วิธีสังเกต และดูแล อาการ Long Covid ในเด็กแต่ละช่วงวัย
แม้ว่าเราจะผ่านพ้นการระบาดใหญ่จากโควิด-19 กันแล้ว คนส่วนใหญ่ ได้รับวัคซีนมีภูมิคุ้มกัน อยู่ในระดับที่เรียกได้ว่าปลอดภัยต่อการใช้ชีวิต กระนั้น สำหรับผู้ที่เคยได้รับเชื้อโควิด-19 แม้เชื้อโรคจะหายไปแล้ว แต่อาการข้างเคียงหรือที่เรียกว่า Long Covid ก็ยังอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเด็ก ๆ แต่ละช่วงวัย ที่เราไม่รู้เลยว่าผลกระทบระยะยาวจากเชื้อโควิด-19 นี้ จะส่งผลต่อสุขภาพของเด็ก ๆ เมื่อเติบโตขึ้นอย่างไรบ้าง
บทความนี้ Starfish Labz ชวนพ่อแม่ผู้ปกครองสังเกตอาการเจ็บป่วยของลูกที่อาจเป็นผลข้างเคียงจากโควิด-19 เพื่อจะได้หาทางดูแลรักษาให้เด็ก ๆ กลับมาแข็งแรงปลอดภัยได้
Long Covid คืออะไร ใครเสี่ยงบ้าง
Long Covid หรือบางคนก็เรียกว่า Post covid คืออาการที่เกิดขึ้น หลังจากร่างกายได้รับเชื้อโควิด-19 ประมาณ 4-12 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักได้รับการวินิจฉัยว่าหายจากโรคโควิด-19 แล้ว แต่อาการที่ตามมาในภายหลังหรือ Long Covid นี้ถือเป็นผลข้างเคียงที่ส่งผล
กระทบต่อร่างกาย จิตใจและการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก อาการของ Long Covid อาจแตกต่างกันไปในแต่ละราย และแตกต่างกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ โดยอาการในเด็ก อาจแสดงออกในรูปของ ความแข็งแกร่งที่ลดลง ทำกิจกรรมใช้แรงต่อเนื่องนาน ๆ ไม่ได้ มีความวิตกกังวล เจ็บ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก สมองไม่แล่นเท่าที่ควร
ในเด็กพบภาวะ Long Covid ร้อยละ 25-45 โดยมักมีอาการที่ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น อาการมักไม่รุนแรงแต่เรื้อรัง อาการจะเป็น ๆ หาย ๆ การรักษาโรคนี้มักเป็นการแยกโรคที่รุนแรงอื่นและรักษาตามอาการ รวมถึงการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าอาการ Long Covid มีความหลากหลายมาก แต่ก็มีลักษณะอาการร่วมที่พบบ่อย คือ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หายใจถี่ หอบเหนื่อย ความจำสั้น สมาธิสั้น สมองล้า ไอ รับรสหรือได้กลิ่นน้อยลง นอนไม่หลับ มีผื่นขึ้นตามตัว มีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวลสำหรับกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการ Long Covid พบว่า วัยทำงานเพศหญิงมีอาการ Long Covid มากกว่าเพศชาย นอกจากนี้ผู้ป่วยที่เป็นผู้ป่วยสีเหลืองจนถึงสีแดง และผู้ป่วยที่มีเชื้อลงปอด ปอดอักเสบอย่างรุนแรง มีความเสี่ยงจากอาการ Long Covid สูงกว่า ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวและกลุ่มที่เชื้อยังไม่ลงปอด
สัญญาณของ Long Covid ในเด็ก
หลังจากได้รับเชื้อและรักษาตัวจนหายดีแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรต้องเฝ้าระวังอาการข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจเข้าข่ายว่าลูกกำลังเผชิญกับภาวะ Long Covid โดยอาจสังเกตสัญญาณจากเด็กแต่ละวัย ดังนี้
เด็กเล็ก การสังเกตอาการเด็กกลุ่มนี้อาจต้องทำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากทักษะการสื่อสารของเด็กเล็ก อาจยังไม่ดีพอที่จะระบุได้ว่า ตัวเองรู้สึกอย่างไร เป็นอะไร พ่อแม่ผู้ปกครอง อาจพบว่าลูกกินอาหารน้อยลง ผมร่วง น้ำหนักลดลง นั่นอาจเป็นผลมาจากความสามารถ ในการรับรสและดมกลิ่นที่ลดลงของเด็ก ๆ ทำให้ไม่อยากอาหาร เด็ก ๆ อาจมีอาการเหนื่อยง่าย งอแง ไม่สดใส รวมทั้งอาจจับตาสัญญาณของความเครียด ที่อาจเกิดจากความหวาดกลัว วิตกกังวล จากข่าวคราวของโรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็ก ๆ ได้สำหรับเด็กโตไปจนถึงวัยรุ่น อาจมีอาการเหนื่อยง่าย ออกกำลัง หรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงไม่ได้เหมือนเดิม แน่นหน้าอก หายใจลำบาก มีอาการสมองล้า สมองไม่แล่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเรียน อาจมีอาการปวดหัว เวียนหัวบ่อย ๆ และอาการอื่น ๆ ที่ทำให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ไม่เหมือนเดิม ซึ่งอาจทำให้เด็กรู้สึกเครียด หงุดหงิดง่าย