ดนตรี จิตวิทยา กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต
นิยามของคำว่า ‘คุณภาพชีวิต (Quality of life)’ มีอยู่หลากหลาย แต่สิ่งที่นักวิชาการหรือผู้มากประสบการณ์หลายท่านเห็นร่วมกันคือ “คุณภาพชีวิต เกิดขึ้นจากการประเมินตัวเราเองว่า เรานั้น ‘พึงพอใจ’ กับชีวิตเรามากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ หรือสังคม” (Zhan, 1992; Ferrel และคณะ 1998; องค์การอนามัยโลก, 2007 อ้างถึงใน ณัฐกานต์ หงส์มาลัย, 2561)
ดังนั้น จะเห็นว่า “เราจะมีคุณภาพชีวิตมากน้อยเพียงใด เกิดขึ้นจากการประเมินหรือการรับรู้ ‘ส่วนบุคคล’ เลยว่าเรา ‘พึงพอใจ’ ต่อสิ่งที่เป็นเป้าหมายหรือสิ่งที่เราให้คุณค่าหรือยัง” หากลองคิดให้ละเอียดอีกครั้ง ‘การประเมินหรือการรับรู้ (appraisal, perception)’ ก็คือการใช้ความคิด มุมมอง หรือทัศนคติ (attitude, mindset, perspective) ของเราเลย เช่น แทนที่เราจะมองปัญหาตรงหน้าว่าเป็นสิ่งที่คุกคามชีวิต แต่เรากลับมองบวกว่า ‘ปัญหาเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของเรา ถ้าผ่านไปได้ก็จะโตขึ้นอีกระดับ’ ความคิดอันหลังนี้จึงมีแนวโน้มจะทำให้เราสนุกกับการใช้ชีวิต มีความพึงพอใจกับชีวิต ซึ่งจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตนั่นเอง
คงไม่ปฏิเสธว่า ในบางสถานการณ์ของชีวิต เราก็เผลอมองตัวเองว่าไร้ความสามารถ หรือบางคนทั้งชีวิตแทบมองไม่เห็นคุณค่าของตนเองเลย (ทั้ง ๆ ที่อาจมีของดีมากมาย) งานทางจิตวิทยาจึงเกิดขึ้นเพื่อเข้ามาให้ความช่วยเหลือตรงนี้ เพราะ ‘จิตวิทยา (Psychology)’ คือศาสตร์แห่งการเข้าใจอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมของบุคคลที่แตกต่างกัน เพื่อเสริมสร้างการมีทัศนคติที่ดีต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคน เราไม่อาจตัดเสื้อโหลเพื่อให้ทุกคนใส่ได้สบายหรือพอดี เพราะทุกคนมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน เนื่องจาก ‘พันธุกรรม’ และ ‘สิ่งแวดล้อม’ ของแต่ละคนนั้นต่างกัน จึงหล่อหลอมให้แต่ละคนมีนิสัย ความคิด เป้าหมาย และคุณลักษณะภายในจิตใจอื่น ๆ ที่แตกต่างกันไปด้วย หน้าที่ของบุคลากรทางจิตวิทยาจึงต้องประเมินสิ่งดังกล่าวข้างต้น เพื่อคิดหากิจกรรมหรือเสนอกิจกรรมที่ผู้รับบริการชื่นชอบหรือน่าจะชื่นชอบ เพื่อที่จะดึงความสนใจให้ผู้รับบริการรู้สึกมีส่วนร่วม จนนำไปสู่การให้ความร่วมมือในการกระตุ้นพัฒนาการด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการด้านร่างกาย (กล้ามเนื้อมัดใหญ่-มัดเล็ก) พัฒนาการทางภาษา (การใช้ภาษา-เข้าใจภาษา) ความสามารถในการช่วยเหลือตนเองและสังคม เป็นต้น
‘ดนตรี (Music)’ เป็นหนึ่งแนวทางสากลที่ได้รับการยอมรับในงานจิตวิทยา นอกจากความรู้ทางดนตรีที่ผู้รับบริการจะได้รับแล้ว ดนตรียังเป็นสื่อกลางในการช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ทุกช่วงวัย ซึ่งผู้เขียนจะขอนำมาแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่านในบทความต่อ ๆ ไปค่ะ :)
หมายเหตุ: รายการอ้างอิงจาก วิทยานิพนธ์ของ ณัฐกานต์ หงส์มาลัย (2561) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาพประกอบจาก pexels.com
Related Courses
ถึงเวลา Self- Retreat แล้วหรือยัง?
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องการมีกำลังใจ กำลังกาย และสภาพจิตใจโดยรวมดีขึ้น และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็จะคิดบวกได้เสมอ มีความเครี ...
How to Play : กลเม็ดพิชิตใจเด็ก
“เล่นให้เด็กติดใจ”จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปถ้าหากเรารู้เคล็ดลับบทเรียนนี้จะช่วยให้คุณ “เป็นคนที่ เล่นอย่างสนุก”“เข้าใจวิธีการเ ...
สร้างเด็กปฐมวัยอย่างไรให้มีดนตรีในหัวใจ
เรียนรู้ความสำคัญ กิจกรรมดนตรีสำหรับเด็ก การนำเครื่องดนตรีมาจัดประสบการณ์การเรียนรู้และบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย
การดูแลสุขภาพใจเด็กประถมศึกษา
ในคอร์สนี้เป็นการดูแลสุขภาพใจของเด็ก เพราะการมีสุขภาพใจที่ดีนั้นส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม ทำให้อารมณ์ดี สามารถจัดการภาวะอาร ...