อัปสกิลอนาคตลูก เริ่มต้นจากรักที่จะอ่าน และริเริ่มไอเดียผ่าน ‘STEAM Play’
วันนี้ Starfish Labz มีโอกาสได้สัมภาษณ์ พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี หรือ คุณหมอแพม เจ้าของเพจ ‘หมอแพมชวนอ่าน’ หลังจากได้ให้เกียรติมาร่วมเสวนาบนเวที ในงานเวิร์กช้อป ‘STEAM Play’ ณ อุทยานการเรียนรู้ TK Park ก็ยังมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ พวกเราจึงเก็บคำถามมาฝากคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ ตั้งแต่เรื่องระบบการศึกษาที่เปลี่ยนไป และทำไมเราถึงยังต้องคอยเก็บสกิลใหม่ๆ อัปเลเวลให้ลูกๆ และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา
สามารถดู Live ย้อนหลังได้ที่ www.facebook.com/starfishlabz/videos/603183937680216
หรืออ่านบทความเพิ่มเติม ‘TALK STEAM PLAY สร้างทักษะให้ลูก ก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 โดย Starfish Education’ bit.ly/3nzC2wT และ WORKSHOP STEAM PLAY สร้างทักษะให้ลูก ก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 โดย Starfish Education bit.ly/3AlzvOt
การปฏิรูปการศึกษาเริ่มได้ที่บ้าน
คุณหมอแพมเล่าให้ฟังว่า สมัยเรียนมัธยมฯ แม้จะได้เรียนในโรงเรียนเครือสาธิต ที่ก็เด่นเรื่องพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์เด็กๆ ได้ทันท่วงที เพราะขึ้นตรงกับคณะศึกษาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยแห่งนั้น พัฒนาการของนักเรียนจึงโดดเด่น ผลการเรียนก็น่าพอใจ
แต่พอสอบติดคณะแพทย์ศาสตร์ได้ ปีนั้นมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนแบบใหม่มาใช้ระบบ ‘Problem Based Learning’
จากที่เคยแต่นั่งฟังอาจารย์บรรยายมาตลอดชีวิต ก็ต้องลุกมาตั้งโจทย์ที่อยากจะเรียนรู้ด้วยตัวเอง ค้นคว้าหาคำตอบเอง แล้วนำเสนอกับอาจารย์เพื่อนำไปปรับปรุงการเรียนรู้ของตัวเองให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งทำให้ในตอนนั้นคุณหมอแพมเป็นนักศึกษาแพทย์ที่รู้สึกวิตกกังวล และไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองว่าจะทำได้ เพราะไม่เคยฝึกคิดวิเคราะห์ริเริ่มสร้างสรรค์เองมาก่อน
ทำไมเราทุกคนถึงควรพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา
หมอต้องบอกก่อนว่าความสนใจและเป้าหมายที่จะพัฒนาตนเองของแต่ละคนนั้นก็ไม่เหมือนกัน
สำหรับหมอแพมเอง การได้เข้าห้องสมุด เดินร้านหนังสือ และได้อ่านหนังสือ ถือเป็นเรื่องสนุกและมีความสุขสำหรับตัวเอง ส่วนการทำเฟซบุ๊กเพจ วันไหนเราพร้อมแชร์เราก็แชร์ หมอเลยไม่รู้สึกฝืนหรือต้องบังคับตัวเองขนาดนั้น
แต่เข้าใจว่าทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับโซเชียลมีเดียเยอะ มีอะไรให้ทำสนุกๆ ฆ่าเวลาเยอะเลย เพียงแค่อยากให้ลองแบ่งเวลาสักนิด หันมาพัฒนาตัวเองทุกวัน ค่อยๆ สะสมความรู้ใหม่ๆ ในระหว่างอยู่บนโลกออนไลน์ไปด้วย
