Starfish Future Labz แนะแนวทักษะชีวิต 5 สุดยอดวิธีช่วยลูกสร้างทักษะการเข้าสังคม
สำหรับคุณพ่อคุณแม่หลายๆ คน การช่วยลูกฝึกฝนและสร้างทักษะชีวิตอย่างทักษะการเข้าสังคมอาจเป็นเรื่องยาก ยิ่งลูกอาจชอบอยู่คนเดียวหรือเก็บตัวด้วยแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหลายๆ ครั้ง คนเป็นพ่อแม่เองนั้นก็ไม่รู้ว่าจะเข้าหาลูกหรือจะค่อยๆ เริ่มสอนและสร้างการภาวะและทักษะการเข้าสังคมให้กับลูกอย่างไร ยิ่งเด็กๆ เริ่มเติบโต การสอนทักษะนี้เหล่านี้ ก็ยิ่งดูเหมือนจะยากขึ้น
ในความเป็นจริงแล้ว การบ่มเพาะและสอนทักษะชีวิตอย่างทักษะการเข้าสังคมให้กับลูกนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ยากและเกินความสามารถของคุณพ่อคุณแม่เลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กหรือเด็กโตนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถค่อยๆ เริ่มสอนและบ่มเพาะให้กับเขาได้ แต่การจะสอนให้เกิดประสิทธิภาพที่สุดอย่างแท้จริง นอกจากความมุมานะ ความใส่ใจ และเวลาจากคุณพ่อคุณแม่แล้ว แน่นอนว่าอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญก็คือ วิธีการ หรือ เทคนิค ในการค่อยๆ บ่มเพาะเจ้าทักษะนี้ให้กับลูก
อาจฟังดูเหมือนยากอีกแล้ว แต่บอกเลยว่าเป็นเทคนิค เคล็ดลับที่ง่ายกว่าที่คิดค่ะ จะมีวิธีการใดหรือเทคนิคใดกันบ้าง ตาม Starfish Labz มาดูและเรียนรู้กันในบทความนี้กันเลยค่ะ
1. สร้างทักษะการเข้าสังคมให้ลูกตามความสนใจของลูก (Children’s Interests) เป็นหลัก
เทคนิคแรก หากคุณพ่อคุณแม่อยากลองเริ่มฝึกให้ลูกเข้าสังคมและมีทักษะชีวิตการเข้าสังคมที่ดี เคล็ดลับแรกที่สำคัญคือการค่อยๆ ให้เขาเริ่มจากสิ่งที่เขาสนใจก่อน จากกลุ่มคนที่เขาอยากเป็นส่วนหนึ่งหรือจากแวดวงที่เขาอยากทำความรู้จักหรือปรารถนาที่จะสร้างความสัมพันธ์นั่นเองค่ะ การเริ่มจากฐานความสนใจของเด็กๆ จะช่วยให้พวกเขาเกิดแรงกระตุ้นในการเรียนรู้และการทำความรู้จักอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นกีฬาที่ชื่นชอบ, ดนตรีที่อยากเล่น, ชมรมที่พวกเขาอยากเป็นส่วนหนึ่ง หรือไปจนถึงกิจกรรมอันหลากหลายต่างๆ ที่ตรงตามความสนใจและความชื่นชอบของเขา
ลองจินตนาการว่าหากเด็กๆ ชื่นชอบการเขียนมากๆ หรือเป็นเด็กที่อาจจะมีหัวใจทางศิลปะมากกว่าแนวทางอื่นๆ แต่เราดันจับเขาไปอยู่ในอีกแวดวงหนึ่งที่ไม่ใช่ตัวเขา ต่อให้เราพยายามอย่างไรหรือต่อให้ตัวเขาพยายามอย่างไร ความสัมพันธ์กับผู้คนที่เขาพยายามสร้างก็ไม่มีทางที่จะมีคุณค่าหรือในกรณีที่แย่ที่สุดก็คืออาจไม่เกิดขึ้นเลย เพราะเด็กๆ ไม่ได้อยากเรียนรู้ ไม่ได้อยากทำความรู้จัก ไม่ได้อยากเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คน, สังคม หรือแวดวงนี้
2. ดูแลและใส่ใจความต้องการทางอารมณ์ (Emotional Needs) ของลูก
อาจฟังดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับทักษะการเข้าสังคม แต่ในเทคนิคที่สองนี้ หลายๆ ครั้งผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็อาจหลงลืมไปว่าหัวใจสำคัญของการทักษะการเข้าสังคมก็คือการสร้างความสัมพันธ์ (connection) การเชื่อมต่อ เชื่อมโยง หรือต่อติดกันระหว่างคนสองคนหรือคนหลายคนในกลุ่ม และหนึ่งในสะพานสำคัญในการสร้างการเชื่อมโยงดังกล่าวก็คือทักษะทางอารมณ์และสภาพจิตใจของผู้สื่อสาร
การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและเป็นทางบวกอย่างแท้จริงระหว่างเด็กสองคนหรือเด็กหลายคนในกลุ่มไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลยหากสภาพจิตใจ หรืออารมณ์โดยพื้นฐานของเด็กๆเองมีคลื่นแห่งความคับข้องหรือภูเขาลูกใหญ่แห่งอารมณ์กดทับหรือรั้งเขาไว้อยู่ ความโกรธ, ความเสียใจ, ความรู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบ ฯลฯ หลายๆ ครั้ง เด็กๆ ก็รับเอาความรู้สึกเหล่านี้มาโดยที่ไม่รู้ตัวและไม่รู้จะจัดการมันอย่างไร เมื่ออยู่ในยามที่ต้องเข้าสังคม ต้องทำความรู้จักใคร หรือสร้างความสัมพันธ์ แทนที่จะสามารถเปิดหัวใจของเขาได้อย่างเต็มที่ ดำรงอยู่ในชั่วขณะปัจจุบัน และเรียนรู้วิธีการสานสัมพันธ์กับอีกฝ่าย พวกเขาอาจแสดงมันออกมาอย่างผิดวิธี รู้สึกไม่เป็นที่ต้องการ รู้สึกว่าไม่สามารถต่อกับอีกฝ่ายติดได้อย่างแท้จริง
การคอยดูแลความต้องการทางอารมณ์ (emotional needs) ของลูกจึงเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างสุขภาวะทางจิตใจและอารมณ์ที่ดี และยังเป็นสะพานสำคัญในการเรียนรู้การมีภาวะการมีความเข้าอกเข้าใจ (empath) ต่อผู้อื่น ซึ่งถือเป็นทักษะที่ช่วยให้เด็กๆ สามารถสัมผัสได้ว่าอีกฝ่ายกำลังรู้สึกอย่างไร เศร้า โกรธ เสียใจ ฯลฯ และเขาต้องสื่อสารอย่างไรหรือควรต้องพักการพยายามสื่อสารเอาไว้ก่อนในช่วงเวลาดังกล่าว
3. ใช้เทคนิค กิจกรรม หรือเครื่องมือที่หลากหลาย ในการช่วยบ่มเพาะและสร้างทักษะการเข้าสังคมให้กับลูก
นอกเหนือจากการพาลูกเข้าร่วมกิจกรรม อีกหนึ่งเทคนิคที่คุณพ่อคุณแม่ที่อาจจะไม่มีเวลามากนักสามารถทำได้ที่บ้านก็คือการใช้เทคนิค สื่อ หรือเครื่องมือการสอนง่ายๆ ในการช่วยลูกพัฒนาทักษะการเข้าสังคมนั่นเองค่ะ หนึ่งในวิธีที่ที่ได้ผลดีคือการฝึกสนทนากับลูกในรูปแบบการสวมบทบาท (Role Playing) ตามสถานการณ์ต่างๆ หากยังไม่มีเวลาหรือโอกาสพาลูกไปพบเจอคนที่เขาสนใจหรือชื่นชอบ ก็เป็นโอกาสของคุณพ่อคุณแม่แล้วในการลองสวมบทบาทเป็นบุคคลดังกล่าวให้กับเขา เคล็ดลับตามข้อหนึ่งเลยคือ เริ่มจากความสนใจของเขาเป็นหลักก่อนแล้วค่อยๆ ขยายไปตามสถานการณ์ ตามระดับความยากของทักษะการเข้าสังคมที่คุณพ่อคุณแม่อยากสอน
4. สอนให้ลูกรู้จักศิลปะของวัจนาภาษา (Verbal Language) และอวัจนภาษา (Non-Verbal Language)
คำใดที่เขาควรใช้ ประโยคแบบใดที่เขาควรกล่าว หากอีกฝ่ายหนึ่งนิ่งเงียบไป เขาควรทำอย่างไร ตลอดจนเมื่อเขาไม่อยากใช้คำพูดในการสื่อสาร เขาสามารถใช้ร่างกายในการกล่าวออกมาแทนได้ไหม สิ่งเหล่านี้คือศิลปะของการสื่อสาร เด็กๆ อาจจะยังไม่สามารถเรียนรู้หรือมีไหวพริบ เท่าทันแต่ละสถานการณ์ที่เขาต้องตอบโต้ได้อย่างเต็มที่ แต่การค่อยๆ เรียนรู้รายละเอียดอันละเอียดอ่อนเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะยิ่งเพิ่มพูนทักษะการเข้าสังคมของเขาได้อย่างดียิ่งขึ้น เช่น ในช่วงเวลาที่เพื่อนกำลังเสียใจ ไม่พร้อมที่จะพูดคุย หรือตัวเด็กๆ เองไม่รู้จะกล่าวอย่างไรให้เพื่อนรู้สึกดีขึ้น การนั่งอยู่ข้างๆ ปลอบประโลมด้วยการกอดหรือการจับมือให้กำลังใจก็ถือเป็นการสื่อสารหรือคำกล่าวอย่างหนึ่งนั่นเอง
