนาคตที่ดี
ตัวอย่างหนึ่งของการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ทางจิตภาพที่ดีก็คือการบูรณาการเอาความรู้ทางด้านจิตวิทยาเชิงบวกมาใช้ในการเรียนการสอน ลดการทำโทษ ลดการตำหนิ เปลี่ยนเป็นการผลักดัน ให้กำลังใจ และเข้าใจความรู้สึกที่แท้จริงของเด็กๆ คุณครูช่วยสร้างแรงจูงใจจากภายในทางบวกให้กับเด็กๆ ผ่านลักษณะการเรียนการสอนในแง่มุมต่างๆ ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมทางด้านจิตใจของตนเอง การสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กๆ จนถึงการใช้เทคนิคหรือเครื่องมือการสอน (EdTech) ที่น่าสนใจ อย่างการเรียนรู้ในรูปแบบเกม (Gamification) เป็นต้น
การให้ความสำคัญกับองค์ประกอบทางด้านจิตใจยังถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างการศึกษาไทยในอนาคตที่ดีในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งจะมีคุณประโยชน์ไม่เพียงต่อเด็กๆ แต่ยังรวมถึงคุณครู เมื่อคุณครูรู้สึกดี มีความสุขในการสอน มีโอกาสได้ทดลองใช้แง่มุมเชิงบวกในการสอน การสอนก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าเบื่อหรือเครียดอีกต่อไป แต่กลายเป็นเรื่องที่สนุก น่าสนใจ และช่วยลดเรื่องความกดดันของคุณครูนั่นเองค่ะ
3 เคล็ดลับง่ายๆ เริ่มออกแบบสภาพแวดล้อมทางจิตภาพที่ใช่สำหรับเรา
การเริ่มสร้างห้องเรียนที่มีสภาพแวดล้อมทางจิตใจที่ดีอาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องยากเรื่องใหญ่ แต่ความจริงแล้ว คุณครูสามารถเริ่มได้อย่างง่ายๆ ด้วย 3 เคล็ดลับนี้
1.เริ่มจากจุดง่ายๆ ทีละเล็กทีละน้อย
การสร้างและออกแบบสภาพแวดล้อมทางจิตภาพที่ดีมีหลากหลายแง่มุมมากที่คุณครูสามารถหยิบจับมาออกแบบ ทางกายภาพ ทางการสอน จนถึงบุคลิกภาพหรือส่วนบุคคล เคล็ดลับคือการเริ่มจากจุดง่ายๆ จากสิ่งที่คุณครูอยากลองเสริมก่อน เช่น การฝึกใช้เทคนิคการสอนเชิงบวกใหม่ๆ แล้วค่อยต่อไปยังเรื่องอื่นๆ ที่อาจจะยังไม่ถนัด
2. ค้นหาเครื่องมือหรือชุดความรู้ที่ใช่สำหรับเรา
ความรู้ทางด้านจิตวิทยามีมากมายและเมื่อถึงพูดเรื่องของจิตภาพในองค์รวมแล้ว ยังมีชุดความรู้ในแขนงอื่นๆ ที่อีกมากมายที่คุณครูสามารถลองนำมาปรับใช้ได้ เช่น Brain-Based Learning หรือการเรียนรู้ด้วยความรู้เกี่ยวกับสมอง ความจำ สอนอย่างไรให้เด็กๆ จำได้ดี ควรใช้เวลาเท่าไหร่ เป็นต้น
3. ทุกอย่างคือการค่อยๆ ฝึก (Practice) และกระบวนการ (Process) และการปรับเปลี่ยน พัฒนาอย่างต่อเนื่อง
การสร้างสภาพแวดล้อมทางจิตภาพที่ดีช่วยให้เกิดประโยชน์ไม่เพียงต่อเด็กๆ แต่ยังรวมถึงคุณครู ยิ่งคุณครูออกแบบได้อย่างสมดุล มีการคำนึงถึงความต้องการของตัวเองและของเด็กๆ รวมกันได้อย่างดีเท่าไหร่ คุณประโยชน์ก็ยิ่งมากโข แต่กว่าจะไปถึงจุดที่สมดุลนั้น หรือจุดที่บอกได้ว่านี่แหละ คือสภาพแวดล้อมที่ใช่ ที่เราสามารถใช้อย่างน้อยที่สุดเป็นรูปแบบหลักๆ อาจต้องใช้เวลาสักนิด มีกระบวนการ และอาจต้องอาศัยการสังเกตและการเปลี่ยนแปลง พัฒนารูปแบบอย่างต่อเนื่อง
หัวใจสำคัญคือการใจดีกับตัวเองและการค้นหาโมเดลพื้นฐานที่อย่างน้อยเราสามารถใช้ได้กับเกือบทุกๆ ห้องเรียน เหมาะกับสิ่งที่เราสอนมากที่สุด และเปิดรับต่อการเปลี่ยนแปลง และความยืดหยุ่นอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีอย่างในภาพรวม ต่อเด็กๆ ต่อคุณครูเอง และต่อการศึกษาไทยในอนาคตของเราทุกคนนั่นเองค่ะ
อ้างอิง:
● Learning Environments: First step to goal - GotoKnow
● เรียนรู้แนวทาง “สร้างจิตวิทยาเชิงบวก” และ “ทฤษฎีผ้าขี้ริ้ว” ของโรงเรียนบ้านเบิด
บทความใกล้เคียง
Starfish Future Labz แนะแนวทักษะชีวิต 5 เคล็ดลับ ช่วยลูกพัฒนาสมาธิ พร้อมจดจ่อในทุกสถานการณ์
พัฒนาการศึกษาที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ ด้วยนวัตกรรมจาก Starfish Education โดยโรงเรียนท่าม่วงราษฎร์บำรุง กาญจนบุรี
เจาะลึกการศึกษาไทยในอนาคต ทำความรู้จัก Nano Learning เทรนด์การศึกษายุคใหม่ของศตวรรษ
Related Courses
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอการเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ การปฐมพยา ...
Google Sites กับการนำมาใช้เพื่อการศึกษาและการประเมินวิทยะฐานะ
Google Sites ช่วยทำเว็บไซต์ได้โดยไม่ต้องรู้วิธีเขียนโค้ด และเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างเว็บไซต์โดยไม่ต้องมีความรู้มากในด้าน ...
Google Sites กับการนำมาใช้เพื่อการศึกษาและการประเมินวิทยะฐานะ
ต้องใช้ 100 เหรียญ
เริ่มต้นทำ Visual Note อย่างง่ายใครๆ ก็ทำได้
หากคุณเป็นคนชอบวาดรูป ชอบการขีดเขียน หรือการจดบันทึก อยากลองทำ Visual Note แต่ไม่รู้จะสื่อสารออกมาอย่างไรดี คอร์สเ ...
เริ่มต้นทำ Visual Note อย่างง่ายใครๆ ก็ทำได้
ต้องใช้ 100 เหรียญ