3 รูปแบบการสอน เปลี่ยนห้องเรียนให้ Active ฟื้นคืนความรู้แบบเร่งด่วน
เปิดเทอมมาคุณครูน่าจะใจหายที่พบว่า ทักษะการอ่านและการคำนวณคณิตศาสตร์ ของนักเรียนบกพร่อง หรือพัฒนาการต่ำกว่าเกณฑ์ที่ควรเป็น หรือที่เคยทำได้ กลับทำไม่ได้จากการตรวจการบ้าน พฤติกรรมที่พอจับสังเกตได้ อย่างเช่น นักเรียนใจลอย ขาดสมาธิในการเรียน ไม่กล้าตอบคำถาม เนื่องจากตามบทเรียนไม่ทัน เมื่อเรียนไม่รู้เรื่องจึงมีส่วนร่วมในห้องเรียนน้อยลง ไม่ค่อยรับผิดชอบงาน ไม่สื่อสารกับครูและเพื่อนๆ เวลาทำงานกลุ่ม เป็นต้น
ซึ่งตรงกับข้อมูลในงานวิจัยเรื่อง ‘การศึกษาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานการณ์โควิด-19’ ของ ‘สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา’ ได้ระบุว่าปัญหาต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีสาเหตุมาจาก การขาดแรงจูงใจ ความสนใจ และความมั่นใจในการเรียนรู้ลดลง เนื่องจากผู้ปกครองอาจไม่มีเวลาควบคุมดูแล และจัดการสอนลูกเองที่บ้านได้ ด้วยความไม่พร้อมของสื่ออุปกรณ์ และการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีในการเรียนรู้
คุณครูจึงต้องทำงานสอนเชิงรุกให้มากขึ้นตามแนวทางต่อไปนี้
- ออกแบบการเรียนการสอน และเพิ่มเทคนิคดึงความสนใจของนักเรียน โดยศึกษาเทคโนโลยีจัดการเรียนรู้ด้วยสื่อที่ทันสมัย
- สอนแบบบูรณาการความรู้ เชื่อมโยงประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของนักเรียน ติดตามเทรนด์ที่เด็กกำลังให้ความสนใจ
- ออกแบบกิจกรรมที่ชวนเด็กๆ พัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง
- จัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้
- มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสื่อการเรียนรู้ ให้เด็กๆ ยืมเรียน
- ขอความร่วมมือกับผู้ปกครองให้ช่วยกันดูแล ติดตามพัฒนาการ และเพิ่มทักษะที่ขาดไปเสริมให้ลูกเองที่บ้าน
3 รูปแบบการสอนเปลี่ยนห้องเรียนให้ Active ฟื้นคืนความรู้แบบเร่งด่วน
เพื่อให้เกิดผลลัพธ์กับตัวผู้เรียน และเปลี่ยนห้องเรียนให้เป็น Active มาดูตัวอย่างการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน 3 รูปแบบ ดังนี้
1. เรียนแบบพึ่งพิงกันเป็นกลุ่ม (Collaborative learning group)
คือ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ส่งเสริมให้นักเรียนทำงานร่วมกันโดยในกลุ่มประกอบด้วยสมาชิกที่มีความสามารถแตกต่างกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกัน และมีความรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งในส่วนตัวและส่วนรวมเพื่อให้ตนเอง และสมาชิกทุกคนในกลุ่มประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ยกตัวอย่าง 5 ขั้นตอน ดังนี้
1. ครูแบ่งประเด็นในเรื่องที่จะสอนเป็นประเด็นย่อย ๆ เช่น แบ่งเป็น 4 ประเด็นจากนั้นแบ่งนักเรียนเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละเท่าๆกัน โดยให้นักเรียนเลือกจับกลุ่มเองตามประเด็นที่สนใจ จะช่วยให้นักเรียนได้ศึกษาในสิ่งที่ตนได้เลือกเอง ทำให้รู้สึกว่านักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้นั้น และเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจที่จะเรียนรู้ได้ดีกว่าสิ่งที่ครูเลือกให้
