“อัมพร” จี้ครูปรับการสอนสู่ Active Learning โรงเรียนต้องมีหลักสูตรของตัวเอง

2 ปีที่แล้ว
1518 views
โดย Starfish Labz
“อัมพร” จี้ครูปรับการสอนสู่ Active Learning โรงเรียนต้องมีหลักสูตรของตัวเอง

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดการประชุมในวันนี้เพื่อสร้างความเข้าใจ ความชัดเจนให้แก่หน่วยปฏิบัติในระดับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา โดยมีขอบข่ายเนื้อหาเกี่ยวกับนโยบาย แนวทาง และแผนการขับเคลื่อนการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ผ่าน Active Learning รวมถึงการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา การจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน แนวปฏิบัติการวัดและประเมินผลตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 แนวทางและเครื่องมือการวัดและประเมินผลสมรรถนะของผู้เรียน โดยคาดหวังว่า ในระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะขับเคลื่อนการใช้หลักสูตรแกนกลางฯ ผ่านกระบวนการ Active Learning ในระดับสถานศึกษาจะมีหลักสูตรสถานศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ในระดับครูผู้สอนจะมีหน่วยการเรียนรู้บูรณาการ จัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) และส่งผลให้นักเรียนมีสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

ทั้งนี้ สพฐ.จึงต้องการขับเคลื่อนหลักสูตรไปสู่กระบวนการจัดการเรียนการสอนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อผู้เรียน โดยการดำเนินการในการขับเคลื่อนกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) นั้น สพฐ.จะมุ่งพัฒนาครูให้เข้าใจ ว่า อะไรคือการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning และจะจัดการเรียนการสอนอย่างไรให้ตอบโจทย์การเรียนรู้ดังกล่าว ซึ่งแม้จะมีการอบรมครูไปแล้ว กว่า 4 แสนคน แต่เราต้องการให้เกิดการขับเคลื่นในการปฏิบัติเรื่องนี้อย่างจริงจัง ดังนั้นครูและผู้บริหารจะต้องกลับไปปรับปรุงหลักสูตรของสถานศึกษาให้มุ่งสู่การเป็นสมรรถนะ ซึ่งทุกโรงเรียนจะต้องไปทำหลักสูตรของสถานศึกษาตัวเองให้เหมาะสมตามบริบทของพื้นที่ เช่น โรงเรียนในพื้นที่ภาคใต้มีการอนุรักษ์เรื่องวัฒนธรรมโนราห์ โรงเรียนก็ต้องมุ่งทำหลักสูตรท้องถิ่นให้เด็กได้เรียนรู้วัฒนธรรมของตัวเอง เป็นต้น จากนั้นเมื่อได้หลักสูตรสถานศึกษาที่เป็นหลักสูตรของตัวเองแล้วครูจะต้องนำหลักสูตรไปคลี่ เพื่อกำหนดหน่วยการเรียนออกแบบการวัดและประเมินผล เพื่อให้เกิดการประเมินผลสัมฤทธิ์ของเด็กที่แท้จริงว่าเด็กเรียนไปแล้วเกิดสมรรถนะการเรียนรู้แบบไหนอย่างไร

“ครูผู้สอนจัดการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ และการวัดและประเมินผล โดยให้เด็กเป็นคนแสวงหาความรู้เอง แล้วให้ครูเป็นคนคอยอำนวยการชี้แนะแนวทาง (Coaching) ส่วนทางผู้อำนวยการเขตพื้นที่และผู้อำนวยการโรงเรียนเองก็ต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ครูได้ทำการวัดและประเมินผลที่เปลี่ยนไปตามบริบท สุดท้ายแล้วเมื่อทุกอย่างดำเนินไปในทิศทางเดียวกันก็จะเป็นการขับเคลื่อน Active Learning ให้เป็นรูปธรรมได้อย่างแท้จริง ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม ที่ไม่ได้ต้องการคนเรียนเก่งสอบเก่งเท่านั้น แต่ต้องการคนที่ทำงานเป็น คิดเป็น ทำเป็น แตกต่างกันไปตามบริบทของท้องถิ่นและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่”

“จากนี้ไปครูต้องปรับแผนการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ และการวัดประเมินผลใหม่ให้สอดรับกับการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning เพราะสมัยก่อนครูจะต้องยืนสอนอยู่หน้ากระดาน เป็นผู้บอกความรู้ แต่จากนี้ไปครูต้องเป็นคนอำนวยการ และวิธีการแสวงหาความรู้เด็กต้องทำเอง โดยสิ่งเหล่านี้ที่เราอยากให้เกิดขึ้น ในส่วนเขตพื้นที่ ผอ.โรงเรียนจะต้องปรับการส่งเสริมสนับสนุนให้ครูในเรื่องการวัดและประเมินผลด้วย เพราะสุดท้ายแล้วจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนการกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning อย่างแท้จริง”เลขาฯ กพฐ.กล่าว

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : www.obec.go.th/archives/646066


Share:
|

มาร่วมเรียนรู้กับ Starfish Labz

แหล่งเรียนรู้และชุมชนออนไลน์เพื่อนักการศึกษาและผู้ปกครอง

ลงทะเบียน

ข่าวที่เปิดอ่านมากที่สุด