สอนลูกระวังภัย จากแก๊งค์ลักพาตัว
ฝันร้ายสำหรับพ่อแม่ก็คือการที่อยู่ ๆ ลูกรักก็หายตัวไป ไร้ร่องรอย เพียงแค่คิดถึงความเป็นไปได้ ก็อาจทำให้พ่อแม่หลายท่านตัวสั่นด้วยความกังวล อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์ที่เปรียบเหมือนฝันร้ายนี้เกิดขึ้น ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าสิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือสงบสติอารมณ์ และสอนลูกให้รู้จักระวังภัยที่มีอยู่รอบตัว
เพราะเมื่อใดก็ตาม ที่เรารู้วิธีที่จะดูแลความปลอดภัยให้ตัวเองแล้ว เรื่องที่เคยน่ากลัวก็อาจไม่น่ากลัวอีกต่อไป บทความนี้ Starfish Labz ชวนพ่อแม่ผู้ปกครอง มาสอนลูกรัก ให้รู้จักวิธีป้องกันตัวจากการถูกลักพาตัวกันค่ะ
เด็ก ๆ มีโอกาสถูกลักพาตัวจริงหรือ?
แน่นอนว่าเด็ก ๆ มีโอกาสสูญหายหรือถูกลักพาตัวได้ แต่โอกาสที่เรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นนั้นมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับโอกาสการถูกทำร้ายรังแกหรือล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งตามสถิติแล้วพบได้บ่อยกว่ากรณีลักพาตัว
ข้อมูลจาก National Center of Missing & Exploited Child (NCMEC) ประเทศสหรัฐฯ ระบุว่าในปี 2021 มีรายงานเด็กถูกลักพาตัวที่เจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้ NCMEC ช่วยเหลือ 27,733 ราย โดยในจำนวนนี้มีเพียง 1% ที่ถูกลักพาตัวจากคนที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว และ 5% ถูกลักพาตัวจากสมาชิกในครอบครัวตนเอง ที่เหลือเป็นกรณีที่เด็กหนีออกจากบ้านเอง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้โอกาสถูกลักพาตัวจะเกิดขึ้นได้น้อย แต่การมีทักษะช่วยเหลือดูแลตัวเองให้ปลอดภัยก็เป็นสิ่งจำเป็น
แค่ระวังคนแปลกหน้า…ยังไม่พอ
เมื่อพูดถึงการลักพาตัว พ่อแม่มักสอนลูกว่า อย่าไปกับคนแปลกหน้า ระวังคนแปลกหน้า แต่ในความเป็นจริงแล้ว การ “ระวังคนแปลกหน้า” อาจใช้ไม่ได้ผลเสมอไป เพราะจากสถิติพบว่าเด็กมักถูกลักพาตัวโดยคนรู้จักคุ้นเคย หรือกระทั่งเป็นคนในครอบครัวเองมากกว่า อีกทั้งการสอนลูกให้ระวังคนแปลกหน้า ยังอาจทำให้เด็กมีความเข้าใจผิด ๆ เรื่องความปลอดภัยของตนเอง กล่าวคือ เด็กอาจระมัดระวังตัวเฉพาะกับคนแปลกหน้าเท่านั้น โดยไม่ทันระแวดระวังสงสัยท่าที่มีพิรุธ ของคนใกล้ตัวที่ไม่ประสงค์ดี จึงมักตกเป็นเหยื่อได้ง่าย
สอนลูกป้องกันภัยจากการลักพาตัว
ดังนั้น การสอนลูกให้ระวังคนแปลกหน้าจึงอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องสอนให้รู้จักสังเกตสภาพแวดล้อมรอบตัวด้วย วิธีต่าง ๆ ที่พ่อแม่ผู้ปกครอง สอนเด็ก ๆ ให้ป้องกันตัวเอง จากการถูกลักพาตัวได้ มีดังนี้
