ช่วยวัยรุ่นค้นหาตัวตนผ่าน Self-Concept
ใครต่อใครมักพูดกันว่าวัยรุ่นเป็นวัยค้นหาตัวตน ซึ่งคำว่าค้นหาตัวตนนั้น แม้จะถูกพูดถึงบ่อยๆ แต่หากให้อธิบายขยายความให้ลึกลงไปว่ามีวิธีอย่างไรบ้าง แต่ละคนก็อาจต้องใช้เวลาคิดไม่น้อยเพราะในทางปฏิบัติแล้ว การค้นหาตัวตน ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ ถึงแม้คนจะพูดถึงการค้นหาตัวตนกันมาก แต่ใช่ว่าทุกคนจะรู้วิธี และใช่ว่าทุกคนในชีวิตนี้จะค้นพบตัวของตัวเองคำกล่าวที่ว่าวัยรุ่นเป็นวัยแห่งการค้นหาตัวตน จึงอาจไม่ใช่คำกล่าวที่ถูกต้องทั้งหมด เพราะแม้ว่าวัยรุ่นจะค้นหาตัวตน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะค้นพบตนเองได้ง่ายๆ ในวัยนี้ ในเมื่อผู้ใหญ่อย่างเราๆ บางคนก็ยังไม่รู้เลยว่าตนเองชอบอะไร อยากทำอะไรในชีวิต การพยายามบอกให้วัยรุ่นค้นหาความชอบของตัวเองให้เจอ จึงอาจเป็นดาบสองคมที่กดดันและสร้างความเครียดให้วัยรุ่นได้ หากผู้ใหญ่ไม่ทันระมัดระวัง
ค้นหาตัวตน…สำคัญจริงหรือ
พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น และเจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน เคยอธิบายไว้ว่า ความจริงแล้วมนุษย์เราพัฒนาตัวตนตลอดชีวิต และไม่มีจุดตายตัวว่าถ้าเราเจอ ‘ตัวเอง’ ในช่วงวัยรุ่นนั่นแปลว่าเราได้เจอตัวเองแล้ว เพราะหลายคนก็มาเจอตัวเองตอนทำงานแล้ว หรือเรียนจบแล้ว และบางคนก็เจอตัวเองจากการได้ลองทำสิ่งที่รักจริง ๆ ตอนอายุ 50 ปีก็มี การค้นหาตัวตน ในแง่หนึ่งจึงสำคัญ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ตัวตน ที่พบในช่วงเวลาหนึ่งจะเป็นตัวตนของเราเช่นนั้นตลอดไป มนุษย์มีวิวัฒนาการและมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตามประสบการณ์ต่างๆ ที่พบเจอ คนเราผิดพลาด เรียนรู้ และเติบโต ดังนั้น แทนการมุ่งมั่นว่าต้องค้นหาตนเอง ก็น่าจะลองเปลี่ยนมาเป็นการ “ทำความรู้จักตัวเอง” ด้วยการตั้งคำถามสำรวจความคิด ความรู้สึกของตนเองบ่อยๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนเองจะดีกว่า
Self-Concept รู้จักตัวฉันผ่านการถามตอบ
ในเมื่อตัวตนของคนเราเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา การค้นหาตนเองจึงไม่ใช่กระบวนการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจบ แต่ควรเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ กระบวนการค้นหาตนเอง ไม่ควรเป็นเหมือนภาพยนตร์ที่จบลงภายใน 2 ชั่วโมง แต่ควรเป็นเหมือนซีรีย์ ที่มีหลาย Episode ต่อกันไปเรื่อยๆ แต่ละ Episode อาจเว้นระยะเวลาห่างกัน โดยในช่วงเวลาที่เว้นระยะนั้น คือช่วงเวลาที่คนเราเผชิญกับประสบการณ์ใหม่ๆ ตกตะกอนความคิด และนำไปสู่การค้นหาตัวตนครั้งใหม่อีกครั้ง ซึ่งในการค้นหาตัวตนแต่ละครั้ง เราควรถามคำถามสำคัญกับตัวเอง ซึ่งวิธีการถามคำถามนี้ในจิตวิทยาเรียกว่า Self-Concept หรือการมองกลับมาที่ตัวเองแล้วตอบให้ได้ว่า "ฉันคือใคร" ซึ่งคำถามที่เราควรใช้เพื่อค้นหาตนเอง ได้แก่
● ฉันคือใคร
● ฉันชอบ / ไม่ชอบอะไร
● ฉันถนัดอะไร ฉันรักที่จะทำอะไร
● Passion ของฉันคืออะไร (สิ่งใดที่ทำแล้วมีความสุข)
● อะไรที่ฉันทำได้ดี (แม้ว่าฉันจะไม่ใช่สิ่งที่ฉันชอบก็ตาม)
● คนรอบๆ ตัว รักอะไรเกี่ยวกับฉันมากที่สุด
● ฉันมีจุดอ่อน / จุดแข็งอะไร
คำถามเหล่านี้ หากถามตัวเองในช่วงเวลาที่ต่างกัน อาจได้คำตอบที่เหมือนหรือต่างจากครั้งก่อนก็ได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่คนเราค้นพบ Self Concept ที่แท้จริงของตัวเองแล้ว ไม่ว่าจะเผชิญปัญหาแบบใดก็จะมีวิธีรับมือได้ให้ผ่านพ้นไปได้ เพราะรู้จักตนเองดีพอ
พ่อแม่ช่วยวัยรุ่นสร้าง Self-Concept ได้อย่างไร
