การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ ของเด็กปฐมวัย โดยกระบวนการ...จิตศึกษา
การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย โดยกระบวนการจิตศึกษา “จิตศึกษา” คือกระบวนการในการพัฒนาปัญญาภายใน หรือความฉลาดด้านในของเด็กปฐมวัย หมายถึงการพัฒนาจิตวิญญาณ และความฉลาดด้านอารมณ์ (EQ) ของเด็กปฐมวัย เพื่อทำให้เกิดความรู้เท่าทันต่ออารมณ์และความรู้สึกของตนเองและผู้อื่นสามารถวิเคราะห์สาเหตุ และเข้าถึงความจริง ทำให้เกิดการเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโลกและผู้อื่นจากด้านในเพื่อให้เกิดความสุข ปัญญา และความรักต่อเพื่อนมนุษย์และทุกสิ่งในโลกของเรา ซึ่งกระบวนทัศน์ของจิตศึกษากับการพัฒนาโรงเรียนสุขภาวะ ได้มีกิจกรรมจิตศึกษา พัฒนาปัญญาภายใน ทั้ง 5 กิจกรรมนั่นคือ
1.กิจกรรมจิตจดจ่อ คือ การสร้างสมาธิในการเรียนของเด็กปฐมวัยให้จดจ่อกับเรื่องที่เกิดขึ้น มุ่งมั่น หรือกำลังมีสมาธิอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งในการเรียนรู้ในขณะที่ครูกำลังสอน เพื่อให้เด็กเกิดสมาธิต่อสิ่งที่กำลังเรียนรู้ ซึ่งในการจัดการเรียนรู้ของครูอาจจะใช้การเรียนรู้แบบใช้อุปกรณ์ และแบบไม่ใช้อุปกรณ์ ซึ่งตัวอย่างกิจกรรมที่จะทำให้เด็กจดจ่อในระดับปฐมวัย ก็เพื่อจัดบรรยากาศในชั้นเรียนให้เกิดความสนุกสนาน และให้เด็กมีสมาธิในการเรียนรู้ เช่น กิจกรรมการส่งน้ำ กิจกรรมการส่งหลอด การส่งยางในหลอด ส่งปิงปองด้วยช้อน กิจกรรมการร้อยพวงมาลัย เป็นต้น
2.กิจกรรม Brain gym คือ การพัฒนาสมองทั้งสองซีกให้มีการทำงานที่ดีมากขึ้น โดยใช้การฝึกอย่างง่ายๆช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการได้ยิน การมองเห็น เพิ่มประสิทธิภาพในการจดจำ ช่วยให้สมองตื่นตัวและยังช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด ช่วยให้รู้สึกสดใส พร้อมที่จะเรียนรู้
ประโยชน์ของกิจกรรม Brain gym
- ช่วยให้สมองสองซีกทำงานประสานกันได้ดี
- เพื่อกระตุ้นสมองส่วนการคิดหาเหตุผล การคิดแก้ปัญหา รวมทั้งทักษะทางด้านภาษา
- ช่วยให้สมองตื่นตัวจดจำได้ง่ายขึ้น
- ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด
3.กิจกรรมโยคะ คือ การสร้างความสมดุลของร่างกาย-จิตใจ และจิตวิญญาณ โดยรวมให้เป็นหนึ่งเดียวซึ่งการฝึกโยคะจะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การออกกำลังกายหรือการฝึกท่าโยคะ การหายใจหรือลมปราณ การทำสมาธิ โดยการฝึกท่าโยคะจะกระตุ้นอวัยวะและต่อมต่าง ๆ ในร่างกายให้ทำงานดีขึ้น สุขภาพจึงดีขึ้น
โยคะกับโรงเรียน ในแต่ละวันการเตรียมตัวเด็กก่อนเรียนนั้นมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการจัดการเรียนการสอน เพราะเมื่อเด็กพร้อม เขาจะเรียนรู้ทุกอย่างได้อย่างรวดเร็ว แนวทางที่โรงเรียนใช้เพื่อเตรียมเด็กก่อนเรียนในแต่ละวันนั้นเราเรียกว่า “จิตศึกษา”ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที ก่อนเข้าเรียน กิจกรรมอย่างหนึ่งในหลายๆกิจกรรมที่ครูใช้คือ กิจกรรมโยคะนั่นเอง โยคะเป็นแนวทางการฝึกควบคุมตัวเองทางด้านร่างกายและจิตใจ เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้ผู้ฝึกสัมผัสถึงความสุข มีสุขภาพแข็งแรง มีบุคลิกภาพที่ดี ควบคุมอารมณ์ได้ดีประสานกับความเข้าใจในธรรมชาติ ทำให้มีจิตใจละเอียดอ่อน และอ่อนโยน