ไม่ว่าจะเปิดชมอะไรผ่าน youtube channel หรือ facebook page ฟัง podcast หัวข้อที่เราสนใจระหว่างขับรถ หรือเปิดอ่านบทความดีๆ จากแหล่งเรียนรู้ที่น่าเชื่อถือ และลงเรียนคอร์สออนไลน์ฟรีกับ Starfish Labz ก็ได้ ถ้าเริ่มต้นให้ได้วันละ 15 นาที เผลอแป๊บๆ ก็ครบปี เราจะสะสมความรู้ได้ถึงปีละ 5,475 ชั่วโมงเลยทีเดียว
การเรียนรู้แบบเดิมๆ ไม่เพียงพออีกต่อไป
ถ้าเปรียบเทียบกับทักษะสมัยก่อน ที่มักจะมีโครงสร้างเป็นรูปตัว V คือ ผู้เรียนจะต้องรู้เรื่องพื้นฐานแล้วค่อยๆ เจาะลึกเฉพาะด้านลงไปเรื่อยๆ แต่สำหรับในยุคนี้ต้องเป็นรูปตัว T คือ รู้กว้างรอบด้านพร้อมๆ กับรู้ลึกในหลายด้านด้วย และยังต้องผสมผสานศาสตร์และศิลป์เพื่อสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจง่าย
อย่างช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 อาชีพหมอก็ยังต้องเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง TeleMed เพื่อใช้ตรวจคนไข้ออนไลน์ระหว่างที่กักตัวอยู่ที่บ้าน รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลคนไข้ และเรียกดูข้อมูลต่างๆ บนระบบคลาวด์
ยิ่งเรามีหลายทักษะ ก็ยิ่งช่วยหาคำตอบที่ดีที่สุดในสถานการณ์นั้นๆ และรู้ด้วยว่ายังมีอีกตั้งหลายวิธีที่จะแก้ปัญหาหรือทำเป้าหมายให้สำเร็จ
เด็กรุ่นใหม่อาจมีทักษะการเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่ยังวัยรุ่นเพราะเขาเกิดมาพร้อมๆ กับเทคโนโลยีที่ช่วยให้ทุกคนเข้าถึงความรู้ได้เพียงปลายนิ้ว อยากรู้อะไรก็ค้นหาได้แบบเจาะลึก นำความรู้มาฝึกฝนต่อยอดเอง ได้เจอประสบการณ์ตรงกับตัว
ขอแค่ขยันคิด ขยันค้น และหัดทดลองเรียนรู้ แม้จะล้มเหลวก็ไม่เป็นไร เพราะกระบวนการที่ผ่านมานั่นแหละ คือทักษะชีวิตที่จะติดตัวเราไปตลอด
ก้าวสู่บทบาท Content Creator
หมอแพมเป็นทั้งกุมารแพทย์และเป็นแม่ ที่ชื่นชอบติดตามข่าวสารผ่านโลกออนไลน์ตั้งแต่สมัยแรกๆ ของยุคอินเทอร์เน็ต เมื่อก่อนก็จะนิยมตั้งกระทู้กันในเว็บบอร์ดสังคมพ่อแม่ พอเราเห็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ก็อยากจะชี้แจง คลายความสงสัยของพ่อแม่
เมื่อราวๆ 8 ปีก่อน โซเชียลมีเดียอย่าง Facebook เริ่มเข้ามามีอิทธิพลกับสังคมไทย หมอจึงตัดสินใจเปิดเพจ หมอแพมชวนอ่าน www.facebook.com/drpambookclub เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ ที่มักจะใช้สื่อออนไลน์เป็นแหล่งเรียนรู้ และสอบถามปัญหาจากช่องทางเหล่านี้
จุดนี้ถือเป็นดาบ 2 คม เพราะบ่อยครั้งคำตอบที่เราหาได้จากความคิดเห็นบนโลกโซเชียลอาจไม่ถูกต้อง เป็นเพียงความเชื่อผิดๆ ที่เชื่อตามๆ กันมา ถ้าไม่ตรวจสอบแหล่งอ้างอิงให้ดีๆ ก็อาจทำให้เราตัดสินใจแบบผิดๆ และส่งผลกระทบกับชีวิตเราได้