- ฝึกกฎ “ถามก่อน” : นอกจากสอนให้ระวังรถตู้ที่มาจอดใกล้ ๆ และอย่าไว้ใจคนแปลกหน้าแล้ว พ่อแม่ควรฝึกให้เด็ก ๆ รู้จักกฎ “ถามก่อน” นั่นคือ ไม่ว่าจะรับขนม ของขวัญ หรือมีใครชวนไปไหน เด็ก ๆ จำเป็นต้องถามพ่อแม่หรือผู้ดูแลในขณะนั้น ๆ ก่อน หากผู้ที่มาชวนหรือนำของมาให้ ไม่อนุญาตให้เด็ก ๆ ไปถามพ่อแม่ผู้ดูแล เด็ก ๆ ห้ามรับของหรือไปด้วย เด็ดขาด สิ่งสำคัญคือ พ่อแม่ต้องถือกฎนี้อย่างสม่ำเสมอและจริงจัง ไม่ว่าคนคนนั้นจะไว้ใจได้ก็ตาม เช่น เพื่อนสนิทของแม่ชวนลูกไปกินไอติม แม้มั่นใจว่าไว้ใจได้ แต่เด็ก ๆ ก็ต้องถามก่อนไปทุกครั้ง
- ใช้ระบบบัดดี้ : หากเป็นไปได้ ไม่ว่าไปสนามเด็กเล่นในหมู่บ้าน ขี่จักรยานละแวกบ้าน เดินไปขึ้นรถโรงเรียน ฯลฯ หากไม่มีผู้ใหญ่ไปด้วย ควรหาเพื่อนวัยเดียวกันเป็นบัดดี้ ไปกับลูก หรือกระทั่งขณะอยู่ที่โรงเรียน ลองแนะนำลูกว่า หากต้องไปบริเวณที่อาจห่างไกลจากสายตาผู้คน ไปห้องน้ำ ควรชวนเพื่อนไปด้วยหนึ่งคนเสมอ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า การใช้ระบบบัดดี้ ช่วยลดความเสี่ยงถูกลักพาตัวได้อย่างมาก
- ฝึกเด็ก ๆ สังเกตว่าคนไหนไว้ใจได้ : เมื่อไปในที่สาธารณะท่ามกลางฝูงชน อาจมีโอกาสพลัดหลงได้ พ่อแม่สามารถสอนให้เด็ก ๆ สังเกต และขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ๆ แม้จะเป็นคนแปลกหน้า โดยทั่วไปเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น ลักพาตัวโดยคนแปลกหน้า หากมีคนแปลกหน้า อื่น ๆ พบเห็น พวกเขามักยินดีที่จะช่วย ดังนั้น สอนลูกให้รู้ว่าคนแปลกหน้าคนไหนที่พอจะขอความช่วยเหลือได้ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานในห้างสรรพสินค้า ผู้หญิงที่มากับลูก หรือพ่อแม่ที่มีลูกวัยใกล้เคียงกับเรา พนักงานรักษาความปลอดภัย ตำรวจ เป็นต้น อีกทั้งควรสอนให้เด็ก ๆ รู้ว่า เมื่อพลัดหลง สิ่งที่ไม่ควรทำคือ ออกไปบริเวณที่จอดรถ ควรฝึกให้ลูกจำเบอร์โทรศัพท์และชื่อจริงของคุณพ่อคุณแม่ด้วย
- สร้างเครือข่ายแห่งความปลอดภัย : การลักพาตัวมักเกิดจากคนที่ เด็ก ๆ รู้จัก คนเหล่านี้มักพยายามหลอกล่อให้เด็ก ๆ ออกห่างจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า วิธีที่คนกลุ่มนี้ใช้ ไม่ใช่แค่หลอกล่อว่าจะพาไปซื้อขนม หรือพาไปเที่ยว แต่เป็นการค่อย ๆ ทำให้เด็กเชื่อใจ พ่อแม่จึงควรสังเกตว่าคนไหนที่ให้ความสนใจกับลูกของเรา “มาก” เป็นพิเศษ ดังนั้น พ่อแม่ควรสร้างเครือข่ายผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้อย่างน้อย 5 คน อาจจะเป็น ตัวพ่อแม่เอง ปู่ย่า พี่ป้า น้าอา ใครก็ได้ที่ทุกคนลงความเห็นว่า เป็นที่พึ่งพิงของ เด็ก ๆ ได้ เพื่อให้ลูกเข้าไปพูดคุยขอคำแนะนำ ขอความช่วยเหลือ ผู้ใหญ่ ที่ปรารถนาดี มักอยากจะเป็นหนึ่งในเครือข่ายแห่งความปลอดภัยของเด็ก ๆ ส่วนผู้ที่ไม่ปรารถนาดี มักพยายามแยกเด็ก ๆ ออกจากเครือข่าย