2. ให้นักเรียนแต่ละกลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆอีกครั้ง เพื่อแบ่งหน้าที่กันในการศึกษาเนื้อหาในแต่ละส่วน เพื่อให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการศึกษาเนื้อหา และเรียนรู้การบริหารจัดการเวลา ในการหาข้อมูลร่วมกัน
3. ครูให้เวลาแต่ละกลุ่ม ศึกษาและรวบรวมข้อมูลในประเด็นที่ได้รับมอบหมาย และแลกเปลี่ยนกันในกลุ่ม จนได้ข้อสรุปของแต่ละกลุ่มออกมา
4. ให้แต่ละกลุ่มอภิปราย หรือนำเสนอประเด็นที่ได้ไปศึกษาค้นคว้าขอมูลมา โดยการเลือกตัวแทนออกมานำเสนอ
5. ครูและนักเรียนร่วมกันสรุป ถอดบทเรียน และอภิปรายประเด็นที่เป็นข้อสงสัย ให้ชัดเจน
2. จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Student-led review sessions)
เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทบทวนความรู้และพิจารณาข้อสงสัยต่างๆ ในการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ โดยครูจะคอยช่วยเหลือในกรณีที่เด็กๆ ติดขัด ในส่วนรูปแบบการสอนจะเน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง ให้เด็กๆมีส่วนร่วมในการคิดริเริ่มโครงงานเอง นักเรียนต้องตั้งประเด็น และข้อสงสัยมาเป็นหัวข้อ สามารถอธิบายความคิดและเหตุผล และลงมือหาคำตอบ โดยจะเป็นแบบทำงานเดี่ยวหรือแบ่งกลุ่มเพื่อช่วยกันหาข้อมูล และทุกคนจะต้องออกมานำเสนอ พร้อมกับแลกเปลี่ยนกันในห้องเรียน ซึ่งกิจกรรมนี้ควรมีไม่เกิน 15 คน โดยคุณครูอาจจะออกแบบกิจกรรมดังนี้
1. ให้นักเรียนแบ่งกลุ่มด้วยตนเองเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5-6 คน เพื่อให้นักเรียนมีอิสระและได้ตัดสินใจในการเลือกกลุ่ม นักเรียนจะได้รู้สึกถึงการเป็นเจ้าของกิจกรรมที่ทำ
2. นักเรียนแต่ละกลุ่มไปศึกษา จัดหาวัสดุและอุปกรณ์ รวมถึงวิธีทำด้วยตนเอง ภายใต้หัวข้อหรือบทเรียนที่ครูกำหนดให้ เพื่อเป็นการค้นคว้าและศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง รวมถึงการให้สมาชิกในกลุ่มได้รับผิดชอบร่วมกัน
3. นักเรียนแต่ละกลุ่มได้มีเวลาดำเนินการสืบค้นหรือทดลอง ตามแบบและวิธีภายใต้เวลาที่ครูกำหนด เพื่อเป็นฝึกการบริหารจัดการเวลาให้กับสมาชิกในกลุ่ม
4. นักเรียนแต่ละกลุ่ม ได้มานำเสนอผลงานหรือไอเดียของกลุ่ม และให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มมีส่วนร่วมในการออกมานำเสนอ
5. ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปผลการทดลอง และร่วมถอดบทเรียน เพื่อเป็นการสรุปความรู้และตอบข้อสงสัยในบทเรียนนั้นๆ
3. วิเคราะห์เจาะปัญหาแล้วแก้ให้ตรงจุด (Analyze case studies)
คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้อ่านกรณีตัวอย่างที่ต้องการศึกษา จากนั้นให้ผู้เรียนวิเคราะห์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือแนวทางแก้ปัญหาภายในกลุ่ม แล้วนำเสนอความคิดเห็นต่อผู้เรียนทั้งหมด และสิ่งที่จะได้จากการเรียนด้วยกรณีศึกษาคือ ได้เรียนรู้และสามารถต่อยอด นำไปประยุกต์ทฤษฏีเข้ากับการปฏิบัติจากประสบการณ์จริงของผู้ที่เคยทำ (พลาด/สำเร็จ) มาแล้ว จะมีขั้นตอนการเรียนที่ประกอบไปด้วย ดังนี้
