6 เทคโนโลยีพลิกผันวงการการศึกษายุคใหม่ มหา'ลัย ยุค 4.0
เทคโนโลยีมา มหาวิทยาลัยก็ต้องปรับตัว จะอยู่นิ่งเฉยคงจะไม่ได้ เพราะถือเป็นแหล่งบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ให้ก้าวสู่สังคมในอนาคต มาดูกันว่า 6 เทคโนโลยีที่จะเข้ามาพลิกผันวงการการศึกษามีอะไรบ้าง
มหาวิทยาลัยทั่วโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เพื่อตอบโจทย์การศึกษาระดับสูงและงานในอนาคต ซึ่งมหาวิทยาลัยมีบทบาทผลิตนักศึกษาที่จะเข้าไปทำงานในยุคเศรษฐกิจอัตโนมัติ (Automation Economy) ในขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มธุรกิจการศึกษาที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่เรียกว่า EdTech หรือสตาร์ทอัพด้านการศึกษาก็กำลังเกิดขึ้นอย่างมากมาย มหาวิทยาลัยทั่วโลกจึงอยู่ในช่วงเวลาของการปรับตัวเพื่อโอบรับโอกาสจากเทคโนโลยี พร้อมกับแข่งขันหรือร่วมเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์มใหม่ๆ
การปรับตัวของมหาวิทยาลัยทั่วโลกได้ใช้ 6 เทคโนโลยีที่สำคัญ (Educause, 2019) ช่วยออกแบบการเรียนการสอนใหม่ให้ตอบโจทย์นักศึกษารายบุคคล
1.เทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Learning) การเรียนรู้ผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมีมานานแล้ว นักศึกษาและอาจารย์ได้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พกพาเพื่อเรียนรู้ โดยปัจจุบันเน้นการเชื่อมโยงอุปกรณ์ให้ข้อมูลซิงค์กันเพื่อสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้อย่างต่อเนื่อง ในทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ เช่น มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันพัฒนาแพลตฟอร์ม CloudClassRoom (CCR) เพื่อแปลงอุปกรณ์สมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือโต้ตอบในห้องเรียนช่วยให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนและสามารถรวบรวมคำตอบพร้อมวิเคราะห์อัตโนมัติเพื่อให้ภาพรวมของความคืบหน้าของผู้เรียนอย่างทันเวลา มหาวิทยาลัย University of Memphis ใช้โปรแกรมเครื่องมือเล่นเกมแบบโต้ตอบ หรือ Kahoot เพื่อรับข้อมูลจากชั้นเรียนได้ทันที
2.เทคโนโลยีการวิเคราะห์ (Analytics Technologies) ส่วนใหญ่ใช้วิเคราะห์การเรียนรู้ของผู้เรียน เกรดและพฤติกรรมของผู้เรียน ช่วยพยากรณ์และออกแบบการเรียนในระดับบุคคล เช่น มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์สร้างแพลตฟอร์ม RiPPLE สำหรับแนะนำแหล่งเรียนรู้ส่วนบุคคลให้กับผู้เรียนส่วนมหาวิทยาลัยซิดนีย์สร้างแพลตฟอร์ม Student Engagement System (SRES) ช่วยให้อาจารย์สามารถบริหารจัดการข้อมูลและการประเมินผู้เรียนรายบุคคล
3.เทคโนโลยีความจริงผสม (Mixed Reality) เทคโนโลยีความจริงผสมทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างโลกกายภาพและโลกดิจิทัล ซึ่งวัตถุดิจิทัลและวัตถุจริงอยู่ร่วมกันในพื้นที่หนึ่งๆ เทคโนโลยีความจริงผสมกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
มหาวิทยาลัยซานดิเอโกสเตท (San Diego State University) ได้พัฒนา Virtual Immersive Teaching and Learning (VITaL) เป็นเครื่องมือสอนโดยผนวกเทคโนโลยีแบบผสมทั้งความจริงเสมือน (VR) ความจริงเสริม (AR) และความจริงผสม (MR) ให้เหมาะกับการเรียนการสอนมหาวิทยาลัยแคนเทอเบอรี่ (University of Canterbury) ให้นักศึกษาสามารถสำรวจประเทศไอซ์แลนด์แบบเสมือน (Virtual Field Trip) ในประเด็นเกี่ยวกับภูมิทัศน์ทางธรณีวิทยาการจัดการขยะอันตรายและพลังงานความร้อนใต้พิภพ
4.ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ยุคใหม่จากกระบวนการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ช่วยพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ไปได้ไกลจนนำไปสู่ยุคที่เครื่องจักรสามารถเรียนรู้และทำหลายสิ่งที่มนุษย์ทำได้ มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ใช้ปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น เช่น มหาวิทยาลัย Georgia State ใช้ปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์และเชื่อมโยงกับนักเรียนที่มีศักยภาพจะเข้ามาเป็นนักศึกษา ช่วยแนะนำจัดการเกี่ยวกับการลงทะเบียน การให้ความช่วยเหลือทางการเงิน