แต่หมอก็เข้าใจว่าหลายๆ คน แค่อยากได้เพื่อนที่ปรึกษาได้ สนใจค้นหาคำตอบในการเลี้ยงลูกเหมือนๆ กัน หมอเลยมักจะใช้สรรพนามเวลาเขียนคอนเทนต์ว่า “เรา” ไม่ว่าจะเล่าเรื่องที่เจอกับตัวเอง ไปค้นคว้ามาจากการอ่านหนังสือหรืองานวิจัย ก็จะคอยมาเล่ามาแชร์ให้เพื่อนๆ ในเพจฟัง เราก็ได้เรียนรู้จากปัญหาและพฤติกรรมของเด็กๆ ที่สอบถามกันเข้ามาใน inbox ไปกับทุกๆ คนด้วย
เพราะหมอเองก็ประสบพบเจออุปสรรคในการเลี้ยงลูกไม่ต่างจากคุณพ่อคุณแม่ทั่วไปเลย ในบทบาทแม่เราไม่ได้เก่งไปกว่ากันเลยค่ะ แค่โชคดีหน่อยที่หมอสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายกว่าเพราะอยู่ในวงการแพทย์
แต่หลักๆ แล้วหมอจะเน้นชวนพ่อแม่พาลูกอ่านหนังสือตามชื่อเพจเนอะ เพราะส่วนตัวหมอเป็นนักอ่าน เราจะรู้สึกผ่อนคลายมากๆ เวลาได้อ่านนิทานให้ลูกฟัง เมื่อทำแล้วดีก็อยากบอกต่อคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นให้ทำบ้าง
การอ่านหนังสือด้วยกันนั้นมันมีมนตร์เสน่ห์มากๆ ค่ะ นอกจากเปิดโลกเขา ชวนให้เขาครุ่นคิดตามตัวละครในนิทานแล้ว ยังช่วยสร้างสายใยรักและความอบอุ่นคอยเติมเต็มความรู้สึกในหัวใจลูก ให้เขาเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง มั่นใจ มีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง และเป็นเด็กที่มีความสุข
วิธีเลือกหนังสือให้ตรงตามพัฒนาการแต่ละช่วงวัยของลูก
หนังสือนิทานมักจะระบุไว้บนหัวมุมปกหนังสือว่าเหมาะสำหรับเด็กวัยไหน ซึ่งส่วนมากจะออกแบบเรื่องราวให้มีความสอดคล้องกับพัฒนาการของสมองและกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของเด็กๆ
ช่วง 0-3 เดือน ให้อ่านหนังสือรวมนิทานสั้นๆ ที่จบในเรื่อง เลือกเรื่องตามใจคุณพ่อคุณแม่เลยค่ะ ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือภาพประกอบก็ได้ เพราะว่าสายตาของเด็กแรกเกิดถึงสามขวบจะยังไม่ดี เขาจะชอบฟัง อยากได้ยินเสียงเราอยู่ใกล้ๆ มากกว่า เราก็แค่คอยมอบเวลาและความอบอุ่นให้ลูกเต็มที่ ผ่านกิจกรรมง่ายๆ อย่างการเล่าหรืออ่านนิทานให้เขาฟัง
ช่วง 4-6 เดือน ตาลูกเริ่มมองเห็นชัดแจ๋วแล้ว เริ่มโฟกัสสิ่งต่างๆ ยิ่งสีสดๆ เขาจะยิ่งชอบ จึงควรเลือกหนังสือภาพประกอบเล่มใหญ่ๆ หน่อย ให้เขาเห็นภาพเต็มตาเต็ม 2 หน้ากระดาษ ประกอบเรื่องเล่าในนิทาน
ช่วง 6-12 เดือน ลูกเริ่มคลาน เคลื่อนไหวได้คล่อง เริ่มหยิบฉวย เอามือมาอม หรือหยิบจับข้าวของเข้าปากมาขบแทะ หนังสือที่เหมาะมือเขามักจะออกแบบเป็นบอร์ดบุ๊กที่เจียนมุมมนไม่ทำให้เด็กๆ บาดเจ็บ มีความแข็งแรงคงทน ไม่ฉีกขาดง่าย เพราะเด็กๆ อาจจะกะแรงยังไม่ถูก ไม่สามารถถนอมสิ่งของได้
ส่วนมากเนื้อหาไม่ซับซ้อน ในตัวเล่มมักมีลูกเล่นอยู่ข้างใน เพื่อฝึกเชาว์ปัญญาอย่างง่าย หรือออกกำลังกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ เช่น ให้เด็กๆ หัดจับคู่ภาพให้เข้าพวก จดจำภาพกับคำเรียกชื่อสิ่งต่างๆ รอบตัว มีรูให้เขาสวมนิ้วเป็นขาสัตว์ หรือมีปุ่มกดเกิดเสียงร้องแบบต่างๆ ตามเสียงสรรพสัตว์และธรรมชาติรอบตัว