1. ให้นักเรียนทำความเข้าใจกับสถานการณ์ และบริบทจากกรณีตัวอย่าง ที่ครูนำมาให้นักเรียนศึกษา
2. นักเรียนวิเคราะห์ปัญหา ด้วยมุมมองที่หลากหลายที่มีต่อปัญหา เพื่อฝึกการคิดวิเคราะห์ และการให้เหตุผลประกอบ
3. ให้นักเรียนเสนอทางแก้ปัญหา ที่มีต่อกรณีตัวอย่างนั้น พร้อมทั้งนักเรียนสามารถให้เหตุผลได้ชัดเจน เพื่อฝึกการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ
4. ให้นักเรียนตัดสินใจ หาทฤษฎี หลักการและตัวอย่างที่เกี่ยวข้องมาสนับสนุน เพื่อเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ
5. ให้นักเรียนสะท้อนคิดจากผลของทางเลือก ให้ข้อเสนอแนะต่อวิธีแก้ปัญหา เพื่อฝึกการแยกแยะปัญหา และข้อเสนอแนะอย่างเป็นระบบ
จาก 3 รูปแบบการสอนที่ได้ยกตัวอย่างมานั้น เชื่อว่าคุณครูสามารถนำไปปรับใช้ตามบริบทของห้องเรียน เพื่อการเปลี่ยนห้องเรียนของครูให้เป็นห้องเรียนที่ Active ได้อย่างแน่นอนค่ะ เนื่องจากกิจกรรมที่กล่าวมา นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการสืบค้นเนื้อหา ร่วมกันเรียนรู้ และได้เป็นเจ้าของบทเรียนด้วยตนเอง โดยครูทำหน้าที่เป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกและจัดสภาพแวดล้อมให้นักเรียนได้เรียนรู้ ค้นหาข้อมูลต่างๆด้วยตนเองอย่างอิสระ ก็จะทำให้นักเรียนเกิดแรงจูงใจในการที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้ดีมากขึ้นนั่นเองค่ะ
แหล่งอ้างอิง (Sources):
- รายงานผลการศึกษาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ ของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานการณ์โควิด-19 : สภาพการณ์ บทเรียน และแนวทางการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ |lสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
- แนวทางการนิเทศเพื่อพัฒนาและส่งเสริม การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning | สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- What is Collaborative Learning? | VALAMIS |
- STUDENT-LED SESSION | UNIVERSITY C O LLEGE FRYSL N
- How to Analyse a Case Study | Wiki How
บทความใกล้เคียง
Related Courses
การประเมินภาวะการเรียนรู้ถดถอย
การประเมินภาวะการเรียนรู้ถดถอยในวันที่โรงเรียนกลับมาเปิดเทอมใหม่อีกครั้ง หลังจากที่เด็กๆ เรียนออนไลน์มาเป็นเวลานาน ส่ง ...
การพัฒนาทักษะการเขียน
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการสอนเขียนสำหรับผู้เรียนประถมศึกษา ระดับชั้น ป.1- ป.6 โดยได้ยกตัวอย่างปัญหาการเขียนข ...
Peer Learning วิธีฟื้นฟู Learning Loss
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับ Peer Learning คืออะไร 5 รูปแบบของกิจกรรม Peer to Peer Learning ตัวอย่างก ...
ออกแบบ Booklet (กิจกรรมการเรียนรู้) อย่างไร ช่วยนักเรียนไม่ถดถอยในการเรียนรู้ช่วงปิดเทอม
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับ 6 ปัจจัยการออกแบบการเรียนรู้ให้นักเรียน ในแบบฉบับ Booklet เช็คลิสต์ 8 วิธีออกแบบกิจ ...