ไม่มีความสุข อย่างไรก็ตาม อาการ Long Covid อาจแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละราย แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ปกครองควรเฝ้าระวัง หลังจากที่เด็ก ๆ ได้รับเชื้อโควิด-19 ก็คือ อาการที่เกี่ยวกับหัวใจ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจที่เร็วกว่าปกติ อาการเหนื่อยหอบ หลังจากทำกิจกรรมออกแรงเพียงเล็กน้อย หากพบว่าเด็ก ๆ มีอาการดังกล่าวหลังจากหายจากโควิด-19 ควรพบแพทย์ เพื่อตรวจการทำงานของหัวใจว่า ปกติหรือไม่อย่างไร เพราะหากปล่อยไว้ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาว
Long Covid มีอาการนานแค่ไหน
แม้ว่าเด็ก ๆ มักหายจากโรคโควิด-19 เร็วกว่าผู้ใหญ่ แต่อาการ Long Covid นั้นอาจคงอยู่นานหลายเดือน บางรายในกรณีที่เด็กมีโรคประจำตัวและการติดเชื้อรุนแรง ก็อาจมีอาการ Long Covid ถึง 6 เดือนจึงค่อย ๆ ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ที่อาการไม่นัก อาการ Long Covid มักหายได้เองภายใน 2-3 เดือน
ระวัง MIS-C ภาวะอักเสบหลังเด็กติดโควิด
นอกจากอาการทั่วไปของ Long Covid แล้ว อีกกลุ่มอาการที่ผู้ปกครอง ต้องระวังก็คือภาวะ Mis-C หรือ Multisystem Inflammatory Syndrome in Children ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง หลังเด็กหายจากการติดเชื้อโควิด-19 เริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ระยะหายจากโรค จนถึงหลังติดเชื้อ 2 – 6 สัปดาห์ สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้มากเกินไป ทำให้เกิดการอักเสบหลายระบบในร่างกายของเด็ก เด็กที่มีอาการ Mis-C จะมีอาการไข้สูง มีผื่น ปากแดง ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองโต อาเจียน ถ่ายเหลว บางรายมีหอบเหนื่อย ปอดอักเสบ และมีภาวะช็อคจากการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ ผู้ป่วยเด็กมากกว่าร้อยละ 50 จำเป็นต้องรักษาในตัว ในห้องผู้ป่วยวิกฤติ เพราะภาวะช็อคอาจทำให้เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามอาการ Mis-C แม้จะรุนแรงแต่ก็พบได้ไม่บ่อยนัก คือมีอุบัติการณ์ ประมาณร้อยละ 0.03 ของผู้ป่วยเด็กที่ติดโควิดทั้งหมด โดยพบในเด็กทุกช่วงอายุ อายุเฉลี่ยที่พบ คือ 8-10 ปี พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง ข้อมูลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) ระบุว่า มีผู้ป่วยเด็กเข้ารับรักษาตัวด้วยภาวะ Mis-C จำนวน 15 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ร้อยละ 7-14 ของผู้ป่วยเด็กยังมีการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ ต้องติดตามรักษาต่อเนื่องสุดท้ายแล้ว การป้องกัน Long Covid หรืออาการข้างเคียงต่าง ๆ ที่ดีที่สุด คงหนีไม่พ้นการป้องกันตัวเองจากเชื้อโรค ด้วยการฉีดวัคซีน รักษาสุขอนามัย พักผ่อนให้เพียงพอ แต่หากพลาดพลั้งได้รับเชื้อขึ้นมา การรักษาตามอาการและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดก็จะช่วยเด็ก ๆ ปลอดภัยจากภาวะคุกคามต่าง ๆ ได้ เมื่อได้รับการรักษาที่ทันท่วงที
แหล่งอ้างอิง (Sources):
Related Courses
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอการเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ การปฐมพยา ...
สารพัดวิธีรับมือ และเอาตัวรอดจากภัยธรรมชาติ
ความแปรปรวน ของสภาพอากาศโลกและภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้งที่มีความรุนแรงขึ้น จึงมีความจำเ ...
โปรแกรมการเรียนรู้สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาดูงานโรงเรียนปลาดาว
โรงเรียนปลาดาว เน้นการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่จะช่วยให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะสำคัญทั้งด้านวิชาการและทักษะชีวิต ผ่าน ...
โปรแกรมการเรียนรู้สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาดูงานโรงเรียนปลาดาว
เจลล้างมือมีความจำเป็นอย่างไร
การเรียนรู้ 7 ขั้นตอนล้างมือด้วยสบู่เมื่อเด็กๆอยู่ที่บ้าน ความจำเป็นที่ต้องใช้เจลล้างมือ ขั้นตอนการผลิตเจลล้างมือแบบง่ายๆ และประ ...