“เทคโนโลยี” ตัวช่วยครู-ผู้บริหาร เสริมการเรียนรู้ พัฒนาคุณภาพเด็ก
หลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ หลายคนต้อง Work from home ทำงานที่บ้าน ขณะที่เหล่านักเรียนต้องเรียนออนไลน์ ครูต้องสอนออนไลน์ ส่งผลให้ “ระบบสารสนเทศ” เข้ามีบทบาทในการเรียนการสอน การจัดเก็บข้อมูล การส่งต่อข้อมูล การรายงานข้อมูล และการวัดประเมินผล
เมื่อการใช้ชีวิตต้องเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี “ศึกษานิเทศก์ หรือศน.” ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการชี้แนะแนวทางให้ผู้บริหารโรงเรียน ครู เกิดความรู้ มีทักษะในการบริหารจัดการศึกษาให้มีคุณภาพรอบด้าน รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้บริหาร ครูต้องมีการนำเทคโนโลยี และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้มากขึ้น เพราะไม่ว่าจะการเรียน การสอนล้วนอยู่บนโลกออนไลน์
“สราวุธ ชัยยอง ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.)เชียงใหม่ เขต 1” มีประสบการณ์ทำงานมาแล้วกว่า 7 ปี ได้มาเล่าถึงการทำงานในช่วงโควิด-19 ว่า ตั้งแต่เกิดโรคระบาด โรงเรียนแต่ละแห่งมีการนำเทคโนโลยี โดยเฉพาะระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้มากขึ้น
ขณะเดียวกันหน่วยงานต้นสังกัด อย่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) มีการส่งเสริม สนับสนุนพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ ๆ มาให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้นำไปใช้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน
สพป.เชียงใหม่ เขต 1 รับผิดชอบดูแลโรงเรียนทั้งหมด 85 โรง ซึ่งในส่วนของโรงเรียนขนาดใหญ่ ไม่น่ากังวล เนื่องจากมีการพัฒนาเทคโนโลยี อย่าง ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของตัวเองขึ้นมา เพื่อพัฒนาครู พัฒนาเด็ก แต่ในส่วนของโรงเรียนขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก ศน.จะต้องเข้าไปสนับสนุนโดยพยายามให้โรงเรียนดึงระบบสารสนเทศไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำข้อมูล และนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผน การจัดการเรียนการสอน การบริหารจัดการบุคลากร การเงิน การติดต่อระหว่างโรงเรียน รวมถึงการประเมินผล
“ครู ผู้บริหาร ได้มีการนำเทคโนโลยีมาสู่การจัดการเรียนรู้ เพราะต้องพัฒนาการเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะครูที่ต้องพัฒนาตนเองสอนออนไลน์ ศน.จะแนะนำ รวบรวมแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ที่จะให้ครูเข้าไปศึกษาเพื่อจัดกิจกรรมกับนักเรียน”
ปัจจุบันมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ที่เข้ามามีส่วนช่วยในการบริหารจัดการโรงเรียนและการจัดการเรียนรู้ของครู หลายระบบ ทั้งจากส่วนกลาง หรือหน่วยงานภายนอกที่เข้ามาช่วยพัฒนาระบบการศึกษา อย่าง Q-info ของสตาร์ฟิช ฉะนั้น หน้าที่ของศน. ต้องให้คำแนะนำแก่โรงเรียน ผู้บริหาร ครูในการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ไปใช้ให้เหมาะสมกับบริบท และภาระงานของโรงเรียน ที่สำคัญต้องเป็นระบบที่น่าเชื่อถือ เข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย และมีความปลอดภัยของข้อมูล
“เมื่อผู้บริหาร ครู ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาได้อย่างดี จะสามารถนำข้อมูลต่างๆ เช่น ผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ ผลทดสอบการอ่าน ผลการประเมินคุณภาพผู้เรียน NT ของเด็กแต่ละคนได้รู้ว่าเด็กแต่ละคนถนัดวิชาอะไร เรียนอะไรได้ อะไรที่ครูต้องเสริมให้แก่เด็ก มาพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กมากขึ้น”
ขณะเดียวกัน ผู้บริหารโรงเรียน หากนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการภายในโรงเรียน อย่าง ระบบการลงเวลาปฏิบัติงาน ระบบการการเช็คชื่อนักเรียน และระบบการตรวจสอบนักเรียนเข้าเรียน มาช่วยเสริมการบริหารจัดการโรงเรียน จะช่วยให้การบริหารจัดการในโรงเรียนมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
“ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา” มีความเฉพาะเจาะจง การนำไปใช้โรงเรียนต้องเลือกให้เหมาะสม ซึ่งในปัจจุบันทุกโรงเรียนมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศใช้อยู่แล้ว แต่อาจจะไม่ครอบคลุมในทุกด้าน ส่วนใหญ่จะเน้นใช้ในการเก็บข้อมูล หรือการรายงานข้อมูลผลการจัดการเรียนการสอนไปยังส่วนกลาง โดยอาจจะยังไม่สามารถนำข้อมูลที่มีอยู่จากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศส่วนกลางมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาผู้เรียนเท่าที่ควร
ปัจจัย หรืออุปสรรคที่ทำให้ครู หรือผู้บริหารโรงเรียนใช้เทคโนโลยีได้อย่างไม่สมบูรณ์ ส่วนหนึ่งเกิดจากยังไม่ได้ศึกษาระบบนั้นๆ อย่างละเอียด เน้นการนำเข้าข้อมูล หรือการรายงานเข้าสู่ระบบ การนำข้อมูลที่ได้จากการประมวลผลของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ เน้นเพียงส่วนการรายงานผลสรุปภาพใหญ่ของระบบเท่านั้น
หากครู ผู้บริหารโรงเรียน ได้ศึกษารายละเอียดผลสรุปของรายงานสารสนเทศ ของแต่ละระบบ จะทราบว่ามีสารสนเทศอื่น ๆ อีกหลายด้านที่ครู และผู้บริหารโรงเรียนสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน ทั้งด้านการบริหารจัดการโรงเรียน และการจัดการเรียนการสอน ทั้งนี้ เทคโนโลยี จะกลายเป็นเครื่องมือตัวช่วยครูในการพัฒนาการสอน สู่การพัฒนาทักษะ สมรรถนะให้แก่เด็ก
การจะใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา พัฒนาเด็ก ศึกษานิเทศก์เองก็ต้องทำความเข้าใจแต่ละระบบที่จะนำมาใช้ ก่อนแนะนำผู้บริหาร หรือครู เพราะถ้าศึกษานิเทศก์ไม่มีองค์ความรู้ด้านนี้ อาจจะแนะนำเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะกับโรงเรียน และครู ผู้บริหารไม่สามารถนำไปบูรณาการใช้ได้ หรือทำให้ภาระงานของครู ผู้บริหารเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม โรงเรียนแต่ละแห่งสามารถบูรณาการ “เทคโนโลยี” เข้าด้วยกัน เพื่อใช้เทคโนโลยี ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นฐานความรู้ ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยเฉพาะในยุคโควิด ห้องเรียนต้องมีระบบการจัดเก็บข้อมูล ผลงานนักเรียน หรือสื่อการเรียนการสอน เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการชั้นเรียนให้มีคุณภาพ บทบาทของเทคโนโลยีจะเป็นอาวุธทางวิชาการ ช่วยครู ผู้บริหารในการพัฒนาตนเอง และพัฒนาเด็ก
“เทคโนโลยี” ถือเป็นเครื่องมือสนับสนุนสถานศึกษา ฉะนั้น จึงไม่ได้จำกัดให้ใช้เฉพาะในสถานศึกษาแห่งใดแห่งหนึ่ง แต่ทุกสถานศึกษาสามารถแลกเปลี่ยน เรียนรู้เทคโนโลยีร่วมกันได้ ยิ่งในยุค 4.0 ยุค Metaverse การใช้ชีวิตของผู้คนล้วนอยู่ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน การนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาการศึกษา ครู ผู้บริหาร อันนำไปสู่การผลิตเด็กให้มีทักษะ สมรรถนะ ตอบโจทย์โลกในอนาคตได้
ศน.สราวุธ ชัยยอง
สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เชียงใหม่ เขต1
Related Courses
Micro Learning - แหล่งเครื่องมือช่วยครูจัดการชั้นเรียน
Starfish แหล่งเครื่องมือช่วยครูในจัดการชั้นเรียนที่หลากหลาย เช่น Starfish Labz, Starfish Class แบบเว็บไซต์ และแ ...
3 แอปพลิเคชันง่ายๆ ตัวช่วยทำสื่อการสอน
เรียนรู้ 3 แอปพลิเคชันง่ายๆ ที่นำไปใช้ได้จริงสำหรับการสร้างสื่อการสอน สะดวกต่อการใช้งาน มีประโยชน์สำหรับห้องเรียน ช่วยให้นัก ...
Micro Learning เครื่องมือช่วยสอนการเรียนออนไลน์
เครื่องมือช่วยครูในการเรียนออนไลน์ในคอร์สนี้ แนะนำเครื่องมือที่น่าสนใจ 3 ตัวช่วย คือ Google Earth, Line Open Chat แ ...
เตรียมพร้อมก่อนทำคลิปประเมินวิทยฐานะ EP.1 วิธีการสอน
หลักสำคัญ ในการสอนที่มีประสิทธิภาพ 8 ข้อ ซึ่งจะใช้ในการประเมินคลิปการสอนของครู เป็นแนวทางใหม่ของการประเมินวิทยฐานะของครู