“บ้านกาญจนาภิเษก” บ้านของคนปลายน้ำ สถานที่สร้างชีวิตที่มีความหมายผ่านการเรียนรู้
- ป้ามล - ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก เชื่อว่าเยาวชนชายทุกคนที่เดินเข้ามายังบ้านกาญจนาภิเษกมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลง ป้ามลและเจ้าหน้าที่จึงช่วยกันออกแบบกระบวนการเรียนรู้เพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของเยาวชนกลุ่มนี้
- กระบวนการเรียนรู้ของบ้านกาญจนาภิเษกเน้นการทำงานกับ “ด้านสว่าง” ของเยาวชนผู้ก้าวพลาด ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์เหตุการณ์และสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ปรากฏอยู่ในหน้าข่าว หรือเป็นเรื่องราวในภาพยนตร์
- ครอบครัวคือปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กคนหนึ่ง บ้านกาญจนาภิเษกจึงออกแบบกิจกรรม “ห้อง empower” เพื่อเป็นพื้นที่ให้ครอบครัวได้มาซ่อมแซมรอยร้าวในความสัมพันธ์ ผ่านการทำกิจกรรมที่จะช่วยให้แต่ละครอบครัวได้มองเห็น “ระเบิดเวลาของครอบครัว”
- สิ่งสำคัญของการทำงานเพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่เคยทำผิดพลาด คือต้องยอมรับว่ามนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อทำสิ่งที่เลวร้ายและผิดพลาด เช่นเดียวกับการยอมรับในจุดอ่อนและจุดแข็งของเด็ก ๆ เพื่อตอบโจทย์สิ่งที่พวกเขาต้องการอย่างแท้จริง
“วันแรกที่เข้ามา ผมยังมั่นใจว่าสิ่งที่ผมทำคือสิ่งถูก แต่พอได้เรียนรู้จากบทเรียนของคนอื่น ก็ทำให้ผมรู้ว่า ถ้าเรายอมถอยออกมาหนึ่งก้าว เราจะมองเห็นกว้างกว่าเดิม และสิ่งที่เราทำก็อาจจะไม่ถูกต้องก็ได้”
“ฟอง” เด็กหนุ่มจากบ้านกาญจนาภิเษก บอกกับเราเช่นนั้น เช่นเดียวกับ “ลีโอ” ที่ทำพลาดถึงสองครั้ง จนสุดท้ายต้องเดินเข้ามาอยู่ในสถานที่เดียวกันกับฟอง ฟองและลีโอเคยก้าวพลาด จนมาลงเอยอยู่ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนแห่งนี้ แต่ในห้วงเวลาที่มืดมิดของชีวิต พวกเขาก็ได้พบเจอกับแสงสว่างที่บ้านกาญจนาภิเษกหยิบยื่นให้ จนฟองและลีโอสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดและมุมมองต่อชีวิตของพวกเขาเพราะทุกนาทีของเยาวชนชายทุกคนที่เดินเข้ามายังบ้านกาญจนาภิเษก คือ “โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลง” ทำให้ป้ามล - ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กหนุ่มที่อาจจะเดินหลงทางและก้าวพลาดเข้าสู่ด้านมืดของชีวิต โดยเริ่มต้นจากความเชื่อที่ว่า “ไม่มีใครเกิดมาเป็นคนเลวร้าย” และไม่มีใครอยากเป็น “คนปลายน้ำ” ในบ้านที่ถูกตีตราว่าเป็นคุก ก่อนจะย้อนกลับไปสำรวจสังคมของพวกเรา ว่าเด็กคนหนึ่งต้องพบเจอความปวดร้าวหรือถูกหลงลืมอะไรไปบ้างในระหว่างการเติบโต
บ้านของคนปลายน้ำในสังคม
