ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน หยุดเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา
ผลกระทบของโควิด-19 ได้ส่งผลต่อการเรียนรู้และการศึกษาระหว่างที่โรงเรียนต้องปิด หรืองดการเรียนการสอน ทำให้ "เด็ก" ต้องเผชิญกับภาวะ “การเรียนรู้ถดถอย (Learning loss)” และทำให้ประเทศสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่ดีทั่วโลกประมาณ 10-17 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 560 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกัน ครอบครัวของนักเรียนจำนวนมากประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจ เด็กหลายคนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา
“ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน” จึงเป็นอีกหนึ่งกระบวนการ ในการช่วยเหลือนักเรียนอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนชัดเจน พร้อมทั้งมีวิธีการและเครื่องมือที่มีมาตรฐาน คุณภาพ และมีหลักฐานการทำงานที่ตรวจสอบได้ โดยมี ครูประจำชั้น/ครูที่ปรึกษาเป็นบุคลากรหลักในการดำเนินงาน รวมถึงผู้มีส่วนร่วมของบุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและนอกสถานศึกษา ได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน ผู้บริหาร และครูทุกคน
กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดนโยบาย แนวทางให้สถานศึกษาทุกแห่ง มีระบบการดูแลช่วยหลือนักเรียน เพราะต้องการให้นักเรียนทุกคนได้รับการดูแลช่วยเหลือ คุ้มครองอย่างรอบด้าน ด้วยกระบวนการที่ถูกต้อง และเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้การดำเนินงานสถานศึกษามีประสิทธิภาพ เปิดโอกาส สร้างความเท่าเทียมให้แก่เด็กทุกคน มีการกำหนดยุทธศาสตร์มาตรการ จุดเน้นการช่วยเหลือนักเรียนอย่างต่อเนื่อง และมีการส่งเสริมให้สถานศึกษา จัดกิจกรรม อาทิ เยี่ยมบ้านนักเรียน จัดประชุมผู้ปกครอง จัดโครงการส่งเสริมทักษะชีวิต การสร้างวินัยเชิงบวก เพื่อให้นักเรียนทุกคนเป็นคนดี มีความรู้ มีความสุขภาพ และปลอดภัยในสภาพสังคมปัจจุบัน
“การจะทำให้ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน สามารถช่วยนักเรียนได้จริงๆ โดยเฉพาะนักเรียนกลุ่มด้อยโอกาส หรือครอบครัวที่มีฐานะยากจน ครูและผู้บริหาร สถานศึกษา ต้องคัดกรองเด็กทุกคน และรู้ว่าเด็กมีจุดเด่น จุดด้อยอย่างไร ครู ผู้บริหารจะเข้าไปช่วยเหลือเด็กอย่างไรได้บ้าง”
เด็กแต่ละคนมาจากครอบครัวแตกต่างกัน ปัญหาย่อมแตกต่างกัน ปัจจัยที่ทำให้ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนสามารถขับเคลื่อนเกิดประโยชน์แก่เด็กได้จริงๆ ต้องเริ่มจากผู้บริหารสถานศึกษา ที่มีระบบ แนวทางชัดเจนให้ครูทุกคนได้คัดกรองนักเรียนในชั้นเรียน ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียน และมีการวางแผนในการร่วมแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับเด็กแต่ละคน
รวมถึงผู้ปกครอง และชุมชน ต้องเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันที่เด็กกำลังประสบพบเจอ เพราะตอนนี้ไม่ใช่เพียงเรื่องการเรียนรู้ถดถอย แต่สิ่งเร้ายั่วยุให้เด็กออกจากสถานศึกษา มีจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น โลกเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต ถึงจะมีความทันสมัย ก้าวไกล มีความรู้มากมาย ทว่าอีกด้านหนึ่งกลับมีทั้งเรื่องการพนัน ความรุนแรง เรื่องเพศ หรือพฤติหรรมที่ไม่เหมาะสมให้เด็กได้เรียนรู้มากมาย
ไม่ว่าครู ผู้บริหารสถานศึกษา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ศึกษานิเทศก์ หน่วยงานต้นสังกัด จะทำงานด้วยความรัก ความปรารถนาดี อยากให้เด็กได้รับการเรียนรู้ และพร้อมช่วยเหลือสนับสนุนให้เด็กได้ก้าวเดินในเส้นทางที่ดี แต่หากสภาพแวดล้อม ผู้ปกครอง หรือคนใกล้ชิดเขา และสิ่งเร้าที่มีอยู่มากมาย ล้วนกระตุ้นให้เขาออกห่างจากการศึกษา และไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