พ่อแม่สามารถช่วยให้ลูกค้นหาตัวตนผ่าน Self-Concept ด้วยการพูดคุย ลองตั้งคำถามให้ลูกได้คิดวิเคราะห์ทำความรู้จักตนเอง ผ่านคำถามที่แนะนำข้างต้น นอกจากนี้ กิจกรรมต่างๆ ก็ยังช่วยส่งเสริมให้วัยรุ่นได้ใช้ Self-Concept ในการทำความรู้จักกับตนเองด้วย
● กิจกรรมผลัดกันสัมภาษณ์ อาจจะเป็นพ่อแม่กับลูก หรือให้ลูกสัมภาษณ์เพื่อนๆ พี่น้อง ญาติสนิท ฯลฯ ด้วยการถามคำถามว่าแต่ละคนชอบอะไร จุดเด่นจุดด้อยของตนเอง ผลัดกันถามผลัดกันตอบในคำถามเดียวกัน ไม่เพียงได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน แต่การมีบทสนทนาที่ลึกซึ้งยังทำให้วัยรุ่นรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า และอาจค้นพบศักยภาพที่ชัดเจนของตัวเอง ได้รู้ตัวตนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนของตนเอง ผ่านมุมมองของคนอื่นที่มีต่อตัวเรา
● เขียนไดอารี่ พ่อแม่อาจซื้อสมุดไดอารี่ หรือ อาจแนะนำให้วัยรุ่นโหลดแอปพลิเคชันเขียนบันทึกไว้ใช้ในมือถือ หรือในไอแพดของลูก เพราะการเขียนบันทึกเป็นวิธีที่วัยรุ่นจะได้ทบทวนตนเอง และคุยกับตนเองโดยตรง วัยรุ่นบางคนอาจไม่ถนัดเขียน ก็อาจใช้วิธีการวาดรูป หรือบันทึกในรูปแบบต่างๆ เช่น Bujo หรือ Bullet Journal ที่เขียนเป็นหัวข้อสั้นๆ ก็ได้
● ทำแบบทดสอบ หรือ Worksheet เพื่อค้นหาตนเอง ทุกวันนี้มีเกมหรือแบบทดสอบ หรือ Worksheet หลากหลายรูปแบบในอินเตอร์เนต ให้เราเข้าไปโหลดมาใช้งานได้ พ่อแม่อาจลองค้นหาออนไลน์ แล้วปริ้นท์ออกมาทำพร้อมกันกับลูก การทำ Worksheet เป็นกระบวนการตอบคำถามทางจิตวิทยาที่มีประโยชน์ ทำให้ค้นพบตนเองผ่านคำถามต่างๆ เช่น เพื่อนของฉันชอบฉันเพราะ…. หรือ ฉันมีความสุขเมื่อ…… และฉันเศร้าเมื่อ…. เป็นต้น
● ทำ Mood Board การนำภาพที่ชอบ คำคมที่ถูกใจ มาแปะลงบนบอร์ด ไม่เพียงได้ภาพตกแต่งห้องที่มีสไตล์ของตัวเราเท่านั้น แต่ยังอาจทำให้วัยรุ่นค้นพบว่าตนเองชื่นชอบอะไร และเป็นคนแบบไหนด้วย การทำ Mood Board คือการคัดสรรเฉพาะสิ่งที่ชอบและสนใจติดลงไปบนกระดาน ซึ่งสิ่งที่เราแปะลงไปต่างวัน ต่างเวลา แต่เมื่อรวมกันแล้วทั้งหมดคือตัวเรา ในวันที่สับสน หลงทาง การมองเห็นภาพบน Mood Board อาจช่วยย้ำเตือนตัวตน ความฝันและเป้าหมายให้กับวัยรุ่นได้
สุดท้ายแล้ว การค้นพบตนเองของวัยรุ่น สิ่งสำคัญอาจไม่ได้อยู่ที่คำตอบว่าตัวเราเป็นอะไร แต่อยู่ที่คำถาม ที่หมั่นตรวจสอบตนเองอยู่ตลอดเวลาต่างหาก พ่อแม่สามารถปลูกฝัง การเป็นคนคิดวิเคราะห์และหมั่นตรวจสอบตนเองให้กับวัยรุ่นได้ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่เราแนะนำ รวมถึงการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้วัยรุ่นได้ฝึกคิดวิเคราะห์ โดยมีพ่อแม่คนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของลูกเป็นผู้ฟังที่ดี ทำให้ลูกรับรู้ว่าเขามีคุณค่าซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ค้นพบตนเองได้ในที่สุด
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
Related Courses
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
การซ่อมแซมของใช้ในชีวิตประจำวัน
อุปกรณ์ของใช้ในบ้านเมื่อใช้ไประยะหนึ่งอาจชำรุดเสียหายได้ ถ้าเรารู้จักวิธีซ่อมแซมจะทำให้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกซึ่งเป็นการประหยั ...
เริ่มต้นทำ Visual Note อย่างง่ายใครๆ ก็ทำได้
หากคุณเป็นคนชอบวาดรูป ชอบการขีดเขียน หรือการจดบันทึก อยากลองทำ Visual Note แต่ไม่รู้จะสื่อสารออกมาอย่างไรดี คอร์สเ ...
เริ่มต้นทำ Visual Note อย่างง่ายใครๆ ก็ทำได้
ต้องใช้ 50 เหรียญ
แนวทางลดการบูลลี่ในสถานศึกษา
การถูกรังแก ล้อเลียน ดูหมิ่น เหยียดหยามผู้อื่นส่งผลให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวลทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน ปัญหาเหล่านี้จ ...