ช่วง 1 ขวบ เด็กเริ่มเข้าใจภาษาผ่านการฟัง เริ่มสะสมคลังคำศัพท์มากขึ้น หนังสือที่อ่านให้ลูกฟัง ก็ควรเป็นนิทานที่เริ่มมีเรื่องราว มีเหตุมีผลที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน
ช่วง 2-3 ขวบ ชอบนิทานที่เป็นเรื่องราวใกล้ตัว และเริ่มเรียนรู้โลกภายนอกผ่านนิทานมาใช้ในชีวิตประจำวันของตัวเองได้
ช่วง 3-4 ขวบ ลูกเลือกนิทานที่อยากอ่านเองได้แล้ว อ่านในเรื่องที่เขาชอบก็จะดีที่สุด
5-7 ขวบ ลูกเข้าวัยประถมศึกษา เด็กๆ จะมีบุคลิกที่เฉพาะตัวขึ้น เขาจะเริ่มมีแนวเรื่องที่ชอบชัดเจน เช่น ชอบเทพนิยายที่มีนางฟ้า แม่มด ผีสางนางไม้ หรือเป็นเรื่องการสร้างมิตรภาพและได้เป็นฮีโร่ปกป้องความยุติธรรม เป็นต้น ซึ่งเด็กๆ จะสามารถเข้าใจเนื้อหานิทานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
เคล็ด(ไม่)ลับพาลูกท่องโลกผ่านตัวหนังสือ
แค่เริ่มต้นที่เรารู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของการอ่านก่อน แล้วจัดเวลามาอ่านนิทานก่อนนอนให้ลูกฟังให้ได้ทุกคืน คืนละ 1 เรื่องสั้นๆ วันละไม่เกิน 15 นาที ถ้าใครติดลมก็อาจเพิ่มได้ รวมๆ แล้วใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงเท่านั้นเอง
บางทีลูกก็ชอบฟังเรื่องเดิมซ้ำๆ หรืออยากฟังต่อจากความเดิมตอนที่แล้ว บางคืนก็อาจอยากเปลี่ยนเรื่องบ้าง ก็ให้เขาได้มีส่วนร่วมเลือกนิทานที่เขาชอบ
พ่อๆ แม่ๆ ไม่ต้องเล่นใหญ่โชว์การละครมากก็ได้ เทคนิคในการอ่านก็แล้วแต่ความถนัดของพ่อแม่แต่ละคน ใครสามารถใส่น้ำเสียงเปลี่ยนตามตัวละครได้ จะช่วยเพิ่มความสนุกให้ลูกเราได้อรรถรส ยิ่งเขารู้สึกสนุก ลูกก็จะยิ่งจดจ่อกับเรื่องราวได้ตั้งแต่ต้นจนจบ
แค่ลูกได้ยินเสียงทุ้มๆ นุ่มๆ อันคุ้นเคยก็น่าฟังแล้ว เราอาจปรับเพิ่มความน่าลุ้นระทึก หรือหยุดสอบถามหรือชี้ชวนให้ลูกตั้งข้อสังเกต หรือแสดงความคิดเห็นของลูกเป็นระยะๆ ในระหว่างดำเนินเรื่องอยู่ก็ได้ เป็นกิจกรรมกระตุ้นจินตนาการ กระตุ้นความคิดเชื่อมโยงเหตุผล และเป็นกลวิธีช่วยเตรียมความพร้อมให้ลูกยอมเข้านอนแต่โดยดีไปด้วยในตัว
“จงทำให้การอ่านนิทานเป็นกิจวัตรที่เด็กๆ ขาดไม่ได้ เหมือนกับการอาบน้ำและแปรงฟันก่อนเข้านอน”
หมอมองว่ายิ่งเราเริ่มอ่านนิทานให้ลูกฟังได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะสร้างกิจวัตรประจำวันได้ง่าย และปลูกฝังความรู้สึกรักการอ่านให้เขาไปในตัว หนังสือจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของลูกเอง
เราต้องสร้างบรรยากาศให้เขาผ่อนคลาย ไร้ความกังวลใจ จบกิจกรรมการเล่นแล้ว ไม่วอกแวกกับเรื่องอื่นอยู่ แล้วเราถึงจะเริ่มอ่านค่ะ