- สร้างความไว้ใจ ไม่มีความลับ : ความไว้ใจและสายสัมพันธ์ ระหว่างพ่อแม่ลูกคือสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้ลูกกล้าเปิดใจ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ดังนั้น พ่อแม่ควรทำให้ลูกรู้ว่าพวกเขาพูดคุยกับคุณได้ทุกเรื่อง และจะไม่โดนตำหนิหรือด่วนตัดสิน บางทีในฐานะพ่อแม่เรามักเผลอคิดไปว่า เมื่อลูกเล่าอะไรให้ฟัง เราต้องสอนและให้คำแนะนำ ความจริงแล้วการฟังอย่างตั้งใจแล้วค่อย ๆ ให้คำแนะนำจากมุมมองของลูก ไม่ใช่บอกสิ่งที่พ่อแม่อยาก ให้เป็น น่าจะช่วยทำให้ลูกกล้าเปิดเผยเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตกับพ่อแม่ มากขึ้น และป้องกันเรื่องร้าย ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
- ส่งเสียงเมื่อถูกลักพาตัว : แม้โอกาสการถูกลักพาตัวจะเกิดขึ้น ได้ น้อยมาก แต่เด็ก ๆ ก็ควรรู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร หากเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นจริง ๆ สอนลูกว่าหากถูกลักพาตัว ลูกควรปล่อยทุกอย่างที่อยู่ในมือให้ตกลงพื้น และส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือให้ดังที่สุด ไม่ใช่แค่ส่งเสียงร้องไห้ หรือร้องกรี๊ด แต่ควรเป็นการตะโกนขอความช่วยเหลือ เช่น “ช่วยด้วย!!! เรียกตำรวจด้วย!!” หรือ “หนูถูกลักพาตัว!!!” เป็นต้น
สถานการณ์แบบไหนสุ่มเสี่ยงลักพาตัว
ไม่มีใครบอกได้ว่าการลักพาตัวจะเกิดขึ้นเมื่อไร แม้กระทั่งในสถานที่ที่คนพลุกพล่าน เด็ก ๆ อยู่ไม่ห่างจากพ่อแม่ การลักพาตัวก็อาจเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม รูปแบบก่อนเกิดการลักพาตัว มักจะคล้าย ๆ กัน ซึ่งพ่อแม่สอนให้ลูก ๆ สังเกตได้ โดยทั่วไปก่อนการลักพาตัว ผู้ไม่ประสงค์ดีมักพยายามชักชวนหรือพาเด็ก ๆ ให้ออกจากพ่อแม่ผู้ปกครอง หากเด็ก ๆ เชื่อและเดินตามไปก็เสี่ยงที่จะถูกลักพาตัวได้ ดังนั้น หากมีใครพยายามชวนไปที่อื่นซึ่งห่างจากสายตาของพ่อแม่ผู้ปกครอง เด็ก ๆ ควรให้กฎถามพ่อแม่ก่อนไปทุกครั้ง
อีกกรณีหนึ่ง คือ เมื่ออยู่ในที่ลับตาคน เช่น ไปเข้าห้องน้ำ อยู่ในห้องเรียนคนเดียว ขณะเดินกลับบ้าน โดยไม่มีพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลอยู่ใกล้ ๆ หากมีรถมาจอดใกล้ มีคนมาชวนคุย เด็ก ๆ ควรหลีกเลี่ยงรีบเดิน หรือวิ่งหนี และตะโกนดัง ๆ เพื่อให้คนอื่นได้ยินและขอความช่วยเหลือ
การลักพาตัวเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น ดังนั้นการสอนลูกให้รู้จักป้องกันตัวเอง ก็น่าจะช่วยให้พ่อแม่ผู้ปกครองวางใจได้ในระดับหนึ่ง เพราะสุดท้ายแล้ว เด็ก ๆ ต้องออกไปใช้ชีวิต เรียนรู้และเติบโต การสอนให้พวกเขารู้จักดูแลตัวเอง จึงน่าจะ ดีกว่าเก็บลูกไว้ใกล้ตัวเพราะความกลัวของพ่อแม่เอง
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
บทความใกล้เคียง
5 คอร์สเรียนออนไลน์สำหรับคุณพ่อคุณแม่ สร้างชีวิต เสริมทักษะ พูนความสุขให้ลูกอย่างถูกวิธี
เปิดห้องสำหรับพ่อแม่ สอนเรื่องเพศศึกษาให้ลูก
Starfish Future Labz แนะแนวทักษะชีวิต 5 เคล็ดลับ ช่วยลูกพัฒนาสมาธิ พร้อมจดจ่อในทุกสถานการณ์
Related Courses
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอการเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ การปฐมพยา ...
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...