4.กิจกรรม Body scan คือ การทำให้เด็กรับรู้ความรู้สึกที่ร่างกาย โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้เด็กปฐมวัยรู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งความรู้สึกผ่อนคลายจะช่วยในการเรียนรู้ได้ดีกว่าความรู้สึกเครียด หรือกังวลใจ เพราะกิจกรรมนี้จะทำให้เด็กรู้สึกสงบ เมื่อสงบเด็กปฐมวัยก็ยิ่งเรียนรู้และมีการคิดวิเคราะห์ ใคร่ครวญได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นการใช้ กิจกรรม Body Scan เพื่อเป็นการฝึกฝนสติให้กับเด็กปฐมวัย เมื่อเด็กมีการฝึกฝนสติบ่อยๆ จะทำให้เด็กๆ กลับมารู้ตัวไวหรือ ชำนาญมากขึ้นในการกลับมารู้ตัวเอง หรืออาจจะดึงจิตกลับมาอยู่ที่ความรู้สึกทางกาย ไม่ให้ฟุ้งซ่าน พอเด็กๆเริ่มชำนาญการรู้สึกทางกายแล้ว ก็สามารถฝึกฝนสู่การรู้ให้เท่าทันความคิดที่เกิดขึ้น รู้เท่าทันความรู้สึกของอารมณ์อื่นที่เกิดขึ้นได้นั่นเอง ซึ่งกิจกรรม Body Scan มีรูปแบบคือ กิจกรรมแบบยืน กิจกรรมแบบนั่ง และกิจกรรมแบบนอน โดยมีขั้นตอนของกิจกรรม Body Scan คือ 1. ขั้นเตรียม 2. ขั้น Scanใส่ข้อมูลที่ดี และ 3.ขั้นปลุก
ประโยชน์ของกิจกรรม Body Scan คือ
- ช่วยลดความกังวลและความเครียด
- ช่วยฝึกสติ การรู้ตัว การอยู่กับปัจจุบัน
- ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย
5. กิจกรรมเดินกำกับสติ กิจกรรมเดินกำกับสติเป็นวิธีการฝึกให้มีสติรู้ตัว จดจ่อ มั่นคงกับการก้าวเดิน มีสมาธิทำให้รู้สึกผ่อนคลาย กิจกรรมการเดินกำกับสติคือ การเอาสัมผัสที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินอย่างเชื่องช้ามาเป็นจุดในการตั้งสติ คล้ายกับการกำหนดลมหายใจที่ใช้ในการฝึกสมาธิในท่านั่ง การฝึกสติอยู่กับขณะเวลาที่ประสาทการรับรู้ อยู่กับปัจจุบัน ช่วยให้สติของเด็กมั่นคงขึ้น และยังเป็นเสมือนจุดยึดเหนี่ยวให้กับจิต เมื่อเด็กไม่ตั้งอยู่ในสมาธินั่นเอง
ประโยชน์ของการเดินสมาธิ มีมากมายกลายประการคือ
1. ทำให้เด็กปฐมวัยมีสติที่จดจ่อและมั่นคงกับการก้าวเดิน และยังสามารถช่วยลดความเครียด และภาวะซึมเศร้าได้ด้วยมีสติที่จดจ่อและมั่นคง
2. เกิดความคุ้นเคยต่อระบบความคิดในจิตใจของเด็ก รวมถึงสิ่งที่จิตเปิดรับในขณะที่ฝึก
3. เป็นโอกาสให้เด็กได้ฝึกดึงสติกลับมาอยู่กับช่วงเวลาในปัจจุบัน
4. เด็กรู้สึกไวต่อการตอบสนองของประสาทสัมผัสที่เกิดขึ้นในร่างกาย
เห็นได้ว่า การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย โดยกระบวนการ จิตศึกษา เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การช่วยเหลือเด็กปฐมวัยให้ประสบความสำเร็จ เพื่อบูรณาการในการจัดประสบการณ์ และจัดบรรยากาศชั้นเรียนให้เป็นห้องเรียนแห่งความสุข ห้องเรียนที่อ่อนโยน ห้องเรียนเต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะนั่นเองทั้งนี้ สามารถรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ www.StarfishLabz.com
ครูทิพวัลย์ สังข์โชติ
โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๘๘ (บ้านคลองควน)
Related Courses
การประเมินภาวะการเรียนรู้ถดถอย
การประเมินภาวะการเรียนรู้ถดถอยในวันที่โรงเรียนกลับมาเปิดเทอมใหม่อีกครั้ง หลังจากที่เด็กๆ เรียนออนไลน์มาเป็นเวลานาน ส่ง ...
ห้องเรียนสมรรถนะวิชาภาษาไทย โรงเรียนบ้านปลาดาว
เรียนรู้ไอเดียการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบห้องเรียนสมรรถนะวิชาภาษาไทย ฉบับโรงเรียนบ้านปลาดาว ทำความเข้าใจลักษณะห้ ...
การฟื้นฟูภาวะความรู้ถดถอย (Learning loss)
เรียนรู้ผลกระทบของ Learning Loss ที่ส่งกระทบถึงผู้เรียน ในภาพรวมของประเทศเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียน โดยใช้ 5ม ...
5 กระดานบอร์ดออนไลน์ช่วยสร้างห้องเรียนแบบมีส่วนร่วม
เรียนรู้เทคนิคการนำ 5 กระดานบอร์ดออนไลน์ Idroo, Miro, Classroomscreen, Whiteboard.fi และ HeyHi Whiteboa ...