ยามที่เราช่วยกันเปิดหน้ากระดาษ ได้เห็นภาพประกอบในหน้าถัดไป และคอยสังเกตทุกรายละเอียดไปด้วยกัน เขาจะรู้สึกดีกับห้วงเวลาแบบนี้ไปเอง
แรกๆ ลูกอาจไม่มีสมาธิหรืออยู่ไม่สุขบ้างก็ไม่เป็นไร พ่อแม่จะต้องใจเย็นๆ เพียรทำไปเรื่อยๆ แล้วเราจะเห็นพัฒนาการของเขาเองว่าหนังสือเล่มไหนทำงานกับลูกเรา
อย่างน้อยๆ ก็ช่วยให้ลูกเปิดใจอยากหยิบหนังสือมาเปิดอ่านยามว่าง ค้นคว้าเรื่องที่เขาสนใจด้วยตัวเขาเองในวันข้างหน้า แต่ไม่จำเป็นที่เด็กๆ จะต้องกลายเป็นหนอนหนังสือทุกคน
เราสามารถเพิ่มทางเลือกให้เขาเรียนรู้ผ่านกระบวนการแบบต่างๆ ไปด้วยได้ ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของลูกเราชื่นชอบวิธีการแบบไหน ก็ให้น้ำหนักส่วนนั้นเพิ่มเข้ามา เช่น ลูกชอบลงมือจับต้องของจริงมากกว่า บางคนชอบออกสำรวจ สังเกต และจดบันทึก แล้วเราค่อยมาหาอ่านข้อมูลเชิงลึกได้จากหนังสือในห้องสมุด หรือสื่อออนไลน์ที่มีคุณภาพเพิ่มได้
นิทานประจำบ้านของหมอแพม
นิทานที่เหมาะสำหรับเด็กเล็กๆ อยากแนะนำของนักเขียนไทย ได้แก่ ‘พี่ตุ๊บปอง’ อาจารย์มักจะนำนิทานพื้นบ้านที่เรารู้จักกันมาแต่งใหม่ในรูปแบบนิทานคำกลอน เช่นเรื่อง ‘แม่นกกาเหว่า’, ‘ตาอินตานา’, และ ‘กระต่ายตื่นตูม’ เหมาะมากๆ สำหรับการอ่านออกเสียง เพราะคำคล้องจองไพเราะมาก เด็กๆ เองก็จะชอบใจ ลองเลียนเสียงทวนคำ หัดอ่านตามจนท่องจำได้
หรือนิทานของอาจารย์ ‘ชีวัน วิสาสะ’ ที่จะสร้างสรรค์เนื้อเรื่องให้เด็กๆ เรียนรู้เรื่องราวรอบๆ ตัว เช่น นิทานชุด ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ จะเป็นซีรีส์เด่น ที่มักสอดแทรกแง่คิดเริ่มจากเรื่องแก่นๆ แบบเด็กๆ ที่พาไปพบกับเรื่องราวดีๆ เช่น ความมีน้ำใจของคนไทยและเสน่ห์ของท้องถิ่นไทย เป็นต้น
สุดท้ายนิทานของอาจารย์ ‘ปรีดา ปัญญาจันทร์’ จะมีจุดเด่นที่เน้นให้เด็กๆ หัดช่างสังเกตและเอะใจ ได้เรียนรู้เรื่องความแตกต่างของสี ตัวเลข ตัวอักษร รูปร่างวัตถุ ไปพร้อมๆ กับเรื่องราวอบอุ่นใจ เช่นเรื่อง ‘ป่าเปลี่ยนสี’, ‘เม่นหลบฝน’, และ ‘นิทานที่ไม่มีตัวอักษร’ ซึ่งหลายเล่มคว้ารางวัลระดับนานาชาติด้วยนะ หมอจึงอยากแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่มีไว้ติดตู้หนังสือที่บ้านค่ะ
ฝากหนังสือมอบกำลังใจและไอเดียดีๆ สำหรับพ่อแม่
‘How to คิด เพื่อให้เป็น Happy Mom’
หนังสือเล่มนี้หมอเขียนขึ้นผ่านประสบการณ์การเลี้ยงลูกของตัวเอง ถ้าอ่านแล้วจะได้ฟีลเหมือนกับมีเพื่อนมาตบบ่าปลอบใจ แบบฉันเข้าใจเธอนะ เพราะฉันก็เจอมาแบบเธอเหมือนกัน
ส่วนใหญ่จะชวนให้พ่อแม่เรียนรู้ความขัดแย้งในวิธีการเลี้ยงลูกภายในครอบครัว หรือความที่เรามักชอบเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับเพื่อน หรือคนดังในโลกโซเชียลจนสะสมเป็นความเครียดได้ค่ะ ซึ่งความทุกข์ของพ่อแม่อย่างเราส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากความคาดหวังในตัวลูกของพ่อแม่เอง