ส่วน IU Boost เป็นแอพพลิเคชั่นที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ โดยทำหน้าที่ส่งสัญญาณการแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อผู้เรียนยังไม่ได้ส่งการบ้านที่มีกำหนดส่งใกล้เข้ามาหรือ Edulai เป็นซอฟต์แวร์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่ออกแบบมาสำหรับนักศึกษา เพื่อช่วยตรวจสอบและวัดความก้าวหน้าของการพัฒนาทักษะต่างๆ เช่น การคิดเชิงวิพากษ์การสื่อสารการทำงานร่วมกันและความเป็นผู้นำ
5.เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Technology) ทำหน้าที่เป็นระบบบัญชีดิจิทัลแบบกระจาย ตัดอำนาจคนกลางออกไป สร้างระบบเก็บบันทึกข้อมูลที่มีความปลอดภัยสูงมหาวิทยาลัยทั่วโลกกำลังสำรวจวิธีการที่เทคโนโลยีบล็อกเชนจะใช้สำหรับการบันทึกใบรับรองผลการเรียนสัญญาฉลาด (Smart Contract) และการจัดการตัวตน (Identity Management) เช่น FlexchainEdu เป็นระบบบล็อกเชนที่เปลี่ยนแปลงวิธีการจัดการศึกษาขั้นสูงและตรวจสอบข้อมูลนักศึกษาให้ข้อมูลใบรับรองนักศึกษาที่ตรวจสอบได้โดยผู้จ้าง Woolf เป็นเครือข่ายบล็อกเชนที่เปิดให้นักศึกษาจากทุกที่ในโลกสามารถเรียนกับอาจารย์ในทุกแห่งในโลกเพื่อรับปริญญา EdRec เป็นข้อเสนอการใช้ระบบบล็อกเชน โดยสามารถบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนทั้งหมดตลอดเส้นทางการศึกษาจนประกอบอาชีพ
6.เทคโนโลยีผู้ช่วยเสมือน (Virtual Assistants) ปัจจุบันเทคโนโลยีผู้ช่วยเสมือนก้าวหน้าไปมาก เช่น Siri, Alexa, Bixby หรือ Google Assistant ผู้ช่วยเสมือนมีความสามารถตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของผู้เรียนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลในมหาวิทยาลัย ตัวอย่าง Chatbots ที่ให้การสนับสนุนนักศึกษาตลอด 24 ชั่วโมง เช่น AgentBot ที่พัฒนาขึ้นสำหรับ Siglo21 University ในอาร์เจนตินา เพื่อให้การสนับสนุนนักศึกษาด้านวิชาการ Amazon Echo Dots ใช้ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาเพื่อให้ข้อมูลแก่นักศึกษา ตั้งแต่ให้คำปรึกษาทางวิชาการไปจนถึงความช่วยเหลือด้านการเงิน
มหาวิทยาลัย Northeastern University พัฒนา Husky Helper ผู้ช่วยเสมือนเพื่อตอบคำถามสำคัญ20 อันดับแรกที่ผู้เรียนถามจากศูนย์บริการข้อมูลในช่วงสามปีที่ผ่านมา AskSLU พัฒนาขึ้นสำหรับมหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ (Saint Louis University) ช่วยตอบคำถามกว่า 130 ข้อจากนักศึกษา เป็นต้น
การเรียนรู้ที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับบุคคลและการช่วยเหลือให้ข้อมูลและคำปรึกษากับนักศึกษารายบุคคล ณ เวลาที่ต้องการ เป็นแนวโน้มใหญ่ของการศึกษาในอนาคต เทคโนโลยีเปิดโอกาสให้ผู้เรียนออกแบบการเรียนรู้ของตนเองเพื่อตอบโจทย์งานแห่งอนาคต
มหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วกว่าที่เคยเป็นมาเพื่อเป็นสถาบันที่ช่วยสร้างอนาคตและโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ พร้อมกับเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับการปรับเปลี่ยนทักษะสำหรับคนทำงานทุกช่วงวัยเพื่อให้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจอัตโนมัติได้อย่างยืดหยุ่นและมั่นคง
ข้อมูลอ้างอิง
6 เทคโนโลยีพลิกผันมหา'ลัย ยุค 4.0
ส่อง 6 เทรนด์ EdTech 2022: เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้แห่งอนาคต
ข่าวที่เปิดอ่านมากที่สุด
สพฐ. ร่วมกับ Starfish Education เปิดตัว การเรียนรู้แห่งอนาคต สร้างทักษะอนาคตเยาวชน Future Youth Thailand Building future skills Anywhere, Anytime
12.12.24
โรงเรียนปลาดาวต้อนรับคณะสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาการศึกษา
20.12.24
มูลนิธิสตาร์ฟิชเอ็ดดูเคชั่น เข้าพบท่านองคมนตรี รายงานผลการดำเนินงานของมูลนิธิฯ และรางวัล World best school ของโรงเรียนปลาดาว
07.12.24
Starfish Education เข้าร่วมแลกเปลี่ยนการประชุมเพื่อเก็บข้อมูลตามมิติพลังอำนาจของชาติ ด้านสังคมจิตวิทยา การขับเคลื่อนนโยบายด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
16.12.24