บ้านกาญจนาภิเษกในทัศนะของป้ามล ไม่ต่างไปจากบ้านหรือที่อยู่อาศัยของ “กลุ่มปลายน้ำของสังคม” พวกเขาไม่ได้อยากมาอยู่ในบ้านหลังนี้ แต่ในช่วงต้นน้ำของชีวิตพวกเขาเหล่านั้น ไม่ได้เอื้อต่อการเติบโตในแบบที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมีและพึงได้ ส่งผลให้ระหว่างการเดินทาง พวกเขาจึงถูกผลัก ถูกเท และถูกเพิกเฉยจากสังคม จนสุดท้าย “กฎหมาย” ไม่สามารถอนุโลมให้พวกเขาอยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่นได้ พวกเขาจึงจำเป็นต้องเดินเข้าบ้านหลังนี้ “ป้าใช้คำว่า “ปลายน้ำ” เพื่อให้เห็นว่ามันเป็นสุดทางของเด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง พวกเขาต้องมาอยู่ในที่แห่งนี้ ณ วันนี้ พวกเขาคือคนปลายน้ำของบ้านกาญจนาภิเษก แต่อีกไม่กี่ปีหลังจากนี้ เมื่อเขาได้รับอิสรภาพ เมื่อเขาได้กลับไปอยู่กับครอบครัว เขาได้คืนบ้านคืนเรือนแล้ว เขาจะมีครอบครัวของเขาอีกครั้ง แล้ววันนั้นเขาจะเปลี่ยนสถานะจากคนปลายน้ำ ไปเป็นผู้ดูแลคนต้นน้ำคนใหม่ของแผ่นดิน ซึ่งมันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก ถ้าเราทำให้การเป็นคนปลายน้ำของเขา เป็นปลายน้ำที่ได้เรียนรู้ เติบโต และเบ่งบานอีกครั้ง” ป้ามลบอก “ลีโอ” เล่าให้เราฟังว่าเขารู้สึกถูกกดดันจากครอบครัวและโรงเรียนเขาจึงเลือกที่จะหันหน้าสู่เส้นทางสีดำมืดกระทั่งถูกจับกุมและถูกจองจำอยู่ในสถานควบคุม นั่นเป็นครั้งแรกที่เขาได้ยินชื่อของบ้านกาญจนาภิเษก “ครั้งแรกที่มาถึงบ้านกาญจนาฯ ความรู้สึกแรกเลยก็คือบ้านอะไรวะ ไม่มีประตู ไม่มีรั้วไฟฟ้า ไม่มีกำแพง เราลงมาจากรถตู้ ไม่ต้องมีพันธนาการ โซ่ตรวน ไม่ต้องใส่กุญแจมือ ผมเห็นตู้โทรศัพท์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมดีใจมากเลย เพราะเราไม่เคยได้เจอโทรศัพท์ ไม่เคยได้ติดต่อโลกภายนอก ไม่เคยได้คุยกับคนทางบ้าน พอได้เห็นผมก็คิดว่ามันสุดยอดเลย แล้วป้ามลก็เขามากอด มาผูกสายสิญจน์ ผมยังคิดเลยว่าป้าเขาทำไปเพื่ออะไร แต่สุดท้ายเราก็ได้รู้ว่าป้าเขามีความจริงใจกับพวกผมจริง ๆ” ลีโอเล่า
กระบวนการที่เล่นกับด้านสว่างของมนุษย์
ป้ามลชี้ว่า สิ่งแรกของเส้นทางแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเยาวชนผู้ก้าวพลาด คือ “ความเชื่อและวิธีคิด” ของเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลเด็ก ๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่า เยาวชนเหล่านี้ไม่ได้เกิดมาเป็นคนที่เลวร้าย พวกเขาไม่ได้อยากเป็นคนปลายน้ำที่ต้องอาศัยอยู่ในสถานควบคุม “แล้วเขามาได้อย่างไรล่ะ เราก็ต้องกลับไปสำรวจสังคมไทยของเรา ว่าเมื่อเด็กหนึ่งคนเติบโตในครอบครัว เขาได้รับการดูแลอย่างไร และเขาถูกหลงลืมเรื่องอะไร เมื่อเขาเดินเข้าไปที่โรงเรียน โรงเรียนได้พรากอะไรไปจากเขา โรงเรียนที่เป็นมิตรและปลอดภัยมีจริงหรือเปล่าในประเทศนี้ หรือเมื่อเขาต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคม ในวันที่ไม่ต้องไปโรงเรียน มันมีพื้นที่สร้างสรรค์อยู่ตรงไหนบ้าง หรือมีแต่หลุมดำที่คอยหลอกล่อเขาอยู่เต็มไปหมด” “เราออกแบบให้เด็ก