จึงต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองให้ดีๆ ว่าเราต้องการทำเพื่อลูก ไม่ใช่เพื่อตัวเราเอง เราจะพอใจก็ต่อเมื่อเห็นลูกเติบโตมาในสภาพแวดล้อมแบบไหน ถ้าเราอยากให้เขาเป็นเด็กที่มีความสุข เราก็ต้องไม่เป็นแม่ที่อมทุกข์หรือโมโหอยู่ตลอดเวลา เพราะเด็กๆ จะซึมซับอารมณ์เหล่านั้นจากเราได้ไวมาก เราจึงต้องฮีลใจตัวเองให้ไหวก่อนจึงจะเป็นที่พึ่งให้ลูกได้
หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนเพื่อนที่คอยมาบีบมือให้กำลังใจทุกปัญหาของชีวิตคุณแม่ ที่ถาโถมเข้ามาพร้อมกันแบบตั้งตัวไม่ทัน จึงขอฝากให้หนังสือเล่มนี้อยู่เคียงข้าง ในวันคืนยากๆ รับรองว่าใจจะเบาสบายขึ้นเยอะ แม้จะไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมดให้หายไปในทันที แต่จะบรรเทาทุกข์หลังอ่านจบแน่ๆ ค่ะ
แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่กำลังมองหาหนังสือรวมไอเดียดีๆ มาโค้ชลูกๆ เองที่บ้าน ก็ต้องไม่พลาดหนังสือ ‘สร้างทักษะแห่งอนาคตด้วย Makerspace และ STEAM Design Process’ เขียนโดย ดร.แพร CEO Starfish Education สามารถปรับใช้ได้ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยรุ่น ซึ่งอัดแน่นไปด้วยเคล็ดลับดีๆ ต่อไปนี้
⭐️ 2 ชุดทักษะแห่งอนาคต (สัดส่วนเนื้อหา 20%) เข้าใจเทรนด์การศึกษาโลกและทฤษฎี ‘3R ทักษะการเรียนรู้’กับ ‘8C ทักษะทางอารมณ์’ เพื่อเตรียมความพร้อมลูกน้อยนอกห้องเรียนได้เองตั้งแต่วันนี้
⭐️ 5 กระบวนการ STEAM Design Process (สัดส่วนเนื้อหา 30%) กระบวนการสะท้อนคิด ชวนลูกฝึกลับสมอง หัดคิดริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยตัวเองอย่างง่าย ทำได้ทุกวัน
⭐️ 19 ไอเดียจัด Makerspace ที่บ้าน (สัดส่วนเนื้อหา 50%) พร้อมตัวอย่าง กิจกรรมพัฒนาสมองเด็ก เริ่มต้นออกแบบกิจกรรมตามความสนใจของลูก ปรับใช้ได้กับเด็กเล็กจนถึงเด็กโต
เนื้อหาภาพประกอบ 4 สี ราคาเพียง 320 บาท
หาซื้อได้ที่ร้านหนังสือ SE-ED , B2S, Kinokuniya, และร้านหนังสือก็องดิด
รู้จัก STEAM Design Process เพิ่มเติมได้ในคอร์สออนไลน์ของเรา เรียนฟรี!
Related Courses
คู่มือการสอนนวัตกรรม 3R ฉบับบ้านปลาดาว
คงจะดีถ้าการอ่านออกเขียนได้ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป นวัตกรรม3R โรงเรียนบ้านปลาดาว ได้ออกแบบชุดการสอนที่ง่ายและเกิดผล ...
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...
การออกแบบกล่องเพื่อการเรียนรู้ (Learning Box)
เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ และเด็กจำเป็นต้องเรียนที่บ้าน Learning box ...
การสอนภาษาไทย (3R)
การสอนภาษาไทยของมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมได้ออกแบบมาเพื่อพัฒนาทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน อย่างเป็นระบบเข้าใจง่ ...