“เด็กหลายคนอยากเป็นนักซิ่งวัยใส อยากเป็นสก๊อย มากกว่าอยากเป็นนักเรียน ซึ่งตรงนี้เป็นค่านิยมของเด็กที่พวกเขามองว่าสนุก เจ๋ง ได้รับการยอมรับจากเพื่อนสูง และเด็กรุ่นใหม่มีเพศสัมพันธ์เร็วแต่รู้จักวิธีป้องกันน้อย มีภาวะเครียด ซึมเศร้า มองโลกในแง่ร้าย และยุ่งเกี่ยวยาเสพติด สิ่งเหล่านี้ สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเด็กได้ หากทำให้ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเข้มแข็ง”
ทุกโรงเรียนมีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอยู่แล้ว เพียงแต่บางแห่งจะเป็นการจัดการตามนโยบายที่ได้รับมอบหมาย โดยที่ไม่ได้ออกแบบระบบ การดูแลช่วยเหลือนักเรียนถึงตัวนักเรียนจริงๆ ครูบางคนลงเยี่ยมบ้านนักเรียน เนื่องจากเป็นหน้าที่ครู แต่ไม่ได้นำสิ่งที่เห็น สภาพนักเรียน ครอบครัวมาหาแนวทางช่วยเหลือนักเรียน ให้พวกเขาอยู่ในระบบการศึกษา
การรู้จักนักเรียนรายบุคคล มีความจำเป็นอย่างมาก ครู ผู้บริหารสถานศึกษา โดยเฉพาะครูประจำชั้น ครูที่ปรึกษา ต้องรู้จักนักเรียนทุกคนในชั้นเรียน และต้องทำให้นักเรียนเกิดความไว้วางใจ พร้อมพูดคุยรับฟังปัญหาของพวกเขา รวมทั้งครูแนะแนว หรือครูจิตวิทยาในโรงเรียน นักเรียนต้องมองเสมือนเป็นเพื่อนคู่คิด เมื่อเขามีปัญหาต้องนึกถึงครูกลุ่มนี้ ไม่ใช่นึกถึงแต่เพื่อน หรือมองว่าใครก็ช่วยเขาไม่ได้
ขณะที่หน่วยงานต้นสังกัด จะมีการให้องค์ความรู้ หรือสนับสนุนอุปกรณ์ มีระบบติดตาม มีเครื่องมือ แต่ต้องให้งบประมาณที่เหมาะสมด้วย อย่างช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เด็กไทยประสบปัญหาภาวะถดถอยการเรียนรู้ หลายครอบครัวไม่มีเงินส่งลูกมาเรียน หรือเด็กบางคนต้องออกจากโรงเรียนเพื่อไปทำงานช่วยที่ว่าง อยากให้ช่วยลดช่องว่างระหว่าง หรือข้อจำกัดต่างๆ ที่ไม่ได้เอื้อให้ครูเข้าถึงเด็กได้
“ครู ผู้บริหารสถานศึกษา มีภาระมากมาย โดยเฉพาะครู การจะให้พวกเขาดูแลช่วยเหลือนักเรียนได้อย่างเต็มที่ หน่วยงานต้นสังกัดอาจจะต้องยืดหยุ่น ต้องมีความจริงใจทั้งเรื่องงบประมาณ การบริหารจัดการ เอื้อให้คนทำงานได้ทำงานอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันครูต้องเปิดใจ และมีทัศนคติอยากช่วยเหลือเด็ก”
ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน จะต้องมีการดำเนินการสอดคล้องการทำงานร่วมกันในทุกฝ่าย ทั้ง หน่วยงานต้นสังกัด สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ครอบครัวและชุมชน เพื่อทำให้ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ตั้งแต่การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล การคัดกรองนักเรียน การส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียน การป้องกัน ช่วยเหลือและแก้ไข รวมถึงการส่งต่อนักเรียน ทุกกระบวนการต้องดำเนินการด้วยความจริงใจในการปฏิบัติงาน ทำให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษา หรือกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาต่อไป
ศน.ปภาวรินท์ เรืองประจวบกุล
ศึกษานิเทศก์ ชำนาญการพิเศษ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่
บทความใกล้เคียง
มาตรการฟื้นฟูความรู้ถดถอยในเด็ก (Learning Loss) โดย Starfish Education
“การลดปัญหาการเรียนรู้ที่ถดถอย”
ภาวะความรู้ถดถอย (Learning Loss) ที่ต้องเร่งแก้ไขในมุมมองของ CEO Starfish Education
Related Courses
Peer Learning วิธีฟื้นฟู Learning Loss
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับ Peer Learning คืออะไร 5 รูปแบบของกิจกรรม Peer to Peer Learning ตัวอย่างก ...
การวัดความรู้ถดถอยของนักเรียน
การวัดความรู้ถดถอยของนักเรียน เมื่อต้องปรับตัวมาเรียนออนไลน์ ครูเป็นอีกหนึ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน เพื่อเตรี ...
สร้างเด็กปฐมวัยอย่างไรให้มีดนตรีในหัวใจ
เรียนรู้ความสำคัญ กิจกรรมดนตรีสำหรับเด็ก การนำเครื่องดนตรีมาจัดประสบการณ์การเรียนรู้และบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย
Micro Learning - เทคนิคการช่วยเหลือผู้เรียน
การช่วยเหลือผู้เรียนสำคัญต่อการลดภาวะการเรียนรู้ถดถอยและฟื้นฟูการเรียนรู้ โดยการสร้างความร่วมมือระหว่างครูกับผู้ปกครอง