ๆ เขียนความรู้สึกของเขาอย่างสม่ำเสมอ ในชื่อ “ไดอารี่ก่อนนอน” เป็นการสะท้อนความรู้สึกของตัวเองผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ไดอารี่ก่อนนอนของเด็กคนหนึ่งเขียนไว้ว่า “ทันทีที่ศาลพิพากษาผมให้ต้องเข้ามาติดในสถานควบคุม ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่ล้มเหลว เลวร้าย รุนแรง และไร้ค่า ผมจึงทำตัวให้เหมือนขยะกองหนึ่งที่ไม่มีค่า” คำพิพากษาไม่ใช่แค่ตัวหนังสือ หรือคำพูดของคน ๆ หนึ่ง ที่มีอำนาจนั่งอยู่บนบัลลังก์ แต่มันมีแรงกระแทกที่ทำให้คนที่ถูกพิพากษาล้มทั้งยืน แต่แน่นอนว่าเขาไปทำผิดมา เขาไปทำให้คนอื่นเสียชีวิต เขาจะลอยนวลไม่ได้ นั่นคือหลักการ” ป้ามลอธิบายความเจ็บปวดรวดร้าวของเยาวชนผู้ทำผิดพลาดเกิดขึ้น “ในวินาทีเดียวกัน” กับที่เหยื่อหรือญาติของเหยื่อยังรู้สึกว่าโลกใบนี้ยังมีความยุติธรรม นั่นคือสิ่งที่ป้ามลตอบกลับไดอารี่ของเด็กหนุ่มคนนั้น หากทุกคนสามารถย้อนกลับไปแก้ไขความผิดพลาดของตัวเองได้ ก็คงไม่มีใครอยากทำเรื่องเลวร้าย ทว่าเมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้ว เขาคนนั้นก็ต้องรับผิดชอบผลจากการกระทำของตัวเอง“เราเชื่อว่ามีอีกคนที่ซ่อนอยู่ในตัวเด็ก และคน ๆ นั้นไม่ได้อยากเป็นแบบนี้ แต่ไม่มีโอกาสที่จะได้เป็น ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะเป็นความอ่อนแอ หรือระบบนิเวศน์ทางสังคมที่ไม่เอื้อ แต่เราเชื่อแบบนั้น ดังนั้น การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ในบ้านกาญจนาฯ จึงเล่นกับด้านดีและด้านสว่างของพวกเขา แทนที่จะหาว่าด้านมือของเขาอยู่ไหน แล้วจะปราบ กด หรือข่มด้านมืดของเขาให้จมดินหายไป เราไม่ทำแบบนั้น บ้านกาญจนาฯ ทำงานกับด้านสว่างของเด็ก ๆ เราเชื่อว่าวันที่เขาไปก่ออาชญากรรม เขาอาจได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งที่เกิดก่อนเขา และเขาอาจเป็นเครื่องรับที่อ่อนแอ เขาจึงรับสิ่งนั้นมาทั้งหมด” ป้ามลบอก
เปลี่ยนเรื่องราวของคนอื่นให้เป็นต้นทุนชีวิตตัวเอง
นอกเหนือจากเชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้เกิดมาเป็นคนเลวร้าย ป้ามลยังเชื่อด้วยว่า “ความคิดอำนาจนิยม” คือปัจจัยที่ทำให้เยาวชนหลายคนเลือกเดินทางผิด ดังนั้น กระบวนการ “เปลี่ยนความคิด” จึงเป็นกระบวนการสำคัญของบ้านกาญจนาภิเษกที่เด็ก ๆ จะได้แลกเปลี่ยนและถกเถียงข้อเท็จจริงในสังคมที่ปรากฏอยู่ในข่าว ในบทความ ในชีวิตผู้คน หรือในภาพยนตร์ ทั้งนี้ ฟองบอกว่าบ้านกาญจนาภิเษกมีกระบวนการเรียนการสอนหลัก ๆ อยู่ 3 รูปแบบ ได้แก่ การวิเคราะห์ข่าว การวิเคราะห์ภาพยนตร์ และกิจกรรมกระทู้ ซึ่งฟองยกให้เป็นกิจกรรมที่เขาชื่นชอบมากที่สุด เพราะการได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากกว่าเดิม“การเรียนในระบบของบ้านกาญจนาฯ จะแฝงไปด้วยการคิดวิเคราะห์จากข่าว คือให้เราได้เรียนรู้จากข่าว