พัฒนาการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ออกแบบกิจกรรม กระตุ้นตัวตนเด็ก
สมรรถนะของผู้เรียนมีความสำคัญอย่างไร? ดูจะเป็นคำถามที่สถานศึกษาทุกแห่ง ต้องให้ความสำคัญในช่วงนี้ เพราะต้องร่วมกันคิด วางแผน และหาแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อทำให้เกิดสมรรถนะของผู้เรียนด้านต่างๆ ตามที่ต้นสังกัดอย่างกระทรวงศึกษาธิการกำหนด
แม้หลักสูตรฐานสมรรถนะ จะนำร่องในบางสถานศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา แต่ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน ก็ควรทำความเข้าใจกับนโยบายในการส่งเสริมสมรรถนะเช่นกัน “ผศ.อรทัย อินตา” หัวหน้าภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ช่วยไขขอข้องใจว่า การศึกษาไทยควรพัฒนาผู้เรียนฐานสมรรถนะ เนื่องด้วยการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กยุคใหม่ ควรเน้นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ได้ลงมือปฏิบัติจริง เรียนรู้ผ่านการเล่นการกระทำตามความถนัด ความชอบ และเมื่อเด็กต้องอยู่ในสถานการณ์อื่น เขาจะสามารถนำประสบการณ์จากการปฏิบัติจริงนั้นมาใช้กับสถานการณ์นั้นได้ ซึ่งนั่นหมายถึง สมรรถนะที่เกิดขึ้นนั่นเอง
หลักสูตรเดิมที่ใช้ในสถานศึกษา ก็สามารถส่งเสริมให้เกิดสมรรถนะได้โดยกิจกรรมที่ครูออกแบบให้ควรเป็นกิจกรรมที่เน้นการปฏิบัติผ่านสถานการณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก เพียงแต่มีข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นขอบข่ายเนื้อหา รายวิชาที่กำหนดให้เรียนมีค่อนข้างมากทั้งรายวิชาพื้นฐานและรายวิชาเพิ่มเติม ประกอบข้อจำกัดทางด้านการบริหารจัดการ จึงอาจทำให้ไม่สามารถทำให้ครูออกแบบการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการหลักสูตรร่วมกันเพื่อทำให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง เพื่อให้เกิดทั้งทักษะ ความรู้ และคุณลักษณะ ซึ่งส่งผลให้เกิดสมรรถนะตามศักยภาพของเด็ก
การพัฒนาเด็กให้เกิดสมรรถนะ และการจัดการเรียนรู้เชิงรุกหรือ Active Learning เป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ การพัฒนาเด็กให้เกิดสมรรถนะ เปรียบเหมือนเป้าหมายหลัก ส่วนการจัดการเรียนรู้เชิงรุกหรือ Active Learning เปรียบเหมือนเส้นทางหรือวิธีการที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะ ในมุมมองนั้นการจัดการเรียนรู้เชิงรุกไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เพราะแต่เดิมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีนั้นควรส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้ผ่านการกระทำ หรือ Learning by Doing ต่อมาก็เน้นการเรียนรู้ที่มุ่งเด็กเป็นสำคัญหรือ Child Center สำหรับแนวทางที่ปรับเปลี่ยนไปแต่ละช่วงนั้น ก็ถือเป็นวิธีการที่จะกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดประสบการณ์ ผ่านการปฏิบัติหรือผ่านกิจกรรมที่เด็กมีส่วนร่วม ซึ่งเป้าหมายหลักก็เพื่อให้เด็กเกิดสมรรถนะนั่นเอง
เมื่อสะท้อนถึงเด็กในปัจจุบัน เด็กยุคใหม่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ ได้ง่าย หากคุณครูยืนสอนหน้าชั้นเรียน สอนบนกระดานแบบเดิม ๆ ไม่ได้ออกแบบการเรียนรู้ให้เด็กได้เกิดความอยากรู้ อยากทำ ผ่านการค้นหาคำตอบด้วยตัวผู้เรียนเอง สมรรถนะก็ไม่มีทางเกิดขึ้นแก่พวกเขา แนวโน้มในการพัฒนาเด็กไม่ว่าจะเป็นไทยหรือต่างชาติ ล้วนส่งเสริมให้ผู้เรียนมีสมรรถนะ ซึ่งในบางประเทศกำหนดทักษะสำหรับในการพัฒนาเยาวชนของประเทศ ซึ่งทักษะที่กำหนดนั้นเป็นนิยามเดียวกับสมรรถนะ โดยกำหนด Soft Skill เพื่อให้เด็กมีทักษะสำคัญในการใช้ชีวิตในสังคม และ Hard Skill ของแต่ละอาชีพ สำหรับ Soft Skill ดูเหมือนจะเป็นจุดเน้นสำคัญในการพัฒนาเพราะหากมี Soft Skill ก็จะส่งเสริมให้เกิด Hard Skill ทั้งนี้ Hard Skills บางอย่าง AI หรือปัญญาประดิษฐ์สามารถทำแทนได้ ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงในสถานการณ์ที่หลากหลายเพื่อให้เกิดทั้ง Soft Skill และ Hard Skill ให้พวกเขาปรับตัว อยู่รอดในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงได้
หลักสูตรมีความสำคัญไหม ที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จัดเป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน มีการกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ และกำหนดตัวชี้วัดในแต่ละมาตรฐาน ส่วนหลักสูตรที่เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ มีการกำหนดสมรรถนะหลัก และผลลัพธ์การเรียนรู้ช่วงชั้นให้ โดยสถานศึกษาจะกำหนดผลลัพธ์การเรียรู้ชั้นปีในแต่ละรายวิชา ซึ่งสามารถนำตัวชี้วัดในหลักสูตรแกนกลางเดิมมาสังเคราะห์ให้เป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ชั้นปีในแต่ละวิชาได้ โดยในผลลัพธ์การเรียนรู้ชั้นปีมาจากการหลอมรวมเอาความรู้ คุณลักษณะ ทักษะ และสมรรถนะสำคัญ จากวิธีการพัฒนาหลักสูตรดังกล่าวจะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันบ้าง แต่ก็สามารถใช้หลักสูตรเดิมเพื่อกำหนดเป็นหลักสูตรใหม่ที่เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะได้
แม้ว่าสถานศึกษาจะมีรูปเล่มหลักสูตรฐานสมรรถนะ แต่หากกระบวนการนำไปใช้ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนแน่นอนว่าเด็กย่อมไม่เกิดสมรรถนะ ในทางกลับกันหากใช้หลักสูตรเดิมแต่กระบวนการนำไปใช้มีการส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ ในสถานการณ์ที่หลากหลายให้เด็กเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ได้รับประสบการณ์ตรงให้มากที่สุดย่อมจะทำให้เกิดสมรรถนะกับเด็ก ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่สุดคือกระบวนการนำหลักสูตรไปใช้ โดยอาจมีหลายความคิดแย้งว่างั้นก็ไม่ต้องทำหลักสูตรฐานสมรรถนะก็ได้ ซึ่งหลักสูตรเป็นแนวทางในการจัดประสบการณ์ให้แก่เด็ก ดังนั้นหากปรับหลักสูตรสถานศึกษาให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรนถะ ผู้บริหารและครูก็จะมีแนวทางที่ง่ายหรือชัดเจนในการนำไปใช้นั่นเอง
แนวทางการนำหลักสูตรไปพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะ ปัจจัยสำคัญคือผู้บริหารและครู ผู้บริหารต้องเป็นผู้นำทางวิชาการกล้าคิดกล้าเปลี่ยนแปลง มีเวทีให้ครูแต่ละรายวิชาแต่ละระดับชั้นได้คิดได้คุยกัน ร่วมกันวางแผนให้มากขึ้น อาจจะทุกวันหรือทุกสัปดาห์ หรือที่เรียกว่าการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ การบูรณาการรายวิชาผ่านกิจกรรมเน้นการปฏิบัติในเรื่องใกล้ตัวหรือที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะส่งเสริมให้เด็กเกิดสมรรถนะ เช่น การให้เด็กมัธยมทำอาหารจานเดียวจากวัตถุดิบในท้องถิ่น หากมีการวางแผนร่วมกันระหว่างครูในรายวิชาต่าง ๆ เด็กจะสามารถเรียนรู้ได้ทั้งเรื่องของวัตถุดิบที่อยู่ในท้องถิ่น ซึ่งสัมพันธ์กับวิชาเกษตร ชีววิทยา และภูมิศาสตร์ คุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งสัมพันธ์กับเคมี ปริมาณ การชั่งตวงวัด รูปร่าง รูปทรงของอุปกรณ์ แรง กำลังไฟ ซึ่งสัมพันธ์กับคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ เป็นต้น กิจกรรมนี้มุ่งให้ผู้เรียนเกิดทักษะในการทำอาหารและเกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย หากครูจัดประสบการณ์เหล่านี้ให้บ่อย ๆ หรือมอบหมายให้เด็กได้นำไปปฏิบัติเพิ่มอีกก็จะส่งเสริมให้เกิดสมรรถนะ ทั้งนี้กิจกรรมจะไม่สำเร็จตามที่คาดหวังเลย หากไม่มีการเปิดโอกาสให้ครูได้วางแผนร่วมกัน