5. เป็นตัวอย่างในการมีทักษะการเข้าสังคมที่ดีให้กับลูก
เทคนิคสุดท้ายคือบทบาทของผู้ปกครอง คุณพ่อคุณแม่เองในการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ครอบครัวคือพื้นที่แรกที่เด็กๆ จะลืมตาขึ้นมาเรียนรู้วิธีการสานสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เราสื่อสารกับลูกอย่างไร ใช้คำกับลูกอย่างไร เขาก็จะเรียนรู้และสื่อสารกับผู้อื่นอย่างนั้น อิทธิพลรอบข้างอาจมีส่วน แต่ปัจจัยใหญ่ เสาหลักที่สำคัญของทักษะการเข้าสังคมของลูกยังคงกลับมาอยู่ที่พ่อแม่หรือครอบครัวเสมอ
สรุป (Key Takeaway)
การพัฒนาทักษะชีวิตอย่างทักษะการเข้าสังคมให้กับลูกอาจดูเหมือนเป็นภารกิจที่ยาก แต่ด้วยความรัก ความเอาใจใส่ และเทคนิคด้านบนนั้น Starfish Labz กล่าวได้เลยว่าคุณพ่อคุณแม่จะต้อง
สามารถค่อยๆ เห็นพัฒนาการที่ดีของเขาขึ้นมาได้แน่นอนค่ะ ลองเริ่มที่ความสนใจของเขาก่อนแล้วจึงค่อยๆ ขยายไปยังสถานการณ์อื่นๆ ตามระดับความยากง่ายในการเข้าสังคม เมื่อมีฐานในการเข้าสังคมและการสื่อสารที่ดีแล้ว จึงค่อยขยายไปยังองค์ประกอบอื่นๆ ที่อาจซับซ้อนขึ้นมา เช่น การจัดการกับความขัดแย้ง (conflicts), การจัดกับการความสัมพันธ์ที่ไม่ดีหรือที่บั่นทอนจิตใจของลูก ฯลฯ
และนอกเหนือจากเทคนิคต่างๆ ที่ว่ามา วิธีการที่สำคัญและอาจกล่าวได้ว่ามีอิทธิพลต่อลูกที่สุดก็คือลักษณะความสัมพันธ์ การสื่อสาร หรือการเข้าสังคมระหว่างสมาชิกในครอบครัวเอง เราเลี้ยงลูกอย่างไร พูดคุย สื่อสาร หรือปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับเขา ลูกก็มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมการสื่อสารออกมาเช่นนั้น หากเราอยากให้ลูกมีทักษะชีวิตอย่างทักษะการเข้าสังคมที่ดี จุดเริ่มต้นที่ยั่งยืนที่สุดจึงคือการเริ่มสร้างสภาพแวดล้อมสังคมที่ดีให้กับลูกภายในบ้าน การพูดคุยกันอย่างเข้าอกเข้าใจ ลดการใช้กำลังและอารมณ์นั่นเอง
อ้างอิง:
Related Courses
การซ่อมแซมของใช้ในชีวิตประจำวัน
อุปกรณ์ของใช้ในบ้านเมื่อใช้ไประยะหนึ่งอาจชำรุดเสียหายได้ ถ้าเรารู้จักวิธีซ่อมแซมจะทำให้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกซึ่งเป็นการประหยั ...
Micro Learning การดูแลสุขภาพใจ ป.1-3
การที่เด็กอารมณ์ดี มีความร่าเริงแจ่มใสจะมีผลต่อพัฒนาการในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น สมอง จิตใจ และร่างกาย แต่หากอารมณ์ไม่ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
การสื่อสารภาษาอังกฤษ ใครว่ายาก? หากเราเข้าใจ และสื่อสารมันจากความรู้สึก และไม่ต้องกังวลจนเกินไป ในคอร์สเรียนนี้เราจ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
ต้องใช้ 100 เหรียญ
Micro Learning เทคนิคการดูแลสุขภาพกาย ป.4-6
การเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายที่ดีจากภายในสู่ภายนอก ควรทำควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนให้เพียงพอ