จากเรื่องราวของคนอื่น โดยที่เราไม่ต้องไปเผชิญเอง ไม่ว่าจะเป็นวินาทีที่เลวร้าย วินาทีเกือบจะก้าวพลาด วินาทีที่เราเองควรจะถอย หรือควรเดินหน้าต่อยังไง ป้าจะสอนจุดนั้นโดยเอาข่าวมาให้เราวิเคราะห์ เพื่อให้เป็นต้นทุนในการใช้ชีวิต เราอาจจะไม่ได้ใช้วันนี้ แต่วันหน้าที่เราออกไป เราอาจจะเผชิญกับเหตุการณ์แบบนี้ และเมื่อเรามีทุนในกระเป๋าแล้ว เราก็สามารถควักออกมาใช้ได้” ลีโอเสริม แน่นอนว่ากระบวนการดังกล่าวไม่สามารถเปลี่ยนความคิดของเยาวชนในบ้านกาญจนาภิเษกได้ในทันที แต่ต้องเดินทางไปในสายธารอันยาวเหยียดในบ้านหลังนี้ อย่างไรก็ตาม ป้ามลชี้ว่าเครื่องมือในการเปลี่ยนความคิดกับเครื่องมือในการเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์นั้น “มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง” “การเปลี่ยนพฤติกรรม เราอาจจะใช้อำนาจที่เหนือกว่าของเรา สั่งซ้ายหันขวาหัน สั่งให้เรียบร้อย ให้เป็นเด็กดี ไม่งั้นก็เชิญอำนาจที่เหนือกว่า เช่น ทหาร ตำรวจ มาวิ่งกันให้เหงื่อเป็นเลือดไปเลย เดี๋ยวมันก็จะสงบเอง ซึ่งเราไม่เชื่อ ที่นี่จะไม่ทำสิ่งนั้นกับเด็ก ๆ แต่เราเปลี่ยนมายด์เซ็ต เปลี่ยนความคิดของเขา ซึ่งก็ต้องใช้เนื้อหา สถานการณ์ หรือเคสต่าง ๆ ในสังคมมาออกแบบ รวมถึงการใช้ภาพยนตร์ ซึ่งในที่สุดความคิดจะค่อย ๆ เปลี่ยน แต่มันใช้เวลาค่อนข้างนาน” ป้ามลกล่าว
“ห้อง empower” ประสานรอยร้าวในครอบครัว
ไม่ใช่แค่กระบวนการทำงานร่วมกับเด็กเท่านั้น แต่ป้ามลและบ้านกาญจนาภิเษกยังได้ออกแบบกระบวนการทำงานร่วมกับครอบครัว ภายใต้ชื่อ “ห้อง empower” เพื่อเป็นพื้นที่ให้ครอบครัวได้มาซ่อมแซมรอยร้าวในความสัมพันธ์ ผ่านการทำกิจกรรมที่จะช่วยให้แต่ละครอบครัวได้มองเห็น “ระเบิดเวลาของครอบครัว” นำไปสู่การถอดชนวนระเบิด เพื่อสร้างบ้านให้เป็นบ้านอีกครั้ง “ก่อนที่เด็กจะไปก่อคดี เขาอยู่ในครอบครัวหนึ่ง แล้วครอบครัวเหล่านั้นอาจจะหลงลืมอะไรบางอย่างไป หรือให้ในสิ่งที่เกินจำเป็น หรือให้ในสิ่งที่ไม่เหมาะกับเด็กคนหนึ่งที่จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้น ครอบครัวก็เป็นส่วนหนึ่งของโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตเขาออกมา แต่พูดแบบนี้ ป้าไม่อยากให้ทุกคนไปติดเพดานอยู่ที่คำว่าครอบครัวมีปัญหา เพราะในที่สุดครอบครัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นภารกิจของรัฐที่จะต้องรับผิดชอบและดูแล ไม่ใช่ทุกครอบครัวจะสามารถเลี้ยงลูกได้โดยไม่ต้องพึ่งกลไกใด ๆ ของสังคมเลย ดังนั้น เมื่อเราต้องทำงานกับเด็กคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผลผลิตของครอบครัว และเป็นผลผลิตของนโยบายรัฐที่ไม่มีวิสัยทัศน์ เราต้องกลับไปที่ครอบครัวให้ได้ ที่นี่จึงเปลี่ยนสถานะของพ่อแม่ ซึ่งเป็นคนมาเยี่ยมลูกหลานที่มาติดในสถานควบคุม ให้กลายเป็นหุ้นส่วน” ป้ามลบอก จากไดอารี่ก่อนนอนของเด็ก บ้านกาญจนาภิเษกสามารถรวบรวมปัจจัยที่ผลักเด็กคนหนึ่งให้ออกจากบ้านได้ 22 ปัจจัย และเปลี่ยนปัจจัยเหล่านั้นให้เป็นกระบวนการ empower ครอบครัว โดยจัดทำการ์ด “ปัจจัยผลักไสไล่ส่งลูก” 22 ใบ และ “ปัจจัยรอดูดเด็ก” 15 ใบ จากนั้นให้ครอบครัวช่วยกันแยกการ์ดเหล่านั้น ซึ่งผลลัพธ์คือทุกครอบครัวเจอปัญหาความสัมพันธ์ที่ฝังรากลึกอยู่ในบ้าน จากนั้นจึงให้เด็ก ๆ เลือกการ์ดของตัวเองและเล่าให้กับพ่อแม่ของตัวเองฟัง