สิ่งสำคัญคือปรับวิธีคิด วิธีปฏิบัติ ตอนนี้หมดยุคให้เด็กเรียนผ่านกระดานในเรื่องที่ไกลตัว ที่เด็กคิดว่าเรียนไปก็ไม่ได้ใช้ จึงขาดความมุ่งมั่นตั้งใจ สำหรับครูการเป็นเจ้าของศาสตร์หรือรายวิชาที่มุ่งสอนเฉพาะรายวิชาของตนก็ต้องปรับวิธีการคิดเช่นกัน ซึ่งผู้บริหารโรงเรียน ครู เขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันออกแบบหลักสูตรให้เหมาะสมกับผู้เรียน ความต้องการของชุมชนและสังคมซึ่งทุกหน่วยงานต้องทำร่วมกัน
อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การพัฒนาการเรียนรู้ฐานสมรรถนะเกิดขึ้นได้ยาก คือ การขาดการขับเคลื่อนโดยผู้บริหาร ครูที่ต้องรับผิดชอบงานอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการสอนมากเกินไป ประกอบกับความเข้าใจและนโยบายจากหน่วยงานต้นสังกัด และที่สำคัญของการพัฒนาการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ คือ การยกระดับการพัฒนาสมรรถนะทั้งระบบไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ และการวัดและประเมินผลฐานสมรรถนะ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจ ร่วมเรียนรู้ ร่วมส่งเสริม หากหวังให้สำเร็จในระยะแรกแบบพลิกโฉมนั้นอาจเป็นไปได้ยาก แต่หากค่อย ๆ เรียนรู้ ค่อย ๆ ปรับ อาจเป็นแนวทางที่เหมาะสมในช่วงเวลานี้
สำหรับหน้าที่ของการผลิตครูในสถาบันอุดมศึกษา สิ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาเพื่อให้สามารถเป็นบุคลากรของทางสถานศึกษาที่คุณภาพในอนาคต คือ การฝึกให้นักศึกษาได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ในการออกแบบหลักสูตรที่หลากหลายโดยเฉพาะหลักสูตรฐานสมรรถนะ ให้มีประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ ที่เน้น Active Learning เพื่อส่งเสริมสมรรถนะ พัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย และให้เด็กได้พัฒนาศัยภาพของตนอย่างเต็มที่ และให้นักศึกษามีประสบการณ์ในการวัดและประเมินผลตามสภาพจริงรอบด้าน เพื่อพัฒนาเด็กและกระบวนการจัดการเรียนรู้ของตน โดยการจัดให้นักศึกษามีประสบการณ์เหล่านี้ก็จำเป็นต้องพึงพาสถานศึกษาต่าง ๆ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในการพัฒนาครูคุณภาพต่อไป ส่วนคณาจารย์ก็จำเป็นต้องร่วมเรียนรู้ร่วมพัฒนาไปพร้อมกับสถานศึกษาเช่นกัน
“ผศ.อรทัย อินตา” หัวหน้าภาควิชาหลักสูตรและการสอน
ครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
Related Courses
Micro Learning - แหล่งเครื่องมือช่วยครูจัดการชั้นเรียน
Starfish แหล่งเครื่องมือช่วยครูในจัดการชั้นเรียนที่หลากหลาย เช่น Starfish Labz, Starfish Class แบบเว็บไซต์ และแ ...
Micro Learning เครื่องมือช่วยสอนการเรียนออนไลน์
เครื่องมือช่วยครูในการเรียนออนไลน์ในคอร์สนี้ แนะนำเครื่องมือที่น่าสนใจ 3 ตัวช่วย คือ Google Earth, Line Open Chat แ ...
Micro Learning - เครื่องมือประเมินผู้เรียน
เครื่องมือครูในการประเมินผู้เรียนประกอบไปด้วย แอปพลิเคชัน 4 แอปพลิเคชัน คือ Kahoot Plicker , Quizzes , และ Cla ...
3 แอปพลิเคชันง่ายๆ ตัวช่วยทำสื่อการสอน
เรียนรู้ 3 แอปพลิเคชันง่ายๆ ที่นำไปใช้ได้จริงสำหรับการสร้างสื่อการสอน สะดวกต่อการใช้งาน มีประโยชน์สำหรับห้องเรียน ช่วยให้นัก ...