“ลูกคนหนึ่งหยิบการ์ดเปรียบเทียบขึ้นมา ป้าก็ถามว่าทำไมการ์ดใบนี้ถึงทำให้ผมรู้สึกว่าเป็นปัจจัยที่ผลักผมออกจากบ้าน เล่าให้แม่ฟังได้ไหม เขาก็บอกว่า “ทุกครั้งที่แม่พูดเปรียบเทียบผมกับคนอื่น ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่มีแรงปีนขึ้นที่สูง แต่ละไหลลงที่ต่ำเสมอ ถ้าผมออกจากบ้านกาญจนาฯ ไป แล้วผมกลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่ อย่าเปรียบเทียบผมอีกนะครับ” แล้วเราก็ให้พ่อแม่ลองอธิบาย ว่าที่ผ่านมาพ่อแม่ทำเช่นนั้นเพราะอะไร เขาก็บอกว่าเขาไม่เคยรู้มาก่อนเลย เขาคิดว่าการเปรียบเทียบคือการทำให้ลูกได้เห็นตัวอย่างดี ๆ แล้วเขาจะได้เอาตัวอย่างนี้มาใช้ ก็เพิ่งรู้วันนี้แหละว่าการเปรียบเทียบทำให้เขารู้สึกไร้ค่า แม่บางคนเข้าใจเร็วมาก เขาก็โอบกอดลูกทันที ขอโทษลูกทันที ขอปรับตัวทันที แต่ไม่ได้แปลว่าพ่อแม่ทุกคนจะเข้าใจได้เร็วขนาดนี้ มันก็ต้องมีกระบวนการต่อยอด แต่ที่แน่ ๆ คือทุกครอบครัวเห็นระเบิดเวลาของครอบครัวตัวเองชัดเจน” ป้ามลสะท้อน ลีโอเล่าว่า ก่อนจะเข้ามาอยู่ที่บ้านกาญจนาภิเษก เขาแทบจะไม่ได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว หรือแม้แต่ “กอด” สักครั้งก็ไม่เคย แต่หลังจากได้เข้าเวิร์กช็อปห้อง empower ก็ทำให้เขาและครอบครัวเขาใจกันมากขึ้น มาวันนี้ไม่มีครั้งไหนที่ลีโอจะไม่กอดและหอมแม่ของเขา เขารู้สึกได้ถึงความสุขอีกครั้ง ลีโอได้ครอบครัวกลับมาอีกครั้ง “ตอนอยู่ข้างนอก ผมแทบไม่ค่อยได้คุยกับครอบครัวเลย เหมือนเราไม่ค่อยคุยกัน แทบไม่ได้เจอกันเลย พ่อทำงานกลับมาผมก็นอนแล้ว ตื่นเช้าผมก็ไปเรียน แต่พอมาอยู่ที่นี่ ผู้ปกครองได้เข้ามาทำงานด้วย เขารู้ว่าเราต้องการแบบไหน เขารู้สึกอย่างไร ให้เราได้แสดงความคิดเห็น ให้เราบอกเขา พอเราได้พูดกับพ่อแม่จรง เขาก็ได้รับรู้ แล้วเขาก็มาพูดกับเราตรง ๆ เราได้เปิดใจคุยกัน ทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น จนตอนนี้ผมก็คุยกับพ่อแม่มากขึ้น ผมได้รู้ว่าครอบครัวสำคัญกับเรา ทั้ง ๆ ที่ตอนอยู่ข้างนอก ผมไม่ได้คิดว่ามันสำคัญ แต่จริง ๆ แล้วครอบครัวสำคัญกับเราที่สุดแล้ว” ฟองบอกกับเรา
“เราจะมีปฏิทินบอกว่าจะมีห้อง empwer รุ่นนี้ ๆ ในปีนี้ วันที่เท่าไร เด็กบางคนมาไม่กี่เดือนเอง ก็จะรีบมาบอกเลยว่าผมขอเข้ารุ่นนี้ได้ไหมครับ แต่เราออกแบบว่าเขาต้องอยู่บ้านกาญจนาฯ สักพักหนึ่งก่อน ถึงจะได้เข้าห้อง empower แต่เด็กบางคนวิ่งเข้ามาขอลัดคิว บอกว่าเขาขอเข้าครั้งนี้ได้ไหม เมื่อเราจะไม่ให้เขาเข้า เราก็ต้องฟังเหตุผลว่าทำไมเขาจึงอยากเข้า เขาก็บอกว่าเพื่อน ๆ มันลือกันว่าถ้ามึงได้เข้าห้อง empwer พ่อแม่จะรักมึงมากขึ้น เขาอยากลงจากหลังเสือกันจะแย่อยู่แล้ว ดังนั้น เวลาเขาได้เข้าห้อง empower เขามาด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนว่า เขาอยากสื่อสารกับพ่อแม่ เขาอบกาบอกพ่อแม่ว่าจุดบอดของบ้านเราอยู่ที่ไหน ระเบิดเวลาของเราอยู่ที่ไหน แ้ลวที่สำคัญคือระหว่างที่เด็ก ๆ อยู่กับเรา เราทำงานในเชิงบวกกับเด็ก ๆ เขาก็จะมีด้านดีโผล่ออกมา พ่อแม่ก็มีกำลังใจ ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกติดคุกตลอดไปโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง แล้วยิ่งเขาเห็นแสงสว่างแห่งความหวังเล็ก ๆ อยู่ข้างหน้า เขาก็ยิ่งอยากจะมา” ป้ามลเล่า
ยอมรับความเป็นมนุษย์
เรารับรู้ได้ถึงความสุขและความภาคภูมิใจในน้ำเสียงของฟองและลีโออยู่ตลอดระหว่างการพูดคุย แม้ครั้งหนึ่งพวกเขาจะเคยถูกตีตราว่าเป็นเด็กเกเร แต่วันนี้พวกเขาคือเด็กหนุ่ม 2 คนที่มีโอกาสได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง และได้ออกไปทำกิจกรรมและงานอาสาสมัครมากมาย ที่ช่วยสร้างความภาคภูมิใจให้พวกเขาและครอบครัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทั้งหมดก็เป็นเพราะผู้ใหญ่อย่างป้ามล และเจ้าหน้าที่ทุกคนของบ้านกาจนาภิเษกแห่งนี้ ที่ใส่ใจและต้องการมอบชีวิตใหม่ให้กับเยาวชนที่เคยก้าวพลาดอย่างแท้จริง
“ให้เราทุกคนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ใจกว้าง ยอมรับในจุดอ่อนและจุดแข็งของเด็ก ๆ แล้วก็ตอบโจทย์คนที่ข้างหน้าเราด้วยใจที่เปิดกว้าง เข้าอกเข้าใจ ป้าคิดว่าเราจะมีดอกไม้ดอกเล็ก ๆ ที่งดงาม ที่หลากหลาย ที่ไม่ต้องเหมือนกัน ป้าคิดว่าแบบนั้นคือทางรอดของสังคม เราต้องยอมรับว่าเด็กไม่เหมือนกัน ดังนั้น เราไม่ต้องมีผู้ใหญ่ที่เหมือนกัน แต่แน่นอนว่าคีย์เวิร์ดหรือหลักคิดที่สำคัญก็คือว่า เราต้องยอมรับก่อนว่ามนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อทำสิ่งที่เลวร้ายและผิดพลาด” ป้ามลกล่าวทิ้งท้าย
Related Courses
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอการเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ การปฐมพยา ...
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
เริ่มต้นทำ Visual Note อย่างง่ายใครๆ ก็ทำได้
หากคุณเป็นคนชอบวาดรูป ชอบการขีดเขียน หรือการจดบันทึก อยากลองทำ Visual Note แต่ไม่รู้จะสื่อสารออกมาอย่างไรดี คอร์สเ ...
เริ่มต้นทำ Visual Note อย่างง่ายใครๆ ก็ทำได้
ต้องใช้ 100 เหรียญ
เรียนรู้ศิลปะดิจิทัล Google Art & Culture Metaverse
Google Arts & Culture แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงผลงานศิลปะและวัฒนธรรมจากพิพิธภัณฑ์และสถา ...
เรียนรู้ศิลปะดิจิทัล Google Art & Culture Metaverse
ต้องใช้ 100 เหรียญ